เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ | อ่านเขียน เรียนรู้ สู่งานวิจารณ์

ไปร่วมงานค่ายวรรณกรรมชื่อ “อ่านเขียน เรียนรู้ สู่งานวิจารณ์” เมื่อวันที่ 26-28 ตุลาคมที่ผ่านมา ที่อาศรมวงษ์สนิท คลองรังสิต 13 ปทุมธานี

เจ้าภาพงานนี้คือสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์นกับธนาคารกรุงเทพ วิทยากรมีคุณชมัยภร บางคมบาง วีรศักดิ์ จันทร์ส่องแสง จรูญพร ปรปักษ์ประลัย มีเยาวชนคือนิสิต-นักศึกษาและนักเรียน ซึ่งสมัครร่วมผ่านการคัดกรองจากสถาบันการศึกษาทั่วทุกภาค โดยผู้ผ่านเข้าร่วมกิจกรรมตามโครงการจะได้รับทุนการศึกษาทุกคน คนละสองหมื่นบาท

เป็นค่ายเข้มทางวรรณกรรม ต่างจากทุกค่ายบรรดาที่มีอยู่ปัจจุบัน ด้วยค่ายนี้เน้นงานวิจารณ์เป็นหลักนั่นเอง

สืบเนื่องจากสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์นร่วมกับธนาคารกรุงเทพจัดประกวดวรรณกรรมรางวัลชมนาด ซึ่งเน้นเฉพาะนักเขียนสตรีกับงานรางวัลจะแปลเป็นภาษาอังกฤษเผยแพร่ยังต่างประเทศด้วย

โดยจัดมาแล้วห้าปี คณะกรรมการซึ่งประกอบด้วยตัวแทนสมาคมที่เกี่ยวกับงานวรรณกรรม เห็นพ้องว่างานวิจารณ์วรรณกรรมเป็นความจำเป็นเพื่อพัฒนาคุณภาพผลงานของนักเขียนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ยิ่งยุคสมัยก้าวกระโดด เรายังจะมัวเขย่งเก็งกอยอยู่ได้อย่างไร

ประเด็นปัญหา “พื้นที่” ทางวรรณกรรมที่หดหายและเปลี่ยนแปลงไปนั้นสำคัญก็จริงอยู่ แต่ประเด็นปัญหา “พื้นฐาน” คุณภาพของงานวรรณกรรมก็สำคัญไม่แพ้กันด้วย

ค่ายวรรณกรรมจึงจำเป็นยิ่งที่จะต้องมีเพื่อแก้ปัญหา “พื้นฐาน” ขณะที่เวทีประกวดวรรณกรรมก็จำเป็นต้องมีเพื่อแก้ปัญหา “พื้นที่”

ปัจจุบันดูจะมีอยู่สองสถาบันที่สนับสนุนการแก้ปัญหาวรรณกรรมครบวงจรทั้งพื้นที่และพื้นฐานคือธนาคารกรุงเทพร่วมกับสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์นจัดประกวดวรรณกรรมรางวัลชมนาด และจัดค่ายวรรณกรรม “อ่านเขียนเรียนรู้สู่งานวิจารณ์”

นอกจากนี้ จำเพาะธนาคารกรุงเทพยังร่วมเป็นเจ้าภาพรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียนคือซีไรต์ด้วย

สำคัญยิ่งอีกค่ายของธนาคารกรุงเทพคือ “ค่ายกวีปากกาทอง” ที่ร่วมมือกับ ม.ราชภัฏทุกภาค

อีกสถาบันเอกชนที่ทำครบวงจรคือจัดทั้งรางวัลและค่ายวรรณกรรมคือ ซีพี.ออลล์ ที่มีทั้งรางวัลเซเว่นบุ๊ก และค่ายวรรณกรรม ทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง

