เสื้อเมือง ทรงเมือง และอารักษ์เมืองลำพูน | เพ็ญสุภา สุขคตะ

เพ็ญสุภา สุขคตะ

แม้ว่านครหริภุญไชยจะเป็นเมืองที่ดำเนินการปกครองตามหลักของพระพุทธศาสนาดังที่พระนางจามเทวีได้สถาปนาไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ.1205 เป็นต้นมา

แต่อีกด้านหนึ่งนั้น ก็มีความเคารพเชื่อถือในเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มองไม่เห็น ตามแนวคิดลัทธิวิญญาณนิยม (Animism) ซึ่งพบได้ทั่วไปในสังคมอุษาคเนย์ ไม่เพียงแต่ยุครัฐจารีตเท่านั้น แต่ความเชื่อดังกล่าวยังคงมีตกทอดมาจนถึงยุคปัจจุบัน

สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ถือว่าเป็นอารักษ์เมืองลำพูน ประกอบด้วย 2 กลุ่มคือ

1. กลุ่มของบุคคล ที่เป็นแม่ทัพขุนพลคนสำคัญผู้เสียสละชีวิต เมื่อตายไปได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นเสมือน “เทพองค์หนึ่ง ทำหน้าที่คอยพิทักษ์ปกป้องเมือง” ภาษาล้านนาเรียกว่า “เสื้อเมือง” กลุ่มนี้ประกอบด้วย เจ้าพ่อเตโค และเจ้าพ่อสุริโย หากนับรวมไปถึงกลุ่มท้องถิ่นย่อยๆ ก็จะมีเจ้าพ่อพระญาเหล็ก เจ้าพ่อผาด่าน เจ้าพ่อขุนตาน ที่แม่ทา หรือฝ่ายหญิงมีศาลแม่ย่าฮาย เป็นต้น

2. กลุ่มของสัตว์ ที่มีคุณูปการต่อบ้านเมือง ช่วยเป็นพาหนะในการขยายดินแดนก็ดี รบทัพจับศึกก็ดี ช่วยส่งเสียงกังวานให้ผู้คนมีความสุขก็ดี เมื่อตายไปก็จะได้รับการสถาปนาให้ทำหน้าที่เสมือน “เทพหรืออารักษ์องค์หนึ่ง” คอยปกปักดูแลบ้านเมืองด้วยเช่นเดียวกันไม่ต่างจากกลุ่มบุคคล โดยประชาชนจะคอยบวงสรวงเซ่นไหว้ดวงวิญญาณของคนและสัตว์เหล่านั้น

กลุ่มนี้ได้แก่ ช้างปู้ก่ำงาเขียว และไก่แก้ว

 

เจ้าพ่อเตโค เสื้อเมืองหริภุญไชย

ศาลเจ้าพ่อเตโคตั้งอยู่บนถนนสายในที่เชื่อมตัดตรงจากซอยข้างวัดสุพรรณรังษี กลางคูเมืองหอยสังข์ลงมายังทิศใต้ หรือระหว่างเส้นถนนอินทยงยศกับถนนรอบคูเมืองตรงวัดธงสัจจะ

อาจารย์ประสิทธิ์ เพชรรักษ์ ปราชญ์ชาวบ้านชุมชนท่าขามบ้านฮ่อม ได้เรียบเรียงหนังสือเรื่อง “เจ้าพ่อเตโค เสื้อเมืองหริภุญชัย : ขุนพลแก้วของพระแม่เจ้าจามเทวี” เมื่อปี 2543 มีเนื้อหาสรุปได้ว่า

เจ้าพ่อเตโคเป็นบุคคลเดียวกันกับที่ปรากฏในตำนานพระนางจามเทวี ผู้ที่มีชื่อว่า “นายคะวะยะ” หรือ “ควิยะ” ทำหน้าที่เป็นทูตเดินสาส์นจากฤๅษีวาสุเทพมายังพระเจ้าจักรวรรดิ หรือพระเจ้ากรุงละโว้ เพื่อทูลขอพระนางจามเทวีขึ้นมาปกครองนครหริภุญไชย

