เรื่องสั้น | จงเอามันออกมา

เขาเชื่อว่า ชีวิตมีเวลาเพียงสามวัน คือ เมื่อวานนี้ ซึ่งผ่านมาแล้วด้วยการเริ่มต้น และผ่านความยากลำบากในทุกๆ เรื่อง แล้วก็วันนี้ ที่เห็นและเป็นอยู่เหมือนขึ้นสะพานถึงกึ่งกลาง และกำลังเดินลง ซึ่งเป็นวันพรุ่งนี้ วันที่มิอาจทราบได้ว่าจะคืนลมหายใจให้ธรรมชาติเวลาใด

ในความเป็นนักเขียนที่เขาเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อวันวาน วันนี้ วันที่ประสบการณ์ในระดับหนึ่ง วันข้างหน้าจะเป็นเช่นไร เขาไม่รู้เลย แต่วันนี้เขามีความสุขเสมอที่จะเป็นผู้บอกเล่าวิธีคิด วิธีทำงานเมื่อวันวานให้คนที่รักจะเข้ามาในถนนวรรณกรรม

เขาจึงยินดีเสมอที่จะรับงานเป็นผู้บอกเล่าถึงวิธีคิดวิธีทำงานในโครงการสร้างนักเขียนเป็นคนของวันสุดท้าย

วันสุดท้ายต่อจากนักวิชาการ และนักเขียนที่เขายอมรับว่าเป็นยอดฝีมือทั้งหลายก่อนที่ทุกคนจะไปสู่ภาคปฏิบัติ

หลังการคุยแลกเปลี่ยนกับหนุ่มสาวราว 30 คนเป็นเวลาสามชั่วโมง เขามีความสุขมาก และก็ยังมีความสุขมากเช่นกัน ที่นักศึกษาหนุ่มคนหนึ่งขอนัดเขาที่ร้านกาแฟใกล้ๆ เพื่อคุยด้วยตัวต่อตัว เด็กหนุ่มคนดังกล่าวนั่งหลังห้อง แต่ดวงตาจ้องเขม็งในทุกนาทีมาที่เขาอย่างสนใจ ลาเต้เย็นยกมาเสิร์ฟให้ตามที่เขาสั่งและอเมริกาโน่กำลังตามมาวางอยู่ตรงหน้า หันที่จับทางขวามืออย่างผู้ที่น่าจะผ่านการอบรม หรือไม่ก็จากการสังเกตว่า ลูกค้าถนัดมือใด

“ผมทำให้อาจารย์ลำบากไหม” ทั้งร่างและไหล่ของหนุ่มน้อยที่ก้มค้อมลงบ่งบอกความเกรงใจ

“ไม่มีปัญหาเลย” คนที่ถูกเรียกอาจารย์ยืดอก สบตาตอบจริงใจ

“ผมควรจะเรียกว่าอย่างไรครับ อาจารย์หรือคุณลุง เพราะดูประวัติแล้วอายุมากกว่าพ่อผม”

ผู้สูงวัยหัวเราะอย่างเข้าใจในความเกรงใจนั้นเป็นอย่างดี

“เรียกอาจารย์ก็ยกย่องกันเกินไป ผมเขิน ถ้าจะเรียกว่าจารย์ใหญ่ก็เสียว” ผู้ชายต่างวัยหัวเราะอย่างเข้าใจกันในมุมขำๆ มันทำให้บรรยากาศเป็นกันเองขึ้น

“เรียกพี่ก็ได้นะ ในวงการนักเขียนน่ะเรื่องอายุก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่เรามักเป็นพี่น้องกัน” นักเขียนวัย 27 ปีจะเต็มร้อยกล่าว

“แต่ผมยังไม่ได้เป็นนักเขียนนี่ครับ”

