อภิญญา ตะวันออก : กับดัก-ความหมายในพจนานุกรมฉบับครูลง เสียม

อภิญญา ตะวันออก

สมัยเรียนเขมรนอกเวลาที่ศิลปากรนั้น ยังจำวันที่พจนานุกรมเขมร-อังกฤษเล่มแรกที่สุดแสนสลักเสลานั่น

ความหลงใหลต่ออักขระแปลกๆ ที่สวยงามนั่น มารู้ตัวอีกที ฉันก็มีพจนานุกรมเขมรหลายภาษาและหลายฉบับ ทั้งใหญ่ กลาง เล็ก

กระนั้น กลับรู้สึกแน่นแฟ้นและผูกพันกับพจนานุกรมบางเล่ม ที่เป็นแค่เพียงความทรงจำ-ไม่มีวาสนาแม้แต่จะครอบครอง

หนึ่งในนั้นคือพจนานุกรมฉบับรัตนคีรีที่ฉันจำคนแต่งไม่ได้ ความน่าตื่นเต้นการอ่านฉบับนี้เพราะไม่มีหนังสืออื่นๆ ให้อ่าน แต่ฉบับที่ไม่เคยลืมกลับเป็นพจนานุกรมเขมร-รัสเซีย 2 เล่มยักษ์ที่ขนาดเท่าเอ็นไซโคลพีเดีย วางอยู่อย่างโดดเดี่ยวในห้องอันมืดทึมของสมาคมวัฒนธรรมเขมร-รัสเซีย

สารภาพตามตรง ฉันลืมไม่ลงแม้แต่สันปกสีดำที่เกรอะกรังไปด้วยฝุ่น

 

และนี่คือเรื่องของโลกครูลง เสียม บุคคลที่ฉันยังไม่รู้จักหน้าค่าตาของท่านในตอนนั้น แต่พอจำพรากจากกัมพูชาไม่นาน อาจารย์ก็จากพวกเราไป

กระทั่งวันหนึ่ง เกิดรื้อหนังสือหลายหมวดไปมาก็สะดุดตากับพจนานุกรมเขมรฉบับ Seam & Blake (2524) สำนักพิมพ์เอเชียบุ๊คส์ : Ung Tea Seam & Neil Ffrench Blake ซึ่งถ้าเขียนแบบเขมรคือ เสียม เตียอึง

พลัน ฉันก็รำลึกถึงเจ้าของพจนานุกรมผู้มีนามว่าเสียมอีกท่านหนึ่งซึ่งนามสกุลว่า “ลง” และเป็นหนึ่งเดียวที่น่าจดจำของวงการพจนานุกรมเขมรที่ยืนหยัดแถวหน้า ทว่าถูกบดบัง

อะไรคือสิ่งนั้น อันเกี่ยวกับพจนานุกรมทั้ง 4 เล่มของเขา ซึ่งในแง่นักเขียนแล้ว ลง เสียม มีความสำคัญเทียบเท่า (หรืออาจจะเหนือกว่า) สมเด็จพระสังฆราช จวน นาต ผู้สร้างตำนานพจนานุกรมเขมรฉบับแรกของประเทศ

อีกทั้ง 2 ฉบับพจนานุกรมนั้นยังแบ่งออกเป็น 2 ชนิดประเภทที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง คือหนึ่งเป็นเขมร-รัสเซีย และฉบับที่ 2 เป็นพจนานุกรมจารึกเขมร

แต่อะไรเล่าที่ทำให้ศาสตราจารย์ลง เสียม ต้องถูกบดบังในผลงานที่เต็มไปด้วยความบากบั่น และอันที่จริงแล้วบัณฑิตสภากัมพูชานั่นเองที่ไม่มอบหมายภารกิจชำระพจนานุกรมฉบับแห่งชาติ หรือพจนานุกรมเล่มใหม่ หลังจากที่งานของจวน นาต ผ่านกาลสมัยมากว่า 70 ปี

แต่พอสิ้นครูลง เสียมแล้ว จะหาบัณฑิตไหนเล่ามาเทียบได้?