และตลอดช่วงที่พระนางจามเทวีเสด็จมาทางชลมารคนั้น นายควิยะคอยช่วยปกปักคุ้มกันภยันตราย อีกทั้งตอนพระนางจามเทวีต้องทำศึกครั้งใหญ่กับฝ่ายขุนหลวงวิลังคะ นายควิยะก็อาสาเป็นแม่ทัพรบเพื่อปกป้องบ้านเมือง จนได้รับแต่งตั้งให้เป็น “ขุนพลแก้วคู่บารมี” มีนามว่า “ขุนพลเตโค”

เมื่อธิดาทั้งสองของขุนพลเตโคเจริญวัย พระนางจามเทวีได้สู่ขอให้เป็นชายาของพระราชโอรสฝาแฝดของพระนางอีกด้วย

เกี่ยวกับความเป็นมาของชื่อ “เตโค” นี้ มีข้อสันนิษฐาน 2 ทฤษฎี

ทฤษฎีแรก เสนอว่า ควรเป็น “เตโช” มากกว่าหรือไม่ แต่ต่อมาเขียนคลาดเคลื่อนไปเป็นเตโค เนื่องจากเตโชแปลว่า ลม ซึ่งน่าจะสอดคล้องกับชื่อ “สุริโย” ที่แปลว่าพระอาทิตย์ ของเจ้าพ่อสุริโย อารักษ์พระธาตุหริภุญไชยอีกตนหนึ่ง

กับอีกทฤษฎีหนึ่ง เป็นความเห็นของอาจารย์ประสิทธิ์ เพชรรักษ์ สันนิษฐานว่ามาจากรากศัพท์คำว่า “ติกขะ” ที่แปลว่าเด็ดเดี่ยวกล้าหาญ ฉลาดเฉียบแหลม ติกขะ เป็นภาษาบาลี เมื่อเรียกให้เป็นภาษาพื้นเมืองนิยมแผลง “อิ” เป็น “เอ” และ “อะ” เป็น “โอ” ดังนั้น คำว่า “ติกขะ” จึงกลายเป็น “เตโค”

ด้วยพละกำลังที่แข็งแกร่ง จิตใจที่อาจหาญเสียสละ ทำให้เมื่อนายควิยะหรือขุนพลเตโคเสียชีวิตลง ชาวเมืองหริภุญไชยได้อัญเชิญดวงวิญญาณขึ้นสิงสถิต ณ บริเวณบ้านของเขา

คือที่ตั้งศาลเจ้าพ่อเตโคปัจจุบัน (อดีตเคยเป็นวัดชื่อ “วัดเจ้าพ่อเตโค” แต่ร้างไปนานแล้ว) มีสถานะเป็น “เสื้อเมืองนครหริภุญไชย” หรือบางครั้งนิยมเรียกว่า “ยักษ์เตโค”

มีการฝังสมบัติมีค่าไว้เป็นเกียรติยศแก่เจ้าพ่อเตโคจำนวน 40 ม้าต่าง และเชื่อกันว่าใครที่มาลักขโมยสมบัติไปเป็นของส่วนตัวต้องเซ่นด้วย “แมงหูหิ้น”

 

เจ้าพ่อสุริโย อารักษ์พระธาตุหริภุญไชย

ชื่อของเจ้าพ่อสุริโย มักปรากฏคู่กันกับเจ้าพ่อเตโคในคัมภีร์ใบลาน เรียกรวมว่า “เจ้าพ่อสุริโยเตโค” จนทำให้บางคนคิดว่า ทั้งสองเป็นอารักษ์องค์เดียวกัน ในความจริงเป็นคนละองค์กัน

เจ้าพ่อสุริโยมีศาลหรือหออยู่ภายในวัดพระธาตุหริภุญชัย ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือขององค์พระธาตุ มีหน้าที่เฝ้าดูแลพระธาตุหริภุญไชย

