ประมงพื้นบ้านภาคใต้ไม่เอี่ยวม็อบแดดเดียวลุยยื่นหนังสือ ‘บิ๊กตู่’ ผ่านผู้ว่าฯกดดันซื้อเรือเถื่อน

เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม นายบรรจง นะแส ที่ปรึกษาสมาคมรักษ์ทะเลไทย แกนนำสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้มีแถลงการณ์จากเครือข่ายประมงพื้นบ้านในจังหวัดภาคใต้ ยืนยันว่าการนัดยื่นหนังสือในวันที่ 6 ธันวาคม นี้ ที่ศาลากลางทุกจังหวัดติดชายทะเล ไม่เกี่ยวข้องกับเครือข่ายชาวประมงพื้นบ้าน หลังจากหลายจังหวัดมีการเชิญชวนชาวประมงให้มีการรวมตัวกันที่ศาลากลางเพื่อเข้ายื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดผ่านไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้นำรัฐบาล พร้อมชี้แจงทำความเข้าใจว่าชาวประมงพื้นบ้านทำประมงถูกต้องตามกฎหมาย เลือกที่จะทำการประมงที่เคารพต่อระบบนิเวศเพื่อรักษาไว้ซึ่งความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่ง

“หลายจังหวัดที่ติดทะเลมีขาใหญ่ประมงพาณิชย์ระดมคนชุมนุมกดดันรัฐบาลในวันที่ 6 ธันวาคมนี้ เบื้องลึกต้องการจะขายเรือเถื่อน เรือสวมทะเบียนที่ผิดกฎหมาย เรือที่หมดอายุการใช้งานให้รัฐบาลรับซื้อ ตามนโยบายนำเรือออกนอกระบบ การชุมนุมยื่นข้อเรียกร้องจะนำไปสู่การต่อรองเพื่อใช้งบประมาณแผ่นดินจากรัฐบาลเพื่อให้ซื้อเรือเก่า ดังนั้นการลงทุนจัดการชุมนุมประเภทม็อบแดดเดียว แต่ละจังหวัดลงทุนลงขัน 2 – 3 แสนบาทจึงเป็นเรื่องเล็กน้อย และไม่มั่นใจว่าระหว่างประมงพาณิชย์และคนในรัฐบาลรู้เห็นเป็นใจสมคบคิดกันในเรื่องนี้หรือไม่ “ นายบรรจง กล่าว

นายบรรจง กล่าวว่า ได้แจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบว่า การทำประมงทุกประเภท ทุกขนาด ทั้งเรือเล็ก เรือใหญ่ ทั้งประมงพื้นบ้าน และประมงพาณิชย์ ต้องคำนึงถึงระบบ ระเบียบกฎหมายที่อนุญาต หรือห้ามการทำประมงที่ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติอย่างเท่าเทียมกัน เพื่อรักษาสมดุลของสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศสัตว์น้ำ สำหรับ กฎหมายประมงฉบับปัจจุบัน แม้จะมีข้อจำกัด มีข้อบกพร่องบางกรณี แต่มีเจตนาให้มีการจับสัตว์น้ำบนฐานศักยภาพของทะเลไทย ไม่ให้มีการใช้เครื่องมือจับสัตว์น้ำที่ฝ่าฝืนกฎหมาย การจับไม่เลือกขนาดทำให้สัตว์น้ำหลายชนิดไม่สามารถโตเต็มวัย โดยเฉพาะกรณีปลาทูที่กำลังอยู่ในสภาวะวิกฤต มีการใช้อวนตาถี่จนทำให้ปริมาณของสัตว์น้ำชนิดนี้ลดลงอย่างน่าเป็นห่วง

ที่ปรึกษาสมาคมรักษ์ทะเลไทย กล่าวอีกว่า ขอให้กำลังใจเจ้าหน้าที่กรมประมง ส่วนอนุรักษ์กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องให้ปฏิบัติโดย ยึดมั่นในหลักการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน ขณะที่ชาวประมงพื้นบ้าน จะมีส่วนร่วมการบริหารจัดการทรัพยากรประมง ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง