ข่าว “ช็อก” สังคม “ธรรมกาย” บาน ฆ่าตัวประท้วง “ม.44”

ข่าวรัฐบาลประกาศ “เอาจริง” กับวัดพระธรรมกาย โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ใช้มาตรา 44 กำหนดให้วัดพระธรรมกายเป็นพื้นที่ควบคุม ก่อนส่งกำลังตำรวจและดีเอสไอเข้าค้นหาตัวพระธัมมชโย แต่ยังไร้เงาเจ้าสำนักดัง

จากนั้น ดีเอสไอเรียกตัวพระ 14 รูปเข้ารายงานตัว รวมถึงสั่งห้ามบุคคลภายนอกเข้าวัด แต่ให้คนในออกได้

กลายเป็นสภาพการปิดล้อมวัด ทางธรรมกายได้จัดทอดผ้าป่าอาหาร และส่งข่าวออกไปภายนอกว่า เกิดการขาดแคลนเสบียงอาหาร

นำไปสู่เหตุใหญ่ เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ช่วงค่ำ นายอนวัช ธนเจริญณัฐ อายุ 65 ปี ปีนเสาสัญญาณโทรศัพท์ บริเวณใกล้ที่ชุมนุมของศิษย์ธรรมกาย ใกล้ๆ กับวัดพระธรรมกาย พร้อมกับเขียนป้ายมีข้อความเรียกร้องให้ยุติการใช้มาตรา 44

โดยระบุว่า “ขอความเมตตากรุณายกเลิกมาตรา 44 หากทำไม่ได้ก่อน 21.00 น. วันนี้ เก็บศพได้เลย” ป้ายแผ่นที่ 2 ข้อความว่า “พระเณร คนแก่ ถูกข่มเหงรังแกกลั่นแกล้งด้วยวิธีต่างๆ นานา สังคมปัจจุบัน คนดีอยู่ยาก” และแผ่นที่ 3 ข้อความว่า “ภายใต้ดวงนี้ ไม่มีอะไรที่ตำรวจไทยทำไม่ได้ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังไม่สงบ ไปช่วยชาติหน่อยครับ ทำเพื่อชาติ”

หลังเวลา 21.00 น. เล็กน้อย นายอนวัชใช้เชือกผูกคอตนเอง ก่อนกระโดดลงมาเสียชีวิต ท่ามกลางความตื่นตะลึงของเจ้าหน้าที่ ประชาชน และสื่อที่เฝ้าทำข่าวอยู่

การฆ่าตัวตายประท้วงมาตรา 44 ของนายอนวัช สร้างแรงสั่นสะเทือนไม่น้อย เนื่องจากนายอนวัชเขียนข้อเรียกร้อง แสดงความไม่พอใจต่อปฏิบัติการของทางราชการอย่างชัดเจน และเป็นเหตุที่เกิดต่อหน้าต่อตาประชาชนจำนวนมาก

วันที่ 26 กุมภาพันธ์ สวนดุสิตโพล โดยมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้เปิดเผยข้อมูลจากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,248 คน ระหว่างวันที่ 20-25 กุมภาพันธ์ 2560 เรื่อง “5 ข่าว ที่ประชาชนให้ความสนใจ ณ วันนี้”

ข่าวที่ประชาชนสนใจอันดับ 1 คือข่าววัดพระธรรมกาย ด้วยตัวเลขร้อยละ 87.50 โดยในส่วนที่ 1 เรื่องความคาดหวังว่าจะจบลงอย่างไร? อันดับ 1 ร้อยละ 75.64 ระบุว่า จนท. ถอนกำลังออกจากพื้นที่วัด อันดับ 2 ร้อยละ 71.79 มีการดำเนินคดีตามกฎหมาย ว่าไปตามข้อเท็จจริง อันดับ 3 ร้อยละ 64.74 ยืดเยื้อ ต้องใช้เวลาสักระยะ

ส่วนที่ 2 สิ่งที่อยากฝากบอกผู้ที่เกี่ยวข้อง อันดับ 1 ร้อยละ 81.41 ขอให้ทุกฝ่ายมีสติ ใจเย็น ไม่วู่วาม ไม่ใช้ความรุนแรง

อันดับ 2 ร้อยละ 80.13 มีวิจารณญาณในการรับฟังข้อมูลข่าวสาร

อันดับ 3 ร้อยละ 66.03 ขอให้ทุกคนช่วยกันทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา

ส่วนข่าวอื่นๆ ที่ประชาชนให้ความสนใจในอันดับรองลงไป ได้แก่ อันดับ 2 ข่าวโรงไฟฟ้าถ่านหิน ร้อยละ 72.44 อันดับ 3 ข่าวการสร้างความปรองดอง ร้อยละ 68.27 อันดับ 4 ข่าวกฎหมายควบคุมสื่อ ร้อยละ 65.38 อันดับ 5 ข่าว 7 สนช. ขาดประชุม ร้อยละ 58.33
ข่าวการฆ่าตัวตายประท้วงมาตรา 44 ยังทำให้เกิดประเด็นการทำงานของสื่อ เมื่อมีนักวิชาการสื่อ ออกมาโจมตีการถ่ายทอดสดทางเฟซบุ๊กของข่าวสด ว่าไม่มีการเซ็นเซอร์ และปล่อยให้ผู้ชมเข้ามาแสดงความเห็น

โดยถามด้วยว่า หนังสือพิมพ์มติชน และข่าวสด ต้องการอะไรจากการรายงานข่าวเรื่องนี้ ต้องการปลุกระดมความรุนแรง ความเกลียดชังในความแตกแยกให้บานปลาย หรือ ฯลฯ

