เพ็ญสุภา สุขคตะ : “พระรอดหลวง” ส่งอิทธิพลให้ “พระรอดมหาวัน” จริงหรือ?

เพ็ญสุภา สุขคตะ

อย่าเพิ่งงงกันนะคะ ว่าอะไรคือ “พระรอดหลวง” อะไรคือ “พระรอดมหาวัน” สองสิ่งนี้ต่างกันอย่างไร ทำไมจึงมีชื่อคล้ายคลึงกัน

จำแนกแบบง่ายๆ ก็คือ “พระรอดหลวง” เป็นพระพุทธรูปนูนสูงสมัยทวารวดี ทำจากหินสีดำ (ต่อมาปิดทอง) สูงประมาณ 2 ฟุต ประดิษฐานอยู่ในพระวิหารหลวงวัดมหาวัน อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน

ซึ่งชาวลำพูนเชื่อว่า นี่คือต้นแบบให้แก่การสร้าง “พระรอด” องค์จิ๋ว ดังนั้น จึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า “แม่พระรอด”

ส่วน “พระรอดมหาวัน” หรือ “พระรอดลำพูน” เป็นพระพิมพ์ดินเผาขนาดเล็กมากประมาณเท่านิ้วก้อย วงการนักสะสมยกย่องให้เป็น “หนึ่งในเบญจภาคี” ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในบรรดาพระเครื่องเมืองสยาม

แล้วสององค์นี้มีความเกี่ยวข้องกันหรือไม่ เหมือนหรือต่างกันอย่างไร ไฉนจึงกล่าวว่าองค์หนึ่งเป็น “แม่แบบ” ให้แก่อีกองค์หนึ่ง

ในเมื่อองค์แรกนั้นเป็นศิลปะค่อนไปทางทวารวดี ส่วนอีกองค์นั้นชัดเจนว่ารับอิทธิพลค่อนไปทางศิลปะอินเดียสกุลช่างปาละผ่านอาณาจักรพุกาม

 

พระรอดหลวง ร่องรอยทวารวดีในลำพูน

พระประกอบบุญ สิริญาโณ หรือ “ครูบาอ๊อด” เจ้าอาวาสวัดมหาวันเล่าว่า

“พระรอดหลวงเมื่อแรกพบนั้น ส่วนของพระพาหา (แขน) หักจากลำพระองค์ อยู่ในสภาพคว่ำหน้า จมใต้ชั้นดินลึกประมาณ 2 ฟุต สถานที่พบอยู่ใกล้เชิงฐานองค์พระเจดีย์ ด้านหลังพระวิหารหลวงหลังปัจจุบัน

สมัยที่อาตมายังเป็นเณรน้อย พระผู้ใหญ่ของวัดมหาวันได้ขุดพระหินองค์นี้ขึ้นมา แล้วนำไปซ่อมแซมบูรณะต่อชิ้นส่วนที่แตกหักให้สมบูรณ์ จากนั้นจึงอัญเชิญมาประดิษฐานเป็นพระประธานภายในวิหาร ชาวบ้านเมื่อได้เห็นนิยมเรียกกันว่า “พระรอดหลวง” บ้างเรียก “แม่พระรอด”

ราว 30 กว่าปีที่แล้ว นักโบราณคดีจากกรมศิลปากรเคยมาตรวจสอบโบราณวัตถุ ได้บอกแก่ทางวัดว่า พระหินองค์นี้มีความเก่าแก่มาก อายุราว 1,000 ปีเศษ เป็นศิลปะสมัยทวารวดี”

เมื่อพินิจพิเคราะห์พุทธลักษณะของพระรอดหลวงหรือแม่พระรอดองค์ดังกล่าว พบว่าเป็นศิลปะแบบทวารวดีก็จริงอยู่ แต่ในขณะเดียวกันก็มีลักษณะเฉพาะของหริภุญไชยที่ไม่พบในศิลปะแบบทวารวดีทั่วไป โดยจำแนกจุดสังเกตได้ดังนี้

1. พระพักตร์มนอูมแบบมอญ (ไม่เหลี่ยมแบบขอม) เครื่องเคราบนใบหน้า ไม่ว่าจะเป็นพระนลาฏ (หน้าผาก) แคบ พระเนตรโปน พระขนง (คิ้ว) ต่อเป็นปีกกา พระนาสิกบาน พระโอษฐ์หนา พระหนุ (คาง) สั้น พระกรรณ (หู) ยาว เข้าเค้าตรงตามนิยามที่ระบุไว้ถึงคุณลักษณะของพุทธศิลป์ทวารวดีสมัยต้นค่อนกลางทุกประการ

