“เก่ง-วาโย” ทวงถามรัฐบาลทางแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 หลังประชาชนภาคใต้เผชิญปัญหา

เมื่อวานนี้ (25 กันยายน 2562) นายแพทย์วาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อและรองโฆษกพรรคอนาคตใหม่ รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข และรองประธานกรรมาธิการการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติและสาธารณภัย เปิดเผยว่า เป็นที่ทราบกันดีว่าสถานการณ์ฝุ่นควันในภาคใต้ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานั้นลุกลามขึ้นเรื่อย ๆ เริ่มจากที่จังหวัดนราธิวาส ยะลา ปัตตานี สงขลา และสตูล โดยในบางช่วงเวลาค่าฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2 ไมครอนหรือ PM 2.5 ขึ้นสูงเกินกว่า 200 มคก./ลบ.ม. ซึ่งอยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพแล้ว แต่รัฐบาลก็ยังไม่มีนโยบายเร่งด่วนและเป็นรูปธรรมเพียงพอเพื่อจัดการแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้กับประชาชน

บัดนี้ สถานการณ์ฝุ่นควันดังกล่าวได้เคลื่อนตัวสูงขึ้นตามแรงลมที่พัดจากใต้ขึ้นเหนือ จนมีผลกระทบสูงขึ้นถึงจังหวัดพัทลุง ตรัง นครศรีธรรมราช กระบี่ ภูเก็ต พังงา และสุราษฎร์ธานี ถึงแม้ว่าฝนที่ตกลงมาจะทำให้สถานการณ์คลี่คลายลงไปได้บ้าง แต่ก็เพียงชั่วคราวเท่านั้น เนื่องจากสาเหตุของฝุ่นควันดังกล่าวยังคงดำรงอยู่ ซึ่งได้แก่ สถานการณ์ไฟป่าที่เกาะสุมาตราและเกาะบอร์เนียว ประเทศอินโดนีเซีย

“ดังนั้น รัฐบาลจึงสมควรที่จะมีนโยบาลเร่งด่วนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว อาทิ
นโยบายระยะสั้น: ออกประกาศเตือนประชาชนในพื้นที่ประสบภัยให้ตระหนักถึงสถานการณ์ดังกล่าวและใส่หน้ากากอนามัยชนิดที่กรองฝุ่นละอองระดับ PM 2.5 ได้ โดยรัฐบาลสมควรบริการและจัดหาหน้ากากอนามัยดังกล่าวให้กับประชาชน รณรงค์ให้ความรู้กับประชาชนโดยเฉพาะในกลุ่มเด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจทั้งเฉียบพลันและเรื้อรังให้อยู่ในเคหะสถาน และไม่ออกไปในพื้นที่โล่งแจ้งหรือที่ชุมชนโดยไม่มีเหตุจำเป็น ส่วนประชาชนทั่วไปก็ให้สวมหน้ากากอนามัยฯ ทุกครั้งที่ออกนอกเคหะสถาน นอกจากนี้ยังสมควรพิจารณานโยบายให้หยุดการเรียนการสอนเป็นการชั่วคราวในบางพื้นที่ ณ วันที่สถานการณ์เลวร้ายลง ทั้งนี้จะเห็นได้ว่า รัฐบาลจะต้องมีความตื่นตัวและเฝ้าติดตามสถานการณ์อยู่ตลอดเวลาเพื่อให้ทันต่อเหตุการณ์ โดยจะต้องยึดโยงกับประชาชนและมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง

นโยบายระยะยาว: เจรจาเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศกับประเทศอินโดนีเซีย เนื่องจากปัญหาเรื่องไฟป่าในประเทศอินโดนีเซียนั้นมักเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี ซึ่งส่งผลกระทบกับประชาชนในหลายประเทศ อาทิ ประเทศไทย ประเทศอินโดนีเซีย และประเทศสิงคโปร์ เป็นต้น โดยสมควรพิจารณาในเบื้องลึกด้วยว่าต้นเหตุของไฟป่านั้นมาจากสาเหตุใด เกิดจากน้ำมือของมนุษย์หรือไม่ หากเกิดโดยน้ำมือของมนุษย์แล้วมีผลทำให้สภาพป่าถูกเปลี่ยนไปเป็นป่าเสื่อมโทรมซึ่งจะทำให้การขอสัมปทานเพื่อทำกิจการบางอย่างในพื้นที่ป่านั้น ๆ ง่ายขึ้นหรือไม่ ทั้งนี้ มีนายทุนผู้ใดที่ได้รับประโยชน์บ้างจากเหตุการณ์ดังกล่าวทั้งในประเทศอินโดนีเซียและโดยเฉพาะในประเทศไทย

รัฐบาลสมควรต้องตระหนักได้แล้วว่า ปัญหาดังกล่าวนั้นส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดย ณ ปัจจุบันมีผู้ป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจชนิดเฉียบพลันที่คาดว่าเกิดจากเหตุการณ์ดังกล่าวแล้วกว่าสองหมื่นคน โดยหากปล่อยทิ้งไว้ต่อไปให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นเป็นประจำทุกปีโดยไม่มีมาตรการเพื่อการแก้ไขและจัดการอย่างเหมาะสม จะยิ่งทำให้สุขภาพของประชาชนในพื้นที่นั้นเสื่อมโทรมลงไปเรื่อยๆ” นายแพทย์วาโยกล่าว