คำ ผกา : “กูมันโง่”

คำ ผกา

เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมานี้เอง ฉันไปซื้อของในซูเปอร์มาร์เก็ต เพราะตั้งใจจะทดลองทำซูเฟล่ชีสเค้ก และชวนเพื่อนมาชิม จากนั้นก็คิดว่าจะกินขนมนี้คู่กับไวน์ขาวแช่เย็นหรือสปากริงไวน์ ราคาปานกลาง ก็น่าจะรื่นรมย์ดีไม่น้อย

ปาร์ตี้ขนมกับไวน์นี้จะมีในยามค่ำประมาณหนึ่งทุ่มครึ่ง ฉันต้องเริ่มอบขนมประมาณห้าโมง และบ่ายสองโมงคือเวลาที่ออกไปซื้อวัตถุดิบ

ขณะที่เลือกไวน์ลงรถเข็นนั้นก็มีพนักงานขายละล่ำละลักเดินมาบอกว่า “ลูกค้าคะ ยังขายเหล้าไม่ได้จนกว่าจะห้าโมงเย็นค่ะ”

กี่ครั้งแล้วที่ต้องเจอเหตุการณ์แบบนี้แล้วไม่เคยหลาบจำ!!! โกรธตัวเองจริงๆ

แต่มีใครคิดเหมือนฉันบ้างว่ามันเป็นกฎหมายที่ติ๊งต๊องไร้แก่นนนนนนนนเอ่อ แก่นสารหาตรรกะอะไรมารองรับไม่ได้เลย

แล้วฉันต้องทำอย่างไร? เดินฆ่าเวลารอห้าโมงเย็น กลับบ้านไปอบขนมก่อนแล้วออกมาซื้อไวน์ใหม่?

แหม…ถ้าปั่นจักรยานไปมาได้เร็วๆ เหมือนเกียวโตก็คงไม่เป็นปัญหา แต่นี่คือกรุงเทพฯ ที่ต้องวางแผนชีวิตและการเดินทางล่วงหน้าเป็นวันๆ

คิดถึงตอนนี้ ฉันก็เห็นหน้าพวกต่อต้านการกินเหล้า แสยะยิ้มอย่าสาแก่ใจว่า “เห็นไหมล่ะ ในที่สุดชั้นก็ขัดขวางไม่ให้พวกแกได้กินเหล้าสำเร็จ ว่ะ ฮ่าๆๆๆๆ”

แต่เอ่อ – เป็นไรมากหรือเปล่า ถึงชอบเสือกกับชีวิตส่วนตัวของคนอื่นในนามศีลธรรมกันนัก

ความสุขเล็กๆ น้อยๆ ของคนที่จะมีสุนทรียะ จิบไวน์ กินเค้ก กินผลไม้ สวยๆ คุยกันเบาๆ ฟังเพลงเพราะๆ นี่ไปหนักกบาลใครไม่ทราบ ทำไมถึงต้องขัดขวางกันนัก

และฉันยืนยันอีกครั้งว่ากฎหมายกำหนดเวลาการซื้อสุราเป็นกฎหมายที่ละเมิดสิทธิของประชาชนที่รัฐธรรมนูญทุกฉบับต้องรับประกันเอาไว้

ไม่เพียงแต่ละเมิดสิทธิ มันทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจมหาศาล

อย่ามาอ้างว่า เป็นห่วงเป็นใยประชาชน เพราะพวกท่านไม่ใช่พ่อแม่พี่น้องของเรา ไม่ต้องมาห่วง ท่านควรเคารพวุฒิภาวะของคนอื่นที่เป็นเจ้าของประเทศเท่าๆ กับที่ท่านเป็นท่านว่ามันเปลืองภาษีพวกสร้างปัญหาสังคม

เดี๋ยวนะ ภาษีของพลเมืองทุกคน ไม่ใช่ภาษีของท่านคนเดียว และเราก็ไม่ได้เอาเงินพ่อแม่มรดกท่านมากินเหล้า มารักษามะเร็งในตับของเรา

ท่านจะนั่งหวงเงินภาษีที่ไม่ใช่ของท่านคนเดียวไปเพื่ออะไรไม่ทราบ!

