‘ศรีอัมพร’พ.อาวุโสศาลอุทธรณ์ เดือด’วัส’ล้ำเส้นตุลาการ ซัดปธ.กสม.สับสนข้อกฎหมาย หลังเเจ้งปปช.เอาผิดปธ.ศาลฎีกา

“ศรีอัมพร”พ.อาวุโสศาลอุทธรณ์ เดือด “วัส”ล้ำเส้น ตุลาการ ซัด ปธ.กสม.สับสนข้อกฎหมาย หลังเเจ้งปปช.เอาผิด “ชีพ จุลมนต์”ปมไม่ตั้ง กสม.ชั่วคราว ชี้ เป็นดุลพินิจผู้อยู่ในตำเเหน่ง ปธ.ศาลฎีกาเผยเป็นครั้งเเรกที่องค์กรอิสระล่วงเกินถึงประมุขตุลาการ

เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม นายศรีอัมพร ศาลิคุปต์ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอุทธรณ์ได้ให้ความเห็นถึงกรณีที่เมื่อวันที่ 30 ก.ย.ที่ผ่านมาที่ นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้มอบหมายให้ผู้แทนเข้ายื่นคำกล่าวหา ขอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาดำเนินการไต่สวนและดำเนินการอื่น ๆ ต่อนายชีพ จุลมนต์ อดีตประธานศาลฎีกาที่ขณะนั้นดำรงตำเเหน่งวันสุดท้ายกรณีเป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157เนื่องจาก ไม่ปฏิบัติตามคำร้องขอ ของนายวัส ในฐานะ ประธานกสม.ที่ต้องการ ให้ ประธานศาลฎีกาแต่งตั้งผู้ทำการแทนกรรมการ กสม.ที่ลาออกจากตำแหน่งจนในปัจจุบันมีกรรมการการเหลืออยู่เพียง 2-3 คน ทำให้ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ซึ่งนายวัสเองได้พยายาม ร้องขอให้ประธานศาลฎีกาตั้งกรรมการชั่วคราว เพื่อทำงานแทนกรรมการที่ลาออกไป แต่นายชีพ ประธานศาลฎีกาขณะนั้นไม่ดำเนินการตามที่นายวัสต้องการ จึงเป็นเหตุเเห่งการณ์ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อ ป.ป.ช.ว่า เรื่องการแจ้งความร้องทุกข์ของนายวัส ครั้งนี้ น่าจะเกิดจากความไม่เข้าใจและความสับสนในข้อกฎหมาย ของ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่บัญญัติขึ้นเพื่อกำกับดูแลกิจการของคณะกรรมการ กสม.

ซึ่งแม้จะมีบทบัญญัติว่ากรณีที่กรรมการที่ทำหน้าที่ได้ลดน้อยลงจน ไม่สามารถทำหน้าที่ได้ ให้ประธานศาลฎีกามีอำนาจในการแต่งตั้ง กรรมการชั่วคราวขึ้นมาทำหน้าที่แทนกรรมการ ที่ขาดไป ซึ่งตามกฎหมายข้อนี้ นายวัสจึงนำมากล่าวอ้างว่าเป็นหน้าที่ของประธานศาลฎีกาที่จะต้องแต่งตั้งกรรมการชั่วคราวขึ้นทำหน้าที่แทนกรรมการที่ขาด องค์ประชุม เเต่ความจริงแล้วในเรื่องนี้ นายวัสยังมีความสับสนและเข้าใจผิดในข้อกฎหมาย เนื่องจากกฎหมายนี้ มิได้กำหนดบังคับว่าประธานศาลฎีกาจะต้องมีหน้าที่ในการแต่งตั้ง กรรมการชั่วคราวแทนตำแหน่งที่ว่างลง

เเต่ความจริงแล้วกฎหมายนี้ เพียงแต่เปิดช่องให้ ประธานศาลฎีกาอาจใช้ดุลพินิจ แต่งตั้งกรรมการชั่วคราวเพื่อทำหน้าที่แทน แต่ไม่ได้หมายความว่า คำร้องขอของนายวัสเมื่อมีไปยังประธานศาลฎีกาแล้ว ประธานศาลฎีกาจะต้องทำตามคำร้องขอของนายวัสทุกกรณี

