ลึกแต่ไม่ลับ : รธน.ฉบับปัดฝุ่น-ยำรวม

จรัญ พงษ์จีน

การออกเสียงลงประชามติ งวดประจำวันที่ 7 สิงหาคม เกี่ยวกับ “ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับ พ.ศ.2559” ดูจะผิดแผกแปลกเพี้ยนไปจากกติกาสากลโดยทั่วๆ ไป ไม่เหมือนใครในโลก มีกรอบ และ “กฎเหล็ก” ล้อมตาข่ายไว้เต็มไปหมด

“การออกเสียงประชามติ” คือ กระบวนการในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนด้วยการลงคะแนนเสียง เพื่อตัดสินใจว่า จะให้ความ “เห็นชอบ” หรือ “ไม่เห็นชอบ” ในเรื่องที่มีความสำคัญ และมีผลกระทบต่อประโยชน์ได้เสียของประเทศชาติ หรือกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน

“การออกเสียงประชามติ” ต่างจาก “ประชาพิจารณ์” ตรงที่การออกเสียงประชามติต้องมีการลงคะแนนเสียงเพื่อหามติของประชาชนในเรื่องสำคัญนั้นๆ

 

เรื่องสำคัญในครั้งนี้ ก็คือ “ร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559” โดย “มีชัย ฤชุพันธุ์” เป็นประธานในการยกร่าง

“หลักการพื้นฐาน” ของการออกเสียงประชามติ

1. เรื่องที่จัดทำต้องมีความสำคัญ โดยไม่เกี่ยวข้องกับตัวบุคคล

2. ข้อความที่จะขอความเห็น ต้องชัดเจนเพียงพอที่จะทำให้ผู้มีสิทธิออกเสียงสามารถตัดสินใจว่า จะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ

3. ต้องจัดให้มีการลงคะแนนเสียงประชามติโดยอิสระ

4. ต้องนำผลการออกเสียงประชามติไปดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชนผู้มาออกเสียงประชามติ

5. “ต้องเปิดโอกาสให้ผู้เห็นชอบและไม่เห็นชอบในเรื่องที่จะจัดทำประชามติ ได้แสดงความคิดเห็นอย่างเท่าเทียมกัน”

“หลักเกณฑ์ข้อที่ 5” โดนมัดตราสังโดย “พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติ” ตามออปชั่น มาตรา 61 วรรคสอง คนเห็นต่างการยกร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งฝั่ง “กองเชียร์-กองแช่ง” ไม่ได้แสดงออก อันเป็นความคิดเห็นอย่างอิสระเสรี ทัดเทียมกันแต่ประการใด

“มาตรา 61 วรรคสอง” บัญญัติว่า “ผู้ใดดำเนินการเผยแพร่ข้อความ ภาพ เสียง ในสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือในช่องทางอื่นใด ที่ผิดไปจากข้อเท็จจริง หรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำการก่อความวุ่นวาย เพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย”

มีโทษทั้งปรับทั้งจำ ติดคุกสูงสุดถึง 10 ปี พร้อมถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นของแถม

เงื่อนไขดังกล่าว ทำให้สถานการณ์การออกเสียงลงประชามติ มีการถกเถียงในรูปโต้วาทีของกลุ่มคนที่เห็นต่างตาม “สื่อกระแสหลัก” กันน้อยมากๆ แทบจะหาดูชมไม่ได้ เพราะไม่มีใครกล้าเป็น “เจ้าภาพ”

 

อย่างไรก็ตาม การลงประชามติ “เห็นชอบ-ไม่เห็นชอบ” ร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 ดังที่บอกไปเมื่อฉบับก่อนว่า สำหรับ “คสช.” ของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” กินรวบอยู่วันยังค่ำ ไม่ว่าผลจะออกมา แพ้ หรือ ชนะ สามารถ “อยู่ยาว” ได้เท่าเทียมกัน

 

และหากประชามติ ไม่ผ่านในขั้นตอนออกเสียงประชามติ แน่นอนแล้วว่า “บิ๊กตู่” อาจจะหยิบฉบับใดฉบับหนึ่งขึ้นมาปัดฝุ่น หรือ ยำรวม เพื่อประกาศใช้ ได้แก่

1. ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550

2. ร่างรัฐธรรมนูญฉบับเรือแป๊ะของ “บวรศักดิ์ อุวรรณโณ”

และ 3. “บทเฉพาะกาล” ของร่างชุด “กรธ.” ที่มี “ป๋ามีชัย ฤชุพันธุ์” เป็นประธานร่าง

“รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550” คณะกรรมการยกร่าง ประกอบด้วย

