สุรชาติ บำรุงสุข : 2016 การสิ้นสุดของประวัติศาสตร์ 2017 การแก้แค้นของประวัติศาสตร์

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข
AFP PHOTO / EDUARDO MUNOZ ALVAREZ

“เราจะทำอเมริกาให้ยิ่งใหญ่อีกครั้ง”
-โดนัลด์ ทรัมป์-

ในฤดูร้อนของปี 1989 โลกเริ่มเห็นปรากฏการณ์ใหม่ที่แม้อาจจะเคยเกิดขึ้นมาแล้ว แต่ไม่ใช่เหตุการณ์ที่จะประสบความสำเร็จและนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงได้แต่อย่างใด ได้แก่ การประท้วงของกลุ่มต่อต้านคอมมิวนิสต์ที่เกิดขึ้นในโลกสังคมนิยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประท้วงพรรคคอมมิวนิสต์ที่เริ่มเกิดขึ้นในยุโรปตะวันออก

หากเหตุเช่นนี้เกิดในยุคที่สงครามเย็นยังทวีความเข้มข้นแล้ว ทุกอย่างก็คงจะจบลงอย่างเหตุการณ์การเรียกร้องเสรีภาพในกรุงปรากในปี 1968 “ฤดูใบไม้ผลิที่กรุงปราก” (หรือ The “Prague Spring”) ถือเป็นตัวอย่างของความเข้มงวดที่รัฐมหาอำนาจจะไม่ยอมให้เกิดการ “แตกแถว” ทางด้านอุดมการณ์ การต่อสู้ทางอุดมการณ์จึงถือเป็นจุดสูงสุดของการเมืองโลกในยุคสงครามเย็น

แต่การประท้วงและต่อต้านพรรคคอมมิวนิสต์ที่เกิดขึ้นในยุโรปตะวันออกในช่วงปลายสงครามเย็นนั้น เริ่มบ่งบอกถึงทิศทางใหม่

และเหตุการณ์เช่นนี้ไม่ได้นำไปสู่การปราบปรามด้วยการเคลื่อนกำลังของกองทัพโซเวียตเช่นในปี 1968 เหตุดังกล่าวส่งผลสะเทือนอย่างมากจนนำไปสู่จุดสุดท้ายที่ปิดฉากลงด้วยการประกาศรวมชาติของเยอรมนีในเดือนพฤศจิกายน 1989 และกลายเป็น “โดมิโนสังคมนิยม” ที่ก่อให้เกิดผลต่อการสิ้นสุดของระบบการปกครองแบบสังคมนิยมในยุโรปตะวันออก

และยังรวมถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองในสหภาพโซเวียตในช่วงเวลาต่อมาอีกด้วย

สถานการณ์เช่นนี้ก็คือสัญญาณของการยุติของสงครามเย็น และการสิ้นสุดของพลังอำนาจของอุดมการณ์ลัทธิคอมมิวนิสต์ในเวทีโลก

The Prague Spring 1968 / AFP PHOTO / CTK / LIBOR HAJSKY


การสิ้นสุดของประวัติศาสตร์

จากปรากฏการณ์เช่นนี้นักรัฐศาสตร์ชาวอเมริกันชื่อ “ฟรานซิส ฟูกูยามา” (Francis Fukuyama) เขียนบทความลงนิตยสาร “National Interest” ด้วยชื่อบทความที่อธิบายถึงปรากฏการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นด้วยความท้าทายอย่างมากว่าโลกกำลังถึงจุดของ “การสิ้นสุดของประวัติศาสตร์” (หรือในภาคภาษาอังกฤษคือ “The End of History” งานชิ้นนี้ได้นำมาขยายความเป็นหนังสือและตีพิมพ์ในเวลาต่อมาชื่อ The End of History and The Last Man)

บทความเรื่อง “การสิ้นสุดของประวัติศาสตร์” นำเสนอมุมมองว่า การต่อสู้ทางอุดมการณ์แบบเดิมที่เป็นการแบ่งขั้วระหว่างโลกตะวันตก (ทุนนิยม) และโลกตะวันออก (สังคมนิยม) ได้ถึงจุดสิ้นสุดลงแล้วด้วยการยุติของสงครามเย็น

