โฟกัสพระเครื่อง/โคมคำ/เหรียญรุ่นแรก 2471 ที่ระลึกบุญอายุ 70 ปี หลวงปู่ชู วัดนาคปรก

หลวงปู่ชู ฉันทสโร

โฟกัสพระเครื่อง/โคมคำ [email protected]

เหรียญรุ่นแรก 2471

ที่ระลึกบุญอายุ 70 ปี

หลวงปู่ชู วัดนาคปรก

“หลวงปู่ชู ฉันทสโร” อดีตเจ้าอาวาสวัดนาคปรก เขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ เป็นพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง สิ่งที่ยังคงเหลือเป็นที่รู้จักกันอย่างดี คือ วัตถุมงคลต่างๆ ที่ท่านได้สร้างไว้ อาทิ เหรียญรูปเหมือนและเหรียญหล่อเนื้อสำริด ฯลฯ

เหรียญหลวงปู่ชู วัดนาคปรก รุ่นแรก จัดสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2471 ที่ระลึกในงานทำบุญอายุครบ 70 ปี

จัดสร้างจำนวนเพียง 70 เหรียญเท่านั้น และมีการจัดสร้างเฉพาะเนื้อเงินกะไหล่ทองเท่านั้น

ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปทรงเสมา มีหูห่วง

ด้านหน้าเหรียญเป็นรูปหลวงปู่ชูนั่งสมาธิราบในรูปวงรี ด้านบนมีอักขระยันต์ โดยรอบมีข้อความจารึก “ที่ระฦกในการ ทำบุญอายุครบ ๗๐ ปี”

ด้านหลังเหรียญเป็นรอยปั๊มบุ๋มแบบหลังแบบ ไม่มีอักษรใด บางเหรียญมีรอยจาร

ปัจจุบันเป็นอีกเหรียญที่พบเห็นได้ยาก

เหรียญรุ่นแรกหลวงปู่ชู

 

เล่าว่าเป็นชาวจังหวัดนครศรีธรรมราช เกิดเมื่อปี พ.ศ.2401 ครอบครัวมีอาชีพค้าขาย มีเรือโกลนล่องเข้ามาค้าขายที่กรุงเทพฯ

ต่อมาโยกย้ายถิ่นฐานมาตั้งรกรากที่จังหวัดธนบุรีในปี พ.ศ.2412 อุปสมบทที่พัทธสีมาวัดทองนพคุณ สำนักสอนกัมมัฏฐานที่มีชื่อเสียงมากในสมัยนั้น

ศึกษาทางด้านนี้ รวมทั้งจิตใจฝักใฝ่ในด้านพุทธาคมมาตั้งแต่รุ่นหนุ่ม จึงมุ่งมั่นศึกษาวิชาต่างๆ แต่ละแขนงจนกระทั่งเชี่ยวชาญ

ว่ากันว่า ยังเป็นศิษย์เรียนวิชาจากสำนักวัดระฆังโฆสิตารามอีกด้วย

ต่อมาท่านได้ลาสิกขาเพื่อสะดวกแก่การเดินทางไปศึกษาวิชาต่างๆ ไปขอศึกษาวิชากับอาจารย์พลับ วัดชีตาเห็น (วัดชีโพ้นในปัจจุบัน) จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีชื่อเสียงมากในสมัยนั้น

ปรนนิบัติและศึกษาวิชากับพระอาจารย์พลับจนหมดสิ้น จึงลาเดินทางขึ้นเหนือไปยังจังหวัดพิจิตร-พิษณุโลก

เป็นระยะเวลานานมากและยังขาดการติดต่อกับทางบ้าน บรรดาญาติพี่น้องพากันเข้าใจว่าเสียชีวิตไปแล้ว

พอกลับมาเยี่ยมบ้านยังความปีติยินดีแก่ญาติพี่น้องเป็นอย่างยิ่ง บิดามารดาจึงจัดหาตบแต่งภรรยาให้ท่านอยู่กินกันจนมีบุตร-ธิดา รวม 3 คน เป็นชาย 2 หญิง 1

ได้ใช้ความรู้ทางด้านสมุนไพรใบยาและเวทมนตร์คาถาที่ได้ร่ำเรียนมา ช่วยเหลือคนที่ตกทุกข์ได้ยาก เป็นที่เลื่อมใสของชาวบ้าน