“เมื่อคุณสนใจขนาดเข้าอบรมสี่วัน ทั้งฟัง และต้องปฏิบัติอย่างนี้ ผมดูแล้วก็ไม่ลังเลที่จะเรียกคุณไว้ล่วงหน้าก่อนว่านักเขียน วันนี้ของคุณคือเมื่อวานของผมที่ต่างเวลากัน ถือว่าคุณเป็นนักเขียนรุ่นน้องผม ที่จะเติบโตต่อไป เพียงแต่ว่าคุณยังไม่ได้ลงมือเขียนเท่านั้น ถามใจตัวเองว่า สี่วันที่สมัครเข้าหลักสูตรการเป็นนักเขียนเรื่องสั้น เจอทั้งนักวิชาการ นักเขียนที่ทำงานมานานๆ หลายคน และจบท้ายด้วยการฟังผม ที่ย้อนวิธีคิด วิธีทำงานให้ฟังแล้วคิดว่าคืนนี้จะลงมือเขียนได้หรือยัง อย่างน้อยพรุ่งนี้คุณก็จะต้องส่งเรื่องสั้นหนึ่งเรื่อง”

เขานั่งคิด เขาเป็นคนเช่นนี้ไม่ผลีผลามพูดอะไร หรือตอบอะไรใคร หากยังไม่มั่นใจ

“ที่ผมขอเวลาพี่ ก็เพราะผมยังไม่แน่ใจไงครับ มีบางอย่างที่ผมไม่แน่ใจเลย จึงขอเวลานอกกับพี่นี่แหละ มีบางอย่างที่ผมอยากถาม”

“ผมยังไม่รู้ว่าคุณจะถามอะไร แต่ก็เสียดาย หากถามกันในห้อง เพื่อนๆ ในห้องอีกยี่สิบสามสิบคนก็จะได้ฟังคำตอบด้วยทั้งห้อง เสียดายที่คุณไม่ถาม ถ้ามีสามสิบคำถาม คิดดูสิ มันจะเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ดีมากๆ ผมจึงเปิดโอกาสให้ถามได้เต็มที่แล้วในห้อง”

เขาหลบตาวูบหนึ่งเหมือนจะรู้สึกผิด ถอนใจเบาๆ

“แต่ก็ไม่เป็นไร ตอนอยู่ในห้องอาจจะยังนึกไม่ออก”

“เปล่าครับ ผมกลัวคนที่คิดต่าง คนเรามีความแตกต่าง ผมขี้เกียจต้องถกเถียง ความเห็นไม่เหมือนกัน ถกเถียงกันแล้วก็โกรธกัน ผมกลัวครับ”

ผู้พี่เข้าใจความรู้สึกนั้นได้ดี ในชีวิตจริงในโลกใบกว้างของโซเชียลเน็ตเวิร์กนี้ ขยับคนเข้ามาใกล้กัน สื่อสารกันรวดเร็ว แต่บางทีก็แตกแยกเร็วอย่างน่ากลัว

“ผมจำได้ พี่บอกว่าในวันที่พี่เริ่มเขียนเรื่องสั้น ก็เพราะอยากแสดงความรู้สึกนึกคิดในฐานะเป็นคนคนหนึ่งในสังคมหรือเห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วมีความสะเทือนใจ จึงอยากแสดงออกไปให้สังคมได้รับรู้ สภาพสังคมที่เหลื่อมล้ำสองมาตรฐาน คนรวยกระจุก คนจนกระจายในรูปแบบของเรื่องสั้น”

“ใช่ นั่นเป็นที่มา และในโลกใบกว้างนี้ก็มีเหตุการณ์มากมายที่เห็นและเป็นอยู่ ฆ่ายกครัว ลูกฆ่าพ่อ ข่มขืนแม่ พ่อข่มขืนลูก การพยายามทำทุกอย่างโดยไม่ละอายใจเพื่อตะกายไปสู่อำนาจ สิ่งเหล่านี้เป็นต้นธารวรรณกรรม เมื่อเรารู้สึก นึกคิด วิเคราะห์ว่ามันดีไม่ดี ถูกหรือผิด เห็นด้วยหรือไม่ ในหัวใจเรา เรารู้สึกอย่างไร ก็แสดงออกมา”

