สลิ่ม, กะลา และการปฏิวัติทางอุดมการในแฟลชม็อบนักศึกษา | ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

แฟลชม็อบนักศึกษาเป็นปรากฏการณ์ทางการเมืองที่ไม่เคยมีมาก่อนในสังคมไทย

อะไรที่ไม่เคยมีมาก่อนจึงเป็นเรื่องที่คาดเดาได้ยาก ประเมินไม่ได้ว่าทั้งหมดจะดำเนินไปในทิศทางไหน

ถึงแม้แฟลชม็อบจะจุดประกายให้คนจำนวนมากเกิดความหวังว่าสังคมไทยมีโอกาสเปลี่ยนแปลงได้มากที่สุดในรอบหลายปี

ภายใต้ประเทศที่ประยุทธ์ จันทร์โอชา และพวกยึดครองมาเกือบหกปี แฟลชม็อบคือสัญลักษณ์ว่าระบอบเผด็จการล้มเหลวในการกำจัดความคิดอิสระให้สิ้นซาก ภายใต้ระบอบที่กระบอกปืนจ่อปลายกระเดือกจนคนเลือกที่จะหุบปากเงียบ

แฟลชม็อบคือหลักฐานว่าในความเงียบมีประกายไฟแห่งการต่อต้านรอวันพวยพุ่งขึ้นมา

ด้วยการเติบโตของแฟลชม็อบในมหาวิทยาลัยแทบทุกสถาบันและสถานศึกษาแทบทุกระดับ ด้วยการขยายตัวจากกรุงเทพฯ สู่วิทยาเขตของมหาวิทยาลัยขนาดเล็ก และด้วยการหยั่งรากสู่เด็กมัธยมต้นและปลายทั้งที่มีและไม่มีข่าว

แฟลชม็อบทำให้รัฐบาลทหารหวาดหวั่นอย่างหนักแน่ๆ ถึงจะไม่มีใครยอมรับตรงๆ

แฟลชม็อบไม่ใช่การต่อสู้กับเผด็จการทหารครั้งแรกในสังคมไทย แต่ถ้าเปรียบเทียบแฟลชม็อบกับการต่อสู้สมัยสิบสี่ตุลา 2516, 6 ตุลาคม 2519, พฤษภาคม 2535 และคนเสื้อแดงในปี 2553 แฟลชม็อบเป็นการต่อสู้ครั้งแรกที่ไม่มีใครเป็น “ผู้นำ” ในความหมายที่เคร่งครัด ถึงทุกเวทีจะมีนักพูดหรือนักปราศรัยก็ตาม

ด้วยโครงสร้างพื้นฐานของแฟลชม็อบที่เป็นการบรรจบกันของปัจเจกชนมหาศาลซึ่งไม่เอาเผด็จการ แฟลชม็อบจึงยังไม่มีรูปทรงที่ถือว่าเป็น “ขบวนการ”

ความเคลื่อนไหวจึงไม่ได้เกิดจากการกำกับของ “ผู้นำ” ที่เป็นดาวไฮด์ปาร์กหรือนักกลยุทธ์ และการต่อสู้ไม่ได้เป็นผลจากการชี้นำของใครเพียงคนเดียว

แฟลชม็อบคือ “ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมแนวใหม่” มากกว่าจะเป็น “ขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมือง” แบบดั้งเดิม

ยุทธวิธีปกป้องเผด็จการทหารโดยโจมตีแฟลชม็อบด้วยข้อหาแบบรับเงินแม้ว, อยากดัง, ขายชาติ ฯลฯ จึงทำไม่ได้ เพราะในเมื่อไม่มีใครเป็นผู้นำ รัฐก็ไม่มีใครเป็นเป้าให้หาเรื่องโดยปริยาย

ถ้าเปรียบเทียบแฟลชม็อบนักศึกษากับขบวนการสีเสื้อหลังปี 2549 ความเคลื่อนไหวนี้มีแกนกลางที่ไม่เกี่ยวกับบุคคลและความผูกพันทางการเมือง

แฟลชม็อบจึงไม่มี “ผู้นำ” รวมทั้งไม่มี “มวลชน” แบบความเคลื่อนไหวในอดีต เพราะผู้มีส่วนร่วมทั้งหมดเป็น “ปัจเจกชน” ที่เกาะเกี่ยวผ่านสายสัมพันธ์ทางอุดมการณ์

แฟลชม็อบเป็นการรวมตัวชั่วคราวแล้วแยกย้าย “อุดมการณ์” ของแฟลชม็อบจึงเป็นเรื่องที่พูดชัดๆ ได้ยาก แต่คำปราศรัยและสัญลักษณ์ทั้งหมดพูดถึงประชาธิปไตย, ผนงรจตกม, หู่เตี้ย ฯลฯ ขณะที่แฮชแท็กทั้งหมดโจมตี “สลิ่ม” และ “กะลา”

