โลกหมุนเร็ว/เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง /จิตวิญญาณของชนกลุ่มน้อย

โลกหมุนเร็ว/เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง

จิตวิญญาณของชนกลุ่มน้อย

คํว่า “อาภัพ” คงต้องเป็นคำที่ชนกลุ่มน้อยทั้งหลายในโลกนี้ต้องแบกรับเอาไว้อย่างไม่มีทางเลือก

ชนกลุ่มน้อยอย่างโรฮิงญาไม่มีใครอยากรับมาให้เป็นภาระในแผ่นดิน

ชนกลุ่มน้อยอย่างกะเหรี่ยงคอยาวก็เป็นได้เพียงมนุษย์พันธุ์แปลกๆ ที่มีไว้ให้นักท่องเที่ยวดู

นอกจากนี้ เรายังได้ยินชื่อคนกลุ่มน้อยหลายกลุ่ม เช่น กะเหรี่ยง อีก้อ ลัวะ มูเซอ ที่อยู่กระจัดกระจายตามที่สูงในภาคต่างๆ ทั่วประเทศ

คนชั้นกลางไม่สนใจชื่อคนกลุ่มน้อยหลากชาติพันธุ์เหล่านี้ เพราะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับชีวิต เคยได้ยินอย่างห่างๆ เมื่อไม่เกี่ยวข้องก็ไม่จำเป็นต้องเข้าไปรู้จักว่าเขาอยู่กันที่ไหน อยู่กันอย่างไร เมื่อมีคนบอกว่าพวกชาติพันธุ์เหล่านี้บุกรุกป่าก็พร้อมที่จะเชื่อและมองพวกเขาไปในทางลบ

ไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะเชื่อและมองอย่างนั้น

แต่ที่แปลกคือ การที่เจ้าหน้าที่รัฐที่ทำงานเกี่ยวข้อง เช่น เจ้าหน้าที่ป่าไม้ เจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ ที่ควรมีความรู้เรื่องชาติพันธุ์ กลับเชื่อและมองว่าคนกลุ่มนี้เป็นผู้บุกรุกป่า

การมองแบบนี้คือที่มาของปัญหาที่ทำท่าว่าจะขยายใหญ่ขึ้น

เท่าที่เป็นอยู่ เจ้าหน้าที่ภาครัฐบางกลุ่มได้ใช้ความ “ไม่รู้” ที่สังคมมีอยู่เป็น “ข้อได้เปรียบ” ในการจัดการแบบไหนก็ได้กับชนกลุ่มน้อย

“เพราะเขาเห็นว่าเราด้อยโอกาส ไม่ว่าคนไทยหรือคนชาติพันธุ์ที่ด้อยกว่าจะไม่ได้รับความยุติธรรม” มีนอ หรือพิณนภา พฤกษาพรรณ เมียของบิลลี่เผยความในใจ

ถ้าหากมีการสำรวจกันอย่างเอาจริงเอาจัง ก็จะพบว่าตัวเลขของชนกลุ่มน้อยที่มีอยู่ทั่วประเทศนั้นมีจำนวนนับสิบล้านคน

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงให้ความใส่พระทัยต่อชนกลุ่มน้อยมาตลอดพระชนม์ชีพ ทรงบุกป่าฝ่าเขาเข้าไปรู้จักและพัฒนาชนกลุ่มน้อยบางกลุ่มที่ยังใช้ประโยชน์จากที่ดินไม่ถูกทาง แต่ถ้าหากเป็นชนกลุ่มน้อยที่อยู่อย่างกลมกลืนกับธรรมชาติก็จะทรงเข้าพระทัยดี

และเคยทรงมีพระราชปรารภว่า กฎหมายนั้นหากใช้อย่างไม่เลือกและไม่เป็นไปเพื่อความผาสุกของคนก็ควรจะพิจารณาเหมือนกัน

 

การเรียกร้องขอความเป็นธรรมจากครอบครัวของ “บิลลี่” กะเหรี่ยงผู้สูญหาย มีองค์กรเครือข่ายมนุษยธรรมและชาติพันธุ์หลายองค์กรทั้งไทยและสากลเข้ามาผลักดันพร้อมด้วยข้อมูลที่หนักแน่นในมือ จึงเกิดพลังขึ้นมา หลักฐานที่มาสนับสนุนจากองค์กรหนึ่งระบุชัดว่ากะเหรี่ยงบ้านบางกลอย อำเภอแก่งกระจาน อยู่กันมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 ไม่ใช่ผู้บุกรุกที่เข้ามาภายหลัง

สุรพงษ์ กองจันทึก นักสิทธิมนุษยชน ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม มีหลักฐานว่ากะเหรี่ยงที่นี่อยู่มาตั้งแต่ก่อนการตั้งอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ย้อนไปไกลถึงรัชกาลที่ 3 หรือ 4 โดยมีแผนที่ทหารเมื่อปี 2512 เป็นหลักฐาน มีการสำรวจพบหมู่บ้านกะเหรี่ยง และในการสำรวจครั้งต่อๆ มาก็มีหมู่บ้านนี้อยู่โดยไม่ได้ตกสำรวจ

