นักวิชาการ มธ. ชี้ “อภิรัชต์” แถลงทั้งน้ำตา แค่ปัดรับผิดชอบ ย้ำ “ปฏิรูปกองทัพ” ต้องเร่งทำ-ขาดไม่ได้

วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2563 ปฏิกิริยาต่อการแถลงข่าวของ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบกและสมาชิกวุฒิสภาแต่งตั้ง ต่อการแสดงท่าทีขอโทษต่อเหตุการณ์ทหารก่อเหตุกราดยิงใส่ประชาชนที่จังหวัดนครราชสีมาเมื่อวันที่ 8-9 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ระหว่างแถลงก็ถึงกับหลั่งน้ำตาด้วยความเสียใจนั้น

อย่างไรก็ตาม ท่าทีของสาธารณชนต่อคำแถลงของผู้บัญชาการทหารบกครั้งนี้ ยังไม่ใช่สิ่งที่เรียกว่า การแสดงความรับผิดชอบ จากการกระทำโดยทหารและใช้อาวุธของทหารกระทำอย่างโหดร้ายต่อประชาชนจนบาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก

เช่นเดียวกับ  รศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร อ.คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขียนแสดงความคิดเห็นลงใน เพจ ชาติพันธุ์นิพนธ์ ความว่า

การปัดความรับผิดชอบ ข้อสังเกตจากการแถลงของ ผบทบ. ล่าสุด แสดงการปัดความรับผิดชอบของผู้นำกองทัพไทยอย่างเห็นได้ชัดดังนี้

1.การผลักภาระให้ปัจเจกบุคคล ปัจเจกบุคคลผู้รับผิดในเหตุ #กราดยิงโคราช ก็คือจ่าสิบเอกคนนั้นคนเดียว เขาถูกผลักออกจากการเป็นทหาร แล้วถูกตีตราว่าเป็นอาชญากร โดยพฤติกรรมแล้วเขาเป็นอาชญากรอย่างไม่ต้องสงสัย หากแต่พฤติกรรมเดียวกันนี้ การสังหารผู้บริสุทธิ์โดยทหารด้วยอาวุธสงครามบางครั้ง (เช่นในกรณีพฤษภาคม 2553) ก็ไม่ได้ถูก ผบ.ทบ. คนเดียวกันนี้ตีตราว่าเป็นอาชญากรรมเสมอไป

คำพูดที่ว่า “วินาที ที่ผู้ก่อเหตุลั่นไกสังหารประชาชนนั้น เขาคืออาชญากร ไม่ใช่ทหารอีกต่อไปแล้ว” จึงไม่ได้พูดออกมาจากหลักการใดๆ แต่พูดออกมาจากการพยายามปัดความรับผิดชอบเป็นกรณีๆ ไปเท่านั้น

2.การรับผิดแต่เพียงลำพัง ผบ.ทบ. กล่าวในลักษณะของการรับภาระแต่เพียงลำพังว่า “อย่าด่าว่ากองทัพบก อย่าว่าทหาร ถ้าจะด่า จะตำหนิ ท่านมาด่า พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผมน้อมรับคำตำหนิ” นั่นคือการยอมรับผิดแต่เพียงเขาผู้เดียว ไม่ยอมรับว่าความผิดพลาดนี้

ทั้งกองทัพต้องมีส่วนรับผิดชอบด้วย เพราะการที่เขามาเป็นผู้บังคับบัญชากองทัพ ไม่ใช่มาด้วยตัวเขาเองคนเดียว ต้องมีกลไกกองทัพทั้งระบบรองรับเขาทั้ง การที่กองทัพให้คนอย่างเขามาเป็นผู้บังคับบัญชา จะปฏิเสธความรับผิดชอบในระดับกองทัพได้อย่างไร

3.การรับผิดแต่ไม่รับโทษ การกล่าวยอมรับผิด ยอมให้ประชาชนกล่าวตำหนิ ไม่ได้หมายความว่าความรับผิดชอบจะหมดสิ้นไปเพียงเมื่อร้องไห้แสดงความเสียใจแล้วกล่าวโทษตนเองเช่นนี้ ในกระบวนการของระบบการบริหารราชการ หรือการบริหารองค์กรขนาดใหญ่ที่มีประสิทธิภาพใดๆ ก็ตาม จะต้องมีการตรวจสอบ ไต่สวนความผิด และอาจจะต้องพิจารณาโทษทางวินัยหากความบกพร่องของผู้บังคับบัญชามีส่วนต่อความบกพร่องจนเป็นเหตุให้เกิดความสูญเสียของประชาชนและเกิดความสะเทือนใจไปทั่วอย่างกรณีนี้ แต่ก็ไม่เห็นว่า ผบ.ทบ. จะเอ่ยถึงกระบวนการดังกล่าวแต่อย่างใด

