ในประเทศ / จบ ที่ยังไม่จบ

ในประเทศ

 

จบ

ที่ยังไม่จบ

 

รอดถูกยุบพรรคไปอีกหนึ่งคดี

สำหรับพรรคอนาคตใหม่

หลังจากที่องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเป็นเอกฉันท์เมื่อวันที่ 21 มกราคม

ว่า การกระทำของพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ นายปิยบุตร แสงกนกกุล และคณะกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ ไม่ได้เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพ เพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ตามที่นายณฐพร โตประยูร ยื่นคำร้อง

ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า การจะมีคำสั่งให้เลิกการกระทำที่อาจเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขได้นั้น

การกระทำดังกล่าวจะต้องไม่ห่างไกลจนเกินเหตุตามสภาวการณ์ที่ปรากฏแก่วิญญูชนส่วนใหญ่ในสังคมไทย

ทั้งยังต้องกำลังดำเนินอยู่และยังไม่สำเร็จเสร็จสิ้นไป ศาลรัฐธรรมนูญจึงจะมีคำวินิจฉัยสั่งให้เลิกการกระทำนั้นได้

ส่วนที่ผู้ร้องกล่าวอ้างว่าการออกข้อบังคับ นโยบาย และสัญลักษณ์ของพรรคอนาคตใหม่ เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ เพราะมีลักษณะเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 14(1) และมาตรา 15(2) และ (3) นั้น

ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า เมื่อกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคเป็นพรรคการเมือง และนายทะเบียนพรรคการเมืองโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้งได้รับจดทะเบียนจัดตั้งเป็นพรรคการเมืองตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 17 และมีประกาศการจัดตั้งพรรคในราชกิจจานุเบกษาแล้ว

ย่อมแสดงให้เห็นว่าข้อบังคับพรรคอนาคตใหม่ไม่มีลักษณะเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

เนื่องจากนายทะเบียนพรรคการเมืองได้ตรวจสอบและได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งให้จดทะเบียนจัดตั้งเป็นพรรคการเมืองได้

 

มติดังกล่าว ทำให้พรรคอนาคตใหม่โล่งใจได้ระดับหนึ่ง

แต่จะถือว่าเรื่องนี้ได้ “จบ” ลงอย่างสิ้นเชิง

ก็ยังกล่าวได้ไม่เต็มปาก

เพราะศาลรัฐธรรมนูญได้ชี้ว่า

การที่พรรคอนาคตใหม่เขียนข้อบังคับพรรคโดยใช้ถ้อยคำว่า (ยึด) “หลักประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ”

รวมทั้งเขียนคำประกาศอุดมการณ์ทางการเมือง ว่า “พรรคอนาคตใหม่ยึดมั่นในหลักประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ”

ศาลรัฐธรรมนูญมีความเห็นว่า การใช้ข้อความในข้อบังคับของพรรคการเมือง

ควรมีความชัดเจน

ไม่คลุมเครือ

และไม่ควรแตกต่างจากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 2 ที่บัญญัติว่า

“ประเทศไทยปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”

การที่พรรคอนาคตใหม่ระบุไว้เพียงว่า

“ยึดมั่นในหลักประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ”

อาจก่อให้เกิดความแตกแยกระหว่างชนในชาติ

ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งมีหน้าที่และอำนาจที่จะพิจารณาและมีมติให้เพิกถอนข้อบังคับนั้นได้ตามมาตรา 17 วรรคสาม เพื่อป้องกันความสับสนขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้น

สมควรที่ผู้เกี่ยวข้องจะได้ช่วยกันแก้ไขเพื่อให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญต่อไป

 

ปรากฏว่า มีการขานรับจาก กกต.ทันที

โดยออกเอกสารข่าวเผยแพร่ถึงสื่อมวลชน ระบุว่า กกต.ได้มอบหมายให้สำนักงาน กกต.พิจารณาศึกษาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับข้อบังคับของพรรคอนาคตใหม่ข้างต้นเพื่อเสนอความเห็นต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองและรายงานคณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อพิจารณาโดยเร็ว

ซึ่งนั่นอาจทำให้พรรคอนาคตใหม่ อาจจะต้องแก้ไขข้อบังคับพรรค ซึ่งก็ยังไม่ทราบว่า กลุ่มที่จุดยืนตรงข้าม จะไปขยายผลในเรื่องนี้ให้บานปลายออกไปอีกหรือเปล่า

นั่นคือไปตอกย้ำว่าพรรคอนาคตใหม่ จงใจที่จะไม่ใช้ “ประเทศไทยปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”