พากันเรียกท่านว่า พ่อหมอชู

 

ภายหลังเกิดเบื่อหน่ายในโลกียวิสัย มองเห็นความไม่เที่ยงแท้ของสังขาร จึงได้อุปสมบทอีกครั้งหนึ่งที่วัดนางชี เขตภาษีเจริญ

ต่อมาย้ายมารับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดนาคปรก โดยมีพระภิกษุจากวัดนางชี ย้ายติดตามไปอยู่ด้วยจำนวน 10 รูป ตลอดระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดนาคปรกนั้น บูรณะซ่อมแซมเสนาสนะตลอดจนกุฏิ วิหาร ให้เจริญรุ่งเรืองเป็นปึกแผ่นมาอีกวาระหนึ่ง

เป็นที่พึ่งทางใจให้แก่ชาวบ้านมาตลอด ไม่ว่าใครจะเจ็บไข้ป่วยมาให้ช่วยรักษา จึงเป็นบ่อเกิดแห่งศรัทธาและเป็นศูนย์รวมแห่งจิตใจเป็นอย่างดี

ในวัดนาคปรกสมัยนั้น จะเต็มไปด้วยว่านยา สมุนไพรต่างๆ มากมาย

 

ยาดีอีกขนานหนึ่ง คือ ยาดองมะกรูด ยานี้จะทำใส่โอ่งตั้งไว้กลางแจ้งตากแดดตากน้ำค้างเป็นจำนวนมาก ถ้าผู้ใดต้องการก็จะแจกให้ไป เป็นยาดองที่มีสรรพคุณรักษาโรค ทั้งปวดหัวตัวร้อนเป็นไข้ เป็นฝีหนอง มีอาการแพ้อักเสบต่างๆ

อบรมพระภิกษุ-สามเณรในวัดเป็นอย่างดี มักเทศนาให้ชาวบ้านฟังเสมอๆ ว่าให้ตั้งมั่นอยู่ในศีลธรรม ประกอบอาชีพทำมาหากินสุจริต

สมัยก่อนวัดนาคปรกและบริเวณโดยรอบเต็มไปด้วยป่าครึ้ม ชาวบ้านประกอบอาชีพกสิกรรม ทำสวนผลไม้และปลูกหมากพลู มีมากจนคนขนานนามว่า ตลาดพลู การคมนาคมในสมัยก่อนยังใช้เรือเป็นพาหนะ ไฟฟ้า ประปายังไม่มี ตกค่ำก็พากันจุดไต้และตะเกียง เพื่ออ่านคัมภีร์และหนังสือธรรมะ เป็นกิจวัตรประจำวัน

เท่าที่มีการบันทึกเรื่องราวและคำเล่าขานของชาวบ้านแถบวัดนาคปรก เล่ากันต่อมาถึงวัตรปฏิบัติปฏิปทาของหลวงปู่ชู ว่ากันว่าเรียบง่าย มีความรู้ความสามารถ แต่กลับมีความอ่อนน้อมถ่อมตน มีคุณธรรม เป็นแบบอย่างที่ดี และเป็นที่รักเคารพ

 

มีเรื่องเล่ากันว่า เป็นพระอาจารย์รูปเดียวที่พระภาวนาโกศลเถร หรือหลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง พระเกจิอาจารย์ชื่อดัง กล่าวยกย่องว่าเก่งทางวิทยาคมและวิชาแพทย์แผนโบราณ

ถ้ามีคนตลาดพลูไปขอของดีจากหลวงปู่เอี่ยม ท่านจะบอกให้มาเอาจากหลวงปู่ชู

ในทางกลับกันถ้ามีคนบางขุนเทียนมาขอของดีจากหลวงปู่ชู ท่านจะแนะนำให้ไปขอจากหลวงปู่เอี่ยม

ทั้งสองนี้ต่างก็ให้ความเคารพซึ่งกันและกัน ต่างก็รู้วาระจิตกันดี และมักจะไปมาหาสู่กันเสมอ

มรณภาพลงอย่างสงบ เมื่อวันพุธ แรม 5 ค่ำ เดือนยี่ ปีจอ พ.ศ.2477 สิริอายุ 76 ปี