4.การไม่ยอมรับว่าเป็นปัญหาของระบบ การรับผิดด้วยตนเอง การผลักความผิดให้ผู้ก่อความรุนแรง เพียงเท่านั้น ยังนับว่าเป็นการปัดความรับผิดชอบที่ระบบของกองทัพทั้งระบบจะต้องรับผิดชอบด้วยเช่นกัน การปกป้องกองทัพให้พ้นจากความรับผิดชอบ เท่ากับเป็นความไม่รับผิดชอบในระดับร้ายแรง

เพราะหากผู้บังคับบัญชาสูงสูดของกองทัพเองยังไม่ยอมรับว่า ความบกพร่องในลักษณะนี้เป็นความบกพร่องที่เกินไปกว่าเพียงปัจเจกบุคคลคนใด หรือแม้แต่เพียงตัว ผบ.ทบ. เองคนเดียวจะแบกรับภาระได้ หากแต่เป็นความบกพร่องของทั้งระบบ ก็น่าเป็นห่วงว่าประเทศชาติ ประชาชนจะฝากความรับผิดชอบให้แก่กองทัพได้อย่างไร

ประชาชนชาวไทยรักกองทัพ รักทหาร และต้องการความเชื่อมั่นจากกองทัพ จากทหาร ไม่น้อยไปกว่า ผบ.ทบ. และด้วยความรัก และความเชื่อมั่นนั้น ประชาชนชาวไทยต้องการให้มีกลไกการสอบสวนเหตุนี้อย่างโปร่งใส มีขั้นมีตอน และเป็นกลางคือมีผู้แทนของประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบนี้ด้วย

หากคำพูดและน้ำตาของ ผบ.ทบ. ก็ยังไม่เพียงพอที่จะเยียวยาความสูญเสียใดๆ ได้ แล้วคำพูดและน้ำตาของ ผบ.ทบ. จะสามารถเยียวยาปัญหาของกองทัพไทยได้อย่างไร

ก่อนหน้านี้ รศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และผู้ประสานงานเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง ได้แสดงความคิดเห็นต่อเหตุกราดยิงที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า

การกราดยิงที่โคราชมีจุดเริ่มต้นไม่ต่างจากเหตุการณ์ “ลูกน้องยิงนาย” ในแวดวงตำรวจทหารที่มีมาอย่างต่อเนื่องมากนัก ไม่ว่าจะเป็นเพราะการขัดผลประโยชน์ส่วนตัว ความเครียดและแรงกดดันจากการปฏิบัติหน้าที่ หรือการกดขี่ข่มเหงผู้ใต้บังคับบัญชาซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมองค์กร แต่จุดที่สร้างความพลิกผันบานปลายคือการที่ผู้ก่อเหตุเลือกที่จะเผชิญหน้ากับความผิดด้วยการทำ “สงคราม” ซึ่งวางอยู่บนเงื่อนไขอย่างน้อยสามข้อ

ข้อแรกเป็นคุณสมบัติส่วนตัวของผู้ก่อเหตุ เพราะหากตัดความเชี่ยวชาญในการใช้อาวุธออกไป ก็เป็นการยากที่ผู้ก่อเหตุจะใช้การต่อสู้เป็นตัวเลือก และหากตัดความรู้และเส้นสายในระบบการจัดเก็บรักษาคลังแสงออกไป ก็แทบจะเป็นไปไม่ได้ที่ผู้ก่อเหตุจะเข้าไปปล้นปืนและกระสุนในค่ายทหารประสบความสำเร็จ ซึ่งก็แปลว่าต่อจากนี้ไปกองทัพจำเป็นต้องมีความเข้มงวดรัดกุมมากขึ้นกับความคิดและพฤติกรรมของกำลังพล และที่สำคัญก็คือระบบการจัดเก็บและรักษาความปลอดภัยอาวุธในค่ายทหารจำเป็นต้องได้รับการสังคายนาครั้งใหญ่ ไม่นับรวมว่าต้องเลิกการหล่อหลอมในส่วนที่ทำให้กำลังพลสามารถสังหารคนที่ไม่เกี่ยวข้องอย่างไม่รู้สึกรู้สาได้ ไม่ใช่บอกว่าเป็นความขัดแย้งส่วนตัวหรือยืนกรานว่ากองทัพเก็บอาวุธกันมาอย่างนี้มาเป็นร้อยปีอย่างการแถลงข่าวของนายกฯ