ด้วยงบประมาณที่จำกัดของภาครัฐ การสำรวจประชากรชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อยย่อมไม่สามารถทำได้ครบ ชนกลุ่มน้อยบางพวกจึงมีทั้งชื่อ-นามสกุล อย่างบิลลี่ที่มีชื่อเสียงเรียงนามว่าพอละจี รักจงเจริญ และภรรยาของเขาที่มีชื่อว่าพิณนภา พฤกษาพรรณ ในขณะที่ชนกลุ่มน้อยบางกลุ่มมีแค่ชื่อ ไม่มีนามสกุล

ชนกลุ่มน้อยชาวลัวะที่จังหวัดน่านที่ผู้เขียนเคยพูดคุยด้วย ไม่ได้เป็นญาติกันแต่ใช้นามสกุลเดียวกันหมด เพื่อความสะดวก แบบนี้ก็มี

การได้มีโอกาสเข้าไปเกือบถึงที่อยู่ของคนลัวะที่น่านและได้พูดคุยกับคนลัวะหลายคน รวมทั้งคนไทยชายขอบอำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน เมื่อ 3 ปีที่แล้วระหว่างการลงภาคสนามในโครงการหนึ่ง ทำให้ผู้เขียนเข้าใจจิตวิญญาณของคนลัวะที่อาศัยบนที่สูง ลึกเข้าไปในป่าได้ค่อนข้างดี

และไม่ผิด ถ้าจะบอกว่า ความเข้าใจนั้นขยายมาถึงกะเหรี่ยงอย่างครอบครัวบิลลี่และบรรพบุรุษที่บ้านบางกลอย จังหวัดเพชรบุรีด้วย

ชาติพันธุ์อย่างลัวะและกะเหรี่ยงลืมตาดูโลกท่ามกลางธรรมชาติ ป่าสีเขียวทึบ สายน้ำไหลริน พ วกเขารักและหวงแหนธรรมชาติที่อยู่รอบตัว เขามีทั้งอาหาร ยารักษาโรค ที่อยู่อาศัยที่ได้จากธรรมชาติ และจะไม่มีวันทำลายธรรมชาติอย่างแน่นอน เพราะมันก็เหมือนกับการทำลายชีวิตของเขาเอง

มีนอหรือพิณนภาบอกกับผู้สื่อข่าวว่า เธอไม่ต้องการได้เงิน แต่ต้องการได้ที่ทำกิน ซึ่งก็คือป่าผืนเดิมที่เคยอยู่

 

ที่จังหวัดน่าน ผู้เขียนได้พูดคุยกับลัวะ และคนไทยที่บ่อเกลือเพื่อนบ้านของลัวะ พบว่าลัวะคือผู้รักษาระบบนิเวศอย่างเข้มแข็งยั่งยืนนับร้อยปี คน “ลัวะ” จำนวนมากอาศัยอยู่บนภูเขาด้านตะวันออกของภาคเหนือ เมื่อสืบค้นความเป็นมาโดยการสอบถามจากผู้ที่มีอายุมากได้ความว่า พวกเขาไม่ได้อพยพมาจากดินแดนประเทศอื่น แต่อยู่ที่นี่มานานมากแล้วหลายชั่วคน

ที่สำคัญ ชาวลัวะคือผู้ดูแลรักษาป่าด้วยการทำไร่หมุนเวียน ไม่ใส่สารเคมี เมื่อเก็บเกี่ยวจากไร่แล้วก็จะย้ายไปอีกแห่งเพื่อรอให้ผืนดินฟื้นตัว แล้วหมุนเวียนกลับมาที่เดิมใหม่ในเวลา 3 ปี การรอ 3 ปี แปลว่าไม่จำเป็นต้องใช้ยาฆ่าหญ้า ไม่ทำให้ดินปนเปื้อนสารเคมี ชาวลัวะไม่ทำไร่ติดกับแหล่งน้ำ เพื่อรักษาความสมบูรณ์ของแหล่งน้ำไว้ใช้ดื่มกิน

นี่คือวิถีของลัวะที่คล้ายคลึงกับกะเหรี่ยงที่คนข้างนอกไม่รู้ พวกเขาจึงถูกตราหน้ารวมๆ ว่าเป็น “ผู้บุกรุก” โดยความเป็นจริงคนเหล่านี้แหละคือ “ผู้ปกป้อง” ผืนป่า และเป็นผู้รักษาต้นน้ำลำธารอีกด้วย

หัวใจของกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยต้องแตกสลายครั้งแล้วครั้งเล่า เมื่อบ้านเป็นร้อยหลังถูกเผาทำลายเพื่อไล่พวกเขาออกจากที่ที่เคยอยู่มาแต่ครั้งปู่ย่าตายายโดยไม่รู้สาเหตุ มันคือผืนดินของเขา ที่อยู่เป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานมาแล้วเป็นร้อยปี แล้วต่อมานักสู้อย่างบิลลี่ก็ต้องจบชีวิตลง เมื่อต้องการประกาศให้โลกรู้ว่าที่นั่นคือ…

แผ่นดินของเรา