คำ ผกา | ยังไม่รู้ตัวกันอีก

คำ ผกา

“ตัวแทนกลุ่มธรรมาภิบาล จังหวัดนครราชสีมา ระบุว่า ในกรณีนายหน้าซื้อ-ขายที่ดินบ้านจัดสรรทหาร จากการตรวจสอบข้อมูลในพื้นที่ พบว่า 1.เป็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน เกี่ยวข้องกับนายทหารระดับสูงและเครือญาติ 2.ทหารผู้น้อยจะเกรงใจนายทหารมากจึงไม่มีสัญญาอะไร และทหารผู้น้อยไม่มีความรู้ด้านกฎหมาย 3.โครงการประเภทนี้ทำกันมานานกว่า 20 ปี สร้างความร่ำรวยให้คนจับเสือมือเปล่า ซื้อถูกแต่ขายแพงให้ลูกน้อง 4.สะท้อนการปล่อยปละละเลยของผู้บังคับบัญชา

“กรณีสร้างบ้านขายของทหาร เป็นเรื่องที่ต้องรีบเร่งหาทางแก้ไขโดยด่วน อย่ามองข้าม เพราะผู้บังคับบัญชาทำเอง ลูกน้องโต้ตอบไม่ได้ จึงแสดงออกในเชิงความรุนแรง ทำให้คนบริสุทธิ์เดือดร้อน ควรศึกษาสาเหตุด้วยว่าผู้ก่อเหตุลงมือเพราะอะไร จะได้ป้องกันได้ในอนาคต ขณะที่กองทัพควรจะต้องตั้งกรรมการสอบสวนในเรื่องนี้โดยด่วน เพราะเป็นภาพลบต่อกองทัพบกอย่างมาก”

https://www.isranews.org/isranews-news/85416-news05_85416.html

กรณีเหตุการณ์กราดยิงที่โคราช อาจนับได้ว่าเป็นเหตุการณ์กราดยิงครั้งแรกที่เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการในสังคมไทย

สร้างทั้งความสูญเสีย เศร้าโศก ตระหนก เสียขวัญ หวาดผวาอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

และฉันเชื่อว่าเราทุกคนต่างช่วยกันภาวนาว่าเหตุการณ์ร้ายแรงเช่นนี้จะไม่เกิดขึ้นอีกในสังคมไทย

หลายคนบอกว่านี่เป็นการกราดยิงครั้งที่สอง เกิดขึ้นไม่นานหลังจากครั้งแรกที่ลพบุรีจากการปล้นร้านทอง

แต่สำหรับฉันคิดว่า สองเหตุการณ์นี้ต่างกันเล็กน้อย

เหตุการณ์กราดยิงหลังปล้นร้านทองเหมือนเป็นภาวะติดพันมาจากการปล้น และเกิดขึ้นในสถานที่เดียวกัน แต่เหตุการณ์กราดยิงที่เทอร์มินอล 21 โคราช เริ่มต้นที่การไปบุกยิงผู้บังคับบัญชาและแม่ยายที่เป็นคู่กรณี นำไปสู่การบุก “ปล้น” อาวุธสงคราม

จากนั้นผู้ก่อเหตุตั้งใจออกมาจากจุดเกิดเหตุแรก เดินทางไปยังเป้าหมายที่สองคือ ห้างสรรพสินค้า ก่อเหตุกราดยิงใส่ผู้คนที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความคับแค้นใจส่วนตัว

จนเกิดเป็นโศกนาฏกรรมดังกล่าว

ฉันเคยคุยกับเพื่อนหลายคนเมื่อนานมาแล้วว่า ในเมืองไทยสถิติอาชญากรรม ปล้น ฆ่า สูงมาก แต่อย่างน้อยที่สุด การปล้น ฆ่าที่เกิดขึ้นในสังคมไทย เป็นเรื่องที่มี “ที่มา” ชัดเจน

