ต่างประเทศ : ประท้วงราคาน้ำมันในอิหร่าน ความวุ่นวายใต้อำนาจเบ็ดเสร็จ

เหตุการณ์ประท้วงการขึ้นราคาน้ำมันของรัฐบาลอิหร่านลุกลามบานปลายไปมากถึง 100 เมืองทั่วประเทศ หลังจากรัฐบาลสั่งขึ้นราคาน้ำมันอย่างกะทันหันเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

ความวุ่นวายขยายตัวลุกลามอย่างรวดเร็วมากกว่าการประท้วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำเมื่อปี 2017 และบานปลายเร็วยิ่งกว่าการประท้วงกรณีขัดแย้งการเลือกตั้งประธานาธิบดีอิหร่านเมื่อปี 2009

ล่าสุดมีรายงานว่ามีเจ้าหน้าที่ความมั่นคงถูกผู้ก่อจลาจลแทงเสียชีวิตไป 3 ราย

ขนาดของความรุนแรงที่ลุกลามยังไม่ชัดเจนนักเนื่องจากรัฐบาลอิหร่านสั่งปิดสัญญาณอินเตอร์เน็ตทั่วประเทศ ตัดขาดการสื่อสารของประชากรราว 80 ล้านคนลงตั้งแต่เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

ก่อนหน้าการตัดสัญญาณภาพและคลิปวิดีโอแสดงให้เห็นระดับความรุนแรงในเวลานั้นแสดงให้เห็นผู้คนต่างทิ้งรถบนถนนหลวงและเดินขบวนไปรวมตัวประท้วงในใจกลางเมือง

บางส่วนก่อจลาจลจุดไฟเผาปั๊มน้ำมัน บุกทำลายธนาคาร และปล้นชิงข้าวของร้านค้าในหลายพื้นที่

 

เหตุประท้วงปะทุขึ้นจากการตัดสินใจของประธานาธิบดีฮัสซัน รูฮานี ที่สั่งให้มีการขึ้นราคาน้ำมัน โดยให้เหตุผลว่าจะนำรายได้จากส่วนนี้ไปช่วยเหลือผู้ยากไร้ของประเทศ

การประท้วงมีต้นตอส่วนหนึ่งจากความไม่พอใจภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่กินเวลายาวนานหลายสิบปี ซึ่งเพิ่งจะถูกซ้ำเติมโดยสหรัฐอเมริกา ที่ประกาศถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน ส่งผลให้อิหร่านต้องเผชิญกับมาตรการคว่ำบาตรจากนานาชาติเพิ่มขึ้น

อิหร่านเป็นชาติที่มีน้ำมันดิบสำรองมากที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลก ถูกจัดอันดับโดยสำนักงานพลังงานสากล (ไออีเอ) ว่าเป็นประเทศที่มีการให้เงินอุดหนุนราคาพลังงานฟอสซิลมากที่สุดในโลก ด้วยงบประมาณถึง 69,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 2 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้ 26,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 785,000 ล้านบาท เป็นการอุดหนุนราคาน้ำมัน

สำหรับชาวอิหร่านแล้ว การได้ซื้อน้ำมันในราคาถูกนั้นถูกมองว่าเป็นสิทธิอันพึงได้พึงมีตั้งแต่เกิด

อย่างไรก็ตาม ด้วยปัญหาอัตราว่างงานสูง ส่งผลให้คนส่วนใหญ่มีอาชีพเสริมเป็นคนขับแท็กซี่ นั่นทำให้การขึ้นราคาน้ำมันส่งผลกระทบไปเป็นวงกว้าง

 

เดิมผู้ขับขี่อนุญาตให้เติมน้ำมันได้เดือนละ 250 ลิตรที่ราคา 10,000 เรียล หรือราว 2.60 บาทต่อลิตร ก่อนที่รัฐบาลรูฮานีจะสั่งให้ขึ้นราคาน้ำมันกะทันหันเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาราว 50 เปอร์เซ็นต์ มาอยู่ที่ 15,000 เรียลอิหร่าน หรือราว 3.93 บาทต่อลิตร (60 ลิตรต่อเดือน) เกินกว่านั้นราคาลิตรละ 30,000 เรียลอิหร่าน หรือราว 7.85 บาทต่อลิตร