2. สิ่งที่น่าสนใจคือส่วนของพระเศียร มีเม็ดพระศกเวียนก้นหอยโป่งพองขนาดใหญ่ ในส่วนของเกตุมาลา (ลักษณะคล้ายจอมปลวกบนกระหม่อม) หรือพระโมลีนั้น มีลักษณะพิเศษ คือถูกรัดเป็นปล้องวงแหวน คั่นส่วนของฐานกลีบบัวตอนล่างกับปลายยอดกรวยแหลมตอนบน

ปกติการทำพระเกตุมาลาสมัยทวารวดีนั้น นิยมทำเป็นรูปดอกบัวกลมๆ เตี้ยๆ แบบเรียบๆ ยังไม่ได้ยกสูงขึ้นเป็นกรวยแหลมเท่าใดนัก หรือว่าลักษณะพิเศษเช่นนี้เป็นอัตลักษณ์เฉพาะของศิลปะหริภุญไชย อันอาจเป็นต้นเค้าให้แก่การทำพระรัศมีเปลวของสุโขทัยในยุคต่อมา

3. การครองจีวรห่มดองหรือห่มเฉียงเปิดพระอังสา (บ่า) ด้านขวาของพระพุทธรูป โดยมีชายสังฆาฏิเป็นแผ่นหนายาวห้อยพาดผ่านพระอังสาซ้าย เป็นศิลปะแบบทวารวดีอย่างชัดเจน ยังไม่ใช่รูปแบบของ “พระสิงห์ล้านนา” ที่นิยมทำชายสังฆาฏิตัดเป็นรูปเขี้ยวตะขาบ

4. การทำมุทราหรือปาง เป็นปางสมาธิ พระหัตถ์ขวาวางทับพระหัตถ์ซ้ายแบบแปๆ นิ้วพระหัตถ์ใหญ่ไม่เรียว สอดรับกับพระบาทที่แปฝ่าเท้าออกมาด้านหน้า จนเห็นนิ้วเท้าแบนใหญ่ ท่านั่งเช่นนี้ ไม่ใช่ทั้งแบบที่เรียกกันว่าขัดสมาธิราบ (วีราสนะ) แบบสุโขทัย หรือขัดสมาธิเพชร (วัชระอาสน์) แบบล้านนา แต่เป็นการนั่งขัดสมาธิหลวมๆ ฝ่าเท้าสองข้างไม่ทับซ้อนกัน ซึ่งต้นแบบมาจากศิลปะอินเดียใต้สมัยอมราวดี พบได้ทั่วไปในพระพุทธรูปแบบทวารวดียุคแรกๆ

5. ฐานบัวเป็นบัวกลีบคมแหลม ลักษณะผสมระหว่างบัวปาละของอินเดียกับรูปแบบศิลปะพื้นเมืองหริภุญไชย

6. สิ่งที่ชวนฉงนฉงายมากที่สุดคือ สิ่งที่เรียกกันว่า “ปรกโพธิ์” ด้านหลังรายรอบพระพุทธรูปซึ่งจัดวางในตำแหน่งของประภามณฑล (รัศมีรอบพระวรกาย) นั้น มีลักษณะที่ค่อนข้างแปลกตา ซึ่งปกติแล้ว พระพุทธรูปสมัยทวารวดีนิยมทำแผ่นประภามณฑลแบบกลมเหมือนกับศิลปะอินเดียสมัยคุปตะ (Halo แบบกรีกโรมัน) หรือไม่ก็ทำเศียรนาคปรกแบบเรียบๆ หากทำรูปใบโพธิ์ ก็จะต้องทำเป็นพุ่มไม้ตอนกลางแตกกิ่งก้านสาขาเป็นใบโพธิ์ที่เลียนแบบใบไม้จริงๆ เป็นตุ่มนูน

แต่พระรอดหลวงองค์นี้ กลับทำกรอบประภามณฑลเป็นทรงสามเหลี่ยมเรียวแหลม ซ้ำจัดวางรัศมี (ที่ถูกเรียกว่ากลีบโพธิ์) แบบเป็นระเบียบมีจังหวะ ปลายใบโพธิ์ที่พลิกนั้น พินิจให้ดีๆ จะพบว่ามีลักษณะคล้ายกับเศียรนาคเล็กน้อย

ส่วนของรัศมีรายรอบพระวรกายของพระรอดหลวงองค์นี้นี่เอง ที่ทำให้มองโดยรวมแล้ว หลายคนเชื่อว่าเป็นต้นเค้าปรกโพธิ์ให้แก่พระพิมพ์องค์จิ๋ว รุ่นพระรอดมหาวัน

