คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : ทบทวนชีวิตกันใหม่ ความหวังยังมีไหม

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

เป็นธรรมเนียม (ที่ผมตั้งเอง) ทุกปีว่า ในช่วงส่งท้ายปีเก่า หรือต้อนรับปีใหม่ จะได้ทบทวนชีวิต หยิบเอาอะไรเล็กๆ น้อยๆ จากคำสอนบ้าง เทวตำนานบ้าง มาอวยพรปีใหม่แด่ท่านผู้อ่านทุกท่าน

ปีที่ผ่านมาของผมก็เหมือนทุกๆ ปี คือมีทั้งสุขและทุกข์ สุภาษิตอินเดียท่านว่า ชีวิตก็เช่นกงล้อเกวียน คือประเดี๋ยวสุขแล้วก็ทุกข์ ทุกข์แล้วก็สุข เป็นดั่งนี้หมุนเวียนไปเรื่อยๆ

ดังนั้น แม้เราอยากจะเชื่อว่าทุกสิ่งจะต้องดีขึ้น แต่ไม่แน่ดอก มันอาจจะแย่กว่านี้อีกก็ได้ เพราะไม่มีใครรู้ดอกว่าแย่ที่สุดมันจะมาตอนไหน แต่ในขณะเดียวกัน หากเรามีความทุกข์อยู่ ภาษิตอันนี้คงให้กำลังใจได้ว่า ประเดี๋ยวมันจะก็หายไป แล้วมันจะมาอีกทีตอนไหนก็ไม่ทราบ

หลายปีที่ผมได้รับความเมตตาให้เขียนคอลัมน์ในมติชนสุดสัปดาห์ หายไปบ้าง ตกหล่นบ้าง ก็ต้องขออภัยท่านผู้อ่านและกองบรรณาธิการที่น่ารักเสมอ หลังๆ ผมใช้เวลาเขียนงานนานขึ้น ไม่ปรู๊ดปร๊าดเหมือนตอนได้เขียนใหม่ๆ

รู้สึกว่าพลังชีวิตของตนลดลงมากๆ จะด้วยเพราะเหน็ดหน่ายจากระเบียบและกฎเกณฑ์ประเมินอะไรต่างๆ ในการงานที่ทำอยู่ หรือจะด้วยสภาพบรรยากาศของบ้านเมือง หรือจะมาจากความไม่เอาไหนของตัวเองก็ไม่ทราบแน่ชัด

กระนั้นปลายปีที่ผ่านมาผมมีเรื่องที่น่ายินดี คือน้องชายแท้ๆ ของผมมีลูก วินาทีที่ได้เห็นหลานตัวเองนี่มันซาบซึ้งตื้นตันใจครับ น้ำหูน้ำตาไหล ปีติระคนความรู้สึกที่บอกไม่ถูกอีกหลายอย่าง

นี่ขนาดไม่ใช่ลูกตัวเอง

 

นั่นแหละครับ ชีวิตมนุษย์หมุนวนไประหว่างสุขกับทุกข์ ท่านจึงสอนพระอนิจลักษณะว่าเป็นรากฐานของพุทธศาสนาไม่ว่าฝ่ายไหน ส่วนทางฮินดูนั้นก็สอนว่า ไวราคยะ หรือความปราศจากราคะนั้นจะเกิดขึ้น ก็ด้วยเห็นความเสื่อมสลายของสิ่งต่างๆ นี่เอง

ผมได้รับคำสอนมาว่า ที่จริง “ทุกข์” อาจสำคัญกว่า “สุข” ด้วยซ้ำ พระพุทธะท่านจึงเริ่มต้นด้วย “ทุกขสัจจ์” ในความจริงอันประเสริฐทั้งสี่ ไม่ใช่ “สุขสัจจ์” นะครับ เพราะทุกข์ต่างหากที่ทำให้เราเข้าสู่ “เส้นทาง” แห่งจิตวิญญาณอย่างแท้จริง มิฉะนั้นแล้ว การปฏิบัติธรรมในรูปแบบต่างๆ ของเราก็อาจกลับกลายเป็นเพียงการหลอกตนเองในแบบหนึ่งเท่านั้น

การเผชิญหน้ากับความทุกข์โดยไม่หลบเลี่ยงมัน ไม่แต่งแต้มสีสันและกลบเกลื่อนมันด้วย “การมองโลกในแง่ดี” หรือแนวคิดคำคม โค้ชชิ่งต่างๆ หรือแม้แต่ข้อธรรมสวยหรูที่เราเลือกเอาตามใจชอบ ตามจริตของเรา คือจุดเริ่มต้นของเส้นทางการปฏิบัติธรรมในพุทธศาสนา

