จับสัญญาณอันตรายปีชวด เศรษฐกิจไทยไร้ข่าวดี รัฐบาลเร่งจัดมาตรการแก้เกม

ย่างเข้าสู่ปี 2563 หรือปีชวด แล้วทว่าเศรษฐกิจไทยยังดูลุ่มๆ ดอนๆ เต็มไปด้วยปัจจัยเสี่ยง

หลังจากปี 2562 ที่ผ่านมา ทางสำนักงานเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ปรับลดคาดการณ์ขยายตัวเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไทยอยู่ที่ 2.6% เติบโตต่ำสุดในรอบ 5 ปี

ขณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ปรับลดประมาณการอัตราขยายตัวเศรษฐกิจ (GDP) ปี 2563 ลงเหลือแค่ 2.8% จากเดิมคาดว่าจะเติบโตได้ 3.3% ผลจากภาคการส่งออกชะลอตัวเป็นสำคัญ

โดยคาดว่าตัวเลขส่งออกจะขยายตัวแค่ 0.5% จากปี 2562 ที่ผ่านมาทรุดหนักติดลบเกือบทุกเดือนจากพิษสงครามการค้าของจีนและสหรัฐ ซึ่งสภาพัฒน์ประเมินว่าภาพรวมส่งออกปี 2562 น่าจะติดลบประมาณ 2%

เรียกว่าทิศทางเศรษฐกิจไทยชะลอตัวจากปี 2562 ที่ส่งสัญญาณลากยาวต่อเนื่องมาถึงปี 2563

ที่สำคัญ กำลังส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) โดยภาพสะท้อนปรากฏในช่วงปลายปีที่ผ่านมาโรงงานอุตสาหกรรมการผลิตหลายแห่งประกาศปรับดลเวลาทำงาน ปรับลดคนงาน จนถึงการปิดกิจการ ที่เกิดขึ้นให้เห็นมากขึ้นๆ

ขณะที่ภาคเกษตรกระดูกสันหลังของประเทศก็ยังอยู่ในวังวนปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ทำให้กระทบมาถึงกำลังซื้อและความเชื่อมั่นภาคประชาชนที่ลดฮวบ

ทำให้หลายฝ่ายมองว่าเศรษฐกิจไทยปี 2563 อาจเผชิญปัญหาหนักกว่าปีที่ผ่านมาจนมองว่าเป็นสถานการณ์ “เผาจริง”

 

เพราะปี 2563 ยังไม่มีข่าวดีสำหรับเศรษฐกิจไทย

โดย ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ภัทร กล่าวว่า ปี 2563 เศรษฐกิจไทยเผชิญปัญหาสำคัญกับคำถามว่า “จะเอาเครื่องยนต์ตัวไหนมาขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจโต”

เพราะครั้งสุดท้ายที่เศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตได้ดี เกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2561 ซึ่งได้รับปัจจัยหนุนจาก 3 เครื่องยนต์หลัก คือ การส่งออก การท่องเที่ยว และยอดขายรถยนต์

ทว่าปัจจุบันเครื่องยนต์ทั้ง 3 ส่วนได้รับผลกระทบชะลอตัวทั้งหมด

“ปี 2563 มีโอกาสที่ส่งออกจะโตได้สัก 1% เนื่องจากฐานที่ต่ำในปี 2562 ที่ผ่านมา และการเจรจาการค้าสหรัฐกับจีนที่บรรลุข้อตกลงได้ระดับหนึ่ง แต่หากภาคส่งออกไม่โตตามคาดจะมีผลกระทบรุนแรงไปยังการผลิตที่ลดลง และกระทบการจ้างงานไปจนถึงการบริโภคในประเทศ รวมถึงโอกาสที่เอกชนจะลงทุนเพิ่มก็ลดน้อยลง”

ขณะที่ความหวังจากเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) หลังจากที่รัฐบาลเดินสายโรดโชว์หลายรอบ ดร.พิพัฒน์กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยไม่ได้เป็นจุดหมายปลายทางของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ เพราะมีประเทศอื่นๆ ที่เป็นทางเลือกที่น่าสนใจกว่า และแม้จะมีตัวเลขการลงทุนโดยตรงจากจีนเข้ามาเพิ่มขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็พบว่าสัดส่วนการลงทุนโดยตรงของญี่ปุ่นซึ่งเป็นฐานลงทุนเดิมของไทยก็ลดลงค่อนข้างมาก

การลงทุนที่หดตัวส่งปัญหาไปถึงอีกหลายๆ เรื่อง อย่างเช่น ค่าเงินบาทที่แข็งค่า ส่วนหนึ่งเกิดจากมีการลงทุนน้อยทำให้เกินดุลบัญชีเดินสะพัดมากเป็นปัจจัยให้เงินบาทแข็งค่า โดย 3 ปีที่ผ่านมาเงินบาทแข็งค่าขึ้นถึง 20% ทำให้ประเทศไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันไปมาก

รวมถึงมีผลกระทบกับภาคท่องเที่ยว เพราะทำให้ต้นทุนการเที่ยวเมืองไทยของต่างชาติแพงขึ้น แม้ว่าขณะนี้จำนวนนักท่องเที่ยวจะดีขึ้น แต่ที่น่ากังวลคือการใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงติดต่อกัน 5 ไตรมาส

 

