การศึกษา / โจทย์ใหญ่มหา’ลัย เด็กลด-เพิ่มคุณภาพ

การศึกษา

 

โจทย์ใหญ่มหา’ลัย

เด็กลด-เพิ่มคุณภาพ

 

ถูกยกเป็นประเด็นขึ้นมาถกกันอีกรอบ สำหรับปัญหาเด็กเข้าเรียนมหาวิทยาลดลง…

ล่าสุดนายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ออกมาเปิดเผยตัวเลขวิกฤตหนัก จำนวนเด็กที่จะเข้าเรียนมหาวิทยาลัย ปีการศึกษา 2563 เหลือเพียง 2 แสนคน จากปีการศึกษา 2562 ที่มีกว่า 3 แสนคน

ลดลงกว่า 1 แสนคน เป็นตัวเลขที่ถือว่าไม่น้อย และจากนี้จะลดลงเรื่อยๆ ทุกปี!!

สิ่งที่มหาวิทยาลัยต้องคิดต่อไปคือ การปรับตัว ปิดในสาขาที่ไม่มีผู้เรียนล้าสมัย เพิ่มสาขาจูงใจ จบแล้วมีงานทำ เงินดี

และปรับปรุงสาขาที่มีให้ทันสมัย

 

ทั้งนี้ นายสุชัชวีร์ยอมรับว่า มหาวิทยาลัยค่อนข้างกังวล และมีการพูดถึงอนาคตของแต่ละมหาวิทยาลัยจะปรับตัวอย่างไร ต้องยอมรับว่า ระบบการดำเนินการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา หรือทีแคส ทำให้เห็นข้อมูลจำนวนนักเรียนและนักศึกษาในแต่ละคณะ แต่ละมหาวิทยาลัย และให้มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งไปบริหารจัดการ

“จากข้อมูลระบุชัดว่า คณะใดเด็กนิยมเข้าเรียน เป็นคณะยอดฮิต และคณะใดเด็กเข้าเรียนน้อยและมหาวิทยาลัยอาจจำเป็นต้องปิดการเรียนการสอน โดยคณะยอดฮิตที่เด็กนิยมสมัครเข้าเรียนในช่วงนี้ จะเป็นคณะด้านสาธารณสุขในสาขาต่างๆ ที่มีเด็กสมัครเรียนมากขึ้นทุกปี เพราะมีงานรองรับ ค่าตอบแทนดี และได้รับการยอมรับจากสังคม ทั้งหมดนี้เป็นองค์ประกอบสำคัญในการดึงดูดเด็กให้เข้ามาเรียน รองลงมาจะเป็นคณะด้านการบริหาร ซึ่งเปิดรับเท่าไรก็มีเด็กมาสมัครจนเต็มเกือบทุกแห่ง ขณะที่คณะด้านสังคมศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และวิทยาศาสตร์มีเด็กสมัครเรียนน้อยลง”

ประธาน ทปอ.กล่าว

 

ขณะที่ ผศ.จรูญ ถาวรจักร์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ในฐานะประธาน ทปอ.มรภ. มองว่าปัญหาเด็กลดลงนั้น เป็นเรื่องที่แต่ละมหาวิทยาลัยต้องไปดูแลบริหารจัดการ ทั้งนี้ ในการประชุม ทปอ.มรภ.จะหารือถึงผลกระทบว่าหากนักเรียนมัธยมลดลง จะต้องทำอย่างไร ซึ่งในบริบทของมหาวิทยาลัยในปัจจุบันจำเป็นต้องปรับตัว หรือทำ Re-inventing University เพื่อปรับตัวให้ทันกับโลกและเทคโนโลยีในปัจจุบัน

จุดเด่นของ มรภ.คือทำงานในพื้นที่ ให้พื้นที่มีความเข้มแข็ง และอยู่ได้ด้วยตนเอง ซึ่งเรื่องนี้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ดังนั้น มรภ.ต้องปรับตัวไปในแนวนี้ และต้องปรับตัวให้สอดรับกับแผนยุทธศาสตร์ชาติด้วย