และอาจจะโหมประเด็น “ชังชาติ” และเป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบันขึ้นมาอีก

ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมว่า หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย

นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารพรรครวมพลังประชาชาติไทย ผู้ชูธง ต่อต้านพวกชังชาติ

ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Warong Dechgitvigrom แสดงความเห็นกรณีศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ยกคำร้องให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ล้มล้างการปกครอง โดยระบุว่า

“ศาลรัฐธรรมนูญมีมติไม่ยุบพรรคอนาคตใหม่ พวกเราเคารพคำตัดสินของศาลครับ แต่ภารกิจของพวกเรายังไม่จบ ถ้าตราบใดยังมีคนที่มีพฤติกรรมชังชาติ ล้างสมองเยาวชน และสร้างความเกลียดชัง ประเทศเราต้องพัฒนาไปข้างหน้า บนพื้นฐานของความภูมิใจในความเป็นคนไทย ท้ายที่สุดขอขอบคุณและให้กำลังใจ ดร.ณฐพร โตประยูร ที่ห่วงใยและช่วยกันปกป้องสถาบันหลักของชาติ” นพ.วรงค์ระบุ

 

อันสะท้อนว่า กลุ่มที่เป็นปฏิปักษ์กับพรรคอนาคตใหม่ ก็ยังไม่ไปไหน ยังมีเครือข่ายพร้อมที่จะตามถล่มพรรคอนาคตใหม่ต่อไป

แม้ว่านายปิยบุตรในฐานะเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ จะย้ำว่าพรรคไม่ได้มีความคิดล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

สิ่งที่คิดและทำ คือ การรักษาระบอบประชาธิปไตยให้มั่นคงและยั่งยืน กองทัพที่ก่อการรัฐประหารต่างหากที่ล้มล้างการปกครอง

แต่นายปิยบุตรก็ทราบดี และยอมรับว่า

“แม้วันนี้คำร้องยุบพรรคจะถูกยกออกไป แต่ก็ยังมีกระบวนการร้องยุบพรรค ยังมีนิติสงครามทำลายพรรคอนาคตใหม่อยู่”

โดยก่อนหน้านี้ นายปิยบุตรก็ให้สัมภาษณ์ไปในทำเดียวกันว่า

“ข้อหาหนึ่งที่ใช้มาตลอด คือ ข้อหาล้มเจ้า เขาต้องการสื่อให้สังคมเข้าใจผิดว่า ธนาธรและผมเป็นพวกล้มเจ้า… ที่จริงเขากังวลใจกับการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้พวกเขาสูญเสียอำนาจ”

ซึ่งนี่แหละทำให้เรื่องที่ควรจบ ไม่จบ

รอเพียงเงื่อนไขที่จะปะทุขึ้นมาอีก

 

เช่น เรื่องที่ค้างคาอยู่ กรณีนายธนาธรกับพวกจัดการชุมนุมแฟลชม็อบ บริเวณสกายวอล์กหน้าห้างเอ็มบีเค เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา แล้วถูกดำเนินคดี

โดยตอนแรกตำรวจตั้งข้อหา 4 ข้อหา

คือ

  1. ร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะ โดยไม่แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้ง
  2. ร่วมกันจัดการชุมนุมสาธารณะโดยกีดขวางทางเข้า-ออกหรือรบกวนการปฏิบัติงานหรือการใช้บริการสถานีรถไฟ
  3. ร่วมกันจัดการชุมนุมสาธารณะโดยไม่ดูแลและรับผิดชอบการชุมนุมสาธารณะไม่ให้เกิดการขัดขวางเกินสมควรต่อประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ
  4. ร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่

แต่ภายหลังจากที่นายธนาธรและพวกเข้าให้ปากคำ

ตำรวจได้แจ้งข้อหาเพิ่มเติมอีกหนึ่งข้อหาคือ ทำการชุมนุมสาธารณะในระยะไม่เกิน 150 เมตรจากพระราชวัง

ทำให้กรณีนี้เกี่ยวพันไปยังประเด็น “ละเอียดอ่อน” อีก

ซึ่งพร้อมจะบานปลายออกไปยังเรื่องอื่นได้ตลอดเวลา

นี่จึงเป็นการตอกย้ำถึงภาวะ จบแต่ไม่จบ อีกเรื่องหนึ่ง

 

และแน่นอน ที่ถูกคาดหมายว่าเป็นเรื่องที่ไม่จบ และเป็นเรื่องใหญ่ ที่ชี้เป็นชี้ตายสำหรับพรรคอนาคตใหม่

