กกต.แจงข้ามประเทศ ยัน บินนอกไปดูงาน-เหนื่อยมาก แต่คุ้ม ใช้งบฯไม่เกิน5ล้าน

เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในฐานะรักษาการเลขาธิการกกต. ซึ่งเป็นประธานกลุ่มผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตรการบริหารงานสำหรับผู้บริหารระดับสูง (กบส.) รุ่นที่ 2 ของสำนักงาน กกต. ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์จากประเทศเกาหลีใต้ ชี้แจงกรณีที่กกต.พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ของสำนักงานกกต. เดินทางไปดูงานที่ประเทศญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ช่วงระหว่าง 28 กุมภาพันธ์ – 5 มีนาคม ว่า การเดินทางทั้งคณะที่ไปเกาหลีใต้และญี่ปุ่น เป็นการไปดูงานจริงๆ โดยคณะที่เดินทางญี่ปุ่นจะเน้นการดูงานเรื่องระบบการหาเสียง ตามร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และร่างกฎหมายการเลือกตั้งส.ส. ที่ได้นำแบบอย่างของญี่ปุ่นมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการกำหนดขนาดป้ายหาเสียง การจัดพื้นที่ปิดป้ายหาเสียง ส่วนคณะที่เดินทางไปเกาหลีใต้ จะเน้นเรื่องเครื่องลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะการเดินทางไปดูงานที่ The Association of World Election Bodies.หรือ (A-Web) จะไปดูวิวัฒนาการของเครื่องลงคะแนน ที่ทาง A-Web ได้มีการรวบรวมเครื่องลงคะแนน เครื่องนับคะแนนจากทั่วโลกมารวมไว้เพื่อให้ได้ศึกษา ซึ่งจะสอดคล้องกับที่กกต.ไทยได้พัฒนาเครื่องลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ ที่จะนำไปใช้ในการเลือกตั้งในอนาคต

พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ขณะเดียวกัน จะไปดูเรื่องการศึกษาเพื่อสร้างพลเมือง (Civic Education) ซึ่งในเรื่องดังกล่าว ทางเกาหลีใต้ให้อยู่ในความรับผิดชอบของกกต.เกาหลี แต่ของไทยยังไม่มีเจ้าภาพที่ชัดเจน และสปท.มีแนวความคิดที่จะเสนอให้สถาบันพระปกเกล้าเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่ง กกต.ไม่เห็นด้วย เพราะที่ผ่านมา กกต.ได้ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวโดยใช้ชื่อโครงการว่า พลเมืองดีวิถีประชาธิปไตย และมีการขยายไปสู่ระดับตำบล เช่น ศูนย์ส่งเสริมพัฒนาประชาธิปไตยระดับตำบล ( ศส.ปชต.) ดังนั้นเมื่อกกต.กลับมาก็จะนำต้นแบบของเกาหลีมาผลักดันให้ กกต.ได้เป็นเจ้าภาพในการดำเนินการเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม ทั้งสองคณะที่ไป จะได้มีโอกาสหารือร่วมกับสถานทูตไทยใน 2 ประเทศ เรื่องการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร เพราะตามร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.จะให้มีการนับคะแนนที่สถานทูต ซึ่งเจ้าหน้าที่สถานทูตจะต้องเป็นผู้ดำเนินการ ทั้งที่ยังไม่มีความชำนาญ ก็จะต้องหารือพูดคุยกัน

“ยืนยันว่าการไปครั้งนี้ไม่ได้เที่ยวเลย เป็นการไปดูงานที่เหนื่อยมาก แต่ก็ได้ประโยชน์เยอะ ใช้งบประมาณไม่มาก เราพยายามที่จะใช้งบประมาณอย่างประหยัด โดยทั้งสองคณะที่ไปญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ทุกคนเดินทางโดยนั่งเครื่องชั้นประหยัด กกต.ที่เดินทางไปก็ไม่ได้มีผู้ติดตามส่วนตัว แต่ใช้พนักงานที่ดูแลคณะคอยอำนวยความสะดวก ขนาดห้องพักยังเป็นห้องพักราคาเดียวกับที่ผู้เข้ารับการอบรมพัก ทั้งสองคณะที่เดินทางไปในครั้งนี้ใช้งบไม่เกิน 5 ล้านบาท และเมื่อกลับมาแล้วก็ต้องมีการทำรายงานเสนอต่อ กกต. การไปครั้งนี้จึงถือว่าไปแล้วคุ้มค่า” พ.ต.อ.จรุงวิทย์กล่าว

เมื่อถามว่า ทำไมไม่ให้เจ้าหน้าที่ไปดูงาน โดยที่กกต.ไม่ต้องไปด้วย ทำไมไปคณะใหญ่ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ชี้แจงว่า ผู้ที่เข้าอบรมในรุ่นนี้จะขึ้นเป็นผู้บริหารระดับสูงในอนาคต ซึ่งจะต้องเป็นผู้ที่ขับเคลื่อนในเรื่องเหล่านี้ ทางสำนักงานจึงเห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องไปศึกษาเรียนรู้ และบางเรื่องก็เป็นเรื่องใหม่ เช่น ระบบการหาเสียง ส่วนที่ กกต.ต้องเดินทางไปด้วย เพราะว่าต้องมีการเข้าพบผู้นำองค์กร จึงถือเป็นการให้เกียรติกับหน่วยงานนั้น และคณะก็จะได้รับการต้อนรับที่ดี และการไปดูงานก็ไม่มีการเสียค่าใช้จ่ายใดๆ

เมื่อถามว่า ทำไมรุ่นก่อนหน้านี้จึงไม่มีการเดินทางไปดูงานต่างประเทศ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ กล่าวว่า เท่าที่จำได้ รุ่นที่แล้วเหมือนเป็นช่วงที่สำนักงานกกต.ประสบปัญหาเรื่องเงิน และเป็นช่วงที่สถานการณ์ทางการเมืองไม่ปกติ จึงได้งดการไปดูงานต่างประเทศ เมื่อถามย้ำว่า ก่อนไปได้มีการรายงานให้นายกรัฐมนตรีทราบหรือไม่ เพราะนายกรัฐมนตรีมีนโยบายไม่อยากให้เดินทางไปดูงานต่างประเทศ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ กล่าวว่า ไม่ได้มีการทำหนังสือแจ้ง เพราะท่านนายกรัฐมนตรีเคยพูดในการให้สัมภาษณ์ ว่าหากเป็นเรื่องจำเป็นก็สามารถทำได้ แต่ใช้งบด้วยความหยัด ซึ่งเราก็ได้ทำเช่นนั้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวันที่ 1 มีนาคม เมื่อคณะของนายบุญส่ง น้อยโสภณ และนายธีรวัฒน์ ธีรโรจน์วิทย์ กกต. พร้อมคณะผู้เข้ารับการศึกษาอบรมหลักสูตร กบส. รุ่นที่ 2 ไปศึกษาดูงานที่ประเทศญี่ปุ่น ได้เข้าพบนายบรรสาน บุนนาค เอกอัครราชทูตและคณะ ที่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เพื่อศึกษาและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เกี่ยวกับปัญหา อุปสรรคและแนวทางแก้ไข การจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรในประเทศญี่ปุ่นในอดีต เพื่อรองรับการจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรในอนาคต ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยได้มีการเผยแพร่รายละเอียดการศึกษาดูงานพร้อมภาพของคณะทางแอพพลิเคชั่นไลน์ ของฝ่ายประชาสัมพันธ์ที่ใช้ในการประสานกับสื่อมวลชน