ดร.พิพัฒน์กล่าวว่า ปี 2563 เครื่องยนต์เดียวที่สามารถฝากความหวังได้คือ “การลงทุนของภาครัฐ” ที่จะต้องเร่งเครื่องและทำให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล เนื่องจากเวลานี้นโยบายการเงินอาจมีข้อจำกัดที่ดอกเบี้ยนโยบายลดลงมาอยู่ระดับต่ำสุดที่ 1.25% แล้ว ธปท.อาจมองว่าทำอะไรเพิ่มไม่ได้มากหากจะลดดอกเบี้ยมากกว่านี้ก็ไม่แน่ใจว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ ขณะที่นโยบายการคลังยังมีช่องว่าง หนี้สาธารณะไม่ได้สูงมากเมื่อเทียบกับมาตรฐานทั่วไป แต่มาตรการที่จะทำต้องสามารถเอามาใช้ได้เร็วและมีผลไปสู่กลุ่มเป้าหมาย

“ต้องมั่นใจว่า เงิน 1 บาทที่โยนลงไปในระบบเศรษฐกิจ ต้องมีโอกาสที่จะหมุนและทำให้เศรษฐกิจดีมากกว่า 1 บาท เรียกว่าตัวคูณทางการคลัง” ดร.พิพัฒน์กล่าว

ขณะที่รัฐบาลและหน่วยงานเศรษฐกิจของประเทศอย่างกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย น่าจะเห็นสัญญาณปัญหาของภาคธุรกิจที่ออกอาการหนักมากขึ้น จากที่ ธปท.ได้เปิดเผยรายงานการประชุมร่วมระหว่าง กนง. กับคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) ระบุว่าสถานการณ์หนี้ครัวเรือนและสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอียังคงน่ากังวล

โดยเฉพาะปัญหา “คุณภาพ” ของสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอีด้อยลงต่อเนื่อง และปัญหาสินเชื่อด้อยคุณภาพ เริ่มขยายวงจากธุรกิจขนาดเล็กไปสู่ธุรกิจที่มีขนาดใหญ่ขึ้น

 

ด้านนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท. ก็ออกมาส่งสัญญาณก่อนหน้านี้ โดยกระตุ้นให้ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินต่างๆ ให้ความสำคัญกับการ “ปรับโครงสร้างหนี้เชิงรุก” เนื่องจากพบว่าลูกหนี้มีปัญหา “ผิดนัดชำระหนี้” เพิ่มขึ้น ซึ่งหากปล่อยให้เป็นหนี้เสียและเข้าไปฟ้องจะทำให้ลูกหนี้มีติดล็อกทางคดี และจะกระทบกับวงเงินที่มีกับธนาคารอื่นๆ จนทำให้ธุรกิจมีปัญหา

ด้วยสัญญาณการผิดนัดชำระหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญจนทำให้ผู้ว่าการ ธปท.ออกมาส่งสัญญาณเตือนเสียงดังๆ เพราะหากไม่เร่งดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ ก็จะทำให้ธุรกิจเอสเอ็มอีที่กำลังมีปัญหาสภาพคล่องจำนวนมากอาจไม่สามารถเดินต่อได้ และหมายถึงแรงงานอีกจำนวนมากที่จะมีปัญหาตามมา

ดังนั้น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสัปดาห์สุดท้ายก่อนสิ้นปี 2562 คือการที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีได้มีการเรียกประชุมผู้บริหารกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ธนาคารพาณิชย์หารือแนวทางดูแลช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีร่วมกันเมื่อ 23 ธันวาคมที่ผ่านมา

ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า ที่หารือเป็นพิเศษขณะนี้ เป็นหนี้เอสเอ็มอีที่ปล่อยกู้ผ่านการค้ำประกันของ บสย. ซึ่งพบว่ามีหนี้เกือบ 4 หมื่นล้านบาทที่ถูกฟ้องผิดนัดชำระหนี้ จึงต้องหารือกันว่าจะปรับโครงสร้างหนี้กลุ่มนี้อย่างไร โดยที่ ธปท.เข้าไปดูและแก้ไขผ่อนคลายเกณฑ์ให้ชัดเจน เพื่อให้ลูกค้ามีความสามารถในการชำระหนี้

ขณะที่นายสมคิดกล่าวว่า ชุดมาตรการดูแลธุรกิจเอสเอ็มอีน่าจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในวันที่ 7 มกราคม 2563 เนื่องจากธุรกิจเอสเอ็มอีถือเป็นกระดูกสันหลังของเศรษฐกิจไทย ในยามเศรษฐกิจชะลอตัว เอสเอ็มอีก็จะได้รับผลกระทบก่อน จึงเป็นหน้าที่รัฐบาล หากปล่อยไป ปัญหาก็จะหนักขึ้นเรื่อยๆ

 

นอกจากนี้ ช่วงปลายปีที่ผ่านมา นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เดินสายพยายามกระตุ้นหน่วยงานต่างๆ ดูแลเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง หลังประชุมร่วมผู้บริหารคลัง-แบงก์ชาติและเอกชนแล้ว วันที่ 25 ธันวาคมที่ผ่านมาก็ไปสภาพัฒน์ฝากการบ้านดูแลเศรษฐกิจปี 2563

โดยเฉพาะเรื่องการเร่งลงทุนโครงการเมกะโปรเจ็กต์ของ EEC และ 6 มกราคม 2563 ก็มีโปรแกรมไปที่สำนักงาน EEC เพื่อติดตามความคืบหน้าการลงทุน

นับเป็นอีกหนึ่งความพยายามของ “ชายน้อยประชารัฐ” ที่จะปลุกการลงทุนรัฐให้ช่วยกระตุกเศรษฐกิจปี 2563 ที่ไร้ข่าวดี