อุรุดา โควินท์ / อาหารไม่เคยโดดเดี่ยว : การลงมือมีมูลค่า

บ่อยครั้งที่อาหารขึ้นอยู่กับการเลือก ไม่ใช่อื่นใดเลย มันคือการตัดสินใจ คือการทบทวน เมื่อเราตัดสินใจและทบทวนบ่อยเข้า การตัดสินใจเหล่านั้นจะสร้างความเคยชิน สร้างนิสัยให้กับเรา

ทำ

หรือไม่ทำอาหาร

สำหรับฉัน การตัดสินใจในเรื่องนี้ มาก่อนทักษะและความสามารถ เมื่อเราเลือกที่จะทำ เราย่อมเริ่มจากเมนูที่เราทำได้ ทีละหนึ่งเมนู สองเมนู

ไข่เจียวราดข้าวและพริกน้ำปลา ก็ถือว่าเป็นการทำอาหาร

แต่ถ้าฉันขับรถออกจากบ้าน เลือกร้าน หาที่จอดรถ เข้าไปนั่งสั่ง และรอ อาจเป็นผัดกะเพราไข่ดาว หรือข้าวผัด ทุกครั้งฉันต้องลุ้นว่าจะอร่อยหรือไม่ -ต่อให้เป็นร้านเดิมก็เถอะ ยิ่งเป็นร้านใหม่ ต้องลุ้นตั้งแต่ข้าวเลยทีเดียว

สำหรับฉัน ทำอาหารจึงหมายถึงความมั่นคง

การออกไปกินนอกบ้าน หรือซื้อกินคือความเสี่ยง

และตอนนี้ ตอนที่มีอะไรให้จ่ายมากเหลือเกิน แต่เราหาเงินได้น้อยลง ฉันตระหนักว่า การทำอาหารหมายถึงการได้เก็บเงินไว้

แน่นอน-การไม่ทำ คือการเลือกที่จะใช้เงิน

 

ลงมือลงแรงในครัวมีมูลค่าเสมอ หากซื้อส้มตำไก่ย่างมากิน ฉันต้องจ่ายอย่างน้อย 100 บาท (ไก่ย่างขายทีละครึ่งตัว) หรือถ้าฉันจะกินก๋วยเตี๋ยว สองคนกับเขา ก็คงจ่ายไม่น้อยกว่า 80-90 บาท นี่ยังไม่รวมค่าน้ำมัน

และหากเรามองว่าเวลาก็มีมูลค่า การออกไปหาอะไรกิน หาที่จอดรถ ย่อมใช้เวลามากกว่าเข้าครัวทำอาหารง่ายๆ ในแง่มุมนี้ มูลค่าของงานครัวก็จะเพิ่มขึ้นอีก

หนึ่งวันเรากิน 3 มื้อ อาจมีบ้าง ที่เราออกไปกินข้าวมันไก่เพราะอยากกิน ไปกินพิซซ่า เพราะคนอิตาลีทำอร่อยกว่าเรา แต่ฉันสัญญาใจกับตัวเอง เราจะไม่ซื้อกินทุกมื้อ

ต้องมีอย่างน้อยสองในสามมื้อ ที่เราทำอาหารกินเอง

ตั้งใจแบบนี้ การตัดสินใจเกี่ยวกับการกินจะง่ายขึ้น ไม่ต้องถาม ไปกินอะไร ร้านไหนดี (วนกินได้ไม่กี่ร้าน ไม่กี่วันก็เบื่อ)

เป็นหน้าที่ของฉัน ที่จะเดินเข้าครัว และทำอาหาร

 

มื้อเช้าของเรา มักเป็นอะไรก็ได้ที่เร็วสักนิด ด่วนสักหน่อย เพราะเราอยากได้เวลาทำงานมากขึ้น ถ้าไม่กินข้าวกับผัดผัก หรือข้าวต้ม เราก็กินขนมปังกับไข่