และชัยชนะเช่นนี้เป็น “ชัยชนะของประชาธิปไตยเสรี” (Liberal Democracy) ที่มีโลกตะวันตกเป็นตัวแบบ

หรือในทางเศรษฐกิจก็คือ “ชัยชนะของเศรษฐกิจเสรี” (Liberal Economy) ที่มีระบบตลาดเป็นแกนกลาง

ผลเช่นนี้ทำให้ระเบียบโลกมีทิศทางไปในแบบที่เป็น “ระเบียบโลกแบบเสรีนิยม” (Liberal World Order) หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ทิศทางที่เกิดขึ้นในการเมืองโลกอยู่ภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ของลัทธิ “เสรีนิยมใหม่” (Neoliberalism)

คำอธิบายของฟูกูยามาก็คือ ประชาธิปไตยอาจจะไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุด แต่ก็อาจจะไม่มีอะไรดีกว่า

ซึ่งผลเช่นนี้ก็จะทำให้การจัดระเบียบในเวทีโลกเป็นไปภายใต้อิทธิพลของ “วัตรปฏิบัติ” ของกระแสเสรีนิยม แม้นว่าการต่อสู้ทางอุดมการณ์อาจจะมิได้สิ้นสุดหรือยุติลงทั้งหมดก็ตาม เพราะการมีประชาธิปไตยเป็น “กระแสการเมืองหลัก” ของโลก มิได้หมายความว่าจะไม่มีความท้าทายจากอุดมการณ์ชุดอื่น

แต่อย่างน้อยในช่วงหลายปีหลังการสิ้นสุดของสงครามเย็นในปี 1989/1990 ความเป็นสากลของประชาธิปไตยเสรีนิยมได้รับการยอมรับว่าเป็น “รูปแบบสุดท้าย” ของระบบการปกครองทางการเมืองของมนุษย์

แน่นอนว่าสมมติฐานเช่นนี้ได้รับการยอมรับและเชื่อว่าจะไม่มีอะไรท้าทายกับกระแสเสรีนิยมได้ เพราะทุกคนดูจะเชื่อมั่นอย่างมากว่าระเบียบแบบเสรีนิยมจะยัง “คงทน” กับความเปลี่ยนแปลงทั้งทางการเมืองภายในและภายนอก

จนทำให้สมมติฐานที่ฟูกูยามานำเสนอกลายเป็นดัง “ทฤษฎีถาวร” ที่แทบจะไม่ต้องรอการพิสูจน์แต่อย่างใด หรืออย่างน้อยก็เชื่อว่ากระแสโลกาภิวัตน์ยังคงมีความเข้มแข็งที่แม้อาจจะเกิดความท้าทายจากเหตุบางประการบ้างก็ตาม

แต่เหตุที่เกิดขึ้นเช่นนั้นก็ไม่น่าจะเปลี่ยนทิศทางของกระแสโลกได้ ความเชื่อเช่นนี้กลายเป็น “สมมติฐานหลัก” ในเวทีระหว่างประเทศมาอย่างยาวนาน

โดยเฉพาะในช่วงหลังจากการสิ้นสุดของสงครามเย็น ซึ่งเห็นกระแสเสรีนิยมไหลบ่าไปทั่วโลก

AFP PHOTO / PAUL J. RICHARDS

ภายใต้บริบทของความเชื่อในทางทฤษฎี และยังรวมถึงความรู้สึกที่ผู้คนโดยทั่วไป ตลอดรวมถึงบรรดาปัญญาชนและนักวิชาการทั้งหลายมี “ระบบความเชื่อ” ที่ถูกครอบด้วยลัทธิเสรีนิยม เราจึงแทบจะไม่เคยตั้งคำถามกับการนำเสนอของฟูกูยามา และทั้งเราก็มองไม่เห็นว่าจะมีอุดมการณ์ชุดใดอีกที่ขึ้นมาท้าทายกับลัทธิเสรีนิยม ที่อย่างน้อยผ่านการทดสอบของ 2 สงครามใหญ่ของโลก คือ ชนะลัทธิฟาสซิสต์ (Fascism) และลัทธินาซี (Nazism) ในสงครามโลกครั้งที่ 2 และชนะลัทธิคอมมิวนิสต์ในสงครามเย็น

