การศึกษา / งัดสารพัดมาตรการสกัด… ‘โควิด-19’ แพร่ ‘ร.ร.-สนามสอบ’

การศึกษา

 

งัดสารพัดมาตรการสกัด…

‘โควิด-19’ แพร่ ‘ร.ร.-สนามสอบ’

 

กลายเป็นที่หวาดผวาของผู้คนทั่วโลก เกี่ยวกับสถานการณ์เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วในขณะนี้ โดยมีผู้ติดเชื้อทะลุ 1.1 แสนรายไปแล้ว และมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 4 พันคน

สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดในไทย น่าวิตกไม่น้อย โดยเฉพาะขณะนี้มีคนที่มีความเสี่ยง ที่เดินทางกลับมาจากประเทศต่างๆ ทั้งที่เป็นประเทศกลุ่มเสี่ยง หรือไม่เสี่ยงก็ตาม ในจำนวนนี้มีคนส่วนหนึ่งที่ขาดจิตสำนึก ปกปิดข้อมูล ไม่แจ้งเจ้าหน้าที่ และไม่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันเชื้อโควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)

รวมทั้งยังไม่กักตัวเอง 14 วันเพื่อดูอาการ

แต่เที่ยวชิม ช้อป ใช้ ไปตามร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า โรงแรม และสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ พร้อมทั้งโพสต์ลงโซเชียล ประกาศให้ชาวโลกรับรู้ถึงความไร้สำนึก และขาดความรับผิดชอบต่อส่วนรวม

สร้างความตื่นตระหนกให้กับผู้พบเห็นอย่างมาก

รวมถึงโรงเรียน และสถานศึกษาหลายแห่งในขณะนี้ต้องเจอสถานการณ์เดียวกัน

สร้างความตื่นตระหนกให้กับผู้ปกครองและนักเรียนจำนวนมาก

 

เริ่มจาก “โรงเรียนพระหฤทัย ดอนเมือง” ต้องประกาศปิดเรียน 1-2 สัปดาห์ และให้เลื่อนการสอบปลายภาคออกไป ภายหลังทางโรงเรียนได้รับแจ้งว่ามีนักเรียนชั้น ป.3/4 คนหนึ่ง ติดเชื้อโควิด-19 จากปู่และย่าที่เดินทางกลับจากญี่ปุ่น และประสานกรมควบคุมโรค สำนักอนามัย สธ. เข้ามาตรวจนักเรียน และบุคลากรทั้งหมด รวมทั้งทางโรงเรียนได้สั่งทำความสะอาด และฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อทั้งโรงเรียน

จากนั้น “โรงเรียนธนินทรวิทยา ดอนเมือง” ซึ่งอยู่ในย่านเดียวกัน ได้โพสต์ประกาศของโรงเรียนเรื่องการเปิด-ปิดโรงเรียน และอนุญาตให้ผู้ปกครองมารับนักเรียนกลับบ้านได้ หากกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ดังกล่าว และค่อยมาสอบในภายหลัง

นอกจากนี้ ยังมีโรงเรียนเอกชนอีกหลายแห่งในต่างจังหวัด ที่มีนักเรียนเดินทางไปต่างประเทศ ได้ทยอยปิดโรงเรียน และทำความสะอาด

เพื่อความปลอดภัยของนักเรียน และบุคลากร!!

 

สถานการณ์เพิ่งจะคลี่คลาย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ได้สั่งปิด “โรงเรียนนานาชาติฮาร์โรว์” ซึ่งตั้งอยู่ย่านดอนเมืองอีกแห่ง

สร้างความตื่นตระหนกให้กับผู้ปกครองจำนวนมาก เพราะคิดว่ามีนักเรียนติดเชื้อโควิด-19

ซึ่งนายอรรถพล ตรึกตรอง เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาเอกชน (กช.) ระบุถึงเหตุผลในการสั่งปิดโรงเรียนนานาชาติฮาร์โรว์ เนื่องจากได้รับรายงานจากโรงเรียนว่ามีนักเรียน ผู้ปกครอง และครู กว่า 500 คน เดินทางไปเที่ยวประเทศกลุ่มเสี่ยงในช่วงปิดภาคเรียนที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม เมื่อนักเรียนทั้งหมดเดินทางกลับมา ก็ไม่ได้เข้าไปที่โรงเรียน แต่ได้ปฏิบัติตามมาตรการของ สธ.โดยเข้าสู่มาตรการกักกันตัวอยู่ที่บ้าน 14 วัน เพื่อรอดูอาการ แต่เพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย สช.จึงสั่งปิดโรงเรียน และให้นักเรียนเรียนผ่านออนไลน์แทน

อีกทั้งเลขาธิการ กช.ยังได้กำชับให้โรงเรียนในสังกัด สช.เฝ้าระวัง และปฏิบัติตามมาตรการของ สธ. ส่วนโรงเรียนที่มีโปรแกรมจะเดินทางไปทัศนศึกษาในต่างประเทศ ขอให้ทบทวน และงดเว้นการเดินทางไปก่อน

รวมถึงแจ้งข้าราชการในสังกัด งดเดินทางไปประเทศกลุ่มเสี่ยง

ขณะที่นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ย้ำ สช.ให้แจ้งมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ไปยังผู้รับใบอนุญาตโรงเรียนเอกชน โดยกำชับให้โรงเรียนปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด และหลีกเลี่ยงการเดินทางไปประเทศกลุ่มเสี่ยง!!

