สมชัย ศรีสุทธิยากร | เสียงวิจารณ์รัฐธรรมนูญจากภาคประชาสังคม (5)

สมชัย ศรีสุทธิยากร

ภาคประชาสังคม คือประชาชนสามัญที่มีความตื่นตัวทางการเมืองสูง (active citizen) เขาเหล่านี้ มีวิถีชีวิตไม่ต่างกับคนปกติ ต้องกิน ต้องใช้ ต้องทำงานเพื่อให้มีรายได้ เพียงแต่อาจมีความสนใจและปรารถนาที่จะแสดงออกทางการเมืองเพื่อประโยชน์ของสังคม และด้วยประสบการณ์ที่สั่งสม ทำให้เขามีมุมมองที่สมควรรับฟัง

ภาคประชาสังคมอาจมีความสนใจในเรื่องราวที่แตกต่างกัน บางกลุ่มอาจเน้นเรื่องเด็ก สตรี บางกลุ่มสนใจปัญหาของเกษตรกร ผู้ใช้แรงงาน บางกลุ่มอาจเป็นกลุ่มที่เคลื่อนไหวในเรื่องสิทธิเสรีภาพและประเด็นทางการเมือง ดังนั้น เสียงวิพากย์วิจารณ์จึงมีประเด็นที่แตกต่างกันไป

ผมได้มีโอกาสเจอกับตัวแทนภาคประชาสังคมต่างๆหลายครั้ง โดยเฉพาะหลังจากที่มีการจัดตั้งภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย (ภรป.) ที่มี อ.โคทม อารียา เป็นประธาน และมี อ.อนุสรณ์ ธรรมใจ เป็นเลขาธิการ มีเครือข่ายองค์กรเอกชนและภาคประชาสังคม 30 องค์กรเป็นภาคีร่วมปรึกษาหารือเกี่ยวกับประเด็นของรัฐธรรมนูญที่เป็นปัญหาและมองหนทางในการแก้ไขที่เป็นรูปธรรมและมีโอกาสเป็นจริง
ปัญหาของรัฐธรรมนูญในสายตาของภาคประชาสังคมจึงปรากฏเป็นรูปร่าง ในหลายประเด็นดังนี้
สิทธิเสรีภาพบนกระดาษเปื้อนหมึก

หมวด 3 ของรัฐธรรมนูญปี 2560 ตั้งแต่มาตรา 25-49 รวม 25 มาตรา บัญญัติเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย ทุกเรื่องล้วนดูดีในส่วนต้นของมาตราแต่มักจะมีส่วนท้ายที่เสริมด้วยข้อความ “ทั้งนี้ เว้นแต่มีกฎหมายบัญญัติ” หรือ “ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ”

เช่น มาตรา 34 “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียนการพิมพ์โฆษณา…. การจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทำมิได้ เว้นแต่การอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ……” ในทางปฏิบัติกลับมี พรบ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 ที่กำหนดข้อห้ามในการนำเข้าข้อมูล การส่ง การแชร์ ข้อความของผู้อื่นที่เป็นเท็จ และมีการดำเนินคดีต่อประชาชนจำนวนไม่น้อยที่เพียงมีพฤติกรรมการแชร์ข่าวสารที่เขาได้รับมาโดยไม่ทราบว่าข้อมูลดังกล่าวถูกต้องหรือไม่

มาตรา 44 กล่าวถึงเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ การจำกัดเสรีภาพจะกระทำไม่ได้ “เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ” ซึ่งหลายครั้งที่ประชาชนมีการชุมนุมโดยสงบ ก็จะถูกแจ้งข้อกล่าวหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ด้วยข้อหาที่สามารถพลิกกฎหมายขึ้นมาเอาเป็นความผิดได้ตลอด เช่น กีดขวางทางเข้าออก หรือรบกวนการปฏิบัติงานหรือการใช้บริการสถานที่ของที่ทำการของรัฐ สถานีขนส่งสาธารณะ สถานศึกษา หรือศาสนสถาน หรือ ใช้เครื่องขยายเสียงเกินกว่าระดับความดังที่ ผบ.ตร.กำหนด หรือ ไม่มีการแจ้งต่อเจ้าหน้าล่วงหน้า 24 ชั่วโมง เป็นต้น

หากตีความโดยเคร่งครัด การชุมนุมบนท้องถนนทำไม่ได้เพราะกีดขวางทางจราจร ชุมนุมหน้าโรงเรียน มหาวิทยาลัย วัดก็ไม่ได้ เพราะกีดขวางสถานที่ที่ระบุในกฎหมาย

ยิ่งไปดูประเด็นว่าห้ามใช้เครื่องขยายเสียงดังกว่าประกาศที่ ผบ.ตร.กำหนด ยิ่งเห็นความตลกขบขัน ว่า กำหนดให้ความดังเฉลี่ย 24 ชม. อยู่ที่ไม่เกิน 70 เดซิเบลเอ (เทียบเท่าเสียงเครื่องดูดฝุ่น) และ ห้ามรบกวนผู้อื่น ในระดับ 10 เดซิเบลเอ (เทียบเท่าเสียงลมหายใจ) (ประกาศเรื่อง กำหนดระดับเสียงของเครื่องขยายเสียงที่ใช้ในการชุมนุมสาธารณะ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ลงนามโดย พลตำรวจเอกสมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง วันที่ 23 กันยายน 2558) เท่ากับว่า การชุมนุมในที่สาธารณะโดยสงบและปราศจากอาวุธตามรัฐธรรมนูญนั้นแทบจะเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย เป็นบทบัญญัติที่ตีพิมพ์ในรัฐธรรมนูญโดยน่าเสียดายหมึกที่พิมพ์เปล่าๆ