แล้วพระรอดหลวงองค์นี้ควรมีอายุในช่วงพุทธศตวรรษที่เท่าไหร่กันแน่ ในเมื่อองค์พระพระพุทธรูปดูเก่าแบบทวารวดี (ตามที่ชาวบ้านเรียกว่า “มือแปเท้าแป”) ยุคต้นๆ จนถึงยุคกลางราวพุทธศตวรรษที่ 13-14

ทว่า รัศมีรายรอบพระวรกายภายใต้กรอบทรงแหลมสูงนั้น กลับชวนให้คิดว่าน่าจะมีอิทธิพลของศิลปะอินเดียสมัยปาละอยู่ไม่น้อย ซึ่งศิลปะปาละมีอายุอยู่ระหว่างช่วงพุทธศตวรรษที่ 14-18 กว่าอิทธิพลของปาละจะเดินทางผ่านอาณาจักรพุกามเข้าสู่หริภุญไชย ควรใช้เวลาอย่างน้อย 1 ศตวรรษ

ดังนั้น การทำรัศมีรอบพระวรกายแบบแหลมสูง ก็น่าจะมีอายุราวช่วงพุทธศตวรรษที่ 15-16

 

พระรอดมหาวัน ทวารวดี + ปาละ

อันที่จริงเรื่อง “พระรอด” นี้ ดิฉันมีความตั้งใจจะเขียนวิเคราะห์ละเอียดแยกเฉพาะอย่างเป็นเรื่องเป็นราว เหตุที่ดิฉันศึกษาเบื้องลึกเบื้องหลังเกี่ยวกับพระรอดลำพูนมามากพอสมควร ในที่นี้จะขอกล่าวจำเพาะส่วนที่เชื่อมโยงกับพระรอดหลวงตามที่ตั้งประเด็นไว้เท่านั้น

เมื่อแยกพรรณนาพุทธลักษณะของพระรอดมหาวันจะเห็นรายละเอียดดังนี้ (ล้อกับ 6 ข้อของแม่พระรอด)

1. พระพักตร์เป็นมอญทวารวดีแบบเน้นๆ เสียยิ่งกว่าพระพักตร์ของพระรอดหลวงเสียอีก คือพระเนตรโปนพองแบบจงใจดังที่เรียกกันว่า “ตาตั๊กแตน”

ความแตกต่างจากพระรอดหลวงในส่วนของเครื่องเคราใบหน้าอีกสามประการก็คือ พระหนุค่อนข้างเสี้ยมแหลม ไม่มนอูม พระนลาฏกว้างและสั้น พระโอษฐ์ปลิ้นนูนแบบที่เรียกกันว่า “ปากปลาดุก”

หากจะให้เทียบเฉพาะพระพักตร์ระหว่างพระรอดหลวง กับพระพิมพ์พระรอดแล้ว ดิฉันเห็นว่าพระรอดองค์จิ๋วนี้ มีจิตวิญญาณความเป็นทวารวดีที่ผสมความดุดันของศิลปะหริภุญไชยพื้นเมืองอย่างมากแล้วนั่นเอง

2. เกตุมาลาของพระรอดมหาวัน ไม่ใช่กรวยแหลมสูงแบบแม่พระรอด แต่เป็นตุ่มกลมๆ แบนๆ วางอยู่เหนือพระเศียรซึ่งผายออกตอนบน กับเม็ดพระศกที่พองโป่ง อย่างไรก็ดี เราจะเห็นเส้นเล็กๆ ที่ต่อเชื่อมเหนือเกศบัวตูมขึ้นไปตอนบนอยู่บางๆ สะท้อนความตั้งใจที่ช่างปั้นอยากจะให้นำสายตาผู้ชมให้เห็นรัศมีเป็นรูปทรงกรวยสูงด้วยเช่นกัน แต่พื้นที่อาจไม่อำนวยนัก

3. การครองจีวรห่มเฉียงทรงเดียวกันกับแม่พระรอด แต่ไม่ปรากฏชายสังฆาฏิแผ่นหนา

4. ท่านั่งพระรอดมหาวัน มีลักษณะที่แตกต่างไปจากแม่พระรอดโดยสิ้นเชิง ไม่ว่าจะเป็นการทำปางมารวิชัย (แทนที่จะทำปางสมาธิแบบแม่พระรอด) หรือท่านั่งขัดสมาธิเพชร แลเห็นฝ่าพระบาทซ้อนกัน อันเป็นอิทธิพลของศิลปะอินเดียภาคเหนือคือปาละ