ความเชื่อเช่นนี้ทำให้เราตกอยู่ภายใต้พันธนาการทางความคิดว่า ความเป็นสากลนิยมของลัทธิประชาธิปไตยเสรีคือ “แกนหลัก” ของการจัดระเบียบโลก และเป็น “อุดมการณ์หลัก” ของการเมืองภายใน เช่นเดียวกับชัยชนะของประชาธิปไตยเสรีนิยมในฐานะระบบการปกครองของประเทศก็ได้รับการพิสูจน์ด้วยการพังทลายของระบบการปกครองของรัฐบาลทหารในละตินอเมริกา

และการสิ้นสุดของระบบการปกครองของรัฐบาลพรรคเดียวในสหภาพโซเวียตรัสเซียและในยุโรปตะวันออก

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วก็แทบจะไม่จำเป็นต้องตั้งคำถามถึงความถาวรของกระแสประชาธิปไตยเสรีนิยมที่ขับเคลื่อนโลกในรูปแบบต่างๆ

ถ้าเช่นนั้นก็เท่ากับบอกเราว่าการสิ้นสุดของประวัติศาสตร์ของการต่อสู้ทางอุดมการณ์การเมืองมาถึงจริงๆ แล้ว… โลกก้าวสู่ประวัติศาสตร์ชุดใหม่!

สภาพเช่นนี้ทำให้เราแทบจะไม่เคยคิดเลยว่า จะมีกระแสความคิดชุดใดที่จะขึ้นมาต่อสู้กับอุดมการณ์เสรีนิยม ซึ่งเป็นกระแสหลักของโลกร่วมสมัย

เพราะแม้แต่การเมืองในโลกอาหรับ ซึ่งเคยได้รับการยอมรับว่าการปกครองของหลายๆ ประเทศนั้นอยู่ในสภาวะของการเป็นระบบการปกครองแบบ “อำนาจนิยมที่คงทนถาวร” (durable authoritarianism) ก็ถูกโค่นล้มด้วยกระแสเสรีนิยม เช่น “ฤดูใบไม้ผลิในโลกอาหรับ” (อาหรับสปริง) ที่เกิดขึ้นในตูนิเซีย และในอียิปต์ เป็นต้น

และแม้บางกรณีจะเกิดความท้าทาย และไม่ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองได้จริง แต่ก็นำไปสู่การต่อสู้ครั้งใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นในกรณีของลิเบีย หรือซีเรียก็ตาม

จนบางทีอดตั้งคำถามไม่ได้ว่า ถ้าอาหรับสปริงประสบความสำเร็จในซีเรียแล้ว สถานการณ์สงครามกลางเมืองในซีเรียจะลดความรุนแรงกว่าที่เราเห็นในปัจจุบันหรือไม่…

ชีวิตของผู้คนในเมืองอเลปโป (Aleppo) จะสูญเสียน้อยลงกว่านี้หรือไม่

AFP PHOTO / FETHI BELAID

การกลับมาของประวัติศาสตร์

แต่หากเราย้อนกลับไปสู่ประวัติศาสตร์ของการต่อสู้ของอุดมการณ์และความคิดทางการเมืองแล้ว เราอาจจะรู้สึกว่าสมมติฐานของฟูกูยามาเปราะบางอย่างมาก

เพราะในด้านหนึ่งอาจเป็นเพราะการนำเสนอทางทฤษฎีเช่นนี้มองประวัติศาสตร์เป็นดัง “กราฟเส้นตรง” หรือที่เรียกว่าเป็น “linear” ซึ่งอาจจะเป็นผลของอิทธิพลทางความคิดไม่ว่าจะเป็นนักปรัชญาประวัติศาสตร์แบบเฮเกล (Hegel) หรือแม้กระทั่งเป็นอิทธิพลของชุดความคิดแบบมาร์กซ์ (Marx) เองก็ตาม