ซึ่งเท่ากับเป็นอุดมการณ์ต่อต้านประยุทธ์และโครงสร้างที่สร้างคนแบบนี้ขึ้นมา

ในไวยากรณ์การเมืองไทยร่วมสมัย “สลิ่ม” เป็นคำเรียกผู้สนับสนุนการฆ่าหมู่ประชาชนผู้เรียกร้องการเลือกตั้งปี 2553 หลังประวิตร วงษ์สุวรรณ และอนุพงษ์ เผ่าจินดา เชิดคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกฯ จนเกิดวลี “ตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร” แฟลชม็อบจึงไม่ได้ไม่พอใจแค่ประยุทธ์ แต่รังเกียจระบอบที่ให้ทหารมีอำนาจสูงสุดในประเทศตลอดมา

ในโลกของนักศึกษาและคนไทยจำนวนมาก “สลิ่ม” สร้างสถานการณ์ล้มเลือกตั้งเพื่อเปิดทางให้ประยุทธ์รัฐประหารปี 2557

“สลิ่ม” จึงมีความหมายตั้งแต่สมุนทหารใน กปปส.ถึงกองหนุนรัฐประหารที่ตอแหลว่าตัวเองเป็นกลางโดยสร้างวาทกรรมบ้าๆ บอๆ หลอกตัวเองและคนทั้งประเทศเหมือนคนโง่ใน “กะลา”

คุณลักษณะพื้นฐานของแฟลชม็อบทำให้ผู้นำที่ปากพล่อยและโกหกเก่งเผชิญความอับจนในการหลอกลวงพลเอกประยุทธ์หุบปากไม่พูดถึงเรื่องนี้แม้แต่คำเดียว ลุงเหรียญเยอะหลบหน้าสื่อไปเฉยๆ ทั้งที่ด่านักศึกษามาตลอดว่าเป็นฮ่องเต้ซินโดรม-ชังชาติ-ซ้ายจัดดัดจริต

ส่วนประยุทธ์มีหลุดบ้างตอนที่ขู่ดำเนินคดีทุกคน

ถ้าแฟลชม็อบโจมตีประยุทธ์ว่าโง่, ไร้ประชาธิปไตย, เศรษฐกิจเจ๊ง, ทำคนตกงาน ฯลฯ ตัวประยุทธ์และบริวารก็คงตอบโต้แบบข้างๆ คูๆ ว่ายิ่งลักษณ์เลว ทักษิณชั่ว เศรษฐกิจไทยดีกว่าพม่า หรือไม่ก็คนมีงานทำเยอะกว่าคนตกงาน

แต่การโจมตีเรื่อง “สลิ่ม” และ “กะลา” ทำให้ประยุทธ์และพวกไม่มีทางตอบโต้ได้เลย

ในอดีตนั้น “สลิ่ม” และ “กะลา” เป็นการโจมตีคนบางกลุ่มด้วยวิธีกระแนะกระแหนยิ่งกว่าอธิบายอะไรตรงๆ แต่ความสำเร็จของแฟลชม็อบชี้ว่าสองคำนี้เป็น “คำขวัญ” ในการต่อสู้กับระบอบเผด็จการทั้งหมด เพราะตอกย้ำว่าประยุทธ์มีอำนาจถึงวันนี้เพราะ “เครือข่าย” ที่คิดแบบ “สลิ่ม” และคุมประเทศแบบ “กะลา”

ด้วยการโจมตีคุณประยุทธ์จากบุคคลสู่ “เครือข่าย” ที่มีฉายาว่า “สลิ่ม” และ “กะลา” แฟลชม็อบนักศึกษาปิดโอกาสที่คุณประยุทธ์และพวกจะตอบโต้ไปทั้งหมด

เพราะการตอบโต้ย่อมเป็นการสารภาพว่าคุณประยุทธ์คือ “สลิ่ม” ที่ปกครองประเทศด้วย ซึ่งจะยิ่งทำให้คุณประยุทธ์เป็นตัวตลกทางการเมือง

พล.อ.ประยุทธ์เป็นหัวหน้าคณะรัฐประหารที่ครองอำนาจนายกฯ นานกว่าจอมเผด็จการสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เพราะ “เครือข่าย” ซึ่งทำให้เกิดมวลชน “สลิ่ม” และการปกครองแบบ “กะลา” ปรากฏการณ์ที่แฟลชม็อบมีสองคำนี้เป็นแกนกลางจึงมีนัยยะของการเผชิญหน้าทางอุดมการณ์กับ “เครือข่าย” ที่ทำให้คุณประยุทธ์เป็นนายกฯ โดยตรง

