สายสัมพันธ์ “Friendly Dictator” ของ “ทรัมป์-ตู่” ชำแหละ “พญามังกร” ผ่านมุมมอง “พญาอินทรี”

การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดดของ “พญามังกร” เช่นจีน ทำให้ “พญาอินทรี” เช่นสหรัฐอเมริกา สั่นสะเทือนอยู่ไม่น้อย

โดยเฉพาะในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก ที่เป็นพื้นที่ใจกลางระหว่างจีนกับสหรัฐ นอกจากจีนแล้ว ประเทศที่สหรัฐจับตายังได้แก่ เกาหลีเหนือและรัสเซีย

ไทยเองคงไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าของสองขั้วมหาอำนาจได้ การเผชิญหน้าที่มีการวิเคราะห์-ตั้งคำถามถึงขั้นว่ากำลังจะเกิด “สงครามเย็น ครั้งที่ 2” ในบริบทการเมืองโลกปัจจุบันหรือไม่?

ในวาระที่สถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย และ East-West Center นำคณะนักข่าวไทยมาศึกษาแลกเปลี่ยนด้านความมั่นคงที่กองบัญชาการภาคพื้นอินโดแปซิฟิกสหรัฐ (U.S.Indo-Pacific Command) ที่มลรัฐฮาวาย พร้อมพบปะกับ พล.ต.หญิง ซูซาน วาเรส ลัม ผู้ช่วยด้านสรรพกำลังและรักษาการเสนาธิการกองบัญชาการภาคพื้นอินโดแปซิฟิกสหรัฐ

จึงเป็นโอกาสเหมาะที่จะพูดคุยซักถามบุคลากรของกองทัพอเมริกันถึงสถานการณ์ข้างต้น

พล.ต.หญิง ซูซาน วาเรส ลัม เริ่มต้นบอกเล่าถึงชื่อเดิมของหน่วยงานต้นสังกัด คือ U.S.Pacific Command และได้เปลี่ยนมาเป็น U.S.Indo-Pacific Command มีพื้นที่ปฏิบัติภารกิจจากตะวันตกของอินเดียถึงตะวันตกของสหรัฐ หรือที่เรียกกันว่าจาก Bollywood ถึง Hollywood

สำหรับภัยคุกคามใหญ่และยาวนานในภูมิภาคนี้ พล.ต.หญิงซูซาน วาเรส ลัม ระบุว่ามีอยู่ 5 อย่าง ได้แก่

1. เกาหลีเหนือ ซึ่งสหรัฐทำอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ประเทศดังกล่าวมีการปลดอาวุธนิวเคลียร์อย่างถาวร

2. จีน ซึ่งถูกประเมินว่ามีการขยายแนวคิดคอมมิวนิสต์ของตัวเองออกไป อีกทั้งปฏิเสธกติกาสากล ผ่านการข่มขู่หรือทำให้ประเทศอื่นๆ กลัว

3. รัสเซีย ที่บ่อนทำลายผลประโยชน์พันธมิตรของสหรัฐ และพยายามแสวงหาโอกาสต่างๆ

4. การก่อการร้ายที่เป็น Non State ไม่ได้มาจากรัฐใด แต่ผ่านกลุ่มที่ใช้ความรุนแรง

5. ภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยพื้นที่ในโลกกว่า 52% อยู่ในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก แต่ภัยพิบัติทางธรรมชาติในโลกกว่า 75% กลับอยู่ในภูมิภาคนี้ โดยหลายประเทศไม่มีระบบจัดการที่เพียงพอและยังไม่ดีพอ

ดังนั้น ภารกิจของกองบัญชาการภาคพื้นอินโดแปซิฟิกสหรัฐ จึงได้แก่ การต่อสู้กับภัยคุกคามต่างๆ ในภูมิภาค เพื่อให้เกิดบรรยากาศเสรีและเปิดกว้าง (Free and Open) เช่น การรักษาผลประโยชน์ทางทะเล ผ่านความร่วมมือกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคที่มีความหลากหลาย โดยยึดแนวทางชนะการต่อสู้ตั้งแต่ก่อนต่อสู้ หรือ “ชนะโดยไม่ต้องสู้กัน”

ปัจจุบัน กองบัญชาการภาคพื้นอินโดแปซิฟิกสหรัฐ มีกำลังทหารอยู่ 377,000 ถึง 400,000 นาย โดยเป็นรูปแบบกองกำลังร่วม (Joint Forces) ที่มีกองบัญชาการร่วมกัน

“ที่ฮาวายเราชอบทานข้าวกับสตูเนื้อ มีส่วนผสมของเนื้อ แคร์รอต หัวหอม โดยมีน้ำเกรวี่ผสมให้เข้ากัน เปรียบได้กับสหรัฐและประเทศในอินโดแปซิฟิก ซึ่งแต่ละส่วนยังเป็นตัวของตัวเอง แม้จะผสมอยู่ด้วยกันผ่านน้ำเกรวี่” พล.ต.หญิง ซูซาน วาเรส ลัม กล่าว