“นั่นแหละครับพี่ ที่ทำให้ผมไม่กล้าถามในห้อง เพราะอึดอัดกับสภาพสังคม การเมือง แสดงความเห็นออกไป อาจมีคนไม่เห็นด้วย”

“เป็นเรื่องธรรมดา การแสดงจุดยืนก็เป็นเรื่องไม่เสียหายใดๆ เพียงแต่เมื่อแสดงความคิดออกไป ใครคิดต่างก็จงรับฟัง อย่าโกรธกันแค่นั้น ไม่ต้องไปทะเลาะกัน”

“พี่ครับ ถ้าผมรำคาญเผด็จการ การเข้ามายึดครองใช้อำนาจจัดการนั่นนี่ แล้วก็แอบแฝงหาผลประโยชน์ให้ตัวเองและพรรคพวก ผมจะรู้สึกนึกคิดคาใจกับเรื่องแบบนี้ ผมสามารถนำมาเขียนเรื่องสั้นได้ไหมครับ”

“ได้สิ เขียนบทความก็ได้ แต่ถ้าสะท้อนในแบบเรื่องสั้น มันเป็นเรื่องแต่งที่ได้ความบันดาลใจจากเรื่องจริง แต่แต่งแล้วสมจริง สะท้อนความคิดเห็น มุมมองของคุณว่า ถ้าเป็นอย่างนั้น กระทบต่อสังคมตรงไหน ประเทศชาติจะเสียหายอย่างไร ชอบหรือไม่ชอบ เขียนสิ น่าสนใจ เขียนเลย”

“การตั้งพรรค การย้ายพรรค การมีพรรคการเมืองมากมายที่มีทั้งแตกจากของเดิม และตั้งใหม่ ที่ผมมองออกว่า ตั้งขึ้นเพื่อเป็นการต่อท่ออำนาจก็มี การวางกฎกติกาทั้งปวงก็ล้วนวางไว้เพื่อสนอง แล้วสนับสนุนตัวเองให้สืบทอดอำนาจต่อ โดยอาศัยการเลือกตั้ง อาศัยกลไกหนึ่งของคำว่าประชาธิปไตย”

“ถ้าคุณรู้สึก นึกแล้ว คิดแล้ว วิเคราะห์แล้ว ก็จงสะท้อนออกมาในเชิงเรื่องสั้นเถอะ จงเอามันออกมา” ใช้ภาษาไทยเป็นพาหนะ นำเสนอความคิดออกมาให้เป็นเรื่องสั้นที่ถึงพร้อมทั้งรูปแบบ คือชั้นเชิงการนำเสนอ บรรทุกความคิดของคุณออกไป”

รุ่นพี่ชวนรุ่นน้องกลับ และอาสาจะขับรถไปส่ง

“รถติดมาก กลับกันเถอะ คุณยังมีภารกิจ คือจะต้องเขียนเรื่องสั้นหนึ่งเรื่องเพื่อส่งวิทยากรในวันพรุ่งนี้” รุ่นพี่เตือนก่อนที่จะออกรถ

ระหว่างทาง น้องใหม่ไฟแรงยังระบายความรู้สึกที่อัดอั้นออกมาเป็นระยะๆ

“เราสอนให้เด็กซื่อสัตย์ เรามีวาทกรรมมากมายที่ชี้ชวนให้คนซื่อสัตย์ เรามีวิธีการให้แสดงทรัพย์สินก่อนและหลังเล่นการเมือง แต่เอาเข้าจริง มันก็มีเรื่องที่แสดงถึงความไม่เอาจริง อย่างเรื่องนาฬิกายืมเพื่อนมาเป็นสิบๆ เรือน”

