มนัส สัตยารักษ์ | วิกฤตขยะพลาสติก

ผมให้ความสำคัญกับขยะพลาสติกเป็นพิเศษ แทบจะวันละ 3 เวลาทีเดียว ทั้งนี้เพราะผมกินอาหารอย่างน้อยวันละ 3 มื้อ ทุกมื้อจะมีพลาสติกเป็น “อุปกรณ์” หรือ “ส่วนควบ” อยู่เสมอ

เมื่อเข้าสู่ฐานะคนสูงวัยเต็มตัว ผมไม่ค่อยกล้าขับรถ โดยเฉพาะเมื่อตะวันโพล้เพล้ หรือฝนตก หรือการจราจรติดขัด เมื่อถึงเวลากินผมจะใช้บริการสั่งอาหารตามสาย หรือไม่ก็เลือกกล่องอาหารในตู้แช่ออกมา wave ทำสุกตามคำแนะนำข้างกล่อง

แน่นอน…ทุกมื้อเป็นอาหารที่มีอุปกรณ์และส่วนควบเป็นพลาสติกครบบริบูรณ์

ผมเคยต่อต้านถุงพลาสติกและกล่องโฟม โดยเตรียมวัสดุและอุปกรณ์ที่ใช้แทนไว้พร้อมในรถยนต์

เคยเขียนบทความแสดงผลร้ายของขยะพลาสติกในคอลัมน์นี้ อย่างน้อย 3 ครั้ง ครั้งหนึ่งเขียนอย่างหงุดหงิดที่เห็นภาพข่าวนายกรัฐมนตรี คสช. กับคณะ “สร้างภาพ” หิ้วถุงผ้าที่ทำเนียบรัฐบาล เป็นภาพเพื่อรณรงค์และต่อต้านการใช้ถุงพลาสติก

แทนที่จะออกมาตรการ หรือออกกฎหมายห้ามใช้ ห้ามนำเข้า หรือห้ามผลิต หรือใช้กลวิธีอย่างอื่นที่ดูงี่เง่าน้อยกว่าสร้างภาพนายกฯ หิ้วถุงผ้า

แต่แล้วผมก็พบว่ารัฐบาลไม่ได้ให้ความสำคัญกับ “วิกฤตขยะพลาสติก” สักเท่าใด เพราะวาง Roadmap การกำจัดขยะพลาสติก โดยตั้งเป้ากำจัด 100 เปอร์เซ็นต์ในปี 2570!!

วิกฤตขยะพลาสติก เป็นปัญหาของโลก เพราะขยะพลาสติกเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้โลกร้อน ด้วยก๊าซเรือนกระจก พลาสติกสร้างสารตกค้างเป็นภัยคุกคามต่อระบบนิเวศ และสิ่งมีชีวิตในทะเล

ร่วม 100 ประเทศในโลกควบคุมการใช้พลาสติก บังกลาเทศแบนการใช้พลาสติกตั้งแต่ปี ค.ศ.2002 เมื่อพบว่าถุงพลาสติกไปอุดท่อน้ำเป็นเหตุให้น้ำท่วม บางประเทศกำหนดโทษไว้สูงต่อผู้ฝ่าฝืนกฎหมายควบคุม กล่าวคือ นอกจากโทษปรับแล้วยังมีโทษจำคุกด้วย

 

แต่หลายประเทศไม่ตระหนักในผลร้ายของวิกฤตขยะ ไม่เข้มงวดในการต่อต้าน จะเห็นได้ว่าครั้งที่ประเทศจีนมีนโยบายห้ามนำเข้าขยะพลาสติกรีไซเคิลผสมในปี 2561 ทำให้ระบบรีไซเคิลทั่วโลกกระทบกระเทือน ไทยเป็นประเทศอันดับต้นๆ ของโลกที่นำเข้าขยะพลาสติก (อันดับ 3 รองจากมาเลเซียและเวียดนาม)

ความจริงไทยก็ตื่นตัวเรื่องขยะพลาสติกอยู่บ้างเหมือนกัน มีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการจัดระบบบริหารจัดการขยะมู]ฝอยของประเทศ พ.ศ.2557 ประกาศเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2557 หลังจาก คสช.รัฐประหารไม่นาน

รัฐบาลมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2564) มีแผนแม่บทการบริหารจัดการขยะของประเทศ (พ.ศ.2559-2564) ประกอบด้วย 3 มาตรการ ได้แก่ การลดการเกิดขยะมูลฝอย ของเสียอันตราย เพิ่มศักยภาพการกำจัด และมาตรการส่งเสริมการบริหารจัดการ โดยสร้างจิตสำนึกให้กับประชาชน ฯลฯ

นอกจากนั้น ยังมี (ร่าง) ยุทธศาสตร์การดำเนินการลด คัดแยก และนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ ฯลฯ ซึ่งอาจจะตีความได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นอยางหนึ่งของ “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี”

ทั้ง 3 มาตรการข้างต้น คือ ระเบียบสำนักนายกฯ แผนพัฒนาฯ และยุทธศาสตร์ฯ จะเห็นได้ว่ามีข้อความและท่วงทำนองสวยหรูคล้ายคลึงกัน แต่ผ่านมา 5 ปียังไม่มีผลงานให้เห็นเป็นรูปธรรมแม้แต่ชิ้นเดียว