เงื่อนไขข้อที่สองคือความเป็น “มหรสพ” ของความรุนแรงซึ่งมีมาแต่ไหนแต่ไร แต่การเกิดขึ้นของสื่อทางสังคมประเภทต่างๆ ได้ทำให้คุณลักษณะข้อนี้ของความรุนแรงพัฒนาไปอีกขั้น เพราะคนในสังคมไม่ได้เป็นเพียง “ผู้ชมที่เฉื่อยชา” อีกต่อไป หากแต่สามารถผันตัวเองมาเป็น “นักแสดง” ให้คนอื่นดูได้ด้วย ผู้ก่อเหตุได้นำเสนอตัวตนและเรื่องราวของเขาที่ผูกกับอาวุธและการใช้ความรุนแรงบน “เวที” ส่วนตัวของตนมาอย่างต่อเนื่อง และก็กล่าวถึงปัญหาความขัดแย้งมาเป็นระยะ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือได้ถ่ายทอดบางส่วนของการกราดยิงให้คนอื่นได้รับชมกันผ่าน “เวที” ส่วนตัวของตนดังกล่าว การปิดกั้นการแสดงตัวตนในสื่อทางสังคมคงไม่สามารถทำได้และไม่ควรทำ แต่โจทย์สำคัญคือทำอย่างไรที่จะทำให้ความรุนแรงไม่เป็นเรื่องที่น่าแสดงให้คนอื่นดู

เงื่อนไขข้อที่สามคือวัฒนธรรมความรุนแรงในสังคมไทยซึ่งเป็นเงื่อนไขใหญ่สุด เพราะนอกจากจะสร้างเงื่อนไขข้อแรกและข้อที่สองขึ้นมา เงื่อนไขข้อนี้ยังทำให้ความรุนแรงเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่คนในสังคมเห็นพ้องต้องกัน ไล่ไปตั้งแต่ตัวผู้ก่อเหตุ เพราะไม่ว่ากฎหมายและกระบวนการยุติธรรมของประเทศนี้จะบิดเบี้ยวเพียงใด แต่การที่ผู้ก่อเหตุส่งสัญญาณว่าจะเป็นผู้อำนวยความยุติธรรมด้วยตนเองก็ชี้ให้เห็นถึงการเชื่อในการใช้ความรุนแรงยุติปัญหาที่บ่มเพาะมาในกองทัพและที่ไหลเวียนในสังคม ขณะที่คนในสังคมจำนวนมากก็เสนอให้ “จับตาย” ผู้ก่อเหตุในช่วงเกิดเหตุการณ์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการที่รมว.สาธารณสุขโพสต์ว่าเหตุการณ์ยุติลงแล้วด้วยการ “วิสามัญ!!!” ที่แฝงความสะใจและได้รับการขานรับจากคนจำนวนมาก ก็ชี้ให้เห็นว่าความรุนแรงเป็นฝ่ายชนะอีกครั้งในเหตุการณ์นี้ตั้งแต่ต้นจนจบ และจะทบความรุนแรงเข้าไปในสังคมไทยอีก

จะป้องกันหรือแก้ไขปัญหานี้จึงไม่ใช่เรื่องง่ายและต้องใช้หลายวิธีควบคู่กันไป แต่สิ่งเร่งด่วนและขาดไม่ได้คือการ “ปฏิรูป” กองทัพ ทั้งในแง่ขนาด ที่ตั้ง กำลังพล อาวุธ ภารกิจ งบประมาณ การบริหาร ฯลฯ ไม่ใช่เพียงเพราะว่ากองทัพเป็นกลไกรัฐที่เปิดโอกาสให้ความรุนแรงได้สถาปนาตัวขึ้นอย่างถูกต้องชอบธรรม หากแต่เป็นเพราะว่าในบริบทสังคมไทย กองทัพได้เป็นหัวหอกในการใช้ความรุนแรงแก้ปัญหาโดยไม่ต้องรับผิดมานานเกินไปแล้ว