แล้วการซื้อเหล้า เบียร์ ไวน์ เขาไม่ได้ไปซื้อแล้วกรอกใส่ปากเดี๋ยวนั้น เขาซื้อไปเก็บ ซื้อไปทำอาหาร – เหมือนการจ่ายตลาดทั่วไปนั่นแหละ

เช่น เราคงไม่ออกมาซื้อหมูสับทีละสามร้อยกรัมทุกวันใช่ไหม?

เราอาจจะไปจ่ายตลาดแค่เดือนละสองครั้ง เพราะฉะนั้น เราต้องซื้อทุกอย่างให้ครบและพอเพียงสำหรับการบริโภคสองอาทิตย์ต่อครั้งที่เราจ่ายตลาด และคนเราก็ไม่สามารถจ่ายตลาดหลังห้าโมงเย็นได้ทุกครั้ง

เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะมองจากมุมไหน กฎหมายนี้ก็ไม่สมเหตุสมผล ยังไม่นับว่ามันช่วยลดปัญหาการติดเหล้า หรือการบริโภคเหล้ามากเกินไปของคนไทยได้จริงหรือเปล่า?

ไม่นับว่า “คนดี” ที่ชอบด่าคนกินเหล้าก็ยังเสวยสุขจากการใช้เงินภาษีบาปในโครงการต่างๆ นานาเพื่อยุติการทำบาป – และไร้ผล

มีผลอย่างเดียวคือพวกท่านอิ่มหมีพีมันกันมากขึ้นๆ

 

จากนั้นก็มีเรือง “คราฟต์เบียร์” เมื่อเด็กหนุ่มคนหนึ่งถูกจับข้อหาต้มเบียร์ขาย

อันที่จริงข่าวนี้ก็ไม่เซอร์ไพรส์ เพราะสมัยก่อน คนต้มเหล้าขายก็โดนจับกันประจำ จนเพลงลูกทุ่ง เพลงพื้นบ้านต่างๆ จะมีเนื้อเพลงล้อเลียนเรื่องการต้มเหล้าแล้วโดนตำรวจจับเยอะมาก

เรื่องคราฟต์เบียร์ นี่ก็สะท้อนความลักลั่นของสังคมไทยได้ดี

คนไทยไปญี่ปุ่น ไปเบลเยียม ไปประเทศห่าที่ไหนก็ตาม ก็ไปชื่นชมว่า โอ๊ย ดูสิ มีเบียร์ท้องถิ่น มีเรื่องราว มีกลิ่นดอกไม้ มีกลิ่นช็อกโกแลต

นิตยสารทันสมัยเก๋ไก๋ทั้งหลายนำเสนอเรื่องคราฟต์เบียร์กันโครมๆ

ร้านอาหาร ร้านเก๋ๆ ก็ขายคราฟต์เบียร์นำเข้า

เริ่มมีคนรีวิวคราฟต์เบียร์ – ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การ “รีวิว” นี่แหละ คือการให้การศึกษากับสังคมในเรื่องนั้นๆ

เรามีความรู้เรื่องไวน์มากขึ้นเพราะอ่าน “รีวิวไวน์” ที่มีสนทนาวิวาทะกัน

ไปๆ มาๆ การอ่านรีวิว อาหารและเครื่องดื่ม ทั้ง เบียร์ ไวน์ วิสกี้ กลับให้ความรู้กับเราเรื่องภูมิศาสตร์ พฤกษศาสตร์ ประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ ฯลฯ มากกว่าความรู้เรื่อง เหล้า เบียร์ ไวน์ นั้นๆ ด้วยตัวของมันเอง

จากปัจจัยเหล่านี้ คราฟต์เบียร์ก็เริ่มฮิต คนก็โพสต์ วิธีการทำเบียร์ แบบนั้นแบบนี้ มีการทดลองต้มเบียร์ ทำเบียร์กินเอง

 