เมื่อปี ค.ศ.2010 มีข่าวเด็กอินเดียวัย 11 ขวบ ชื่อ Tenith Adithyaa คิดค้น “ใบตองเทคโนโลยี” โดยปรับปรุงโครงสร้างเซลล์ใบตองให้ใบเป็นสีสดอยู่ได้นานเป็นปี โดยไม่ใช้สารเคมีใดๆ เขาเริ่มทดลองในแล็บที่บ้านด้วยความต้องการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมจากวัสดุที่เป็นมิตร

เทคโนโลยีได้เสริมสร้างความแข็งแรงให้แก่ผนังเซลล์ของใบกล้วย ป้องกันไม่ให้เชื้อราต่างๆ ที่จะทำให้ใบเสื่อมเสีย ทั้งยังสามารถต้านทานเชื้อโรคและไวรัสได้ด้วย

Tenith Adithyaa ใช้เวลากว่า 4 ปี พัฒนา “ใบตองเทคโนโลยี” ให้ต้านทานอุณหภูมิได้ มีความเหนียวและยืดหยุ่น แข็งแรงและทนทาน สามารถรับน้ำหนักได้มากกว่าใบตองธรรมชาติ

ใบตองเทคโนโลยีเป็น organic 100 เปอร์เซ็นต์ ย่อยสลายได้ ดังนั้น มันสามารถนำมาใช้แทนพลาสติกและโฟมได้โดยเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ตามข่าวกล่าวว่า ในเชิงธุรกิจเขาต้องการขายลิขสิทธิ์หรือ licence ของเทคโนโลยี ให้แก่องค์กรหรือบริษัทใดก็ได้ทั่วโลก… แต่ไม่มีข่าวคืบหน้าเพิ่มเติมหลังจากนั้นแต่อย่างใด

ประเทศไทยก็มีข่าวระดับโลกมาเป็นระยะหลายข่าว เช่น ข่าวที่คิดค้นพลาสติกชีวภาพ โดยใช้ซังข้าวโพด เปลือกมันสำปะหลัง หรือชานอ้อย ฯลฯ ทำเม็ดพลาสติก มาตั้งแต่ปี 2555

เมื่อเร็วๆ นี้ก็มีข่าวจากสื่อโซเชียลในเฟซบุ๊ก… “ไทยเจ๋ง! ใช้แป้งมันสำปะหลังทำถุงพลาสติก ย่อยสลายได้ใน 90 วัน”

ผมพยายามหารายละเอียดจากสื่อช่องทางอื่นรวมทั้งกูเกิลก็ไม่พบข่าวเพิ่มเติม อดคิดไม่ได้ว่าคงจะเหมือนกรณีข่าวศาสตราจารย์เภสัชกรหญิง กฤษณา ไกรสินธ์ ที่คิดค้นยาต้านเชื้อไวรัสเอดส์…ดังไปทั่วโลกแต่เงียบสนิทในประเทศไทย

มีรายละเอียดในเนื้อข่าวประกอบภาพกราฟิกว่า สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ “สวทช.” คิดค้นถุงพลาสติกโดยใช้แป้งมันสำปะหลัง ผสมหลอมจนคล้ายเป็นเม็ดพลาสติก ที่มีความเหนียว ยืดหยุ่นและมีความแข็งแรง สามารถเป่าขึ้นรูปได้ง่าย เมื่อนำมาทำถุงพลาสติกก็จะมีคุณสมบัติย่อยสลายใน 90 วัน

มันสำปะหลังกับกัญชามีส่วนคล้ายกันอยู่อย่างหนึ่งคือใบสวย พอ สวทช.ประกาศผลการคิดค้นทำถุงพลาสติกโดยใช้แป้งมันสำปะหลัง

วูบแรกผมคิดเปรียบเทียบกับกัญชาทันที คิดด้วยความวิตกกังวลว่าจะมีมือมืดชิงประกาศ “สิทธิบัตร” หรือจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา อย่างที่เขาทำกับกัญชาหรือข้าวหอมมะลิของเรา

แต่เพื่อนนักธุรกิจคนหนึ่งปลอบว่า ปัจจุบัน สวทช.คิดค้นอะไรได้เขารีบจดสิทธิบัตรทันที

เพราะที่ผ่านมามีบทเรียนเจ็บแสบจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งจดทะเบียนทุกอย่างที่ขวางหน้า

คิดตามประสาซื่อว่าทำไมรัฐบาลหรือองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม ไม่ชักชวนนักลงทุนผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพ ไม่มีใครสวม “หัวใจเจ้าสัว” ที่เคยทุ่มทุนประกอบกิจการทุกอย่างที่ขวางหน้า อุตสาหกรรมผลิตเม็ดพลาสติกอาจจะไม่สร้างผลกำไรมหาศาล แต่อย่างน้อยก็มีส่วนได้พิทักษ์โลก และ Roadmap การกำจัดขยะพลาสติก อาจะจะร่นมาจบก่อนปี 2570 ก็ได้

กรมควบคุมมลพิษประเมินว่าคนไทยสร้างขยะพลาสติกวันละ 7,000 ตัน แต่ไทยมีผลผลิตมันสำปะหลัง อ้อย ข้าวโพดและใบตองล้นตลาด

เพื่อนนักธุรกิจสรุปข้อกังขาสั้นๆ ว่า “นายไร้เดียงสาเรื่องเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม นายไม่เข้าใจความซับซ้อนย้อนแย้งของธุรกิจ นายไม่รู้จักความเชื่อมโยงและสิ่งครอบงำระหว่างเจ้าสัวกับรัฐบาล!!”