แต่ในความเป็นจริงแล้ว ทุกคนรู้ดีว่าประวัติศาสตร์ไม่เคยเดินเป็นเส้นตรงในแบบ “linear” แต่อย่างใด

ซึ่งก็หมายความว่า พัฒนาการทางประวัติศาสตร์จะไม่เดินเป็นเส้นตรงแบบการเดินขึ้นบันได อันมีนัยว่าประวัติศาสตร์ที่พัฒนาแล้วก็อาจจะเกิดอาการ “ถอยกลับ” ได้

และว่าที่จริงการเมืองในหลายๆ ประเทศก็เคยบ่งบอกถึงอาการเช่นนั้นมาแล้ว ดังตัวอย่างของกระแสชุดใหม่ที่เกิดขึ้นในโลกตะวันตก

AFP PHOTO/Stan HONDA / AFP PHOTO / STAN HONDA

อาการของกระแสตีกลับเช่นในโลกตะวันตก เห็นได้ชัดเจนจากการชุมนุมของกลุ่ม “Global Occupy” หรือบางคนอาจจะเรียกว่า “Occupy Movement” ซึ่งการชุมนุมของกลุ่มเริ่มต้นจากการประท้วงที่วอลล์สตรีต นครนิวยอร์ก อันเป็นศูนย์กลางการเงินของโลก

การประท้วงเริ่มในวันที่ 17 กันยายน 2011 ขบวนการประท้วงในแบบของการ “ยึดพื้นที่” (occupy) เช่นนี้ขยายตัวออกไปทั่วโลก

เป้าหมายหลักของการประท้วงคือ “ระบบการเงินโลก” (global financial system) ซึ่งพวกเขาเชื่อว่าเป็นตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำอย่างมากในการกระจายรายได้ของประชากรโลก

และระบบนี้เอื้อให้เกิดความมั่งคั่งแก่คนกลุ่มน้อย โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ถูกมองว่าเป็นดัง “ชนชั้นนำโลก” (global elites) อันเป็นคนกลุ่มน้อยที่ครอบครองความมั่งคั่งของโลกไว้ในมือ

การประกาศเป้าหมายการต่อสู้เช่นนี้ได้รับการสนับสนุนจากชาวอเมริกันและผู้คนทั่วโลกเป็นจำนวนมาก

ดังจะเห็นได้ว่าการประท้วงในทิศทางของ “Occupy Movement” เช่นนี้ขยายตัวไปถึง 951 เมือง ใน 82 ประเทศ

และในสหรัฐเองก็มีการประท้วงดังกล่าวเกิดขึ้นในชุมชนมากกว่า 600 แห่ง

และในปี 2012 พบว่ามีการประท้วงในลักษณะเช่นนี้ในทุกทวีป (ยกเว้นทวีปแอนตาร์กติกา)

ข้อเรียกร้องดูจะ “ตรงใจ” กับความรู้สึกของคนเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความเท่าเทียมกันของรายได้

การสร้างงาน การสร้างสภาพการจ้างงานที่ดี การลดบทบาทของกลุ่มธุรกิจใหญ่ในการเมือง

ตลอดรวมถึงการตรวจสอบการคอร์รัปชั่นในการเมือง ซึ่งข้อเรียกร้องเช่นนี้ถูกมองว่าเป็น “กระแสต่อต้านทุนนิยม” และกลายเป็น “กระแสต่อต้านโลกาภิวัตน์” ไปด้วยในตัวเอง

การก่อตัวของกระแสเช่นนี้สามารถมองได้ว่าเป็นทั้งกระแสซ้าย (ต่อต้านทุนนิยม) หรือจะเป็นกระแสขวา (ประชานิยม) ก็อาจจะขึ้นอยู่กับการตีความและมุมมอง

แต่อย่างน้อยก็คงต้องยอมรับว่าการก่อกระแสเช่นนี้เป็น “การต่อต้านกระแสโลก” ของคนที่กำลังเผชิญกับความโหดร้ายของกระแสโลกาภิวัตน์