มาตรา 41 ระบุถึงสิทธิของบุคคลและชุมชน ที่จะได้รับทราบถึงข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะในความครอบครองของหน่วยงานของรัฐ แต่ก็ต้องไปเป็นไป “ตามที่กฎหมายบัญญัติ” หรือแม้ มาตรา 58 ในหมวดหน้าที่ของรัฐ จะระบุถึงว่า การดำเนินการใดของรัฐที่อาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต รัฐต้องดำเนินการให้มีการศึกษาและประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย ประชาชนและชุมชนที่เกี่ยวข้องก่อน

แต่ในความเป็นจริง การขอข้อมูลก็มักได้รับการปฏิเสธโดยอ้างอำนาจตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร พ.ศ.2540 ที่ส่วนราชการมีสิทธิไม่เปิดเผยข้อมูลบางประเภท หรือกำหนดเงื่อนไขระเบียบต่างๆมากมายจนทำให้การขอดูข้อมูลเป็นสิ่งที่ทำได้แต่ทำได้ยาก

เช่นเดียวกับการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ก็มักจะเป็นการจัดแบบตามพิธีกรรม ให้ครบถ้วนตามกฎหมายบัญญัติ เช่นไปประกาศให้แสดงความคิดเห็นในอินเตอร์เน็ตและเมื่อครบกำหนดเวลาแล้ว ก็จะบอกว่าได้รับฟังแล้ว หรือการทำรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม หรือ EIA. (Environmental Impact Assessment) ก็กลายเป็นธุรกิจที่มีบริษัทเอกชน มารับงานจากหน่วยราชการเพื่อประเมินผลกระทบตามรูปแบบที่เขาเชี่ยวชาญว่า ประเมินอย่างไรจึงผ่านตามข้อกำหนด สิทธิเสรีภาพของประชาชนและชุมชน จึงเป็นเพียงแค่หลักการที่เขียน หาได้มีผลในทางปฏิบัติเป็นที่พึงพอใจไม่
แนวนโยบายแห่งรัฐ ที่แข็งกระด้าง

จุดต่างของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 กับฉบับอื่นๆ ที่ผ่านมา คือ การแยก “หน้าที่ของรัฐ” ออกมาเป็นหมวดหนึ่งจาก หมวด “แนวนโยบายแห่งรัฐ” ซึ่งผู้ร่างภูมิใจว่านี่คือส่วนที่ดีของรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นการบังคับให้รัฐต้องทำไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาล เนื่องจากเป็น “หน้าที่” (Duty) หากไม่ทำถือว่าเป็นความผิด

ในขณะที่เรื่องใดเป็นเพียงแค่ “แนวนโยบาย” (Policy Guidelines) หรือสิ่งที่ผู้มาเป็นรัฐบาลพึงกระทำเนื่องจากเป็นสิ่งที่ดี เหมาะสม แต่ยังยืดหยุ่นให้เป็นวิจารณญาณของผู้เป็นรัฐบาลแต่ละชุดที่จะมี “นโยบาย” (Policy) ของตนเองที่อาจจะเหมือนหรือแตกต่างได้

แต่การณ์กลับกลายว่า มาตรา 65 หมวด 6 แนวนโยบายแห่งรัฐ ที่ระบุว่า “รัฐพึงจัดให้มียุทธศาสตร์ชาติเพื่อเป็นเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนตามหลักธรรมาภิบาลเพื่อใช้เป็นกรอบในการจัดทำแผนต่างๆให้สอดคล้องและบูรณาการกัน” พอไปออกเป็น พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2560 จากเรื่องที่ “พึง” กลับกลายเป็น “ต้อง” มีกรอบเวลาผูกมัดถึง 20 ปี หนำซ้ำยังกำหนดใครต่อใครที่เข้าจัดทำ และคอยกำกับเป็นคณะบุคคลจากฝ่ายความมั่นคงและคนที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลชุด คสช.เสียเป็นจำนวนมาก
ยุทธศาสตร์ชาติที่ประกาศในปี พ.ศ.2561 จึงมิใช่แนวนโยบายแต่เป็นหลักปฏิบัติที่หน่วยราชการต้องทำตาม ผู้เป็นรัฐบาลทุกชุดต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภาก่อนหน้าจะเข้าบริหารราชการแผ่นดินให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ (มาตรา 162 แห่งรัฐธรรมนูญ 2560)

การเปลี่ยนแปลงแก้ไขยุทธศาสตร์ชาติ อาจทบทวนทุกช่วง 5 ปี หรือ เมื่อมีเหตุสมควร แต่ต้องดำเนินการทบทวนเปลี่ยนแปลงแก้ไขโดยคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติแล้วจึงไปผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา (มาตรา 11 พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560) ซึ่งแปลว่าแม้คณะรัฐมนตรี หรือ รัฐสภา จะเป็นผู้ริเริ่มแก้ไขเองก็กระทำไม่ได้

แนวนโยบายที่อยู่ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งควรมีสถานะเป็นเพียงแนวทาง (Guidelines)แห่งนโยบายของฝ่ายการเมืองที่เข้ามาทำหน้าที่เป็นรัฐบาล แทนที่จะยืดหยุ่น ให้โอกาส และเคารพเสียงของประชาชนที่เลือกพรรคการเมืองเข้ามาบริหาร จึงกลายเป็นกฎเหล็ก (Iron Law) ที่แข็งกระด้าง รอเพียงการหักโค่นเมื่อเกิดแรงปะทะอย่างรุนแรง

เชื่อว่า พายุกำลังก่อตัว