ส.ส.อนาคตใหม่ แท็กทีมอภิปรายรายงานศาล รธน. ‘ชำนาญ’ ชี้ ตุลาการไม่เหนือองค์กรอื่น

ส.ส.อนาคตใหม่ แท็กทีมอภิปรายรายงานศาล รธน. ‘ชำนาญ’ ชี้ ตุลาการไม่เหนือองค์กรอื่น ‘ปิยบุตร’ เชื่อ หากศาลเปิดใจรับคำวิจารณ์ จะเป็นประโยชน์กว่าปิดปากปชช.

เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน ที่รัฐสภา เกียกกาย ในการอภิปรายรับรายงานประจำปี 2561 ของศาลรัฐธรรมนูญ มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ร่วมอภิปราย 3 คน โดยเป็น ส.ส.จากพรรคอนาคตใหม่ทั้งหมด โดย นายชำนาญ จันทร์เรือง ส.ส.บัญชีรายชื่อ กล่าวว่า ตามรายงาน ระบุหน้าที่เช่นสนับสนุนให้มีศึกษา วิจัย เผยแพร่กิจการของศาล เผยแพร่บริการข้อมูลข่าวสารงานศาล แต่ปรากฏว่าที่ผ่านมาไม่ได้ทำหน้าที่ โดยเฉพาะการพิจารณาคดีว่าเป็นคำสั่งหรือคำวินิจฉัย เช่น กรณีผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นคำร้องว่า นายกรัฐมนตรีถวายสัตย์ฯ เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ม.161 หรือไม่นั้น มิใช่คำวินิจฉัยตาม รัฐธรรมนูญ ม.211 วรรคท้าย เพราะจะต้องมีการรับคำร้องฯ ไว้พิจารณาและตุลาการทุกคนต้องทำความวินิจฉัยส่วนตน จึงจะถือว่าเป็นคำวินิจฉัยที่ผูกพันทุกองค์กร ซึ่งหน่วยงานหลายหน่วย แม้แต่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเองก็อ้างว่าเป็นคำวินิจฉัย และปฏิเสธการมาชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการ ปปช.และหลายๆ คนแม้แต่ ส.ส.หลายคนเองก็ตามก็อ้างว่าเป็นคำวินิจฉัย ซึ่งสร้างความเข้าใจผิดต่อสาธารณะ

“กรณีนี้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาโดยอ้างว่าเป็น Act of Governmet หรือ การกระทำของรัฐบาล ซึ่งผมเห็นด้วย แต่การที่มีความเห็นว่า ‘…การถวายสัตย์ฯ ไม่อยู่ในอำนาจการตรวจสอบขององค์กรรัฐธรรมนูญใด’ นั้น ผมไม่เห็นด้วย เพราะเป็นการวินิจฉัยเกินคำขอซึ่งโดยปกติทั่วไปศาลจะไม่วินิจฉัยหรือมีคำสั่งเกินคำขอ พูดง่ายๆ ก็คือไม่รับก็ไม่รับ จบ แต่นี่มีแถมอีกและยังก้าวล่วงไปยังองค์กรอื่นที่ที่มีอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญเช่นกัน อย่าลืมว่าเราปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา ไม่ได้ปกครองด้วยระบบอบตุลาการธิปไตยที่ตุลาการมีอำนาจเหนือองค์กรอื่น” นายชำนาญ กล่าว

ด้าน นายรังสิมันต์ โรม กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ 2560 มีบทบัญญัติว่าด้วยการใช้สิทธิ์ทางศาลรัฐธรรมนูญในมาตรา 213 บัญญัติว่า “บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้มีสิทธิยื่นคําร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อมีคําวินิจฉัยว่าการกระทํานั้น ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ” แต่นับจาก ประกาศใช้จนถึงปัจจุบัน มีการยื่นคำร้องทั้งหมด 166 คำร้อง แต่ไม่เคยมีคำสั่งรับคำร้องใดไว้พิจารณาเลย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะใน พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 ซึ่งประกาศในราชกิจจาฯ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2561 ได้กำหนดเงื่อนไขไว้ ดังนั้น คำร้องที่ยื่นมาหลังวันที่ 2 มีนาคม 2561จึงถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งไม่รับคำร้อง โดยอ้างบทบัญญัติใน พ.ร.ป. ดังกล่าว อย่างไรก็ตาม มีช่วงเวลาระหว่างที่รัฐธรรมนูญ บังคับใช้แล้ว แต่ พ.ร.ป.ยังไม่บังคับใช้ เป็นระยะเวลาประมาณ 11 เดือน ที่มีการยื่นคำร้องตามรัฐธรรมนูญมาตรา 213 เข้ามา ศาลมีทางเลือกที่จะตีความให้เป็นคุณแก่ประชาชน ในการที่พวกเขาจะสามารถใช้สิทธิ์เรียกร้องต่อศาลได้โดยสะดวกและรวดเร็วโดยการรับคำร้องที่ยื่นเข้ามา เพื่อที่ปัญหาของประชาชนจะได้เข้าสู่กระบวนการพิจารณาได้ทันทีโดยไม่ต้องเสียเวลาผ่านช่องทางอื่น ทว่าศาลก็ยังคงไม่รับคำร้องใดๆ ที่ยื่นเข้ามา

