ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : กินเจ แต่เดิมคือการปฏิบัติธรรม ของโอรสสวรรค์ ก่อนจะมาเป็นเทศกาลอย่างทุกวันนี้

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ถึงแม้ว่าทุกวันนี้เราจะไม่เห็นเทศกาลกินเจ (คำว่า เจ เป็นสำเนียงแต้จิ๋ว จีนกลางออกเสียงไจ หรือจาย) ในประเทศต้นกำเนิดอย่าง “จีน” เพราะว่าได้เสื่อมความนิยมลงไปแล้ว

แต่ชาวจีนนั้นก็มีธรรมเนียมการกินเจมานานมากกว่า 2,500 ปีแล้วนะครับ

ในคัมภีร์หลุนอี่ว์ (แปลตรงตัวว่าปกิณกคดี) ซึ่งเป็นตำราสำคัญเล่มหนึ่งในศาสนาขงจื๊อ (แน่นอนว่าผมไม่คิดจะเรียกกลุ่มความเชื่อที่ใหญ่และบทบาทมากๆ ในวัฒนธรรมที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลกอย่างจีน ด้วยคำว่าลัทธิ) ซึ่งเป็นตำราที่รวบรวมบทสนทนาระหว่างขงจื๊อและลูกศิษย์ไว้

“กินเจต้องเปลี่ยนอาหาร เปลี่ยนที่อยู่ ทำตนให้บริสุทธิ์สุภาพ”

ส่วนในคัมภีร์หลี่จี้ ซึ่งก็คือตำราอธิบายจารีต ที่ว่ากันว่าเซเลบในประวัติศาสตร์จีนระดับ “ขงจื๊อ” (เชื่อกันว่ามีชีวิตอยู่ระหว่าง ก่อน พ.ศ.8 ปี-พ.ศ. 64 ตรงกับยุคราชวงศ์โจวตะวันออกของจีน) ได้รวบรวมขึ้นเองเลยนั้น

มีข้อความระบุเอาไว้ว่า

 

“เมื่อจะทำพิธีเซ่นสรวงบูชาประมุขต้องกินเจ เจคือความเรียบร้อยบริสุทธิ์ ชำระกาย-ใจที่ไม่บริสุทธิ์ให้บริสุทธิ์แน่วแน่ หากไม่มีเรื่องสำคัญ ไม่มีเรื่องต้องเคารพนบนอบ ประมุขก็จะไม่กินเจ ช่วงไม่กินเจไม่มีข้อห้ามที่ต้องระมัดระวัง ไม่ต้องควบคุมความอยาก

ครั้นถึงเวลาจะกินเจต้องระวังความชั่วร้าย ระงับความอยาก หูไม่ฟังดนตรี ดังนั้น หนังสือโบราณจึงบันทึกว่า ‘ผู้กินเจไม่ฟังดนตรี’ ใจต้องไม่ฟุ้งซ่าน ต้องอยู่ในวิถีแห่งธรรม กิริยาไม่ไร้ระเบียบ ต้องเรียบร้อยตามจารีต

การกินเจของประมุขต้องมุ่งให้ถึงคุณธรรมอันประเสริฐ ฉะนั้น ต้องกินเจพื้นฐาน 7 วัน สำรวมพฤติกรรมให้ใจสงบ แล้วกินเจเข้มงวดขัดเกลาจิตใจอีก 3 วัน เพื่อให้ใจผ่องใสแน่แน่ว ใจผ่องใสแน่แน่วเรียกว่า ‘เจ’
เจนี้แลคือยอดของความประเสริฐบริสุทธิ์ จากนั้นจึงสามารถ (ทำกิจ) เกี่ยวข้องกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้ ฉะนั้น ก่อนถึงช่วงกินเจ 1 วัน พนักงานฝ่ายในต้องแจ้งเตือนชายาของประมุข ชายาก็ต้องกินเจพื้นฐาน 7 วัน เจเข้มงวด 3 วัน ประมุขกินเจที่ห้องฝ่ายหน้า ชายากินเจที่ห้องฝ่ายใน แล้วจึงไปพบกันที่หอพระเทพบิดร (หอบวงสรวงบรรพชน)”

(จัดย่อหน้าใหม่ เพื่อให้อ่านสะดวกขึ้นโดยผู้เขียน)

 

ถ้าจะว่ากันตามข้อมูลที่บันทึกอยู่ในตำราของขงจื๊อทั้งสองเล่มนี้แล้ว “เจ” ก็คงจะไม่ใช่แค่การละเว้นไม่กินเนื้อสัตว์และพืชบางชนิดเท่านั้น