แต่ในท่ามกลางการพูดถึง การรีวิว การสัมภาษณ์คนทำเบียร์ แต่การทำคราฟต์เบียร์ เพื่อจำหน่ายก็ยังเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายอยู่ในสังคมไทย เพราะการผลิตเบียร์ในไทยทำได้แค่สองแบบเท่านั้นคือ ทำเป็นโรงงานอุตสาหกรรม หรือเป็นร้านอาหารที่มีเครื่องผลิตเบียร์ที่ได้มาตรฐาน และมียอดจำหน่ายขั้นต่ำวันละ 300 แก้วแบบไม่ต้องเว้นวันหยุด

และเมื่อรวมทั้งปีต้องผลิตได้หนึ่งแสนลิตรต่อปี แบบนี้เรียกว่า “brewpub”

นั่นแปลว่า กฎหมายไทยไม่เอื้อให้มีการพัฒนาเบียร์ของผู้ผลิตและผู้ค้าหน้าใหม่รายเล็กรายน้อยเลย

ในขณะที่หัวใจของคราฟต์เบียร์คือ ความเล็กความน้อย ความที่อยู่คนละขั้วกับเบียร์ “มาตรฐาน” และอยู่กับการทดลองสิ่งใหม่ๆ รสชาติใหม่ๆ กลิ่นใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา อันขัดแย้งกับการผลิตเบียร์ “ประเพณีนิยม”

ฉันไม่ใช่คอเบียร์เลย แต่เท่าที่อ่านมา เข้าใจว่า คนดื่มคราฟต์เบียร์ เป็นงาน “คราฟต์” หรืองานหัตถศิลป์ ดื่มเพื่อชิม เพื่อผจญภัยไปเรื่อยๆ แล้วสนุกกับการพูดถึงวัตถุดิบที่ใช้ เคล็ดลับในการหมัก การต้ม เหมือนคนดื่มไวน์ ดื่มสาเก ดื่มวิสกี้ ที่หลงใหลในทุกๆ รายละเอียดของงานหัตถศิลป์ที่เป็นองค์ประกอบหนึ่งของการผลิต ตั้งแต่การเลือกไม้โอ๊กมาทำถังหมักวิสกี้ หรือการพูดถึงองุ่นในลุ่มแม่น้ำต่างๆ ในแต่ละฤดูกาล ฯลฯ

เพราะฉะนั้น คนที่ดื่มเบียร์ ดื่มไวน์ ด้วยวิจิตรทัศนะเช่นนี้ จึงยากที่จะกลายเป็นคนกเฬวราก แบบที่สังคมไทยมีภาพลักษณ์สำเร็จรูปต่อคนดื่มเหล้ายาปลาปิ้ง

ความหน้าไหว้หลังหลอกของสังคมไทยที่มีต่อวัฒนธรรมเครื่องดื่มของมึนเมา ทำให้สังคมไทยหมดโอกาสการสร้างวัฒนธรรมการดื่มที่ละเมียดละไม

หมดโอกาสการที่จะพัฒนาการผลิตเหล้า เบียร์ ไวน์ ที่สลับซับซ้อน เปี่ยมไปด้วยรสนิยม นั่นแปลว่าหมดโอกาสพัฒนาภูมิปัญญาในอีกหลายๆ ด้านที่เป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมนี้

อย่างที่เคยเขียนเสมอว่า เวลาที่เราพูดถึงอาหาร มันไม่ได้มีแต่ต้มยำกุ้ง ผัดไทย แต่วัฒนธรรมอาหารยังมีงานคราฟต์ หรืองานหัตถศิลป์อื่นๆ ที่เป็นส่วนหนึ่งของการครัว เช่น ศิลปะการทำเขียง มีด ถ้วย ชาม ช้อน ครก ทัพพี กระชอน หม้อ ไห กระทะ เตา ฯลฯ

อุปกรณ์การครัวเหล่านี้ก็มีนวัตกรรม มีศิลปะ มีเชิงช่างของตัวเองที่ต้องได้รับการต่อยอดพัฒนาไปเรื่อยๆ ทั้งทางเทคโนโลยีหรือจะหันไปหาสิ่งที่เป็นแฮนด์เมด