มื้อกลางวันฉันชอบกินข้าว และชอบทำกับข้าวจากของที่มีอยู่ในตู้เย็น ฉันจ่ายตลาดบ่อย จ่ายหลายตลาด มีวัตถุดิบเหลืออยู่ในตู้เย็นเสมอ มันสนุกดี ที่จะมุดเข้าไปในตู้เย็น คิดเมนูจากของตรงหน้า

เดินกลับมาถามเขา “เคยกินผัดวุ้นเส้นใส่แหนมมั้ย”

เขาส่ายหัวแรง

“ลองโนะ”

“ได้เหรอ”

“วุ้นเส้นอ่ะมักผัดกับไข่ใช่มั้ย ส่วนแหนมถ้าไม่เอามาผัดกับไข่ก็ทอดไข่ ทีนี้ถ้าเราเอาสามอย่างมารวมในจานเดียว มันก็ต้องอร่อยมั้ยล่ะ”

ไม่รอคำตอบ ฉันแน่ใจว่าอร่อย ข้าวสุกแล้ว ก็แค่แช่วุ้นเส้น เอาแหนมมายี หั่นต้นหอมเป็นท่อน ใส่พริกขี้หนูเป็นเม็ดลงไปด้วย พริกเข้ากับแหนมจะตาย

ที่ต้องระวังคืออย่าให้วุ้นเส้นเยอะไป ส่วนต้นหอมมีเท่าไรใส่ให้หมด เอาวุ้นเส้นขึ้นจากน้ำ ตัดให้สั้นลงหน่อย แล้วฉันก็ตั้งกระทะ

ใส่น้ำมันนิดหน่อย พอน้ำมันเริ่มร้อนก็ใส่กระเทียมทุบ ตามด้วยแหนมกับวุ้นเส้น คนให้เข้ากัน แหวกกลางกระทะให้มีที่วาง แล้วตอกไข่ลงไปสองฟอง ตีไข่ให้แตก นับหนึ่งถึงสิบ เอาวุ้นเส้นกับแหนมมากลบไข่ นับหนึ่งถึงสิบอีกครั้ง คราวนี้ค่อยคน กระทั่งไข่สุก ใส่ต้นหอมกับพริกขี้หนูพร้อมกัน ปรุงรสด้วยน้ำปลา น้ำตาลปลายช้อนชา ไม่น้ำมันหอย ไม่ซีอิ๊วขาว และกับน้ำปลาควรระวัง เพราะแหนมมีรสเค็มอยู่แล้ว

พอต้นหอมสุก ฉันปิดเตา เดินเข้าไปเลือกจาน

จานมีความสำคัญต่อใจ ขอเวลาเลือกสักสองสามนาทีเถอะ

ได้จานดินมาสองใบ เป็นจานก้นลึกหนึ่งใบ สำหรับใส่ผัดวุ้นเส้นกับแหนม และอีกใบเป็นจานแบนใบใหญ่ ไว้ทำหน้าที่จานรอง

จานซ้อนจานให้ผลลัพธ์เลอค่า มันทำให้อาหารดูน่าสนใจขึ้น

 

“น่ากิน” เขาพูดทันทีที่ฉันวางอาหารบนโต๊ะ เรื่องนี้น่ะ ต้องยกความดีความชอบให้จาน เพราะลำพังผัดวุ้นเส้นกับแหนม ไม่ได้มีอะไรที่น่ากินนักหรอก

เราได้ผัดวุ้นเส้นที่ต่างออกไป ขณะเดียวกัน ก็คล้ายว่าเราได้กินคั่วแหนมที่ต่างออกไปด้วย แหนมไม่เปรี้ยวจัด ผัดแล้วกำลังอร่อย กินเปล่าๆ ได้เลย

ฉันรู้สึกดีอย่างบอกไม่ถูก ที่ไม่ได้ออกไปกินบะหมี่ตามคำชวนของเขา

ใช้เวลาไม่ถึงชั่วโมง

ได้เก็บเงินเกือบร้อย แถมไม่ต้องคอแห้งกลับบ้านอีกด้วย