นี้เป็นบูรณาการร่วมกันของการยกระดับมาตรฐานวรรณกรรมที่ถือเป็นภูมิปัญญาของชาติ

จำเพาะงานวิจารณ์นั้นเป็นความจำเป็นที่ยังขาดอยู่ในสังคมไทยเราแทบทุกสาขา ไม่เพียงในวงการศิลปะทุกแขนงเท่านั้น ที่จริงในแทบจะทุกวงการนั่นเทียว

โดยเฉพาะแวดวงการเมือง

งานใดไร้การวิจารณ์ งานนั้นยากจะพัฒนา

งานศิลปะทุกแขนงของเราก็เช่นกัน ส่วนใหญ่มักยังย่ำเท้าอยู่กับที่ก็เพราะขาดการวิจารณ์ เราจึงพลอยหลงใหลได้ปลื้มกินบุญเก่าอยู่กับความวิเศษสุดอันยากจะแตะต้องได้อยู่เพียงเท่านั้น หาไม่ก็ที่มักเกรงอกเกรงใจ ท่านศิลปินผู้มีสภาวะดั่ง “องค์ลง” เป็นปาปมุติคือพ้นมลทินทั้งปวงไปแล้วนั้น

แท้ที่จริงงานวิจารณ์นั้นเป็น “ศาสตร์” หนึ่ง ไม่ใช่แค่การ “ติชม” ชื่นชอบเชียร์เชลียร์ หรือสับแหลกฟันเละก็หาไม่

เรื่องนี้เป็นปัญหาด้าน “ท่าที” ของงานวิจารณ์ที่ดูเหมือนจะยังไม่มีการศึกษากันอย่างจริงจัง

สมัยหลังสิบสี่ตุลาหนึ่งหกเคยมีการพูดคุยเรื่องเหล่านี้อยู่บ้าง คืองานวิจารณ์วรรณกรรมที่มักใช้ท่าที “สับแหลกฟันเละ” เอากับวรรณกรรมที่ประณามว่าเป็น “น้ำเน่า” บรรดามี โดยไม่จำแนกจนต้องเริ่มปรับตัว

ปัญหา “ท่าที” จึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่งในงานวิจารณ์

ค่าย “อ่านเขียนเรียนรู้สู่งานวิจารณ์” ซึ่งจัดเป็นครั้งที่ห้าปีนี้ จำแนกเป็นสามด้านคือ กวีนิพนธ์ สารคดี และเรื่องสั้น

ดูจากความกระตือรือร้นมุ่งมั่นเอาจริงของผู้เข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งเป็นเยาวชนคนหนุ่มสาวจากหลายสถาบันแล้ว พอจะหวังได้ถึง “พื้นฐาน” ที่จะสร้าง “พื้นที่” ให้กับโลกวรรณกรรมไทยต่อไปได้ทันยุคทันสมัยกับโลกอนาคต

แท้จริงงานอ่านเขียนเรียนรู้และงานวิจารณ์เป็นองค์รวมของวาทธรรมที่ว่า “วิชชาจารณะ สัมปันโน” ที่เป็นบทสรรเสริญคุณของพระพุทธนั่นเอง เป็นสัจธรรมที่เป็นวิทยาศาสตร์ยิ่ง ด้วยแปลว่า

ถึงพร้อมด้วยความรู้และการปฏิบัติ

ดังศัพท์วิชชา คือความรู้ จารณะ คือการปฏิบัติ สัมปันโน คือสมบูรณ์ แปลว่า ถึงพร้อม

ศัพท์วิทยาศาสตร์สังคมอธิบายโดยนัยว่า “ในทฤษฎีมีปฏิบัติในปฏิบัติมีทฤษฎี”

ดังนั้น ทั้งอ่านเขียนเรียนรู้สู่งานวิจารณ์จึงเป็นกิจกรรมที่ดำเนินตามครรลองของ “วิชชาจารณะ สัมปันโน” คือถึงพร้อมด้วยความรู้และการปฏิบัติโดยแท้…

เป็นเรื่องสำคัญที่ทุกภาคส่วนในสังคมเรา

ยังขาดอยู่