 

ศาสตราจารย์ลง เสียม (2478-2550) สมัยหนึ่งคือลอง เสียม ที่ฉันเรียกนั้น บางทีฉันอาจได้ยินชื่อนี้มาแสนนานตั้งแต่ครั้งที่กรุงเทพฯ

จริงๆ แล้วฉันได้ติดตามผลงานครูลง เสียม มาตั้งแต่ปี 2540-2541 โดยที่ไม่รู้จักเขามาก่อน สมัยนั้น โรงแรมแคมโบเดียน่า ดูจะเป็นสถานที่เดียวของกรุงพนมเปญที่จัดแสดงงานศิลปะ และหัวข้อบรรยายทางวัฒนธรรม แม้จะเป็นภาษาบารังที่ฉันไม่เข้าใจเลยก็ตาม

แต่ก็ไม่ทราบมีอะไรมาดลใจให้ไปที่นั่นอย่างสม่ำเสมอ หนึ่งในหัวข้อที่เคยร่วมฟัง มีศาสตราจารย์ ดร.ลง เสียม ด้วยคนหนึ่ง

กระทั่งย้ายที่มาสมาคมฝรั่งเศส แยกซอยแก้วเจีย อีกครั้งหนึ่งที่ฉันติดตามไปฟังครูเสียมบรรยายในหัวข้อนิรุกติศาสตร์ที่ยากจะทำความเข้าใจ และเช่นเดิม โลกครูลง เสียม พูดบรรยายเป็นภาษาฝรั่งเศส

แล้ววันหนึ่ง ฉันก็ได้รับเชิญพบกับอาจารย์ที่อพาร์ตเมนต์ของท่าน ย่านชานเมืองถนนโปเชนตง

ขอเล่านอกเรื่องนิดหนึ่งว่าอาคารที่พักข้าราชการมหาวิทยาลัยเก่าแก่แห่งนี้ออกแบบโดยวานน์ โมลีวรรณ ที่ต้องกล่าวไว้และฉันจดจำได้ คือลมที่พัดเย็นสบาย

และเป็นครั้งสุดท้ายที่ฉันได้พบกับวิทูทางจารึกเขมรผู้นี้

อา มันไม่ยุติธรรมเลย สำหรับใครสักคนผู้อุทิศตนกว่าค่อนชีวิตไปกับการศึกษาภาษาที่ 2 และเป็นส่วนหนึ่งของการทำพจนานุกรมภาษารัสเซียเช่นนั้น

ทว่าในที่สุดแล้ว ทั้งหมดนั้นกลับกลายเป็นกับดักของชีวิต ไม่ต่างจากพจนานุกรมภาษาเขมร-รัสเซียเล่มนั้น

 

มันคือประวัติศาสตร์บางตอนที่หายไปจากความหมายของกัมพูชาในช่วงเวลาหนึ่ง แต่กระนั้นก็ไม่อาจจะทดแทนกับความสูญเสียเชิงปัจเจกที่เกิดขึ้นกับใครคนหนึ่ง ซึ่งฉันคิดว่า โลกครูลง เสียม น่าจะมีโอกาสสร้างผลงานทางนิรุกติศาสตร์มากกว่าการพลัดพรากจากประเทศถึง 17 ปี

ตั้งแต่ปี 2508 อาจารย์หนุ่มลง เสียม ขณะอายุ 30 ปี เวลานั้น การฉายแววด้านการอ่านศิลาจารึกของเขาดูจะเป็นอนาคตสำคัญของประเทศ

ทว่าสถาบันบัณฑิตสภากลับส่งเขาไปรัสเซีย เนื่องจากความสามารถในภาษาเขมรโบราณ ทั้งยังแตกฉานฝรั่งเศส รัสเซีย สันสกฤต บาลีและจารึกวิทยา

หากเป็นสมัยรัฐบาลอินโดจีนแล้ว โลกครูลง เสียม คงถูกส่งตัวไปทำงานให้แก่โรงเรียนฝรั่งเศสปลายบูรพาทิศเป็นแน่

ทว่า ลง เสียม ไปที่นั่นเช่นกัน หากแต่เป็นแผนกบูรพศึกษาของสหภาพโซเวียต เพื่อเป็นครูภาษาในและศึกษาเพิ่มเติมในฐานะนักเรียนทุนระดับดุษฎีบัณฑิต ในหัวข้อวิทยานิพนธ์ “นิรุกติศาสตร์ภาษาเขมรสมัยใหม่”

กระทั่งกัมพูชาเปลี่ยนการปกครองเป็นระบอบเขมรสาธารณรัฐ (2513) และน่าจะเป็นปัญญาชนเขมรเพียงคนเดียวที่เขมรแดงไม่เรียกตัวกลับประเทศ (2518) หรือมิฉะนั้นทางการรัสเซียนั่นเองที่ไม่ยอมปล่อยตัวเขา

จริงๆ แล้วลง เสียมได้รับการบรรจุเป็นผู้เชียวชาญทางภาษาแห่งสถาบันภาษาตะวันออกวิทยาของรัสเซีย ตั้งแต่จบการศึกษา