แต่เป็นเรื่องของการถือศีลปฏิบัติธรรม เพื่อให้เตรียมร่างกายบริสุทธิ์ สำหรับกระทำกิจพิธีบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั่นเอง

ว่ากันว่า เมื่อเวลาผ่านไปหลังยุคของขงจื๊อแล้ว การถือศีลกินเจในทำนองนี้ก็มักจะลดเหลือเพียงแค่การกินเจเข้มงวด 3 วัน

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดๆ มีอยู่ในพงศาวดารจีนเรื่องดังอย่างสามก๊ก เมื่อเล่าถึงคราวที่เล่าปี่จะไปเชิญขงเบ้ง มาเป็นที่ปรึกษานั้น ก็ต้องบอกว่า เล่าปี่ต้องถือศีลกินเจก่อนเป็นเวลา 3 วันเช่นกัน

จากตัวอย่างนี้ยังแสดงให้เห็นด้วยว่า การกินเจนั้นไม่ใช่เรื่องของการเตรียมตัวก่อนบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์เท่านั้น แต่ยังถือเป็นการชำระกาย-ใจให้บริสุทธิ์ ก่อนที่จะเริ่มทำกิจกรรมสำคัญใดๆ ดังนั้นในวัฒนธรรมจีนโบราณ การกินเจจึงไม่ได้ถูกจำเพาะเจาะจงอยู่เฉพาะแค่ช่วงเดือนเก้า (นับตามปฏิทินจันทรคติของจีน) อย่างที่เราคุ้นเคยกันในไทยและประเทศข้างเคียงปัจจุบันนี้เท่านั้นนะครับ

ในหนังสือเก่าที่ว่าด้วยการรวบรวมสรรพวิชาต่างๆ ที่หลี่ปู้เว่ย อัครมหาเสนาบดีแห่งรัฐฉิน ควบตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนอิ๋งเจิ้ง (ที่ต่อมาจะกลายเป็นฉินสื่อหวง หรือที่ชาวไทยมักจะเรียกตามสำเนียงแต้จิ๋วว่าจิ๋นซีฮ่องเต้) ได้รวบรวมเอาไว้เพื่อใช้ในการปกครองรัฐฉินคือ หนังสือ “หลี่ว์สื้อชุนชิว” ได้กล่าวถึงช่วงเดือนอ้ายตามปฏิทินจันทรคติของจีนเอาไว้ว่า “(เดือนนี้) โอรสสวรรค์กินเจ”

ดังนั้น ตามธรรมเนียมปฏิบัติเดิม การกินเจจึงไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะแค่ช่วงใดช่วงหนึ่งของปี

 

กัวลี่เฉิง นักคติชนวิทยาชาวไต้หวันได้เคยแบ่งประเภทของการกินเจในปัจจุบัน (ที่ยังพอจะมีเหลือให้เห็นในไต้หวัน) ออกเป็น 4 ประเภทหลักๆ ได้แก่

1) การกินเจ ที่เกี่ยวข้องกับวันสำคัญของพระพุทธเจ้า เช่น เทศกาลสรงน้ำพระ วัน 8 ค่ำ เดือน 4 ซึ่งชาวพุทธมหายาน โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกนับว่าเป็นวันประสูติของพระพุทธเจ้า, เทศกาลล่าปา ในวัน 8 ค่ำ เดือน 12 ที่ชาวพุทธมหายานเชื่อว่าเป็นวันที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ และวัน 15 ค่ำ เดือนยี่ ที่เชื่อว่าเป็นวันเสด็จมหาปรินิพพานนั้น ชาวบ้านจะนิยมไปถือศีลกินเจอยู่ที่วัด หรือไม่ก็กินเจที่บ้าน

2) การกินเจประจำในทุกวันพระ คือวัน 1 ค่ำ และ 15 ค่ำ ในแต่ละเดือนตามปฏิทินจันทรคติจีน ประเพณีนี้น่าจะเป็นประเพณีเก่าที่มีมาก่อนที่จีนจะรับพุทธศาสนา เพราะชาวจีนกินเจมาก่อนที่จะรับพุทธศาสนามานานนับพันปี และวัน 1 ค่ำ เป็นวันเดือนดับ ส่วนวัน 15 ค่ำ ก็เป็นวันเดือนเพ็ญ ที่ชาวจีนมักจะทำพิธีกรรมต่างๆ เพราะเชื่อว่าจะมีพลังงานจากธรรมชาติมาช่วยเสริม เนื่องจากเป็นวันที่พระอาทิตย์และพระจันทร์อยู่ในแนวแกนเดียวกับโลก