เช่น ปล้นชิงทรัพย์ หรือฆ่าล้างแค้น ขัดผลประโยชน์ สถิติอาชญากรรมในกลุ่มนี้จึงไม่สร้าง “ความกลัว” แก่สาธารณชน เช่น อย่างน้อยเราก็รู้ว่า ถ้าเราไม่มีเรื่องขัดแย้งกับใคร คงไม่มีใครอยู่ๆ ก็เดินมายิงหรือมาแทงเราอย่างไม่มีเหตุผล (กรณีจ่านิว หรือเอกชัยที่ถูกลอบทำร้าย ก็ยังพอเดาออกว่าเกิดจากอะไร)

เมื่อพอจะรู้ว่าอะไรที่อาจทำให้เราโดนปล้น โดนฆ่า โดนทำร้าย เราก็พอจะหาวิธีหลีกเลี่ยง หรือรักษาตัวเองให้ปลอดภัยไปตามอัตภาพ

แต่ประเทศที่มีสถิติคดีอาชญากรรมค่อนข้างต่ำ มีความปลอดภัยสูง มักเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด (นอกเหนือจากเหตุการณ์ก่อการร้าย) เช่น ญี่ปุ่น มักเกิดเหตุมีคนถือมีดเข้าไปแทงคนชราในบ้านพักคนชราจนเสียชีวิตหลายคน หรือมีใครสักคนบุกไปแทงนักเรียนชั้นประถมในโรงเรียนตายไปอย่างไม่มีเหตุผล

หรือหลายเหตุการณ์กราดยิงในอเมริกา เหตุการกราดยิงในแคนาดา ในฝรั่งเศส ฯลฯ อย่างที่เราได้อ่านข่าวกัน ซึ่งชัดเจนว่าแรงจูงใจของผู้ “ก่อเหตุ” เป็นปัญหาของโลกหลังสมัยใหม่ เช่น ปัญหาความป่วยไข้ทางจิตที่ซับซ้อนขึ้น ปัญหาที่เกิดจากความโดดเดี่ยว แปลกแยก ปัญหาที่อาจเกิดจากการนิยามตนเองว่าผู้ล้มเหลวในท่ามกลางสังคมที่บูชาแต่คนที่ประสบความสำเร็จ

ปฏิเสธไม่ได้ว่านี่คือ “ความป่วยไข้ทางสังคม” เป็นปัญหาหนักอกหนักใจในประเทศโลกที่ 1

พูดอย่างหยาบๆ ว่า ประเทศกำลังพัฒนา ประเทศที่ยากจน มีปัญหาเรื่องคนจี้ ปล้น ฆ่ากันเพราะไม่มีจะกินบ้าง ขัดผลประโยชน์ เรื่องการเมือง เรื่องคุมซ่อง คุมบ่อน เรื่องนักเลงปากซอยบ้างอะไรบ้าง

แต่ปัญหาอาชญากรรมในหลายๆ ประเทศที่พัฒนาแล้วมักเป็นความป่วยไข้ที่ผลพวงของทุนนิยมที่ซับซ้อน ก้าวหน้า สังคมที่มีความเป็นส่วนตัวสูงจนผู้คนบางกลุ่มเหน็บหนาว โดดเดี่ยว หรือการที่การเป็น looser แล้วหาที่อยู่ที่ยืนในสังคมนั้นไม่ได้อะไรก็แล้ว

ทั้งหมดนี้เป็นประเด็นว่าด้วย “ความแปลกแยก”

ทว่าข้อดีของประเทศโลกที่ 1 (กรณีนี้ขอยกเว้นอเมริกา ที่มีปัจจัยทางสังคม กฎหมาย ค่อนข้างแตกต่างออกไป และมีประเด็นการกราดยิงที่บ่อยและรุนแรงกว่าใครเพื่อน) คือมีความประณีต ละเอียดอ่อนในการจัดการปัญหาหลังเหตุการกราดยิง ดังเช่นที่เราเห็นจากกรณีของนิวซีแลนด์