ศิลปะสมัยทวารวดีไม่ค่อยพบการทำปางมารวิชัยบ่อยนัก เมื่อเทียบกับปางแสดงธรรมหรือปางสมาธิ การทำปางมารวิชัยบนแผ่นดินสยามพบมากในยุคที่มีการติดต่อสัมพันธ์รับอิทธิพลจากศิลปะอินเดียสมัยปาละผ่านอาณาจักรพุกาม เนื่องจากบริเวณที่ตั้งของราชวงศ์ปาละเป็นดินแดนตรัสรู้ธรรมของพระพุทธองค์ ทำให้ศิลปะยุคนี้นิยมทำปางมารวิชัยมากกว่าปางอื่นๆ

การทำปางมารวิชัยและนั่งขัดสมาธิเพชรเรียบร้อย แบบมือเท้าไม่แป ของพระรอดมหาวันนี้ เป็นเครื่องสะท้อนว่าช่วงนั้นนครหริภุญไชยมีความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับศิลปะพม่าของราชวงศ์พุกามโดยมีศิลปะอินเดียสมัยปาละเป็นต้นแบบ

5. ฐานบัว ถูกลดทอนรายละเอียดของกลีบบัวที่เคยคมชัดลึกแบบพระรอดหลวง เหลือแค่การขีดเป็นชั้นๆ ตามที่วงการพระเครื่องเรียกว่าฐานบัวหน้ากระดาน

6. การทำปรกโพธิ์ที่เป็นรัศมีรายรอบพระวรกายในกรอบประภามณฑลแหลมสูงทรงกรวย เห็นได้ชัดว่ามีลักษณะที่ล้อกันกับฉากหลังของพระรอดหลวง เพียงแต่ว่าใบโพธิ์ของพระรอดมหาวันนี้มีลักษณะที่ลดรูปให้ง่ายลงคล้าย semi-abstract มากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ฉากหลังของพระพิมพ์รุ่นพระรอดยังมีรอยเส้นขีดโค้งรอบพระเศียรและพระอังสาด้านซ้าย (มองจากผู้ชมจะเห็นเป็นด้านขวา) ศัพท์ทางโบราณคดีเรียกเส้นนี้ว่า “ประภาวลี” อันเป็นเส้นที่นิยมมากในศิลปะอินเดียแบบปาละ

กล่าวโดยสรุป พุทธลักษณะและพิมพ์ทรงของพระรอดหลวง ที่คนในวงการพระเครื่องเชื่อกันว่าเป็น “แม่พระรอด” เป็นต้นแบบให้แก่พระรอดมหาวันนั้น น่าจะเป็นคำกล่าวที่ถูกต้องเพียงบางส่วนเท่านั้น

 

นั่นคือในส่วนที่โดดเด่น แต่ก็เป็นปริศนามากที่สุด ได้แก่ปรกโพธิ์รัศมีรายรอบพระวรกายนั่นเอง อันเป็นอัตลักษณ์เฉพาะของประภามณฑลในสกุลช่างลำพูน แม้ว่าการทำกรอบแหลมสูงจะเป็นการรับอิทธิพลมาจากศิลปะอินเดียแบบปาละก็ตาม แต่ในศิลปะปาละก็ไม่ได้ทำปรกโพธิ์แผ่เป็นรัศมีรายรอบพระวรกายเช่นนี้มาก่อน

การที่ดิฉันนำเรื่องพระรอดหลวงกับพระรอดมหาวันมาเปรียบเทียบกันนี้ ก็เนื่องจากต้องการเชิญชวนผู้สนใจไปฟังการเสวนาในงาน “มหัศจรรย์พระรอดมหาวัน เมืองลำพูน” โดยองค์การบริการส่วนจังหวัดลำพูนเป็นเจ้าภาพระหว่างวันที่ 24-26 มกราคม 2562

ไฮไลต์ของวันอาทิตย์ที่ 26 มกราคม เวลา 09.00-11.30 น. จะมีการเสวนาเกี่ยวกับเรื่อง “พระรอดหลวง-พระรอดมหาวัน” โดยดิฉันร่วมเป็นวิทยากร กับพระประกอบบุญ เจ้าอาวาสวัดมหาวัน และคุณวีระชัย ไชยเจริญ (โจ๊ก ลำพูน) ประธานกรรมการบริหารสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทยฯ

ผู้สนใจไม่จำเป็นต้องลงทะเบียนล่วงหน้าค่ะ ไปที่วัดมหาวัน ปูเสื่อรอได้เลย