ในปี พ.ศ.2519 ลง เสียม เดินทางไปปารีสเพื่อศึกษาและทำวิจัยที่มหาวิทยาลัยซอร์บอนน์ ไม่แน่ชัดว่าเป็นความร่วมมือแลกเปลี่ยนทางวิชาการระหว่างสถาบันทั้งสองหรือไม่ และเสียมเองก็ไม่ได้เขียนระบุไว้ในประวัติส่วนตัว ดูเหมือนความผูกพันกับรัสเซียจะแน่นแฟ้น กระทั่งบินกลับกรุงพนมเปญในปี 2525 ซึ่งมอสโกมีบทบาทในรัฐบาลเขมรแล้ว

โดยปีนี้เองที่พจนานุกรมฉบับภาษาเขมร-รัสเซียเล่มแรกของเขาก็ได้รับการตีพิมพ์

แต่เพียงไม่กี่ปีเท่านั้น การถ่ายผ่านประวัติศาสตร์ระหว่างเขมร-รัสเซียได้สิ้นสุดโดยพลัน

ในทันทีที่สหภาพโซเวียตล่มสลาย

 

หลังจากพบกับครูลง เสียมครั้งนั้น ต่อมาพจนานุกรมภาษาเขมรโบราณ (ตามจารึกศตวรรษที่ 6-8) งานสำคัญอีกชิ้นหนึ่งของเขาก็ตีพิมพ์ในปี 2543

พลันฉันก็นึกถึงความตอนหนึ่งที่กล่าวว่า “หากปราศจากอาจารย์ลง เสียม คนรุ่นหลังอย่างเราๆ คงยากเข้าถึงข้อมูลเมื่อสมัย 1,000 ปีมาแล้ว” (ซม สำนาง, แก กึมซง : แคมโบเดียเดลี่ 2007) และสมญา “ชายผู้ชอบสนทนากับก้อนศิลา” (เอียว จัน)

บ่งบอกถึงวิถีอันโดดเดี่ยวตลอดมาของครูลง เสียม

แต่พลัน หลังวันเกิดปีที่ 72 ของปี พ.ศ.2550 เพียง 3 วัน ศาสตราจารย์ ดร.ลง เสียม ก็ถึงแก่มรณกรรมอย่างกะทันหัน

นั่นที่ใครบางคนอดรำลึกถึงท่านเสียมิได้

โดยนัยที มรดกกรรมพจนานุกรมจารึกเขมรเล่มที่ 1 ของ ศ.ลง เสียม ซึ่งตีพิมพ์ออกมานั้น ความผูกพันระหว่างโลกครูลง เสียมกับศิษย์ผู้อยู่เบื้องหลังพจนานุกรมเล่มนั้น ซึ่งล้วนเป็นอาจารย์ และเกื้อกูลวิชาการมาด้วยกัน

แต่เมื่อกาลสิ้นสุดชีวิตและงานวิชาการอันทรงคุณค่าต่อวิทยาการแห่งพจนานุกรม ดูเหมือนไม่มีใครสักคนที่จะเข้าถึงองค์ความรู้แห่งจารึกของอาจารย์ลง เสียม ที่กลายเป็นเพียงกองกระดาษในลังจำนวนมาก

ในจำนวนนั้นก็มีเอกสารที่เกี่ยวกับพจนานุกรมจารึกเขมรเล่มที่ 2 ที่ค้างคาและมีอันหยุดชะงักเมื่อเจ้าของโปรเจ็กต์ได้จากไปเสียแล้ว

เวลานั้น ดูเหมือนศิษย์บางท่านที่ร่วมงานกับโลกครูลง เสียม จะมีเอกสารบางส่วนเก็บไว้ ทว่าเขาจะไปต่อไปมิได้ ตราบใดที่เอกสารทั้งหมดอยู่ภายใต้การถือครองของหญิงแม่บ้านคนหนึ่ง ซึ่งดูแลอาจารย์ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา

แต่ในที่สุดพจนานุกรมจารึกเขมรเล่มสุดท้ายของ ศ.ลง เสียม ก็สำเร็จลงได้โดยปณิธานของสานุศิษย์บางคน เพื่อดำรงไว้ซึ่งเกียรติและอนุสรณ์ของคุรุชนทางศิลาจารึกและแด่…โลกครูลง เสียม ผู้วายชนม์

แลหนึ่งในความสำเร็จนั้น ยังมีสตรีเขมรคนหนึ่งเป็นอยู่เบื้องหลัง

โดยแม้ว่าจะอ่านภาษาเก่าเขมรไม่ได้ และไม่เข้าใจอักขระขอมพวกนั้น