พูดอย่างรวบรัด ถ้ามองว่าการกราดยิงเป็นประหนึ่งโรคระบาด ในประเทศโลกที่ 1 ทำทั้งการระงับ ยับยั้ง รักษา “โรค” นั่นคือการติดตามจับกุมตัวคนร้าย และในกระบวนการติดตามจับกุมตัว การนำเสนอข่าว การแถลงข่าว และ performance ใดๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้จะต้องทำไปบนพื้นฐานของโจทย์ที่ว่า ต้องไม่ทำให้เรื่องนี้กลายเป็น “ภาพยนตร์แอ๊กชั่น” และเพราะมันไม่ใช่หนังแอ๊กชั่น มันไม่จำเป็นต้องมีฮีโร่ ไม่จำเป็นต้องมีพระเอก ไม่จำเป็นต้องมีผู้ร้าย

กล่าวอย่างที่สุด มันคือโศกนาฏกรรมของสังคมที่เราทุกคนต้องเผชิญกับความสูญเสีย เราทุกผู้ทุกคนต่างคือเหยื่อของโครงสร้างทางสังคมการเมืองที่เราทั้งร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ “ผู้ก่อ” และเราก็ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของผู้ตกเป็นเหยื่อ

เรียกได้ว่า เราทุกผู้ทุกนามต่างต้องเผชิญกับภาวะหัวใจสลายนี้ร่วมกันอย่างช่วยไม่ได้

ดังนั้น จึงเป็นเรื่องหยาบคายอย่างยิ่ง หากจะมีกลไกอันใดอันหนึ่งของสังคมฉวยโอกาสทำมาหากิน ฉวยโอกาสสร้างความนิยม จากเหตุการณ์นี้ด้วยการปฏิบัติต่อมันประหนึ่งเป็นภาพยนตร์แอ๊กชั่นสร้างความบันเทิง

(การรายงานข่าวเน้นดราม่า น้ำตา ความรุนแรง การใช้ความรัก ความสัมพันธ์ ระหว่างแม่ ลูก ผัว เมีย ในเหตุการณ์มารายงานประกอบข่าว เพื่อไฮไลต์ ดราม่าให้เข้มข้นขึ้นไปอีก) ไม่ว่าจะเป็นสื่อ, รัฐ, หน่วยราชการ องค์กรใดก็ตาม เหนือไปกว่านั้น ท่าทีของผู้นำประเทศต่อเหตุการณ์ในลักษณะนี้ต้องเป็นไปโดยสำรวมที่สุด

อย่างน้อย เป็นการเคารพต่อความสูญเสียทั้งในระดับบุคคล และระดับสังคม

เคารพความเหน็ดเหนื่อยจากการทำงานของเจ้าหน้าที่และทุกคนที่เกี่ยวข้อง

อีกทั้งการสำรวมในการแสดงออกนั้นต้องเป็นไปเพื่อแสดงความผิดชอบต่อโศกนาฏกรรมนี้ในฐานะที่เป็น “ผู้นำประเทศ”

ต่อให้โศกนาฏกรรมนี้จะมีสาเหตุมาจากอดีตผู้นำคนอื่นใดก่อนหน้านี้ หรืออะไรก็ตาม ในฐานะผู้นำคนปัจจุบันก็ต้องแสดงสปิริตความรับผิดชอบ

เพราะนี่คือ “ภาวะผู้นำ”

แสดงความเสียใจอย่างสำรวม

แสดงความรับผิดชอบบนวุฒิภาวะของคนเป็นผู้นำ

แล้วต้องขอบคุณคนตัวเล็กตัวน้อยที่มีส่วนช่วยเหลือประชาชน

แล้วในระดับนโยบาย ในระดับที่จะนำนโยบายไปปฏิบัติต่อไป ผู้นำในประเทศโลกที่ 1 จะต้องคิดต่อไปว่า ทำอย่างไรไม่ให้เหตุการณ์กราดยิงที่เกิดขึ้น กลายเป็นตัวจุดชนวนความรุนแรง ความโกรธแค้น หรือกลายเป็นเมล็ดพันธุ์แห่งความเกลียดชังที่จะถูกบ่มเพาะ สะสม ต่อไปในสังคม จนกลายเป็นโรคระบาดลุกลามไปทั่ว

การยับยั้งการระบาดของความรุนแรงไม่ได้จบที่ความตายของ “ฆาตกร” เท่านั้น

แต่หนึ่งชีวิตของฆาตกรที่จบลง จะทำให้สังคมที่คั่งแค้น เกรี้ยวกราดต่อฆาตกร กลายมาเป็นฆาตกรเสียเองทั้งทางตรงทางอ้อมหรือไม่?