ทว่าการที่สหรัฐมองจีนและรัสเซียเป็นภัยความมั่นคง ได้เกิดกระแสตีกลับ โดยทั้งสองประเทศก็มองสหรัฐเป็นภัยความมั่นคงเช่นเดียวกัน

พล.ต.หญิง ซูซาน วาเรส ลัม ชี้แจงว่า ขอใช้คำว่า “ความท้าทาย” ในการอธิบายถึงสายสัมพันธ์กับสองประเทศ โดยแอคชั่นของสหรัฐตลอด 70 ปีที่ผ่านมา นั้นไม่เปลี่ยนแปลง แต่พฤติกรรมของทั้งจีนและรัสเซียกลับเปลี่ยนแปลง

นับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่สหรัฐอยู่ในภูมิภาคนี้ ทั้งจีนและรัสเซียต่างมีความเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งทางสหรัฐไม่มีปัญหา

แต่ในเรื่องทะเลจีนใต้ ซึ่งจีนได้อ้างว่าเป็นของตัวเอง แม้จะเป็นพื้นที่ทับซ้อนกันนั้น เป็นประเด็นที่สหรัฐใส่ใจ เพราะทะเลจีนใต้เป็นเส้นทางการเดินทางระดับโลก ทำให้ส่งผลกระทบต่อโลกและประเทศพันธมิตรของสหรัฐ ตามโยบายเสรีและเปิดกว้าง

ขณะเดียวกัน ในทะเลจีนใต้มีเคเบิลใต้ทะเล ถ้าจีนอ้างสิทธิ์เหนือทะเลจีนใต้ ย่อมส่งผลกระทบต่อการสื่อสาร

นอกจากนี้ ในพื้นที่ดังกล่าว ก็มีแร่ธาตุที่ยังไม่ได้ใช้งานในประเทศเวียดนาม หากจีนอ้างสิทธิ์เหนือทะเลจีนใต้ ย่อมส่งผลต่อเวียดนามและประเทศพันธมิตร

เช่นเดียวกับที่จีนไม่สนใจเรื่องลิขสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญา ตรงข้ามกับทุกประเทศที่ให้ความใส่ใจ

“สหรัฐไม่ต้องการควบคุมครอบครองจีน แต่อยากให้จีนเติบโตอย่างมีความรับผิดชอบ เพื่อให้ประเทศในอินโดแปซิฟิกมีเสรีและเปิดกว้างอย่างแท้จริง” พล.ต.หญิง ซูซาน วาเรส ลัม แสดงจุดยืน

สําหรับความสัมพันธ์ทางทหารระหว่างไทยกับสหรัฐ ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้ลงนามวิสัยทัศน์ร่วม Joint Vision 2020 กับนายมาร์ก เอสเปอร์ รมว.กลาโหมสหรัฐ เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ในวิสัยทัศน์ร่วม 2020 ที่จัดทำขึ้นนั้น พล.ต.หญิง ซูซาน วาเรส ลัม เปิดเผยว่า ไม่มีเรื่องแผนการตั้งฐานทัพสหรัฐในไทย แต่เป็นเรื่องการส่งเสริมความร่วมมือทางทหารมากขึ้น

เช่น ความร่วมมือระหว่างผู้นำทางทหาร รวมทั้งการเสริมความมั่นคงในพื้นที่ชายแดน ในการปราบปรามยาเสพติด ผ่านการแบ่งปันข้อมูล เพื่อหยุดอาชญากร และความร่วมมือในการฝึกผสม เป็นต้น

ส่วนการซื้อขายยุทโธปกรณ์ระหว่างกองทัพไทยกับสหรัฐจะมีอีกหรือไม่นั้น พล.ต.หญิง ซูซาน วาเรส ลัม กล่าวว่า มีอย่างแน่นอน เช่น เฮลิคอปเตอร์ ส่วนรถเกราะสไตรเกอร์ จะมีการจัดซื้อเพิ่มเติมในปี 2563 โดยมีการวางแผนพูดคุยกันแล้ว

อยู่ระหว่างรออนุมัติและรองบประมาณ

มากันที่มุมมองนักวิชาการสหรัฐ คณะสื่อมวลชนไทยได้สนทนากับ ดร.เดนนี่ รอย นักวิจัยอาวุโส ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงประจำ East-West Center ซึ่งได้กล่าวถึงภัยความมั่นคงรูปแบบใหม่

ตัวอย่างน่าสนใจคือนโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road) ของจีน ซึ่งหากประเทศใดยอมทำธุรกิจกับจีน ก็จะเป็นลูกหนี้จีน อันจะนำไปสู่ความวิตกกังวลต่างๆ ตามมา

สำหรับนโยบายของสหรัฐนั้น ตั้งอยู่บนความเชื่อว่า “โลกเซฟ-สหรัฐก็เซฟ” ถ้าโลกข้างนอกมีปัญหา สหรัฐก็มีปัญหา เพราะเป็นพันธมิตรกันและโลกของเราเชื่อมต่อกัน สหรัฐจึงต้องยอมจ่ายสิ่งต่างๆ เพื่อรักษาความสัมพันธ์ดังกล่าวเอาไว้

