เพ็ญสุภา สุขคตะ : “พระเจ้าอุ้มโอ” แค่บิณฑบาต ปัดเป่า ขอความอุดมสมบูรณ์ หรือทวงคืนแผ่นดิน?

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ภาษาล้านนาเรียก “พระพุทธรูปปางอุ้มบาตร” ว่า “พระเจ้าอุ้มโอ” คำว่า “โอ” หมายถึงภาชนะรูปทรงกลมหรือค่อนข้างกลม ใช้เรียกบาตรพระ ขันน้ำมนต์ ส้มโอก็เรียก บะโอ/มะโอ ฯลฯ

ความเป็นมาของ “พระเจ้าอุ้มโอ” เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อไหร่

การถือบาตรของพระพุทธรูปนั้น มีนัยยะอะไรบ้าง แค่สะท้อนถึงวิถีแห่งสมณะผู้ครองบาตรเท่านั้น หรือยังรวมถึงการขอให้ฝนฟ้าตกปัดเป่าภัยแล้ง

ฤๅแฝงด้วยวาระซ่อนเร้นทางการเมือง?

 

ปางนั่งรับบาตรจากพญาวานร
เก่ากว่าพระพุทธรูปยืนอุ้มบาตร

น่าสนใจทีเดียวที่ “บาตร” 1 ในเครื่องอัฐบริขารของพระสงฆ์ ได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์สำคัญของพระพุทธรูปประจำตัวให้กับคนเกิดวันพุธทั้งกลางวันและกลางคืน

ต่างกันแค่ พุธกลางวันยืนหรือกำลังเดินบิณฑบาต แต่พุธกลางคืนนั่ง มีสัตว์สองชนิดคือลิง ช้างจากป่าเลไลยก์ เอาอาหารมาถวายพระพุทธเจ้า เรียกโดยรวมว่า “ปางรับบาตรจากพญาวานร”

ในทางประวัติศาสตร์ศิลปะพบว่า ปางนั่งรับบาตรนี้มีมาก่อนปางยืนถือบาตร เหตุที่ปางรับบาตรจากพญาวานรเป็น 1 ในพระพุทธรูป 8 ปางรุ่นเก่าของอินเดียตั้งแต่สมัยคุปตะ (พุทธศตวรรษที่ 9-12) ท่านั่งมีทั้งนั่งห้อยพระบาทและทั้งนั่งขัดสมาธิเพชร

สังเกตว่าบาตรมีขนาดเล็กมาก ประคองได้ด้วยมือข้างเดียว ไม่ต้องยืนอุ้ม

ปางรับบาตรจากพญาวานรนี้ถือเป็นต้นกำเนิดให้แก่ปางประทานพรในยุคต่อมา เพราะเมื่อรับอาหารเสร็จก็ต้องให้พรและแผ่เมตตาแก่สัตว์โลก

น่าแปลกทีเดียวที่ในประเทศอินเดียไม่พบพระพุทธรูปยืนปางอุ้มบาตรแต่อย่างใด

 

พระเจ้าอุ้มโอองค์เก่าสุดพบในล้านนา?

ในประเทศไทยไม่พบพระพุทธรูปปางอุ้มบาตรในศิลปะยุคทวารวดี ศรีวิชัย ลพบุรี ช่วงพุทธศตวรรษที่ 11-18 พบเพียงประติมากรรมดินเผาแสดงลำตัวพระสงฆ์ 3 รูปถือบาตร มีอายุอยู่ในช่วงรอยต่อจากยุคสุวรรณภูมิสู่ยุคต้นทวารวดี (จัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง)

ส่วนพระพุทธรูปปางอุ้มบาตรที่นักประวัติศาสตร์ศิลปะยอมรับว่าเก่าสุดในสยาม ก็คือองค์ที่หล่อด้วยสำริดประดิษฐานในวิหารหลวงวัดเชียงหมั้น จังหวัดเชียงใหม่ มีจารึกที่ฐานเป็นอักษรฝักขาม ดร.ฮันส์ เพนธ์ ถอดความได้ว่าสร้างโดยพระเจ้าติโลกราช ปี พ.ศ.2008