นั่นเป็นสิ่งที่ผู้นำประเทศและรัฐบาลต้องมีความละเอียดอ่อน

ปัญหาเชิงโครงสร้างที่ก่อให้เกิดความแปลกแยกผิดหวังต่อผู้คน จนกลายเป็นความป่วยไข้ทางกาย จะถูกบรรเทาลงด้วยหนทางใดบ้าง นั่นเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องทำงานหนัก และขบคิดกับมันอย่างจริงจัง และพยายามผลักดันแผนการทำงานออกมาให้เป็นรูปธรรมให้จงได้

ดังเช่นที่นายกฯ นิวซีแลนด์ได้ผลักดันให้เรื่อง Wellbeing budget

ทุ่มงบประมาณไปกับเรื่องการดูแลสุขภาพจิตของประชาชน ปัญหาความยากไร้ขาดแคลนในเด็ก และปัญหาความรุนแรงและความสัมพันธ์ในครอบครัว

เพื่อสร้างให้นิวซีแลนด์เป็นประเทศที่เหมาะสมและมีความสุขที่มีชีวิตอยู่ให้เป็นวาระแห่งชาติ

โดยหวังลดความเสี่ยงแห่งการเกิดปัญหาความป่วยไข้ทางสังคม

อันอาจนำมาซึ่งเหตุการณ์ เช่น การกราดยิง หรืออื่นๆ

หันกลับมาดูเหตุการณ์กราดยิงรุนแรงครั้งแรกในประเทศไทย

ชัดเจนมากกว่า มันไม่ได้เกิดจากปัญหา “ความแปลกแยกทางจิตวิญญาณ” อันเป็นปัญหาของสังคมหลังสมัยใหม่ หลังทุนนิยม แบบที่เกิดขึ้นในประเทศโลกที่ 1

พูดง่ายๆ มันไม่ได้เกิดมาจากความ “หว่อง”

ย้อนกลับไปอ่านประเด็นข่าวที่ฉันยกมาข้างต้น การกราดยิงครั้งนี้มีสาเหตุมาจากความขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์ หนี้สิน เงินค่านายหน้า คล้ายกับประเด็นคดีอาชญากรรมที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และประเทศโลกที่สามทั่วไป

แต่แทนที่อาชญากรรมครั้งนี้จะจบลงตรงชีวิตของคู่กรณี จำกัดบริเวณอยู่ในเฉพาะสถานที่นั้นๆ ที่คู่กรณีอยู่ แต่มันกลับลุกลามออกมานอกอาณาบริเวณของผู้เกี่ยวข้อง

ทั้งหมดนี้มันแสดงให้เห็นว่า ความขัดแย้งส่วนตัวนั้นพัวพันอยู่อยู่กับความโกรธขึ้งสังคมโดยรวม

นำไปสู่ความรุนแรงและโศกนาฏกรรมอย่างที่เป็น

ความขัดแย้งส่วนตัวนั้นก็น่าสนใจว่าเป็นความขัดแย้งระหว่างผู้ใต้บังคับบัญชากับผู้บังคับบัญชา ซึ่งโดยธรรมชาติของความสัมพันธ์เช่นนี้ เป็นไปได้ด้วยหรือ ที่ผู้ใต้บังคับบัญชาจะอาจหาญไปขัดขืน ต่อรอง ต่อกร ถกเถียง เรื่อยไปจนถึงท้าชนเรียกร้องค่าเสียหายเอาจากผู้บังคับบัญชาได้