ประวัติความเป็นมาของชื่อ “สุริโย” นี้ไม่มีใครศึกษาไว้ อาจารย์ประสิทธิ์ เพชรรักษ์ สันนิษฐานว่า “สุริโย” เป็นคำที่มีความหมายเดียวกันกับ “อาทิตย์” อันเป็นพระนามของพระญาอาทิตยราช ผู้สร้างพระธาตุหริภุญไชย

เนื่องจากพระธาตุหริภุญไชยสร้างทับที่ “ข่วงหอพระหลักเมือง” ที่เคยประดิษฐานแท่นศิลาดำที่พระพุทธองค์ทรงประทานเกศาธาตุเป็นเครื่องหมายไว้ก่อนที่จะมีการสร้างพระมหาธาตุ

ในเมื่อพระญาอาทิตยราชได้สร้างพระธาตุเจดีย์ขึ้นคล่อมทับ “พระแท่นศิลาดำ” ที่ทำหน้าที่เป็น “ข่วงหอพระหลักเมือง” จึงจำเป็นต้องอัญเชิญเทวดามาปกปักรักษาข่วงหรือแท่นนั้นไว้

ดังนั้น เจ้าพ่อสุริโยจึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า “เจ้าหลักเมือง” เพราะถือว่าองค์พระบรมธาตุคือหลักเมืองของนครหริภุญไชย

เจ้าพ่อกู่ช้าง ทรงเมืองลำพูน

การปกป้องขอบขันฑสีมาและการแผ่ขยายอำนาจของนครหริภุญไชยไปยังดินแดนต่างๆ สมัยพระนางจามเทวีนั้น จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากปราศจากซึ่ง “ช้างทรงคู่บารมี”

ตำนานมูลศาสนาระบุว่า “ต่อมาพระนางจามเทวีทรงได้เศวตไอยราเป็นคู่บารมีสีกายเผือกดั่งเงินยวงเรียกว่า “ผู้ก่ำงาเขียว” หรือ “ปู้ก่ำงาเนียม” จากเชิงดอยอ่างสลุง (อ่างสรง) ในเขาหลวงเมืองเชียงดาว”

เกี่ยวกับสีผิวกายของช้างนี้ คนทั่วไปมักตีความผิด โดยแปลตรงตัวจากคำว่า “ปู้ก่ำงาเขียว” ว่าหมายถึงช้างเพศผู้สีม่วงดำ หรือเรียกกันตามภาษาพื้นบ้านว่าสีก่ำ ตัวสูงใหญ่มีนัยน์ตาสีแดง งาของช้างขนาดใหญ่ ยาว และเป็นสีเขียว

ในความเป็นจริงนั้น หมายถึงช้างพลาย (เพศผู้) ที่มีร่างกายกำยำ มิได้หมายความว่ามีผิวกายสีดำและงาเขียว แต่เป็นช้างเผือกเพศผู้ที่มีงาสีคล้ำดำออกเขียว

เพราะมีหลายตอนที่ตำนานกล่าวว่าสีของช้างเชือกนี้ขาวดั่งเงินเลียง บางครั้งใช้คำว่า คชเศวต อีกทั้งได้พบจารึกแผ่นอิฐที่กู่ช้างจำนวน 3-4 แผ่น เขียนว่า “เจ้าพัทธเทวากร” คำว่า “พัทธ” แปลว่าช้างที่มีคชลักษณ์ในตระกูลช้างเผือกงาดำ, เทวากร แปลว่าพญาช้าง

เรื่องราวเกี่ยวกับช้างปู้ก่ำงาเขียว ดิฉันเคยวิเคราะห์ไปแล้วอย่างละเอียดเมื่อ 3-4 ปีก่อนหลายฉบับ จึงไม่ขอกล่าวซ้ำในที่นี้

สรุปสั้นๆ ว่า ช้างปู้ก่ำงาเขียว เมื่อตายไปได้รับการสถาปนาให้ทำหน้าที่เสมือน “ทรงเมือง” ลำพูน