อันที่จริงมีวัดร้างแห่งหนึ่งสร้างในสมัยล้านนาตอนต้น มีอายุเก่าแก่กว่าสมัยพระเจ้าติโลกราช

น่าเสียดายที่วัดนี้ตั้งอยู่ในชุมชนด้านหลังโรงพยาบาลเชียงใหม่รามถูกบ้านเรือนโอบล้อม จนหามุมถ่ายรูปลำบาก ชื่อวัดอุ้มโอ เป็นการเรียกตามลักษณะพระพุทธรูปในซุ้มจระนำที่ยืนถือบาตร 4 ทิศ

แต่เนื่องจากพระพักตร์หักหายไปหมดแล้วจึงยากที่จะกำหนดอายุได้ว่าพระเจ้าอุ้มโอในซุ้มเหล่านี้มีมาแต่เดิมพร้อมการสร้างเจดีย์ (คือสมัยล้านนาตอนต้นช่วงพุทธศตวรรษที่ 19) หรือทำขึ้นภายหลังในยุคพระเจ้าติโลกราช

หากสืบค้นได้ว่า พระเจ้าอุ้มโอในซุ้มจระนำนี้มีมาแต่ดั้งเดิม ทฤษฎีที่ว่าพระเจ้าอุ้มโอองค์เก่าสุดคือที่วัดเชียงหมั้นก็จะถูกเปลี่ยนแก้ไขใหม่

และยิ่งน่าสนใจไปกว่านั้นคือจะเก่าไปถึงยุคพระญามังราย ปฐมกษัตริย์ล้านนาหรือไม่

อย่างไรก็ดี ในเมื่อสามารถสืบสาวราวเรื่อง ถึงจุดเริ่มต้นในการทำพระเจ้าอุ้มโอได้ว่าเก่าสุดแค่สมัยพระเจ้าติโลกราชเท่านั้น อีกทั้งยังพบว่านับแต่รัชสมัยของพระองค์เป็นต้นมาในดินแดนล้านนาได้เกิดความนิยมการทำประติมากรรมรูปพระเจ้าอุ้มโออย่างแพร่หลาย

ทำให้ครั้งหนึ่งเมื่อ 4-5 ปีก่อนในวงเสวนาประวัติศาสตร์ นักวิชาการหลายคนได้ตั้งคำถามกันว่า “การพบพระเจ้าอุ้มโอจำนวนมากในสมัยพระเจ้าติโลกราชนั้น มีนัยยะทางการเมืองอะไรซ่อนอยู่หรือไม่

อาทิ เป็นปฏิกิริยาตอบโต้ต่อการที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ แห่งกรุงศรีอยุธยาได้ผนวชเป็นพระภิกษุ แล้วเดินธุดงค์ขึ้นมาขอบิณฑบาตเมืองเชลียง สองแคว ที่ล้านนายึดไปจากอยุธยากลับคืน?”

นัยยะทางการเมืองเช่นนี้ไม่ควรมองข้าม คงต้องช่วยกันสืบค้นวิเคราะห์กันต่อไป เพราะปฏิเสธไม่ได้เลยว่า พระพุทธปฏิมาหลายองค์มักสร้างขึ้นด้วยวาระซ่อนเร้นทางการเมือง

 

รับอิทธิพลลังกาวงศ์ คณะมหาวิหาร

เท่าที่ตรวจสอบพระพุทธปฏิมาทั่วประเทศไทย ยังไม่พบว่าจะมีพระพุทธรูปปางอุ้มบาตรองค์ใดที่มีอายุเก่าไปกว่าที่วัดเชียงหมั้นอีกแล้ว ไม่ว่าองค์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือ “หลวงพ่อวัดบ้านแหลม” วัดเพชรสมุทร จังหวัดสมุทรสงคราม ก็ยังมีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 23 ตอนปลาย

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.พิริยะ ไกรฤกษ์ อธิบายไว้ในหนังสือ “พระพุทธปฏิมา” ในหนังสือชุด “ลักษณะไทยเล่ม 1” ว่า การทำพระพุทธรูปปางอุ้มบาตรในล้านนาและอยุธยา ต่างได้รับอิทธิพลจากพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ ฝ่ายคณะมหาวิหาร