นั่นแปลว่าในงานเหล่านี้ยังมีอาชีพดีไซเนอร์ เป็นส่วนหนึ่งด้วยเสมอ

การทำไวน์ สาเก สาโท วิสกี้ เบียร์ ก็เช่นกัน มันยังมีงานหัตถศิลป์ และเทคโนโลยีอื่นๆ พ่วงตามมาอีกมาก ซึ่งล้วนแล้วแต่มีคุณูปการต่อการพัฒนา ศิลปะ หัตถกรรม งานสร้างสรรค์ วิทยาศาสตร์ เกษตรกรรม (ธัญพืช อ้อย น้ำตาล องุ่น ฯลฯ)

และทั้งหมดนี้ก็สร้างเศรษฐกิจได้อีก

 

น่าเสียดายที่คนไทยถูกวาทกรรมทำเหล้าให้กลายเป็นปิศาจหลอกหลอนบังตาแล้วปล่อยให้เกิดสัมปทานผูกขาดการผลิตเหล้าเบียร์ไว้ที่ผู้ผลิตรายใหญ่ผูกขาดมาหลายทศวรรษ กระทั่งผู้ผลิตเบียร์รายหนึ่งกลายเป็นเจ้าที่ดินอันดับหนึ่งของประเทศ เราก็ยังคงไม่รู้สึกรู้สาอะไร และเฝ้าก่นด่าเหล้าให้กลายเป็นปิศาจอยู่วันยังค่ำ

ปิศาจที่แท้จริงคือคนที่เอาศีลธรรมมาอุดปากเราไว้มือหนึ่ง อีกมือหนึ่งไปหนุนส่งอุ้มชูยกย่องผู้ผูกขาดการค้าเหล้าจนร่ำรวยแล้วคนคนนั้นก็กลายมาเป็นคนมีหน้ามีตามีเกียรติในสังคม

นี่คือความปากว่าตาขยิบของสังคมไทย

คนจนกินเหล้านี่ไปด่าไปประณามเขาอยู่นั่น แต่พอเจ้าสัวขายเหล้าเดินผ่านปุ๊บ รีบเอามือกุมหำก้มหัว ก้มแล้วก้มอีก

นี่คงเป็นผลของสังคมคนที่ถูกกล่อมให้โง่ซ้ำซากภายใต้การปกครองของคน “ดี” เราจึงอยู่ประเทศแบบนี้ ที่ต้องกินคราฟต์เบียร์นำเข้า กินไวน์ราคาถูกแต่จ่ายแพงเพราะกำแพงภาษี

แต่คน “ดี” และมีอำนาจกินไวน์ฟรีที่มีคนเอามากำนัลและโดยมากหนีภาษี

ส่วนคนจนกินเหล้าขาว เหล้าโรงคุณต่ำทำจากกากน้ำตาลกิโลละสองบาทแล้วเป็นมะเร็งในตับตาย

ส่วนวัยรุ่นไทยก็กินเหล้ากันสะเปะสะปะไร้รสนิยมเพราะสังคมไม่มีการศึกษาเรื่อง drinking literacy / สังคมที่ขาด literacy ก็เสี่ยงที่พลเมืองจะดื่มอย่างขาดสติจนกลายเป็นป่วยติดเหล้าไปอย่างเปล่าดาย วนลูปไปที่ทำให้คนดีหาทางปิดกั้นการขายและผลิตเหล้าเสรี วนที่การผูกขาด วนไปที่การคงไว้ซึ่งภาษีบาปด้วยการอ้างตัวเองคนติดเหล้าที่เพิ่มขึ้น เพื่อคงโครงการทำงานที่ต้องใช้ภาษีบาปต่อไป

วนเป็นวงจรอุบาทว์แบบนี้ต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด

ตราบที่คนไทยยังโง่อยู่ เราก็จะถูกคนดีหลอกอยู่อย่างนี้ไม่มีที่จุดจบ