“การยื่นคำร้องต่อศาลโดยตรงได้ตั้งแต่ต้นย่อมต้องสามารถกระทำได้เสมอ โดยไม่สมควรกำหนดข้อห้ามใดๆ เพิ่มเติมในภายหลัง เพราะการบังคับให้ต้องไปยื่นคำร้องผ่านช่องทางอื่นก่อนจะทำให้เกิดความล่าช้า จนอาจไม่สามารถคุ้มครองสิทธิได้อย่างทันการณ์ และหากสุดท้ายหน่วยงานอื่นเห็นว่า มีประเด็นที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ก็ต้องส่งเรื่องกลับมายังศาลรัฐธรรมนูญอยู่ดี จึงเป็นการเพิ่มภาระแก่ประชาชนผู้ถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพอย่างเกินเลย ศาลจึงควรต้องตีความการใช้สิทธิไปในทางที่เอื้อประโยชน์แก่ประชาชน นั่นคืออนุญาตให้ประชาชนยื่นคำร้องต่อศาลโดยตรงได้ตั้งแต่ต้น” นายรังสิมันต์ กล่าว

ด้าน นายปิยบุตร แสงกนกกุล กล่าวว่า ตนยังยืนยันว่าชอบอ่านรายงานของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เพราะมีสถิติคดีว่ารับคำร้องเท่าไหร่ วินิจฉัยไปแล้วเท่าไหร่ มีสรุปย่อแนวคำวินิจฉัยต่างๆ ที่เป็นประโยชน์กับการค้นคว้าทั่วไป สำหรับรายงานปีที่แล้วมีการทำงานวิจัยเกี่ยวกับการละเมิดอำนาจศาล จนที่สุดมีผลผลักดันให้มีข้อกำหนดเรื่องนี้ออกมาเป็นกฎหมาย ระบุ ห้ามมิให้ผู้ใดบิดเบือนข้อเท็จจริง วิจารณ์โดยไม่สุจริต หยาบคาย ปลุกปั่น ยุยง อาฆามาตร้าย ฯลฯ ถ้าวิจารณ์ลักษณะจะเป็นการละเมิด มีการกำหนดโทษ ซึ่งตนอยากทราบว่า กรณีล่าสุดในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา และคาดหวังว่าจะมีการเขียนไว้ในรายงาน กรณีศาลรัฐธรรมนูญได้เชิญ อ.โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ และคุณยุทธเลิศ สิปปภาค ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดังไปพบ ถามว่า ตรงนี้อาศัยอำนาจตามกฎหมายมาตราไหน เพราะถ้าไม่มีกฎหมาย ก็ไม่มีอำนาจ การออกหนังสือเชิญประชาชนไปสำนักงานศาล เขาไม่ไปได้หรือไม่ และถ้าไม่ไปจะโดนคดีละเมิดอำนาจศาลหรือไม่ และที่ไปคุยอะไรกันนั้นคุยเรื่องอะไร

“การเรียกคุย ปรับความเข้าใจในลักษณะนี้ ทำให้อดคิดไม่ได้ว่าเป็นเหมือนสมัยที่เพื่อนสมาชิก นักการเมืองหลายๆ ท่าน ถูกทหารเรียกไปกินกาแฟเพื่อปรับทัศนคติ เรื่องนี้สำคัญ เพราะการวิจารณ์คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญนั้น ท่านเขียนไว้ชัดว่าสามารถทำได้ เพียงแต่วิจารณ์อย่างไร ซึ่งปัญหาคือ การเขียนแบบนี้ ใครเป็นคนบอกว่าอย่างไรบิดเบือน ไม่สุจริต ปลุกปั่น อาฆาตมาตรร้าย ซึ่งถ้าเกิดมีคนทำ แต่ท่านบอกว่าเข้าข่าย และท่านริเริ่มคดีเอง เรียกคุยเอง แล้วหลักประกันบุคคลวิพากษ์วิจารณ์อยู่ที่ไหน เมื่อเป็นแบบนี้ก็กลับไปสู่ระบบเดิมคือแต่ละคนก็จะเซ็นเซอร์ตัวเอง เช่นวันนี้ ที่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกมา ก็เริ่มมีคนแชร์ให้ระวังโทษจนอาจทำให้ไม่มีใครกล้าวิจารณ์ ผมขอยืนยันเช่นเดิมว่า การวิจารณ์จะเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ศาลรัฐธรรมนูญเอง” นายปิยบุตร กล่าว