ถือเป็นกุญแจสำคัญที่เราควรศึกษาแนวคิดการทำพระพุทธรูปปางอุ้มบาตรในศิลปะลังกาของคณะสงฆ์ฝ่ายมหาวิหารอย่างเจาะลึกต่อไป ในเมื่อไม่พบปางนี้ในอินเดีย

พระพุทธรูปปางอุ้มบาตรได้รับความนิยมอย่างสูงในสมัยอยุธยาตอนปลายและรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยเฉพาะเหตุการณ์สำคัญคือพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ได้โปรดให้สร้างพระพุทธรูปปางต่างๆ ในลักษณะเป็นองค์แทนพระชนมวารประจำรัชกาล อุทิศพระราชกุศลถวายแด่อดีตบูรพกษัตริย์ทุกพระองค์ ทรงกำหนดให้พระพุทธรูปปางอุ้มบาตร เป็นพระชนมวารประจำรัชกาลสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 9 (พระเจ้าท้ายสระ)

ซึ่งก็ไม่มีใครทราบถึงเหตุผลที่รัชกาลที่ 3 ทรงตัดสินพระทัยในการเลือกทำปางใดปางหนึ่ง ให้กับพระมหากษัตริย์องค์ต่างๆ ว่าทรงใช้หลักคิดเช่นไร และทำไมพระเจ้าท้ายสระจึงเป็นปางอุ้มบาตร?

จากนั้นสมัยรัชกาลที่ 4 ได้พบการทำพระพุทธรูปปางอุ้มบาตรอย่างกว้างขวาง กระทั่งกลายมาเป็นพระประจำวันของคนเกิดวันพุธกลางวัน แนวคิดนี้ก็เกิดขึ้นในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้น

วิถีของผู้ครองบาตร

การบิณฑบาตถือเป็นพุทธกิจแรกสุด ในบรรดา 5 พุทธกิจประจำวันของพระพุทธองค์ เป็นวัตรปฏิบัติสำคัญตลอดพระชนม์ชีพ

วิถีแห่งผู้ครองบาตรเป็นหนทางในการลดทิฐิมานะและความยึดมั่นถือมั่นในตัวตน สะท้อนความแน่วแน่ของผู้ละทิ้งบ้านเรือนทรัพย์ศฤงคารก้าวเข้าสู่วิถีธรรม สมัครใจดำรงชีพด้วยการภิกขาจาร ขอรับอาหารตามแต่จะมีผู้ศรัทธาสละให้

ดังนั้น การทำพระพุทธรูปปางอุ้มบาตร นัยยะแรกสุด หากตีความตรงตัว น่าจะหมายถึงปางที่สะท้อนถึง “วิถีของนักบวช” ผู้สละละซึ่งทางโลกย์ ดำรงชีพอย่างสมถะ ยังอายุให้ยืนยาวด้วยบาตรเพียงใบเดียว

 

ประเพณีชักพระ ตักบาตรเทโว

นัยยะประการถัดมา ได้พบการใช้จุดเด่นของ “บาตร” เป็นสัญลักษณ์ประกอบการตักบาตรเทโวโรหณะช่วงออกพรรษา ไม่จำเพาะในวัฒนธรรมล้านนาเท่านั้นแต่พบได้ทั่วทุกภูมิภาคในประเทศไทย

โดยเฉพาะที่ภาคใต้จังหวัดสงขลา เช่น วัดโคกเหรียง มีประเพณีชักพระ หรือประเพณีลากพระอันเป็นที่รู้จัก ด้วยการนำพระพุทธรูปปางอุ้มบาตรยืนวางหน้ารถลากนำขบวนสาธุชนที่จะไปร่วมตักบาตรเทโว จึงเรียกพระพุทธรูปปางอุ้มบาตรในเทศกาลนี้ว่า “พระลาก”

การนำพระเจ้าอุ้มโอหรือพระลากมาใช้ในช่วงตักบาตรเทโวนี้ มีความหมายว่า หลังช่วงเทศกาลออกพรรษาแล้ว สาธุชนเกิดความปีติใจที่ได้ทำบุญใหญ่ ใส่บาตรกับพระพุทธเจ้าที่เพิ่งเสด็จกลับจากการโปรดพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ณ เมืองสังกัสสะ