 

ไก่แก้ว อารักษ์เมืองลำพูน

กู่ไก่แก้วเป็นโบราณสถานขนาดเล็กที่ตั้งอยู่นอกเขตวัดไก่แก้วด้านหลังทางทิศตะวันตก ไม่ไกลจากกลุ่มกู่ช้าง-กู่ม้า ยุคที่สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ มีฐานะเป็นหน่วยศิลปากรที่ 4 เชียงใหม่ ได้มาทำการบูรณปฏิสังขรณ์ซากโบราณสถานแห่งนี้ในปี พ.ศ.2538

พบว่าเป็นสถูปที่สร้างขึ้นในสมัยล้านนาราวพุทธศตวรรษที่ 21 อย่างไรก็ดี จากการขุดศึกษาที่ฐานรากได้พบเศษชิ้นส่วนของภาชนะดินเผาชนิดไม่เคลือบที่ใช้ในชีวิตประจำวันสมัยหริภุญไชยที่คล้ายคลึงกับสมัยทวารวดีหลายชิ้นในชั้นดินล่างสุด อาทิ น้ำต้นหรือคนโท หม้อก้นกลมปากแคบมีฝาปิดซึ่งใช้ใส่กระดูกของผู้ตาย

ส่วนชั้นดินตอนบนมีร่องรอยของเศษเครื่องถ้วยเนื้อแกร่งจากเตาสันกำแพงในยุคล้านนา แสดงว่าอาณาบริเวณแห่งนี้เป็นเขตที่มีชุมชนอาศัยสืบเนื่องต่อกันมาหลายยุคสมัย

การพบร่องรอยของเศษภาชนะดินเผาที่ผลิตในวัฒนธรรมหริภุญไชยกระจายเกลื่อนนั้น ย่อมแสดงให้เห็นว่าสถานที่แห่งนี้เคยมีความสำคัญมาแล้วตั้งแต่สมัยหริภุญไชย และกู่ไก่แก้วที่เห็นในปัจจุบันเป็นรูปแบบที่สร้างขึ้นใหม่สมัยล้านนาเพื่อครอบทับองค์เดิมข้างใน

ในด้านของความเชื่อนั้น ตำนานมูลศาสนากล่าวว่า ในนครหริภุญไชยสมัยพระญาอาทิตยราช มีเทพยดารักษาเมืองเป็น “ไก่ขาว” หรือ “ไก่แก้ว” ชื่อ “เมตตกุกุฏ” (อาจารย์เกริก อัครชิโนเรศ ทำการปริวรรตมูลศาสนาใหม่ พบว่าชื่อภาษาบาลีของไก่ขาวที่ถูกต้องคือ “เมตต” แปลว่า ไก่ที่มีเมตตา ไม่ใช่ “เปตต” ที่แปลว่าเปรต ดังที่ผู้ปริวรรตตำนานมูลศาสนาท่านเดิมเคยแปลไว้ โดยอ่านผิดจากตัว ม เป็นตัว ป)

ไก่ตัวนี้จะจับอยู่บนยอดไม้ยางทรายในทุกค่ำคืน และขันเสียงใสกังวานวันละสามเวลาปลุกชาวเมืองยามอรุณรุ่ง เที่ยงวัน และก่อนนอน เป็นศรีสวัสดิ์แก่พระนคร

ทำให้พระเจ้ากรุงละโว้ซึ่งเป็นศัตรูกับเมืองหริภุญไชยจัดการวางแผนทำลายไก่แก้วตนนี้เสียด้วยการลวงไปฆ่า ชาวหริภุญไชยโศกเศร้าเสียใจและได้กระทำสรีรกิจสร้างกู่เพื่อบรรจุซากของไก่แก้วไว้ใกล้กับไม้ยางทราย (ใกล้วัดสันป่ายางหลวง)

