“โบว์-ณัฏฐา” ซัด “อภิรัชต์” ผิดวินัยเรื้อรัง พูดตอกย้ำแบ่งข้าง-แตกแยก

เมื่อวานนี้ (12 ตุลาคม 2562) น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา นักเคลื่อนไหวกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ได้ออกมาแสดงความเห็นต่อ ทัศนะของพล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก ที่ได้ขึ้นบรรยายพิเศษ เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาว่า พฤติกรรมการแสดงความเห็นทางการเมืองต่อสาธารณะในลักษณะเลือกข้างและสร้างความแตกแยกของผบ.ทบ.ซึ่งขัดต่อวินัยข้าราชการ และไม่มีกองทัพของประเทศประชาธิปไตยใดในโลกจะทำกันนั้น เป็นพฤติกรรมต่อเนื่องเรื้อรังมายาวนานตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้ง

เมื่อ 18 กุมภาพันธ์ เขาได้ตอบโต้ต่อนโยบายปรับลดงบกองทัพลง 10% และนโยบายยกเลิกการเกณฑ์ทหารของพรรคเพื่อไทยในช่วงหาเสียง ด้วยเพลง “หนักแผ่นดิน” ซึ่งเป็นเพลงที่เป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการจิตวิทยาก่อนการล้อมฆ่านักศึกษาในยุค 6 ตุลา

จากนั้น 3 เมษายน ก็สร้างวาทกรรม “ซ้ายจัดดัดจริต” โจมตีนักวิชาการ นักศึกษา ประชาชนผู้ต้องการประชาธิปไตยว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ทั้งที่ในโลกปัจจุบันแทบไม่เหลือใครจะสนใจระบอบการปกครองดังกล่าว แม้แต่พรรคคอมมิวนิสต์จีนเองก็เป็นที่เข้าใจว่าเหลือแต่ชื่อ ไม่ได้ดำรงอยู่ในหลักการคอมมิวนิสต์อีกต่อไป

จนถึงวันนี้ พฤติกรรมเรื้อรังดูจะแสดงอาการหนักขึ้น ด้วยการจัดงานใหญ่โตมุ่งโจมตีกลุ่มการเมืองฝ่ายต่อต้านอำนาจนิยมและหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ โดยเชิญกลุ่มบุคคลที่เป็นสัญลักษณ์ของการสนับสนุนการรัฐประหารอย่างชัดเจนไปร่วมงาน มีการสื่อสารกล่าวหาฝ่ายตรงข้ามด้วยเนื้อหาเดิมๆพร้อมวาทกรรมเปลี่ยนแปลงการปกครอง เพิ่มเติมคือมัลติมีเดีย แสงสีเสียง และอารมณ์ดราม่าของผู้แสดง กลายเป็นลิเกโรงใหญ่ให้น่าขบขันจนเกิดแฮชแทคติดเทรนด์ทวิตเตอร์เป็นชื่อเล่นใหม่ของตัวเอง

สิ่งที่คาดว่าจะได้เห็นต่อไปคือการรับลูกเป็นทอดๆตามยุทธศาสตร์ปกติของปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร(ไอโอ) คือ

  • ผู้มีอำนาจเปิดประเด็นด้วยวาทกรรม
  • สื่อและคอลัมนิสต์ในเครือขยายผล บิดเบือนข้อเท็จจริง
  • เพจไอโอสร้าง fake news และ hate speech ปลุกปั่นความเกลียดชัง มุ่งทำลายตัวบุคคล
  • กองทัพไซเบอร์และอวตารออกทำงานตามแพลทฟอร์มต่างๆ ตามประเด็นที่กำหนด
  • เพิ่มน้ำหนักให้ปฏิบัติการ ด้วย lawfare ตั้งข้อหาดำเนินคดีปิดปากต่อกลุ่มเป้าหมาย

ทั้งนี้ น.ส.ณัฏฐา ได้ออกมาเตือนว่า สังคมต้องตั้งหลักรับมือกับปฏิบัติการดังกล่าว ที่แม้จะดูเหมือนล่มไม่เป็นท่าตั้งแต่ต้นทาง แต่ประมาทไม่ได้กับความแตกแยกที่ปลายทาง อย่าเผลอเป็นเครื่องมือสร้างความสำเร็จให้กับเจตนาอันทุจริตด้วยการปาความเกลียดชังใส่กันในหมู่ประชาชน เพราะคนที่จะได้ประโยชน์จากความร้าวลึกที่สร้างขึ้นในสังคม คือ Master Minds เพียงไม่กี่คน