“ทำไมไม่มองในอีกมุมหนึ่งล่ะ โลกนี้มีหลายมุมนะ”

“มุมไหนล่ะครับพี่” รุ่นน้องย้อนเสียงเข้ม

“คนไทยน้ำใจงาม เอื้อเฟื้อต่อกัน มีข้าวของก็ให้หยิบยืมกันได้” รุ่นพี่ตอบ

“พี่พูดจริงหรือ” เสียงของน้องเข้มกว่าเดิม

รุ่นพี่ไม่ตอบ คงขับรถให้รุ่นน้องนั่งระบายความรู้สึกที่เขามีต่อสังคมต่อไป ไม่ว่าจะเรื่องความเหลื่อมล้ำ การเล่นพวก และอีกมากมายที่รุ่นพี่เองก็ได้ยินได้เห็นมาเช่นกัน ทำไมเขาจะไม่รู้สึก การพัฒนาเมือง แก้ปัญหารถติดตลอดเส้นทางที่ขับรถผ่าน มุ่งไปที่ความเจริญทางวัตถุสิ่งก่อสร้าง แต่สร้างสำนึกละอายต่อการทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้องให้เป็นจริงกลับไม่ได้เจริญขึ้นเลย

“พี่ฟังผมอย่างเดียว ผมไม่เข้าใจ ผมเป็นบ้าไปหรือเปล่า มองโลกในมุมที่มืดดำตลอดหรือเปล่า”

“ไม่หรอก คนที่คิดได้อย่างคุณไม่ใช่คนบ้า พี่ตั้งใจฟังไง ถ้าคนเราไม่มีความรู้สึกนึกคิดสิ เป็นเรื่องแปลก จะคิดมุมไหนก็คิด มันเป็นสิทธิของแต่ละคน แต่มุมที่ดีที่สุดคือ เมื่อคุณสร้างสรรค์งานวรรณกรรมออกมา มีเหตุผลที่คนฟังคนอ่านยอมรับได้ และมุมที่เสนอแนะทางไปในที่สร้างสรรค์”

ก่อนจะถึงที่หมายที่ต้องส่งน้องลงจากรถ รุ่นพี่บอกกับรุ่นน้องว่า

“ความเห็นที่สะท้อนผ่านเรื่องสั้น ผ่านงานวรรณกรรม ไม่สามารถพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน ขับไล่เผด็จการหรือทำให้เรากำจัดคนโหดที่พอโกรธใครก็ฆ่ากันได้อย่างไร้สติ เกิดอารมณ์ใคร่ขึ้นมา ก็ข่มขืนคนในครอบครัว ลูกฆ่าพ่อ ข่มขืนแม่ พ่อข่มขืนลูก มันชวนให้เราคิดวิเคราะห์ทั้งนั้น งานเขียนเราแก้ไขสิ่งสะเทือนใจเหล่านี้ไม่ได้ก็จริงอยู่ แต่มันก็จะเป็นอีกหนึ่งเสียงที่บอกคนในสังคมได้รู้ว่า ในโลกใบกว้าง มันยังมีรู มีพื้นที่ให้เราระเบิดระบายออกมาอย่างมีชั้นเชิง มีศิลปะที่งดงามทั้งรูปแบบ และเนื้อหาสาระ”

รุ่นพี่บอกกับรุ่นน้องก่อนที่เขาจะเปิดประตูรถลงไป

“จงนำมันออกมาเถอะ”

“คืนนี้ผมจะเขียนเรื่องสั้นสะท้อนสิ่งเหล่านี้จะไปส่งวิทยากร พรุ่งนี้พี่ไปหรือเปล่า”

“ไปสิ มีวิทยากรหลายคน ทุกคนรออ่านเรื่องสั้นของคุณอยู่ น้องรัก… เลือกประเด็นที่กระทบใจที่สุด จงเอามันออกมา”

“ครับพี่ ผมจะเอามันออกมา”