เพราะเจ้าชายสิทธัตถะเผชิญกับความวิตกกังวล ความทุกข์ พระองค์จึงออกบวช ไม่ใช่บวชด้วยความสบายใจ บวชด้วยความสงบ แต่เข้ามาสู่เส้นทางนี้ด้วยความหวั่นไหว ผ่านการลองผิดลองถูกนับครั้งไม่ถ้วน ก่อนจะได้ตื่นรู้สู่ความเป็นพุทธะ

 

อีกประการหนึ่ง ในชีวิตของคนเรานั้น ไม่ได้มีแต่ความทุกข์ของเราคนเดียว สรรพสัตว์ทั้งหลายก็เป็นเพื่อนทุกข์ของเรา และยังมี “ทุกข์ทางสังคม” ที่เราทุกคนกำลังเผชิญอยู่ด้วย ดังนั้น ความทุกข์จึงเป็นประสบการณ์ที่กว้างขวางมาก หากตระหนักถึงความทุกข์ของตน และเชื่อมโยงไปสู่ความทุกข์ของสรรพสัตว์และความทุกข์ของสังคมได้ ก็นับว่าได้ฝึกที่จะมีหัวใจกว้างขวางสมดังคำสอนเรื่องเมตตากรุณาในศาสนา

ผมคิดว่าบรรยากาศของความหดหู่สิ้นหวังที่ปรากฏขึ้นจากความฉ้อฉลโดยกลเกมต่างๆ ทางการเมือง ได้ทำให้เราหมดเรี่ยวหมดแรง ทุกข์ทนทรมาน

เราเฝ้ารอวันที่ความอยุติธรรมจะล่มสลาย ซึ่งไม่รู้ว่าวันนั้นจะมาถึงวันไหน ใครต่อใครที่ท้อแท้ก็เพราะคิดว่าเราสู้อยู่ในเวทีที่เราไม่มีวันชนะ

ครั้นจะรอให้ใครสักคนมาเป็นฮีโร่มาช่วยเรา ก็ไม่ใช่วิถีทางที่ควรเป็น

มหาตมะ คานธี เคยกล่าวว่า “จำไว้ว่าในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา เรามีทรราช มีฆาตกร ในชั่วขณะหนึ่งดูเหมือนพวกเขาจะไม่มีวันพ่ายแพ้ แต่ในที่สุด พวกเขาก็จะพินาศเสมอ”

ผมไม่แน่ใจว่าคำพูดของท่านมหาตมะ คานธี ด้านบนนั้นจะให้กำลังใจแก่เรามากน้อยเพียงใด แต่ก็นั่นแหละครับ สรรพสิ่งต่างๆ ย่อมเสื่อมสลาย สุขทุกข์ย่อมหมุนเวียนไปดังรถ เราและทรราชหรือใครก็ตามย่อมตกไปสู่ความตายอย่างแน่นอน

แต่ที่น่ากลัวคือ บางครั้งฆาตกรหรือทรราชก็มาในรูปของ “คนดี” และป้ายสีให้คนอื่นเป็นคนชั่ว ดังนั้น ถ้าใครบอกว่าตนเป็นคนดีหรืออยู่ฝ่ายดีก็ให้พึงระวังไว้ก่อน บางครั้งคนที่ถูกคิดว่าอยู่ “ฝั่งชั่ว” ต่างหากที่มันดีจริง

ผมจึงขอจบด้วยตำนานนิทานธรรมจากมหากาพย์ “มหาภารตะ” ผ่านชีวิตคนคนหนึ่งคือ “กรรณะ”

 

กรรณะ เป็นตัวละครที่ถูกมองว่าอยู่ในฝ่ายอธรรม เพราะเข้ากับพวกเการพที่มีหัวหน้าคือทุรโยชน์ แต่ที่จริงเขาเป็นพี่ใหญ่ของพี่น้องปาณฑพทั้งห้า เป็นบุตรนางกุนตีกับพระสุริยเทพ ซึ่งถูกเอาไปทิ้งไว้เพราะนางกุนตีต้องแต่งงานกับเจ้าชายปาณฑุ

เขาถูกนายสารถีเก็บเอาไปเลี้ยงดู ทุกคนเข้าใจว่าเด็กคนนี้เป็นคนวรรณะต่ำ จึงถูกกีดกันโดยชาติกำเนิดของตนเองตลอดเวลา โทรณาจารย์ก็ไม่ยอมสอนวิชาให้เขาและปลุกปั้นอรชุนให้เป็นศิษย์เอก กรรณะกับอรชุนจึงเหมือนไม้เบื่อไม้เมาของกันและกัน

กรรณะโชคดีที่ได้เรียนสรรพวิชากับปรศุราม แต่สุดท้ายก็โดนครูสาปเพราะไม่ยอมบอกว่าตัวเองคือใคร (คือปลอมตัวเข้าไปเรียน) ว่าจะลืมเวทที่เรียน โดยเฉพาะเมื่อถึงเวลาต้องใช้