ชาวลำพูนน้อยคนนักที่จะรู้ว่า “ไก่แก้ว” เคยเป็นอารักษ์เมืองลำพูน

 

วิเคราะห์เห็นได้ว่าเจ้าพ่อเตโคกับเจ้าพ่อกู่ช้าง เป็นอารักษ์เมืองลำพูนมาตั้งแต่สมัยพระนางจามเทวี หรือนครหริภุญไชยยุคต้น

อารักษ์ตนหนึ่งเป็นมนุษย์ (ควิยะ หรือเตโค) เคยเป็นทูตเดินสาส์น เป็นขุนพล นักรบ เมื่อตายไปได้รับการสถาปนาเป็น “เสื้อเมือง” ถูกเรียกว่า “ยักษ์”

อารักษ์อีกตนหนึ่งเป็นสัตว์ เป็นช้างทรงช้างศึก เมื่อตายไปได้รับการยกย่องคล้าย “ทรงเมือง” เพียงแต่ชาวลำพูนไม่นิยมใช้คำนี้

อารักษ์เมืองลำพูนอีกคู่หนึ่ง มีขึ้นหลังจากสมัยพระนางจามเทวีสิ้นพระชนม์ไปแล้วประมาณ 300-400 ปี นั่นคือสมัยพระญาอาทิตยราช ผู้สร้างพระธาตุหริภุญไชย

อารักษ์ตนหนึ่งเป็นมนุษย์หรืออาจเป็นเทวดา (สุริโย-ประวัติส่วนนี้ยังคลุมเครือ) มีหน้าที่พิทักษ์ดูแลองค์พระบรมธาตุ ซึ่งถือว่าเป็น “หลักเมือง” ลำพูน

อารักษ์อีกตนหนึ่งเป็นสัตว์ปีก ที่ใช้เสียงสร้างความรื่นรมย์ให้แก่ชาวเมือง เมื่อตายไปได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น “รุกขเทวา” สถิตอยู่บนต้นยางใหญ่คอยอารักษ์เมืองลำพูน

ดร.พระครูสิริสุตาภิมณฑ์ เจ้าคณะอำเภอทุ่งหัวช้าง ปราชญ์ใหญ่เมืองลำพูนให้ข้อมูลว่า เคยอ่านพบเอกสารโบราณ กล่างถึงอารักษ์เมืองลำพูนว่ามี 4 ตนได้แก่ “สุริโย เตโค คีรีเมขล์ และร่มขาว” สุริโย เตโค เป็นชื่อที่ทราบกันดีแบบตรงตัว

คีรีเมขล์ จะหมายถึงสิ่งอื่นใดไปไม่ได้ นอกจากช้าง เป็นชื่อช้างที่ปรากฏในตอนที่มีมารมาผจญพระพุทธองค์ในช่วงใกล้ตรัสรู้ธรรม ต่อมายอมสยบเมื่อได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้า ในที่นี้หมายถึง “ช้างปู้ก่ำงาเขียว”

ส่วน “ร่มขาว” หรือเศวตฉัตร หมายถึงไก่ขาว ในที่นี้ย่อมหมายถึง “เมตตกุกุฏ” หรือไก่แก้วที่ระบุในตำนาน

เรื่องราวเกี่ยวกับอารักษ์เมืองลำพูนทั้ง 4 ตนนี้ ยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ยังไม่มีความชัดเจน แม้แต่ชาวลำพูนเองก็สับสน และแทบไม่ทราบที่มาที่ไป เนื่องจากลำพูนเป็นเมืองรุ่นเก่ายุคทวารวดี บางช่วงร้างผู้คน บางช่วงต้องเกณฑ์คนยองมาจากรัฐฉาน

อย่างไรก็ดี ดร.พระครูสิริสุตาภิมณฑ์ ได้ปรารภกับดิฉันว่า อยากเปิดเวทีเสวนาค้นหาปูมหลังเรื่องอารักษ์เมืองลำพูนอย่างเจาะลึกกันสักวัน เร็วๆ นี้