1.”น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ” เป็นประธานกรรมการยกร่าง โดยมีคณะกรรมาธิการฯ คือ 2.อัครวิทย์ สุมานนท์ 3.จรัญ ภักดีธนากุล 4.วิชา มหาคุณ 5.ชูชัย ศุภวงศ์ 6.สมคิด เลิศไพฑูรย์ 7.อัชพร จารุจินดา 8.กาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ 9 คมสัน โพธิ์คง 10.ธงทอง จันทรางศุ 11.ธิติพันธุ์ เชื้อบุญชัย 12.พิสิฐ ลี้อาธรรม 13.ไพบูลย์ วราหะไพฑูรย์ 14.ปกรณ์ ปรียากร 15.เกริกไกร พิพัฒน์เสรีธรรม 16.ไชยยศ เหมะรัชตะ 17. เดชอุดม ไกรฤทธิ์

18.วิจิตร สุระกุล 19.ธนพิชญ์ มูลพฤกษ์ 20.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ 21.นุรักษ์ มาประณีต 22.ประพันธ์ นัยโกวิท 23.พวงเพชร สารคุณ 24.ไพโรจน์ พรหมสาส์น 25.มนตรี ศรีเอี่ยมสะอาด 26.มานิจ สุขสมจิตร 27.วิจิตร วิชัยสาร 28.วิทยา งานทวี 29.วุฒิสาร ตันไชย 30.ศรีราชา เจริญพานิช 31.สดศรี สัตยธรรม 32.สนั่น อินทรประเสริฐ 33.อังคณา นีละไพจิตร 34.สุพจน์ ไข่มุกด์ 35.พล.อ.อัฏฐพร เจริญพานิช

“ฉบับเรือแป๊ะ” ชุด 36 อรหันต์ทองคำ 1.”บวรศักดิ์ อุวรรณโณ” เป็นประธาน 2.กระแส ชนะวงศ์ 3.มานิจ สุขสมจิตร 4.สุจิต บุญบงการ 5.ณรีวรรณ จิตกานนท์ 6.ปรีชา วัชราภัย 7.ชูวงศ์ ศุภวงศ์ 8.กาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ 9.ดิษทัต โหตระกิตย์ 10.พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช 11.คำนูณ สิทธิสมาน 12.พล.ท.นาวิน ดำริกาญจน์ 13.ปกรณ์ ปรียากร 14.วุฒิสาร ตันไชย 15.สุภัทรา นาคะผิว 16.จรูญ อินทจาร 18.กฤต ไกรจิตติ 19.จรัส สุวรรณมาลา

20.จุลพล สุขมั่น 21.เจษฐฏ์ โทณะวณิก 22.เชิดชัย วงศ์เสรี 23.ถวิลวดี บุรีกุล 24.กอบศักดิ์ ภูตระกูล 25.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ 26.พล.ท.นคร สุขประเสริฐ 27.บรรเจิด สิงคะเนติ 28.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ 29.พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ 30.ประชา เตรัตน์ 31.ไพบูลย์ นิติตะวัน 32.มีชัย วีระไวทยะ 33.วิชัย ทิตตภักดี 34.วุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ 35.สมสุข บุญญะบัญชา 36.เอนก เหล่าธรรมทัศน์

มีหลายคน ที่เป็นกรรมาธิการยกร่างทั้งฉบับ พ.ศ.2550 และฉบับเรือแป๊ะ พ.ศ.2557 อาทิ “มานิจ สุขสมจิตร, ชูวงศ์ ศุภวงศ์, กาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์, วุฒิสาร ตันไชย, นครรินทร์ เมฆไตรรัตน์, ปกรณ์ ปรียากร”

ขณะที่ร่างฉบับสุดท้ายที่กำลังเข้าโหมด ลงประชามติ ชุด “21 มหาปราชญ์” ประกอบด้วย 1.”มีชัย ฤชุพันธุ์” เป็นประธาน 2.กีรณา สุมาวงศ์ 3.จุรี วิจิตรวาทการ 4.ชาติชาย ณ เชียงใหม่ 5.ธนาวัฒน์ สิงห์ทอง 6.ธิติพันธุ์ เชื้อบุญชัย 7.เธียรชัย ณ นคร 8.นรชิต สิงหเสนี 9.พล.อ.นิวัติ ศรีเพ็ญ 10.ปกรณ์ นิลประพันธ์ 11.”ประพันธ์ นัยโกวิท” 12.ภัทระ คำพิทักษ์ 13.ภูมิรัตน์ ทักษาดิพงษ์ 14.พล.ต.วิระ โรจนวาศ 15.ศุภชัย ยาวะประภาษ 16.”สุพจน์ ไข่มุกด์” 17.อมร วาณิชวิวัฒน์ 18.อภิชาต สุขัคคานนท์ 19.อุดม รัฐอมฤต 20.”อัชพร จารุจินดา” 21.”พล.อ.อัฏฐพร เจริญพานิช”

ชุด “มหาปราชญ์” ยุคมีชัย ยอดยกมาจาก พ.ศ.2550 ชุด “ประสงค์สุ่น” 4 คน คือ “ประพันธ์ นัยโกวิท, สุพจน์ ไข่มุกด์, อัชพร จารุจินดา, พล.อ.อัฏฐพร เจริญพานิช”