เขาไปร่วมการแสดงฝีมือของเหล่าราชกุมาร ไปร่วมพิธีสยุมพรนางเทราปที แต่ก็ไม่ได้แสดงฝีมือทั้งสองครั้ง เพราะถูกกีดกันเช่นเดิมโดยพวกปาณฑพฝ่ายธรรมเหมือนทุกครั้ง

กระนั้นทุรโยชน์ก็เห็นแววความมีฝีมือและมุ่งมั่นจึงรับเอากรรณะมาเป็นพวกตน ทั้งยังอวยยศให้ได้ครองเมืองเล็กๆ ด้วย กรรณะซาบซึ้งใจมาก ด้วยเหตุนี้เขาจึงสาบานว่าจะรับใช้ทุรโยชน์ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม

แม้จะเป็นสหายร่วมสาบาน แต่กรรณะมักห้ามปรามทุรโยชน์เมื่อเขาจะใช้เล่ห์กลโกงเสมอ เช่น ห้ามไม่ให้ทุรโยชน์ซุ่มทำร้ายพวกปาณฑพ แต่เสนอให้ใช้วิธีซึ่งหน้าเยี่ยงลูกผู้ชาย

ครั้นเกิดมหาสงครามแห่งทุ่งกุรุเกษตร กรรณะเข้าร่วมรบกับฝ่ายเการพ และด้วยความสามารถที่มีมากกว่า อรชุนก็เกือบจะพ่ายแพ้เสียที แต่รถของกรรณะติดหล่ม เขาจึงขอเวลานอกให้ได้กู้รถทรงของตนก่อนจะรบต่อ กรรณะง่วนกับการกู้รถล่มของตน พระกฤษณะสบช่องจึงบอกอรชุนว่า หากไม่ฉวยโอกาสสังหารกรรณะตอนนี้ก็อาจพ่ายแพ้ได้ เพราะกรรณะนั้นมีฝีมือมากกว่า แถมยังลืมเวทวิชาไปแล้วด้วยในเวลานี้ อรชุนจึงใช้ศรสังหารกรรณะขณะที่ขอเวลานอกอยู่นั้น

ดูดู๋คนดีใช้วิธีแบบนี้ ในขณะคนที่ถูกตราหน้าว่าอยู่ฝ่ายอธรรมนั้นกลับซื่อสัตย์ต่อคำสาบานของตนและไม่เคยใช้กลโกงใดๆ กับอีกฝ่ายเลย

บางตำนานยังเล่าไปอีกว่า ขณะที่กรรณะนอนรอความตาย พระสุริยเทพผู้บิดาได้แปลงองค์มาเป็นขอทานชรา เดินมาขอรับทานจากกรรณะ

กรรณะตอบว่า เขาสิ้นไร้ทุกอย่างและกำลังจะตายแล้ว ขอทานจึงบอกว่าที่จริงกรรณะยังมีฟันทองอยู่ในปาก กรรณะจึงใช้พลังเฮือกสุดท้ายฉวยเอาหินทุบฟันทองในปากตนส่งให้ขอทาน ด้วยความดีนั้น พระสุริยเทพจึงรับวิญญานกรรณะกลับไปสวรรค์

 

นิทานด้านบนเล่าไปก็ดูแก่และเช้ยเชย แต่กระนั้นผมคิดว่า สารที่บอกว่า พึงระวัง “พวกคนดี” ก็ยังน่ารับฟังเสมอ และนี่เป็นความสนุกของ “ตำนานธรรมความดีต่อสู้ความชั่ว” ในเวอร์ชั่นจริงๆ ของอินเดีย ที่พวกคนดีอย่างเทวดาในตำนานกวนเกษียรสมุทร พวกปาณฑพในมหาภารตะ ต่างก็พกเอาแง่ลบและเล่ห์เพทุบายมาใช้กับคนชั่ว ชนิดที่ลืมไปละหรือว่าตนเป็น “คนดี”

ในโอกาสปีใหม่นี้ หากผมประมาทพลั้งพลาดล่วงเกิน ทำให้รำคาญใจ ทั้งการบกพร่องในความรู้ หรือนำเสนอความไม่รู้ประการใดๆ ต่อท่านผู้อ่าน ขอท่านโปรดอภัยต่อผมด้วย

ปีนี้เราก็คงได้ร่วมทุกข์และมองหาวิธีที่จะพ้นจากความทุกข์กันต่อไปเช่นที่ผ่านมา แต่ก็ขอให้เราได้มอบกำลังใจแก่กันและกันยิ่งๆ ขึ้นไปอีก

พรใดอันประเสริฐจงมีแด่ท่านผู้อ่านทุกท่าน

สวัสดีปีใหม่ครับ สุวัตถิ โหนตุ, สวัสติ ภวตุ