บาตรน้ำมนต์ ปัดเป่ามลทิน

ในวัฒนธรรมล้านนา ยุคปัจจุบันพบว่า นิยมนำพระเจ้าอุ้มโออัญเชิญออกมาในที่สาธารณะ 2 กรณี คือช่วงที่บ้านเมืองเกิดเหตุอาเพศ และช่วงฝนแล้ง

ประการแรก เมื่อบ้านเมืองเกิดเหตุไม่ดี เช่นวาตภัย อุทกภัย อัคคีภัย ทุพพิกขภัย วินาศภัย โจรภัย ฯลฯ สิ่งศักดิ์สิทธิ์แรกสุดที่คนในชุมชนนึกถึงก็คือ “พระเจ้าอุ้มโอ”

โดยพระสงฆ์จะเดินไปรอบๆ ปะรำพิธีของวัด ท่องคาถาปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายกาลีบ้านกาลีเมืองให้ปลาตหายสูญ ด้วยการอาราธนาพระเจ้าอุ้มโอออกมาแห่ ในบาตรนั้นไม่ใช่บาตรเปล่า แต่ใส่น้ำมนต์ที่ปลุกเสกเพื่อประพรมให้แก่ฆราวาสผู้ประสบเคราะห์กรรม

ฉะนั้น นัยยะนี้ พระเจ้าอุ้มโอกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งการปัดเป่ามลทินเสนียดจัญไร

ประการที่สอง ในบางพื้นที่ช่วงฝนแล้งนาล่ม ชุมชนพร้อมใจกันนำพระเจ้าอุ้มโอออกแห่ คล้ายกับการแห่พระเจ้าฝนแสนห่า โดยใช้สัญลักษณ์ “บาตร” เป็นสัญลักษณ์เสมือนเครื่องรองรับน้ำฝนให้หล่นโปรยสู่ภาชนะ

 

บาตรใบเดียวกัน แต่ผันแปรหน้าที่

เห็นได้ว่า พระเจ้าอุ้มโอ แม้ว่าในยุคแรกสร้าง อาจมุ่งเน้นเรื่องการแผ่เมตตา การประทานพรให้แก่ผู้ใส่บาตร โดยเริ่มจากแนวคิดเรื่องการรับบาตรจากพญาวานรในป่าเลไลยก์ สัตว์กับมนุษย์ต่างพึ่งพาเกื้อกูลกัน

ต่อมาเมื่อทำพระพุทธรูปอุ้มบาตรแบบยืน สัญลักษณ์จึงเปลี่ยนจากแค่ปางประทานพร ไปเป็นเครื่องประกาศความสมถะของผู้ภิกขาจาร บาตรตอนยืนใบใหญ่ขึ้นกว่าเดิมตอนนั่ง

แต่ในยุคสมัยของเราตั้งแต่ 200 ปีที่ผ่านมา พระเจ้าอุ้มโอหรือพระพุทธรูปปางอุ้มบาตรได้ถูกนำมาใช้สอยใหม่ในความหมายที่เป็นสิริมงคล หรือใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวมมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าเรื่องการตักบาตรเทโว การวิงวอนขอให้ช่วยปัดเป่าบรรเทาทุกข์ การขอฝน ขอความอุดมสมบูรณ์แห่งผลาหาร

กล่าวให้ง่ายก็คือ หน้าที่ใช้สอยของพระเจ้าอุ้มโอหรือพระพุทธรูปปางอุ้มบาตร มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง จนมีนัยยะแฝงเร้นที่ตัว “บาตร” มากกว่าตัว “ผู้ถือบาตร”

บาตรในมือที่อุ้มนั้น นับวันเข้าก็ยิ่งมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ใหญ่มากกว่าเดิมยุคล้านนาเมื่อ 500 ปีก่อน เพราะหน้าที่ของ “บาตร” ถูกนำมาใช้งานสารพัดสารเพ กลายเป็นความสำคัญหลักมากกว่าหน้าที่ของ “ผู้ถือบาตร”

ซึ่งเนื้อแท้แล้วบาตรใบเดียวกันนี้ ในอดีตเคยทำหน้าที่แค่ “เดินรับก้อนข้าวจากชาวบ้านในยามเช้าเพื่อประคองตน” มาก่อนเท่านั้นเอง