 

อย่างไรก็ตาม เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในโรงเรียน หรือสถานศึกษาต่างๆ ในสังกัด ศธ.ไม่ให้ขยายวงกว้าง ศธ.จึงยกระดับมาตรการควบคุม และป้องกัน ร่วมกับหน่วยงานในสังกัด ดังนี้

สำนักงานลูกเสือแห่งชาติ (สลช.) มีหนังสือขอความร่วมมือหน่วยงานในสังกัด ศธ.แจ้งสถานศึกษาในสังกัด ชะลอการนำนักเรียน นักศึกษา เข้าค่ายพักแรมลูกเสือไว้ก่อน จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่สภาวะปกติ

ส่วนสำนักงานปลัด ศธ.มีหนังสือแจ้งขอความร่วมมือไปยังศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ทั่วประเทศ ชะลอการจัดกิจกรรมลูกเสือ หรือยุวกาชาด ที่มีลักษณะเป็นการอยู่ร่วมกันของกลุ่มคนจำนวนมาก

ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีหนังสือแจ้งให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขต แจ้งโรงเรียนในสังกัดเฝ้าระวัง และป้องกันการแพร่ระบาด รวมถึงแจ้งแนวทางการขออนุญาตไปราชการยังประเทศ หรือเขตการปกครองที่เสี่ยง ให้บุคลากร และโรงเรียนในสังกัดปฏิบัติตาม

ในกรณีที่ผู้บริหาร หรือครู ที่ไปประเทศกลุ่มเสี่ยง จะส่วนตัวหรือไปทำงานก็ตาม โดยที่ไม่ลา หรือไม่แจ้งให้หน่วยงานต้นสังกัดทราบ ถือว่า “มีความผิดทางวินัย”

รวมถึง สช.มีหนังสือถึงผู้รับใบอนุญาตโรงเรียนเอกชน กำชับโรงเรียนถือปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด!!

 

นอกจากนี้ ไทยยังเข้าสู่ช่วงเทศกาลของ “การสอบคัดเลือก” ทั้งการสอบคัดเลือกนักเรียนเข้าเรียนชั้น ม.1 และ ม.4 การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) การสอบวิชาสามัญ 9 วิชา ฯลฯ ที่ต้องใช้คะแนนเป็นองค์ประกอบในการยื่นเข้าเรียนในระบบคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา (ทีแคส) รวมทั้งการสอบคัดเลือกนิสิต นักศึกษาคณะแพทยศาสตร์ และทันตแพทยศาสตร์ ของกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท)

ดังนั้น ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงกำหนดมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มนักเรียนที่มารวมตัวกันสอบจำนวนมากๆ อาทิ

การสอบโอเน็ตชั้น ม.6 ช่วงต้นเดือนมีนาคม นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ได้แจกหน้ากากอนามัยให้นักเรียนที่เข้าสอบ รวมถึงแจกให้นักเรียนตามศูนย์สอบต่างๆ ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล กว่า 30,000 ชิ้นด้วย

ส่วนการสอบแพทย์ฯ กสพท เมื่อเร็วๆ นี้ ได้ประกาศแนวปฏิบัติสำหรับผู้เข้าสอบวิชาเฉพาะ กสพท โดยขอให้ผู้เข้าสอบ หรือมีบุคคลในครอบครัวที่พักอาศัยอยู่ร่วมบ้านเดียวกัน ที่มีประวัติเดินทางกลับ หรือเดินทางผ่านมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง ให้แจ้งข้อมูลด่วนทางอีเมล เพื่อ กสพท จะจัดเตรียมสถานที่สอบให้เหมาะสม

กรณีละเลย ปกปิด ไม่แจ้งข้อมูล กสพท จะสันนิษฐานว่าผู้เข้าสอบขาดความรับผิดชอบต่อสังคม จะพิจารณาให้ผลการสอบเป็น “โมฆะ”

ขณะที่สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ซึ่งเตรียมจัดสอบวิชาสามัญ 9 วิชา ในวันที่ 14-15 มีนาคม ได้ออกมาตรการเฝ้าระวัง และป้องกันการแพร่ระบาดในศูนย์สอบ โดยให้ศูนย์สอบแต่ละแห่งพิจารณาตามความเหมาะสม และอนุญาตให้ผู้เข้าสอบใส่หน้ากากอนามัยเข้าห้องสอบได้ กรณีพบผู้เข้าสอบที่มีอาการไข้ ไอ จาม มีน้ำมูก เจ็บคอ ต้องให้สวมหน้ากากอนามัย ทำความสะอาดมือด้วยเจลล้างมือแอลกอฮอล์ หรือสบู่สำหรับล้างมือ

แต่หากผู้เข้าสอบมีอาการต้องสงสัย ให้แยกนั่งสอบในห้องสอบพิเศษ

ล่าสุด ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ได้หารือกับมหาวิทยาลัย เพื่อรับมือเชื้อโควิด-19 หากไทยเข้าสู่ระยะที่ 3 โดยเตรียม “ยกเลิก” การสอบสัมภาษณ์ในการสมัครทีแคส รอบที่ 2 และรอบถัดๆ ไป สำหรับผู้ที่ผ่านการคัดเลือก โดยอาจสัมภาษณ์ด้วยวิธีการอื่นๆ แทน

         ส่วนการตรวจสุขภาพ ผู้สมัครอาจไปตรวจที่คลินิก หรือโรงพยาบาล และเอาใบรับรองแพทย์แนบมาให้มหาวิทยาลัย!!