ถึงขั้นยุบพรรคอีกเรื่องหนึ่งก็คือ คดีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ให้พรรคกู้ยืมเงิน 191.2 ล้านบาท เพื่อทำกิจกรรมในช่วงก่อนการเลือกตั้ง

ขณะนี้เรื่องอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ ในขั้นตอนที่พรรคอนาคตใหม่ขอยื่นขยายเวลาส่งพยานเอกสาร ไปจนถึงวันที่ 27 มกราคม

และกำลังรอ “ลุ้น” ว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะอนุญาตให้เปิดการไต่สวนหรือไม่

ทั้งนี้ พรรคอนาคตใหม่หวังว่าการไต่สวนจะทำให้พรรคมีโอกาสหักล้างข้อกล่าวของ กกต.

โดยเฉพาะเอกสารตีตรา “ลับ” จำนวน 4 รายการ ซึ่งเชื่อว่าเป็นเอกสารภายในของ กกต. ที่แสดงให้เห็นว่า กกต.ดำเนินกระบวนการพิจารณาคดี “ข้ามและผิดขั้นตอนทางกฎหมาย” ชัดเจนหลายเรื่อง

อาทิ รายงานการสืบสวนของคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวน คณะที่ 13 ที่มีความเห็นเป็นเอกฉันท์ให้ “ยกคำร้อง” ด้วยเหตุผลว่า อนค. กู้ยืมเงินจากนายธนาธรจริง ทว่าการกู้ยืมไม่ใช่รายได้ แต่เป็นหนี้สิน และพรรคการเมืองเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง จึงสามารถกู้เงินเพื่อใช้ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้ ดังนั้น การที่นายธนาธรให้ อนค.กู้ยืมเงิน จึงยังฟังไม่ได้ว่าฝ่าฝืนมาตรา 66 ของ พ.ร.ป.พรรคการเมือง

สอดคล้องกับสำนวนการสืบสวนการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมือง (สำนวนที่ 18) จัดทำโดยข้าราชการสำนักสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัย 1 มีเนื้อหาเห็นควรให้ “ยกคำร้อง” เช่นกัน

นายปิยบุตรตั้งข้อสังเกต กกต.ควรยุติเรื่องตั้งแต่ได้รับรายงานจากคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวน ที่มีมติเอกฉันท์ให้ “ยกคำร้อง” แต่ กกต.กลับไม่สน “ดันทุรังจะเอาให้ได้”

และยัง “ยัดข้อหา” ให้พรรคโดยเพิ่มความผิดตามมาตรา 72 ให้พรรค ทั้งที่คำร้องของผู้ร้องกล่าวหาว่าอนาคตใหม่ทำผิดตามมาตรา 66 แต่ถ้าใช้มาตรา 72 มีความผิดถึงขั้นยุบพรรค

“มาตรา 72 โผล่มาตอนท้าย เหมือนมีคนมาบอกว่าต้องทำแบบนี้ถึงจะเข้าเป้า” นายปิยบุตรกล่าว

และเมื่อถูกกระทำเช่นนั้น จึงหวังว่าจะมีโอกาสไต่สวนเรื่องในศาล

ยิ่งนายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. ออกมาร่วมวงแฉว่า เอกสารงบการเงิน ลงวันที่ 31 ธันวาคม 2561 ที่พรรคการเมืองทุกพรรคนำส่ง กกต. ภายในเดือน พฤษภาคม 2562 มีพรรคการเมืองถึง 18 พรรค (รวมอนาคตใหม่) ที่ปรากฏรายการเงินกู้ในเอกสารงบการเงินดังกล่าว

แต่ทำไมไม่มีการดำเนินคดีกับพรรคที่เหลือ

เป็นการเลือกปฏิบัติหรือไม่

ทั้งปมเอกสารหลุด และปมงบการเงิน ทำให้พรรคอนาคตใหม่ดูเหมือนจะมีช่องทางในการต่อสู้ เพื่อไม่ให้ถูกยุบพรรคมากขึ้น

แต่กระนั้นก็คงไม่อาจจะมั่นใจใดๆ ได้

เพราะอะไรก็เกิดขึ้นได้ ด้วยหลายฝ่ายเชื่อว่า เป้าหมายที่จะ จำกัด-กำกัด-ขจัด พรรคอนาคตใหม่ ยังคงดำรงอยู่

เรื่องที่จบ จึงเหมือนไม่จบ

พร้อมจะกลายเป็นประเด็นเพื่อบรรลุเป้าหมายให้พรรคการเมืองนี้ มลายหายไปให้ได้!