หากในวัสได้ ศึกษากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญอย่างถ่องแท้หรือปรึกษาผู้ที่มีความรู้ดีในเรื่องกฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายมหาชนซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก ตลอดจนการศึกษาระบอบการเมืองการปกครองของต่างประเทศ ก็คงจะเข้าอกเข้าใจใน ระบอบการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีองค์พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขอย่างแน่แท้เนื่องจากโครงสร้างรัฐธรรมนูญของไทยซึ่งถือเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศประธานศาลฎีกาเป็นประมุขของฝ่ายตุลาการ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าภารกิจ บางอย่างเป็นหน้าที่โดยตรงหรือต้องทำตามคำร้องขอของผู้ที่ต้องการให้ประธานศาลฎีกาดำเนินการ

เพราะประธานศาลฎีกายังมีอำนาจที่จะใช้ดุลพินิจในการที่จะดำเนินการหรือไม่ดำเนินการ โดยคำนึงถึงเหตุผลความเหมาะสมสถานการณ์ สิ่งแวดล้อมหรือที่เรียกว่า Contextual ซึ่งดุลพินิจเช่นนี้เป็นอำนาจเด็ดขาดของประธานศาลฎีกาเเละเมื่อมีการใช้ดุลพินิจเช่นนี้แล้ว ก็ไม่อาจมีผู้ใดที่จะมีสิทธิมาร้องโทษหรือกล่าวโทษแต่อย่างใด จึงขอเตือนสติในวัสว่า การกระทำใดๆ ในฐานะองค์กรอิสระควรใช้ความระมัดระวังและความรอบคอบในการดำเนินการต่างๆ หากไม่เข้าอกเข้าใจและไม่ศึกษาโดยถ่องแท้ถึงกฎหมายภายในประเทศกฎหมายต่างประเทศ เเละที่มาที่ไปของกฎหมายรัฐธรรมนูญ ตลอดจนถึงกรอบแนวความคิดหรือที่เรียกว่า conceptual frameworkในระบอบประชาธิปไตยก็คงเข้าใจและไม่ทำในสิ่งที่ผิดพลาด ด้วยการไปร้องทุกข์ให้ ป.ป.ช.ดำเนินคดีกับประธานศาลฎีกา

“ซึ่งผมเห็นว่าการกระทำของในวัสในครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกขององค์กรอิสระ ที่มีการประพฤติปฏิบัติในลักษณะล่วงเกินประธานศาลฎีกาในฐานะประมุขของผู้ใช้อำนาจตุลาการ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องและน่าตำหนิเป็นอย่างยิ่งแต่อย่างไรก็ตามฝ่ายตุลาการซึ่งถือเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองก็คงไม่ถือสาและให้อภัยใน ความ ไม่รู้เท่าถึงการณ์หรือที่เรียกว่าignorance “นาย ศรีอัมพรกล่าว เเละย้ำอีกว่า “มีข้อน่าสังเกตว่าขณะนี้น่าจะมีสิ่งผิดปกติในองค์กรอิสระ ที่มี กสม.จำนวนมากได้ลาออกจากตำแหน่งไปจนเกือบหมด คงเหลือแต่ประธานและกรรมการอีก 1-2 คนเท่านั้น แต่ก็ไม่เข้าใจว่าเป็นเรื่องของการบริหารงานหรือความด้อยประสิทธิภาพของคณะกรรมการชุดนี้หรือไม่เนื่องจากในการประชุมระหว่างประเทศเกี่ยวกับคณะกรรมการสิทธิมนุษย์ชน ก็มีการลดอันดับความน่าเชื่อถือของคณะกรรมการชุดนี้ลงให้อยู่ในระดับต่ำกว่ามาตรฐานทั่วไปของโลก ดังนั้นถึงประธานศาลฎีกาใช้ดุลพินิจและแต่งตั้งกรรมการชั่วคราวขึ้นทำหน้าที่แทนไปพลางก่อนก็ไม่ได้หมายความว่าการแต่งตั้งกรรมการชั่วคราวดังกล่าวขึ้นมาจะเป็นผลดีหรือผลเสียแก่การดำเนินงานของกรรมการชุดนี้ เเละถึงมีการแต่งตั้งกรรมการชั่วคราวขึ้นมาก็ไม่แน่ว่า กรรมการชุดนี้จะมีผลงานในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้จริงดังคำกล่าวอ้างของประธานกรรมการชุดนี้หรือไม่” นายศรีอัมพรกล่าว