ส่วนการตั้งข้อสังเกตว่าเมื่อจำนวนผู้เรียนลดลง อาจต้องทบทวนปิดการเรียนการสอนในคณะหรือสาขาที่ไม่นิยมเข้าเรียน ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงตามกลไกของโลก การเปิดหลักสูตรระยะสั้นเพื่อให้คนทั่วไปและคนวัยทำงานกลับเข้ามาเรียน เพื่อรีสกิล หรืออัพสกิล มหาวิทยาลัยทุกแห่งควรจะรู้ว่าปัจจุบันประเทศให้ความสำคัญกับการศึกษาในรูปแบบไหน เช่น การเปิดสอนหลักสูตรระยะสั้น การดูแลคนในระดับต่างๆ ให้มีความรู้ และพัฒนาตนเองได้

“ปัจจุบันมี มรภ.จำนวนหนึ่งที่ปรับตัว เปลี่ยนโฉมตัวเอง จากการทำหน้าที่สอนเป็นหลัก มาลงพื้นที่พัฒนาชุมชน เพื่อตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ เชื่อว่าถ้า มรภ.สามารถเกาะงาน เกาะกิจกรรมเหล่านี้ได้ ก็ไม่กังวลว่ามหาวิทยาลัยจะประสบปัญหา ตราบใดที่ มรภ.เป็นมหาวิทยาลัยที่สร้างประโยชน์ต่อพื้นที่ การทำงานก็จะต่อเนื่อง เพราะงบประมาณไม่ได้อยู่แค่เฉพาะตัวนักศึกษา แต่อยู่ที่กิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการวิจัย การทำงานให้ชุมชน ก็สามารถขับเคลื่อนให้อยู่รอดต่อไปได้”

ผศ.จรูญกล่าว

 

ขณะที่ ผศ.ดร.วิโรจน์ ลิ้มไขแสง อธิการบดี มทร.อีสาน ในฐานะประธาน ทปอ.มทร. ยอมรับว่า จากข้อมูล 2 ปีที่ผ่านมา จำนวนเด็กลดลงจริง และได้มีการหารือเรื่องนี้ โดยเห็นว่า จะไปรอเด็กในระบบอย่างเดียวคงไม่ได้ ต้องดึงเด็กนอกระบบหรือคนวัยทำงานเข้ามาเรียน เพื่อรีสกิล อัพสกิลต่อไป ซึ่งจุดนี้จะตอบโจทย์รัฐบาลที่ส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิต

ส่วนการสมัครทีแคสของเด็กนั้น ในกลุ่ม มทร.พบข้อมูลว่านักเรียนที่สมัครเข้ามาในรอบ 3 รับตรงร่วมกัน และรอบที่ 4 แอดมิสชั่นส์ จะสละสิทธิน้อยกว่ารอบ 1 แฟ้มสะสมผลงาน และรอบ 2 โควต้า เพราะนักเรียนมั่นใจและมีความต้องการที่จะเข้ามาเรียน มทร.จริงๆ เนื่องจากเห็นว่าเมื่อเรียนจบไปมีงานทำแน่นอน กว่า 80% มีงานทำและได้ทำตรงกับสาขาที่เรียน อีกทั้งรายได้ที่ได้รับก็ไม่น้อยกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำ หรือได้รับมากกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำ ตรงนี้ถือเป็นจุดแข็งของกลุ่ม มทร.ทั้ง 9 แห่ง ที่จะดึงนักเรียนเข้ามาเรียนมากขึ้น

จากนี้ต้องจับตาว่า มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งจะปรับตัวอย่างไร ซึ่งคงไม่ใช่เรื่องแข่งขันเปิดสาขายอดนิยมแย่งเด็กเข้าเรียนเหมือนที่ผ่านมา…

หากที่นั่งเรียนมากกว่าจำนวนเด็กที่มี การแข่งขันด้านคุณภาพจึงถือเป็นจุดแข็งที่จะจูงใจให้เด็กเลือกเข้ามาเรียน ขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยเองอาจต้องมองการทำงานที่มากกว่าการสอน

   ไม่เช่นนั้นก็อาจอยู่ไม่รอดในภาวะที่โลกหมุนเร็วและการแข่งขันไม่เคยหยุดนิ่ง…