อย่างไรก็ตาม แม้จะขึ้นราคา อิหร่านก็ยังคงเป็นหนึ่งในชาติที่มีราคาน้ำมันถูกที่สุดในโลกอยู่ดี

อิหร่านประสบกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำนับตั้งแต่การปฏิวัติอิสลามเมื่อปี 1979 นับตั้งแต่นั้นอิหร่านตัดสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกาลง

หลังจากนั้นเกิดสงครามกับอิรักขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 80 ส่งผลกระทบกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศอย่างหนัก

อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมน้ำมันยังคงเป็นแหล่งรายได้หลักของรัฐบาล แม้ว่ามาตรการคว่ำบาตรจะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันก็ตาม

ล่าสุดการที่สหรัฐอเมริกาถอนตัวออกจากข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านเมื่อปี 2018 ที่ผ่านมา ซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจของอิหร่านอีกระลอก

ค่าเงินเรียลของอิหร่านดิ่งวูบลงในทันที

จากเดิมที่เคยมีอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ในระดับ 32,000 เรียลต่อดอลลาร์ กลับตกลงไปอยู่ในระดับ 123,000 เรียลต่อดอลลาร์เลยทีเดียว

 

แม้การจลาจลจะลุกลามบานปลาย กลุ่มผู้ประท้วงตะโกนคำขวัญท้าทายอำนาจรัฐศาสนาของรัฐอิสลามนิกายชีอะห์แห่งนี้ ผู้สันทัดกรณีต่างมองว่า รัฐบาลอิหร่านมีกำลังพลและมีประสบการณ์มากพอที่จะจัดการกับการประท้วงลักษณะนี้ให้สงบลงได้อย่างรวดเร็วและเฉียบขาด

ผู้นำสูงสุดอย่างอายาตุลเลาะห์ อาลี คาเมนี ระบุผ่านแถลงการณ์ผ่านสถานีโทรทัศน์โดยระบุถึงกลุ่มผู้ประท้วงว่าเป็นพวก “อันธพาล” เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายนที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่ารัฐอิหร่านจะไม่อ่อนข้อในการปราบปรามความวุ่นวายในครั้งนี้

ก่อนหน้านี้รัฐบาลอิหร่านเคยมีประสบการณ์กับการปราบปรามความวุ่นวายลักษณะนี้มาก่อน อย่างที่เคยทำมาแล้วกับการประท้วงของกลุ่มนักศึกษาในปี 1999 หรือการปราบปราม “ขบวนการสีเขียว” ที่ออกมาประท้วงการเลือกตั้งประธานาธิบดีอิหร่านในปี 2009

รวมไปถึงการประท้วงไม่พอใจภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อปี 2017 ที่ผ่านมา

 

คลิปวิดีโอในโลกออนไลน์แสดงให้เห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กระบองเข้าสลายการชุมนุม รวมไปถึงกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิหร่าน ขับรถจักรยานยนต์ลงพื้นที่คุมสถานการณ์ในกรุงเตหะรานแล้วเช่นกัน

นั่นเป็นเหตุผลให้บริษัทด้านข่าวกรองที่มีฐานอยู่ในสหรัฐอเมริกาอย่าง “สแตรตฟอร์” ระบุว่า อิหร่านได้พัฒนาเครื่องมือและกองกำลังความมั่นคงในการปราบปรามและการควบคุมข่าวสารเพื่อจำกัดวงการประท้วงให้ดีมากยิ่งขึ้นแล้ว

“นี่ทำให้มีความเป็นไปได้น้อยมากที่การประท้วงที่ปะทุขึ้นจะขยายตัวไปอยู่ในจุดที่จะเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทางการเมืองในอิหร่านได้” สแตรตฟอร์ระบุ