มติชนออนไลน์ได้ชี้แจงเป็นข่าวในเว็บว่า ไม่ได้ไลฟ์หรือถ่ายทอดสดเหตุการณ์ดังกล่าวแต่อย่างใด

นักวิชาการสื่ออีกจำนวนหนึ่ง อาทิ นายมานะ ตรีรยาภิวัฒน์ และ นายจักรกฤษณ์ เพิ่มพูล อดีตประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติในสังกัดเครือเนชั่น ที่พ้นจากเนชั่นไปแล้ว ออกมาร่วมด้วย วิพากษ์วิจารณ์การไลฟ์ต่อไปอีก

มีการเปรียบเทียบการไลฟ์ของข่าวสด กับการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ เหตุการณ์เมื่อเดือนพฤษภาคม 2559 ที่ ดร.วันชัย ดนัยตโมนุท อายุ 60 ปี อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ก่อเหตุยิงอาจารย์ด้วยกันเสียชีวิต 2 ราย คือ ดร.พิชัย ชัยสงคราม อายุ 50 ปี และ ดร.ณัฐพล ชุมวรฐายี อายุ 50 ปี ก่อนจะตัดสินใจยิงตัวเองตายตามนั้น

หลังจากนั้น กสทช. ได้เรียก 4 สถานีโทรทัศน์ ได้แก่ “ไทยรัฐ-เนชั่น-TNN-สปริงนิวส์” ไปชี้แจง เนื่องจากมีผู้ตั้งข้อสงสัยว่า การถ่ายทอดสดมีส่วนกดดันให้เหตุการณ์รุนแรงยิ่งขึ้น

ในครั้งนั้น ทีวีแต่ละช่องได้ชี้แจงการทำงาน และยืนยันว่า จะระมัดระวังไม่ให้การถ่ายทอดส่งผลต่อเหตุการณ์

อาทิ นายประณต วิเลปสุวรรณ ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์และออกแบบ บริษัท ทริปเปิ้ล วี บรอดคาสท์ จำกัด เจ้าของสถานีโทรทัศน์ไทยรัฐทีวี เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ว่า การถ่ายทอดสดเหตุการณ์ดังกล่าว เริ่มต้น ทีวีไม่ได้ถ่ายทอดสดการฆ่าตัวตาย และสื่อทีวีก็ไม่มีใครที่อยากจะถ่ายทอดสดการฆ่าตัวตาย

สื่อถ่ายทอดสดเหตุการณ์ตำรวจล้อมจับ เกลี้ยกล่อมผู้ต้องหาคดีฆ่าคนตายให้มอบตัว แต่ผู้ต้องหาปลิดชีพตัวเองในตอนท้าย

ภาพรุนแรงที่หลุดออกมาหน้าจอ โดยเฉพาะภาพสดอาวุธปืน แม้จะเป็นชุดภาพกลางหรือไกล ทั้งมีเดียมช็อต ลองช็อต หลายสถานีใช้การเซ็นเซอร์ด้วยภาพโมเสก อีกหลายสถานีเลือกแก้ปัญหาด้วยการใช้มุมภาพไม่เห็นผู้ต้องหา

จุดนี้จะเป็นบทเรียนของสถานีในการควบคุมการรายงานสด ซึ่งหมายถึงการนำระบบดีเลย์ฟีด (Delayed Feed) มาใช้ในการถ่ายทอดครั้งต่อไป

หรือการใช้แบล็กเอาต์ฟีด (Black Out Feed) สดไปเลย ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละสถานีในการรับมือเหตุการณ์วิกฤต ในจุดไคลแมกซ์ของเหตุการณ์สด

คอมเมนต์ต่อการไลฟ์ในครั้งนี้ ใบตองแห้งโพสต์เฟซบุ๊กว่า คนที่อ้างตนเป็นนักวิชาการสื่อ ซึ่งไม่เคยทำสื่อแต่ทำมาหากินกับเครือข่ายหมอประเวศ ตั้งแต่มีเดียมอนิเตอร์ไปถึงไทยพีบีเอส ประณามข่าวสดเพราะอะไรแน่

เพราะทำให้คนฝ่ายตัวเอง พุทธแท้สาวกนกหวีด พลาดพลั้งแสดงธาตุแท้ความอำมหิต?

การไลฟ์สดคุณอนวัชปีนสัญญาณเสาโทรศัพท์ฆ่าตัวตาย ต่างกับการไลฟ์สด ดร.ราชภัฏยิงตัวตาย ระหว่างตำรวจต่อรองให้มอบตัว ซึ่งสื่อผิดเพราะมีผลกดดันการตัดสินใจ

แต่สิ่งที่คุณอนวัชทำ เป็นการประท้วงอำนาจ ประท้วง ม.44 การไลฟ์สดจึงมองได้ทั้งเป็นการ “ขายข่าว” หรือเป็นการถ่ายทอดการประท้วงอำนาจของคนตัวเล็กๆ ที่ไม่มีปากเสียงอะไรเลย แต่เห็นว่าเกิดความไม่ยุติธรรม

ก็แล้วแต่ใครจะเลือกมองมุมไหน

แต่ถามว่าไลฟ์สดกรณีนี้ มีส่วนกดดัน ยุยง ส่งเสริม ให้เขาฆ่าตัวตายหรือไม่ หรือว่าไม่ได้มีส่วนเลย (เพราะอยู่บนเสาสูง) เพียงแต่ดั๊นไปทำให้พวกพุทธอำมหิตเผยจิตใจที่แท้จริงเท่านั้นเอง

นั่นคือความเห็นจากใบตองแห้ง

ส่วนข่าวที่ว่าด้วยการใช้อำนาจพิเศษ “ม.44 ” จัดการกับธรรมกาย คงจะยังไม่จบแต่เพียงเท่านี้