อย่างไรก็ตาม ดร.เดนนี่ รอย ระบุว่า การขึ้นมามีอำนาจของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ทำให้หลายอย่างเปลี่ยนแปลงไป เช่น นโยบาย America First ที่คนในประเทศต้องได้ประโยชน์ก่อน เพราะการเป็นพันธมิตรกับประเทศอื่นมีค่าใช้จ่ายจำนวนมหาศาล

ยิ่งกว่านั้น ประธานาธิบดีทรัมป์ก็ไม่ได้มีปัญหากับผู้นำที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และกลับมีความใกล้ชิดเป็นการส่วนตัวกับผู้นำรัสเซีย ตุรกี จีน ในขณะเดียวกัน ก็ละเลยประเทศที่เป็นพันธมิตรมายาวนาน เช่น ยุโรปตะวันตก และออสเตรเลีย

ด้วยเหตุนี้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ถ้ารัฐบาลไทยชุดปัจจุบันจะสามารถเข้าถึงทรัมป์ได้โดยตรง และมีโอกาสพัฒนาเรื่องอื่นๆ ได้มากขึ้น เพราะประธานาธิบดีคนปัจจุบันไม่ได้สนใจว่าประเทศใดเป็นเผด็จการหรือไม่

“ความจริงความสัมพันธ์ในลักษณะนี้มีมาตั้งแต่ช่วงสงครามเย็น เรียกว่า Friendly Dictator คือคบได้ ถ้าเผด็จการนั้นเป็นมิตรกับเรา แม้ไม่ได้มีประชาธิปไตยเต็มใบ แต่มีภูมิรัฐศาสตร์ที่เป็นประโยชน์ ก็จะผูกสัมพันธ์กับประเทศนั้นได้อยู่

“ทั้งนี้ การผูกสัมพันธ์กับประเทศไทยก็ถูกมองเป็น 2 ทาง มีทั้งกลุ่มที่ไม่เห็นด้วย ว่าสหรัฐไม่ควรมายุ่งเกี่ยวกับไทย เพราะไม่เป็นประชาธิปไตย แต่อีกกลุ่มหนึ่งเห็นว่าไทยมีความสำคัญ ต้องให้มาอยู่ฝั่งเดียวกัน เพราะไม่อยากให้ไปอยู่กับจีน

“ทำให้เห็นปรากฏการณ์ที่ว่า ในปีเดียวกัน นายโดนัลด์ ทรัมป์ สามารถเชิญ พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีในยุค คสช. มาเยือนทำเนียบขาว เพื่อถ่วงดุลกับจีน แต่ต่อมาสหรัฐก็ได้ออกรายงานเรื่องสิทธิมนุษยชน ซึ่งปรากฏว่าไทยสอบไม่ผ่าน” ดร.เดนนี่ รอย กล่าว

ส่วนสถานการณ์การเผชิญหน้าระหว่างสหรัฐกับจีนจะนำไปสู่ “สงครามเย็น” อีกครั้งหรือไม่นั้น ดร.แดนนี่ รอย กล่าวว่า แม้สหรัฐกับจีนจะมีเป้าหมายต่างกัน แต่ก็มีบางอย่างที่พอจะปรับเข้าหากันได้

อย่างไรก็ดี ทั้งสองประเทศยังคงมีเป้าหมายชัดเจนในการสร้างอิทธิพลในภูมิภาคและต้องการเป็นมหาอำนาจ ดังนั้น ตนคิดว่าอีก 20 ปีข้างหน้า ความตึงเครียดระหว่างทั้งคู่ก็ยังคงมีอยู่

ทั้งนี้ ดร.แดนนี่ รอย ได้ชี้จุดต่างระหว่างจีนในปัจจุบันกับสหภาพโซเวียตในช่วงสงครามเย็นเมื่อหลายทศวรรษก่อน เอาไว้ว่า

1. จีนมีความแข็งแกร่งจากภายในมากกว่าโซเวียต

2. การอ้างเขตดินแดนของจีนกว้างขวางกว่าที่โซเวียตเคยทำ

3. จีนมีกองทัพทางเอเชียที่แข็งแกร่งกว่าโซเวียต และแสดงออกว่าไม่ต้องการให้สหรัฐมีบทบาทในพื้นที่ทวีปเอเชีย

ส่วนการตอบสนองของสหรัฐต่อปัญหาทะเลจีนใต้นั้น ดร.แดนนี่ รอย มองว่ายังไม่มีการเปลี่ยนแปลงในเชิงรูปธรรม ที่ผ่านมา เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์มากกว่า

ตนจึงมองว่าประเทศจีนกำลังจะประสบชัยชนะ ผ่านการบรรลุวัตถุประสงค์ในการได้อาณาเขตมากขึ้น ในทางกลับกัน สหรัฐก็พยายามที่จะยืนยันสิทธิการเดินเรือในน่านน้ำอย่างเสรี ให้ถึงที่สุดต่อไป

ในสถานการณ์เช่นนี้ การ “รู้เขา-รู้เรา” ย่อมเป็นสิ่งดีที่สุด