ในสภาพที่พวกเขาเผชิญนั้น โลกาภิวัตน์กลายเป็นการตกงาน ความยากจน และระบบการเมืองที่ไม่เอื้อกับชนชั้นล่าง

ผู้คนที่เข้าร่วมอย่างน้อยก็มีความหวังว่า ขบวนการเช่นนี้จะเป็นอุดมคติของการต่อสู้ในโลกศตวรรษที่ 21 และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นความหวังของการสร้าง “การเมืองใหม่” (หรือเป็นกระบวนการ “reinvention of politics”)

และผู้เข้าร่วมบางคนอาจจะไปไกลจนเชื่อว่า ความสำเร็จของขบวนการนี้จะเป็นดังการปฏิวัติครั้งสำคัญของศตวรรษที่ 21

ปรากฏการณ์เช่นนี้ล้วนเป็นสัญญาณถึงการกำเนิดของกระแสต่อต้านลัทธิเสรีนิยม

ไม่ว่าจะเป็นในรูปของขบวนการต่อต้านทุนนิยม และขบวนการต่อต้านโลกาภิวัตน์ และทั้งยังเห็นถึงการมองปัญหาจากการประท้วงที่เกิดขึ้นว่า พวกเขาไม่ได้มองเพียงสาเหตุของเรื่องที่มาจากปัจจัยภายในประเทศเท่านั้น

พวกเขาโยงอย่างชัดเจนจากข้อเรียกร้องและการต่อต้านว่าปัญหาอยู่ในเวทีโลกด้วย และขณะเดียวกันพวกเขาก็ส่งสัญญาณถึงความไม่พอใจต่อระบบการเมืองที่เป็นอยู่

ซึ่งปฏิเสธไม่ได้เลยว่าสภาพเช่นนี้กลายเป็นเงื่อนไขอย่างดีที่รองรับต่อการก่อตัวของกระแส “ประชานิยมขวา” ที่หาโอกาสแทรกตัวเข้ามาเป็นคำตอบต่อความรู้สึกต่อต้านที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้รับความใส่ใจเท่าที่ควร

ประวัติศาสตร์เริ่มเดินหน้าใหม่

ในท่ามกลางความไม่พอใจต่อสภาวะที่เป็นอยู่แบบเดิมทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจนั้น ปัญหาใหม่ยังถาโถมเข้ามาด้วยประเด็นของการทะลักของผู้อพยพจากภายนอก และการขยายตัวของการก่อการร้าย เช่นที่เห็นได้จากสภาวะที่หลายประเทศในยุโรปต้องเผชิญในปี 2015 และ 2016 ซึ่งก็คือการผสมผสานของความไม่พอใจในปัจจุบัน เข้ากับความไม่มั่นใจในอนาคต พวกเขาเริ่มมีคำตอบที่ชัดเจนว่าระเบียบเสรีนิยมแบบเดิมอาจจะไม่ใช่สิ่งที่น่าพึงปรารถนาอีกต่อไป

ในสภาวะเช่นนี้ ข้อเสนอจากกลุ่ม “ประชานิยมปีกขวา” ดูจะตอบสนองต่อความขุ่นเคืองทางการเมืองที่เกิดในหมู่ชนชั้นล่าง กลุ่มคนงาน และผู้คนอีกส่วนที่ผิดหวังกับระบบเศรษฐกิจ-การเมืองปัจจุบันได้อย่างดี

ชัยชนะของปีกขวาในยุโรปจนถึงชัยชนะของทรัมป์ในอเมริกาจึงไม่ใช่สาเหตุของปัญหา แต่เป็นสภาวะที่บ่งบอกถึงอาการของปัญหามากกว่า

จนอาจเปรียบได้ว่า การสิ้นสุดของประวัติศาสตร์กำลังเกิดขึ้นอีกครั้งแล้ว…

หรือว่าประวัติศาสตร์ที่เคยสิ้นสุดไปแล้ว กำลังจะกลับมาเอาคืน

ดังชื่อหนังสือของ Seumas Milne นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสอธิบายปรากฏการณ์ปัจจุบันว่าเป็น “การแก้แค้นของประวัติศาสตร์” (The Revenge of History)!