ภายใต้ลำดับชั้นและวัฒนธรรมองค์กรที่การเชื่อฟังผู้บังคับบัญชาอย่างไม่มีเงื่อนไขคือหน้าที่ – หน้าที่ในระดับที่ว่า ถ้าเขาชี้สีขาวให้ดูแล้วสั่งให้เราพูดว่า “สีดำ” เราก็ต้องพูด (ด้วยสมมุติฐานว่าเขาย่อมมีเหตุผลของเขา และเราเป็นผู้น้อยไม่มีหน้าที่ที่จะไปถาม)

ภาวะเช่นนี้ก่อให้เกิดความเครียดจนนำไปสู่ความป่วยไข้ทางจิตในระดับไหนบ้าง เท่าที่รู้ ยังไม่มีใครศึกษาอย่างจริงจัง

หลังเหตุการณ์กราดยิงที่โคราช จึงน่าสนใจสำหรับผู้สนใจปัญหา “ความป่วยไข้ทางสังคม” ว่า ปัญหาการกราดยิงที่เกิดขึ้นในไทย อาจจะต่างจากอเมริกาที่มีปัญหาสังคมเรื่องสีผิว เชื้อชาติ ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ปัญหาเรื่องกฎหมายการครอบครองอาวุธ

อาจจะต่างจากบางประเทศที่มีประเด็นเรื่องผู้ก่อการร้าย หรือกลุ่มนีโอนาซีหัวรุนแรง

อาจจะต่างจากประเทศที่มีเศรษฐกิจยุคหลังทุนนิยมอย่างญี่ปุ่น

แต่ปัญหาในเมืองไทยอาจจะมาจากปัญหาสังคม “ก่อนสมัยใหม่” นั่นคือปัญหาความคับข้องใจ ไร้ทางออกของภาวะว่าด้วย “คนไม่เท่ากัน” อันถูกซ้ำเติมด้วยปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ

และหนักกว่าที่อื่นคือความ “ก่อนสมัยใหม่” ของไทยเรานั้นถูกไฮบริดด้วยเทคโนโลยีหลังสมัยใหม่อย่างเต็มรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นอินเตอร์เน็ต, โซเชียลมีเดีย เกม ฯลฯ

ซึ่งทั้งเร่งเร้าและเปิดทางให้เกิดการกระทำอันรุนแรงต่อสังคมได้ เช่น การกราดยิง

หนักที่สุดสำหรับสังคมไทยคือ หลังเหตุการณ์กราดยิง เรารับมือกับมันด้วยวิธีคิด โลกทัศน์ “ก่อนสมัยใหม่” ด้วยเครื่องมือสื่อสาร และเทคโนโลยีสมัยใหม่

ก่อนสมัยใหม่คือ ไม่มีการคำนึงเรื่อง “ความเป็นส่วนตัว” ไม่มีการคำนึงถึงผลกระทบเรื่องการรับรู้ต่อ “ความรุนแรง” ของสังคมในระยะยาว

เราพากันใช้เทคโนโลยี “หลังสมัยใหม่” “ไลฟ์” ถ่ายทอดภาวะ “ก่อนสมัยใหม่”

เรามีทั้งผู้นำทำมินิฮาร์ท

มีผู้นำใน “เครื่องแบบ” อันหลากหลาย มีพระเอกสวมเสื้อเกราะ ถือปืน ในมุมกล้องของพระเอกผู้เสียสละ

เรามีสื่อที่นำเสนอภาพลูกชายนายตำรวจสุดหล่อ ในวันต่อมา ท่ามกลางโศกนาฏกรรม บนพื้นที่สื่อ

เกิดภาพยนตร์แอ๊กชั่นครบรส ผุดขึ้นมาหนึ่งเรื่อง

ซึ่งฉันอยากจะถามว่า ไม่รู้ตัวกันบ้างหรือว่า ที่หายใจๆ กันอยู่ทุกวันนี้ เราต่างเป็นหนึ่งในตัวละครของสิ่งที่เรียกว่า tragedy ต่างหากเล่า

ยังไม่รู้ตัวกันอีก