ขอแสดงความนับถือ/ฉบับประจำวันที่ 27 ก.ย. – 3 ต.ค. 2562

Untitled-1

ขอแสดงความนับถือ

 

แม้หนังสือ “หลังม่านการเมือง”

จะย้อนกลับผู้เขียน คือ “วิษณุ เครืองาม” ด้วยคำถามแหลมคม

ในกรณีการถวายสัตย์ปฏิญาณตนเข้ารับตำแหน่งของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

แต่ถามว่านั่นคือ “รอยด่าง” ของคนที่ชื่อวิษณุ เครืองาม หรือไม่

ในฐานะสวมหมวก “นักการเมือง” อาจใช่

ที่การเขียน กับการกระทำ ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าแตกต่างกัน

แต่ในฐานะ “นักเขียน” วิษณุ เครืองาม ได้ทำหน้าที่ผู้บันทึกข้อมูลประวัติศาสตร์การเมืองมุมมองของตน

เอาไว้ได้อย่างสมบูรณ์

และสามารถนำมาอ้างอิงได้อย่างมีน้ำหนัก

มองจากจุดนี้ต้องให้เครดิต “วิษณุ เครืองาม” อยู่ตามสมควร

 

ขณะที่หนังสือ “หลังม่านการเมือง” ของวิษณุ เครืองาม ยังไม่หายร้อน

แต่ในอีกไม่กี่เพลาข้างหน้านี้

ผลงานหนังสือใหม่เอี่ยมอ่องของผู้เขียนคนเดียวกันนี้ จะถูกนำเสนอมาให้อ่านอีกเล่ม

“ลงเรือแป๊ะ”

ที่วิษณุ เครืองาม บันทึกเหตุการณ์ทางการเมือง ในมุมมองของตนเอง

จากการปฏิวัติ 22 พฤษภาคม 2557 จนมาถึงเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562

เปลี่ยนผ่านจากเรือแป๊ะ ไปสู่เรือเหล็ก อย่างสด-สด ร้อน-ร้อน

และแน่นอน ต่อไปข้อมูล “ตรง” จากคนในเรือแป๊ะลำนี้ จะเป็นประวัติศาสตร์การเมือง

ที่ไม่ต่างจาก “หลังม่านการเมือง” อย่างแน่นอน

 

ในจังหวะที่ “มติชนสุดสัปดาห์” เองก็กำลังเปลี่ยนผ่าน

จากปีที่ 39 ไปสู่ปีที่ 40 ในห้วงเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายนปีนี้

จึงมีของกำนัลให้ผู้อ่าน

โดยนำเนื้อหาส่วนหนึ่งของ “ลงเรือแป๊ะ” ของสำนักพิมพ์มติชน มานำเสนอให้ผู้อ่านชิม สักสี่ซ้าห้าบท

เริ่มตั้งแต่ฉบับนี้

ชิมแล้วติดใจ ไม่อยากรอ

โปรดหา “ลงเรือแป๊ะ” ฉบับสมบูรณ์

มาอ่านโดยพลัน

 

ขอส่งท้ายด้วยอีเมลฉบับนี้

เป็นข้อความที่ส่งไปถึงกัปตันเรือเหล็ก ด้วยความปรารถนาดี

“…ปีนี้พี่น้องชาวอุบลราชธานีและภาคอีสานตอนล่าง

ต้องรับบทหนักหนาสาหัสกับวิกฤตการณ์น้ำท่วมใหญ่

เมื่อมีความทุกข์จากภัยพิบัติทุกปีเช่นนี้ก็เข้าใจว่าธรรมชาติต้องการเตือนสติให้เราตื่นตระหนักถึงการรักษาตัว ดูแลครอบครัว-ชุมชนภูมิลำเนาอย่างรู้เท่าทันความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงของสภาวะดินฟ้าอากาศ

เพื่อพิจารณาหาทางป้องกัน-แก้ไขเหตุสุดวิสัยที่อาจเกิดขึ้นได้ทันการณ์

บริหารจัดการหมู่บ้าน ตำบล พื้นที่ ที่เมื่อเกิดอุบัติภัยนั้นอย่างไรให้ลุล่วงไปได้อย่างปลอดภัย

เกิดความสูญเสียน้อยที่สุด

เพราะเมื่อเกิดวิกฤต ชีวิตผู้ประสบเหตุเภทภัยก็แตกตื่น สับสนอลหม่านอยู่ในภาวะหน้าสิ่วหน้าขวานควบคุมกันได้ยาก

การให้ความช่วยเหลือจึงต้องอาศัยความเข้าใจ-เสียสละ มีสติรอบคอบ

หนักแน่นด้วยจิตวิทยาและตัดสินใจสั่งการได้รวดเร็วถูกต้องแม่นยำทันท่วงที

…ซึ่งวิกฤตการณ์ต่างๆ ที่ผ่านมานั้น

แต่ละท้องถิ่นได้บูรณาการระหว่างองค์การบริหารส่วนตำบล-จังหวัด ที่จัดเจนภูมิประเทศ เขตบริหารจัดการประสานกับอำเภอและจังหวัดที่สันทัดกรณี

…จะมาเสียจังหวะงานชะงักงันก็ตอนที่ ‘ใครคนหนึ่ง’ และหมู่คณะผู้ติดตามโผล่ไปนี่แหละ

เพราะบรรดาหัวหน้าผู้บัญชาการกอบกู้ภัยต้องแบ่งกำลังกันมา ‘ดูแล’ รายงานสถานการณ์ซ้ำซ้อนเป็นปัญหาภาระยุ่งยากหนักเพิ่มขึ้นไปอีก อย่าง “น้ำท่วมปาก”

…เป็นการไปที่ไม่ถูกกาลเทศะอย่างยิ่ง

สูญเสียงบประมาณการใช้จ่ายกินอยู่ในแต่ละทริปเดินทางอย่างมหาศาล

ขณะที่ชาวบ้านประสบเคราะห์ซ้ำกรรมซัดจากภัยแล้ง, อุทกภัยและอัตคัดขัดสนซึ่งปัจจัยในการดำรงชีวิตทั้งอาหาร ยารักษาโรค เครื่องนุ่งห่ม ที่พักอยู่อาศัย

…เมื่อขาดความเข้าใจ-ไร้วุฒิภาวะ ‘หัวหน้าเผ่า’ เช่นนี้แล้วเราจะวางใจกันได้อย่างไรเล่าล่ะหนอ พ่อกระชังก้นรั่ว…”

สงกรานต์ บ้านป่าอักษร

 

พ่อกระชังก้นรั่ว

กับ พ่อกัปตันเรือรั่ว

เหมือนหรือต่างกันตรงไหน

ถามไถ่ “ลุง” สงกรานต์ บ้านป่าอักษร กันเอาเองเน้อ