3) การกินเจระยะยาว คือการกินเจตลอดทั้งชีวิต หรือกินติดต่อกันเป็นระยะเวลาหนึ่งตามที่บนบานไว้ เช่น 1 เดือน หรือ 1 ปี เป็นต้น

4) การกินเจเบ็ดเตล็ด ซึ่งโดยมากจะเกี่ยวข้องกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาต่างๆ ทั้งศาสนาพุทธและศาสนาเต๋า ดังปรากฏมีการกินเจในเทศกาลวันปีใหม่ ซึ่งตรงกับเดือนอ้ายของจีน (แน่นอนว่าเทศกาลนี้สืบมาตั้งแต่คราวที่หลี่ปู้เว่ยบันทึกไว้ แต่ทุกวันนี้ถือว่าเป็นการไหว้พระศรีอาริยเมตไตรยตามคติพุทธไปเสียแล้ว), การกินเจ้าแม่กวนอิม ซึ่งปีหนึ่งมีสามครั้ง ตั้งแต่วันที่ 1-19 ค่ำ เดือนยี่ เดือน 6 และเดือน 9 โดยถือว่าวัน 19 ค่ำ เดือนยี่ เป็นวันประสูติของเจ้าแม่ วัน 19 ค่ำ เดือน 6 เป็นวันเสด็จไปออกบวชยังทะเลใต้ของเจ้าแม่

ส่วนวัน 19 ค่ำ เดือน 9 เป็นวันบรรลุมรรคผลของเจ้าแม่ เป็นต้น

 

สําหรับการกินเจในศาสนาเต๋าก็มีการกินเจเพื่อบูชาเทพซานกวนต้าตี้ ซึ่งหมายถึงเทพเจ้าแห่งฟ้า ดิน และน้ำ ในศาสนาเต๋า ในเทศกาลหยวนเซียว, สารทจีน และเซี่ยหยวน ทุกวัน 15 ค่ำ เดือนอ้าย, เดือน 7 และเดือน 10

ส่วนการกินในวันที่ 1-9 ค่ำ เดือน 9 ตามอย่างที่นิยมในไทยนี้มีชื่อเรียกออกเสียงตามสำเนียงซาวด์แทร็กเป็นภาษาจีนแมนดาริน (จีนกลาง) ว่า “จิ่วหวงเซิ่งหุ้ย”

แปลตรงตามตัวอักษรได้ความว่า “เทศกาลเก้าจักรพรรดิผู้ชนะ”

หมายถึงสัญลักษณ์ของดวงดาวทั้ง 7 ดวง ที่ประกอบกันขึ้นมาเป็นกลุ่มดาวหมีใหญ่ บวกเข้ากับดาวเหนือ (Polaris, ซึ่งอยู่ในกลุ่มดาวหมีเล็ก) และดาวเวก้า (Vega, ซึ่งอยู่ในกลุ่มดาวพิณ และเป็นดาวเหนือดวงเดิมเมื่อ 14,000 ปีที่แล้ว) อีก 2 ดวง รวมเป็น 9 ดวง คือ 9 จักรพรรดิ ซึ่งชาวจีนใช้ในการกำหนดทิศยามค่ำคืน

จักรพรรดิทั้ง 9 นี้ ตามปรัมปราคติในศาสนาเต๋าของจีน (ซึ่งมักจะมีเรื่องเล่าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในพุทธศาสนาเข้าไปฟีเจอริ่งบ่อยเสียให้เขรอะไปหมด) อ้างว่าคือเทพเจ้าผู้เป็นบุตรแห่งเทพี “โต๋วหมู่หยวนจุน” ซึ่งก็คือเทพีแห่งดาวเหนือ ดังนั้น พระจักรพรรดิทั้งเก้าพระองค์นี้จึงไม่เคยมีตัวตนจริงๆ อยู่ในประวัติศาสตร์แน่

การกินเจตามอย่างที่นิยมกันอยู่ในไทยจึงเป็นการกินตามความเชื่อในศาสนาเต๋า และก็เป็นเพียงหนึ่งในหลายๆ เทศกาลกินเจของวัฒนธรรมจีน ที่กลายมาจากรากเดิมคือการถือศีล ปฏิบัติธรรม เพื่อเตรียมตัวสำหรับบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในสมัยโบราณนั่นเอง