เมื่อคำนึงว่านักศึกษานัดชุมนุมผ่านแฮชแท็กประเภท #ราชภัฏอยากงัดกับสลิ่ม, #มอนอขอออกนอกกะลา, #ศาลายางดกินของหวานหลายสี ฯลฯ สองคำนี้จึงเป็นรหัสที่สะท้อนว่าคนรุ่นนี้เข้าใจตรงกันว่าประยุทธ์คือส่วนหนึ่งของ “เครือข่าย” จนทั้งหมดคือร่องรอยของการปฏิวัติทางอุดมการณ์ในรูปแบบที่แนบเนียน

แฟลชม็อบสื่อสารด้วยภาษาเสียดสีผ่านรหัสซึ่งเข้าใจเฉพาะรุ่นและพวกเดียวกัน ตัวภาษาจึงสะท้อนถึง “ชุมชน” ที่มองโลกเหมือนกันจนเข้าใจว่าสลิ่มไม่ได้แปลว่าขนมหวาน

ความสำเร็จของการสื่อสารแบบนี้เป็นหลักฐานว่ามุมมองนี้แพร่หลายจน “ชุมชน” มีขนาดใหญ่โตขั้นไม่สนใจเลยว่าคนกลุ่มอื่นจะไม่เข้าใจ

น่าสังเกตว่าแฟลชม็อบสร้างภราดรภาพในการชุมนุมด้วยการร้องเพลง “ประเทศกูมี”, “Do You Hear the People Sing?” หรือ “เพื่อมวลชน” ซึ่งแต่งโดยนักศึกษายุค 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งไม่เคยยุ่งเกี่ยวกับ กปปส. การจงใจใช้ภาษาเฉพาะกลุ่มจึงแจ่มชัดขั้นแม้แต่เพลงในที่ชุมนุมก็มีสัญลักษณ์บางอย่างเฉพาะตัว

แฟลชม็อบเป็นความเคลื่อนไหวที่ไม่มีผู้นำ แต่ด้วยภาษาและสัญลักษณ์ที่แฟลชม็อบต่างจากการชุมนุมในอดีต แฟลชม็อบคือหลักฐานของอุดมการที่ก่อตัวในคนจำนวนมากจนเป็น “ชุมชนในจินตนาการ” ที่แข็งแกร่งพอจะสร้างรหัสและวิธีสื่อสารเพื่อแสดง “อัตลักษณ์ร่วม” ที่ผิดแผกจากกลุ่มอื่นอย่างเต็มภาคภูมิ

ก่อนหน้านี้รัฐบาลทหารกับเครือข่าย “สลิ่ม” ในกองทัพ, มหาวิทยาลัย, สื่อ ฯลฯ โจมตีพรรคอนาคตใหม่ว่าสร้าง “สงครามระหว่างรุ่น” แต่พัฒนาการของแฟลชม็อบชี้ว่าคนรุ่นใหม่มี “สงครามระหว่างรุ่น” ต่อ “สลิ่ม” มานานแล้ว การยุบอนาคตใหม่แค่ทำให้เรื่องนี้ระเบิดจากมิติอุดมการณ์สู่การชุมนุมทางการเมือง

คนไม่น้อยคิดว่าแฟลชม็อบนักศึกษามีโอกาสเป็นหัวหอกของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองด้วยวิธี “ลุกฮือ” แต่ด้วยความจริงที่แฟลชม็อบยังเป็นแค่การชุมนุมในรั้วโรงเรียนและมหาวิทยาลัย สถานะของแฟลชม็อบวันนี้จึงเป็นยังอยู่ที่การแสดงออก (Demonstration) ไม่ใช่เป็นการลุกฮือ (Uprising) ทางการเมือง

สำหรับรัฐบาลที่มีปัญหาเรื่องความยอมรับจากประชาชน สิ่งที่คนกลุ่มนี้อยากเห็นคือแฟลชม็อบอยู่ในรั้วสถานศึกษาจนแผ่วปลายไปในที่สุด หรือไม่ก็บุ่มบ่ามลงถนนจน “สลิ่ม” ปั่นกระแสให้ลุงเหรียญเยอะปราบปรามจนสิ้นซาก

แต่สำหรับนักเรียนนักศึกษา โจทย์ที่ท้าทายคือการทำให้แฟลชม็อบเป็นความเคลื่อนไหวที่ยั่งยืน

แฟลชม็อบคือหลักฐานของการปฏิวัติทางอุดมการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคม ความแข็งแกร่งของอุดมการณ์นี้มีมากและมีวิธีสื่อสารที่แสดงการแตกหักจากโครงสร้างในอดีตทั้งหมด ผู้นำที่ฉลาดจึงต้องหาทางอยู่ร่วมกับแฟลชม็อบ

เพราะแฟลชม็อบคืออนาคตของชาติ ไม่ใช่การถอยชาติลงคลองจนชาติปรักหักพังมาแล้วหกปี