“ฮุน เซน” อ้าแขนรับเรือสำราญ “เวสเตอร์ดัม” เทียบท่า ชี้กัมพูชาเคารพสิทธิมนุษยชน

วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2563 เอเอฟพี รายงานว่า ผู้โดยสารบนเรือสำราญเวสเตอร์ดัม ที่มีผู้โดยสาร 2,257 คน ที่รัฐบาลกัมพูชาอนุญาตให้เทียบท่าเรือในเมืองสีหนุวิลล์ เริ่มทยอยขึ้นฝั่ง หลังติดค้างบนเรือกลางทะเล 2 สัปดาห์ เนื่องจากถูกปฏิเสธจากทางการไทย ญี่ปุ่น เกาะกวม ฟิลิปปินส์ และไต้หวัน ด้วยความวิตกว่า ผู้โดยสารบนเรืออาจติดไวรัสโควิด-19

นายฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น ผู้โดยสารบนเรือ 100 คนแรก ก้าวขึ้นฝั่งพร้อมได้รับดอกไม้และผ้าพันคอเขมรดั้งเดิม ขณะที่ผู้โดยสารที่เหลือบนเรือต่างโบกมือและส่งเสียงเชียร์

นายกรัฐมนตรีกัมพูชากล่าวว่า ผู้โดยสารทั้งหมดจะได้รับอนุญาตขึ้นฝั่ง หลังกระทรวงสาธารณสุขกัมพูชาระบุว่าไม่พบผู้ติดไวรัสโควิด-19 บนเรือสำราญเวสเตอร์ดัม

“กัมพูชาทำแบบนี้เพราะให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนมากขึ้น… เราเคารพของสิทธิของคนบนเรือมากกว่า 2,000 คน เราไม่มีความมั่งคั่งเหมือนประเทศร่ำรวย แต่เรามีความเห็นใจผู้โดยสารที่ติดค้างบนเรือ” นายฮุน เซน กล่าว

อย่างไรก็ตาม บีบีซีไทยรายงานว่า หลายฝ่ายแสดงความกังขาถึงการกระทำของนายฮุน เซน ว่าแท้จริงแล้วมาจากเหตุผลทางด้านมนุษยธรรม หรือเป็นเพียงความพยายามเอาอกเอาใจ แสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับรัฐบาลจีน ชาติพันธมิตรสำคัญที่ให้เงินกู้มหาศาลแก่กัมพูชา หรือเป็นการสร้างภาพเพื่อกลบข่าวเชิงลบที่สหภาพยุโรป (อียู) เพิ่งประกาศตัดสิทธิพิเศษทางการค้าต่อกัมพูชา ตอบโต้ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงในประเทศ โดยนายฟิลล์ โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการฝ่ายภูมิภาคเอเชียของฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าวว่า การยอมรับเรือสำราญที่ไม่มีชาติไหนรับ ช่างประจวบเหมาะกับช่วงเวลาที่สหภาพยุโรปกำลังลงโทษกัมพูชาด้วยการตัดสิทธิเศษทางการค้า ฮุนเซนกำลังส่งสัญญาณไปถึงสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปว่าตัวเขายังเป็นมิตรที่เป็นประโยชน์ในบางครั้งบางคราว

ทั้งนี้ เมื่อวานนี้ สหภาพยุโรป หรือ อียู ได้ลงมติ ตัดสิทธิพิเศษทางการค้ากับกัมพูชาลง 20 เปอร์เซ็นต์ ภายใต้โครงการ “Everything But Arms” (EBA) หรือการให้สิทธิพิเศษด้วยการยกเว้นภาษีนำเข้าและยกเลิกการกำหนดโควต้านำเข้าสินค้าทุกประเภท ยกเว้นอาวุธยุทโธปกรณ์ ซึ่งอียูมอบให้กับ 48 ประเทศที่ยากจนที่สุดในโลก โดยท่าทีนี้จะกระทบต่อสินค้าส่งออกของกัมพูชาไปยังตลาดอียู มีมูลค่าราว 100,000 ล้านยูโร (ราว 3.4 ล้านล้านบาท) ผู้บริหารของอียูชี้ว่าการตัดลดสิทธิพิเศษทางการค้านี้ต่อกัมพูชา เป็นผลจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงและอย่างเป็นระบบของรัฐบาลสมเด็จฯฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา