มท.3 ชื่นชมตลาดหัวปลี ผลผลิตชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี นำรายได้สู่ชุมชน

มท.3 ชื่นชมตลาดหัวปลี ผลผลิตชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี นำรายได้สู่ชุมชน

วันนี้ (19 กันยายน 2562)

นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และคณะ ลงพื้นที่ตรวจราชการ และเยี่ยมชมศูนย์ OTOP คอมเพล็กซ์พุแค และศูนย์ฝึกอาชีพ OTOP ซึ่งเป็นต้นแบบศูนย์เรียนรู้ด้านการบริหารจัดการ OTOP ครบวงจรใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และ เยี่ยมชมตลาดหัวปลี “ตลาดสร้างสุข ชุมชนร่วมสร้าง”(โครงการต้นแบบที่ดีในการดำเนินโครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี) โดยมีนายนิสิต จันทร์สมวงศ์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวรายงาน โอกาสนี้ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี คณะผู้บริหารจาก พช. สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสระบุรี นางสาวนารีรัช อุทัยแสงสกุล ประธานเครือข่าย OTOP สระบุรี และผู้ประกอบการ OTOP ให้การต้อนรับ

นายทรงศักดิ์ ทองศรี กล่าวว่า ”ขอชื่นชม และขอบคุณคณะกรรมการบริหารศูนย์ฯ ที่มีความอดทนและเสียสละทำให้ศูนย์ฯ OTOP แห่งนี้ มีความเข้มแข็ง สร้างรายได้ให้กับพี่น้องประชาชนในชุมชน เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับจังหวัดอื่น ทั้งนี้เมื่อไหร่ที่เกิดต้นแบบ จะเกิดพัฒนาการไปข้างหน้า การพัฒนาสินค้า OTOP ไปไกลมาก กว่าจะพัฒนา ยกระดับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน สินค้าต้องผ่านกระบวนการต่างๆ ทำผิด ทำถูก มามากพอสมควร และต้องเกิดจากการเรียนรู้ร่วมกันมานานพอสมควร สินค้า OTOP ปัจจุบันต้องให้ความสำคัญที่การบริหารจัดการ ซึ่ง “Trader ” จะมีบทบาทสำคัญที่จะทำให้สินค้า OTOP สู่ตลาดได้ทันเวลา สร้างความพึงพอใจแก่ลูกค้า ความสำเร็จที่ว่าต้งพัฒนาช่องทางจำหน่ายทั้งหลาย และต้องแน่นอน เพื่อไปสู่ความสำเร็จ และบรรลุเป้าหมายร่วมกัน” โดย มท.3 ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า “รัฐบาล และกระทรวงมหาดไทย ต้องการเห็นชุมชนมีความเข้มแข็ง และ OTOP เป็นเรื่องส่วนหนึ่งที่ทำให้ชุมชนเข้มแข็งในเรื่องการสร้างรายได้ สร้างเศรษฐกิจฐานรากให้มั่นคง และยั่งยืนต่อไป”

ทั้งนี้ ศูนย์ OTOP Complex สระบุรี ตั้งอยู่ที่ บ้านพุแค หมู่ที่ 1 ตำบลพุแค อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสระบุรี อาคารจำหน่ายผลิตภัณฑ์ OTOP โดยเปิดศูนย์อย่างเป็นทางการวันที่ 13 พฤศจิกายน 2553 ดำเนินงาน มาจนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 8 ปี มีการบริหารจัดการเป็นการบริหารจัดการโดยคณะกรรมการเครือข่ายโอทอปจังหวัดสระบุรี ซึ่งมาจากตัวแทนของคณะกรรมการจาก 13 อำเภอ ภายใต้แนวคิดการทำงาน “ชุมชนเป็นผู้บริหารจัดการ โดยมีภาครัฐเป็นที่ปรึกษา” ภายในบริเวณเดียวกันมีอาคารจำหน่ายผลิตภัณฑ์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ :

-เป็นศูนย์เรียนรู้ด้านการบริหารจัดการ OTOP ต้นแบบระดับประเทศ

-เป็นศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้าไปยังตลาดภายนอกแหล่งต่างๆ

-เป็นแหล่งสาธิตการผลิตสินค้ามาตรฐาน อย./มผช/ฮาลาล/GMP Codex

-ศูนย์ ICT เพื่อใช้สำหรับการฝึกอบรมกลุ่มอาชีพ เยาวชน และสมาชิกในชุมชนที่มีความสนใจ

-เป็นศูนย์แสดงและจำหน่ายสินค้า OTOP จังหวัดสระบุรีและจากต่างจังหวัด มากกว่า 2,000 รายการ จำนวนผู้มาอุดหนุนสินค้าในวันธรรมดา จันทร์-ศุกร์ 100-200 คนต่อวัน

การพัฒนาและการต่อยอดกิจกรรมได่มีการจัดตั้งและพัฒนาเป็น OTOP Trader จังหวัดสระบุรี

มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นตัวแทนในการรวบรวมและจัดจำหน่ายสินค้า OTOP ให้กับผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ระดับ 1-3 ดาว มีหน้าที่รวบรวมสินค้า มองตลาด บริหารจัดการ แล้วขายสินค้าให้กับ ผู้ผลิตสินค้า OTOP อย่างเป็นระบบซึ่งจะช่วยให้ผู้ผลิตที่ไม่ถนัดเรื่องการตลาด สามารถเพิ่มโอกาสในการขายสินค้าได้

มีโรงเรียน OTOP คอมเพล็กซ์สระบุรี ได้ดำเนินการอบรมผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ตั้งแต่ปี 2559 โดยใช้อาคารฝึกอาชีพ OTOP เป็นที่ตั้งโรงเรียน ซึ่งได้ดำเนินการอบรมผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ตั้งแต่ ปี 2559 ถึง ปัจจุบัน

ในส่วนของการดำเนินงานชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถีบ้านพุแค หมู่ที่ 1 ต.พุแค อ.เฉลิมพระเกียรติ เป็น 1 ใน 42 หมู่บ้านเป้าหมาย ที่จังหวัดสระบุรี คัดเลือกเป็นหมู่บ้านเป้าหมายของกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เพื่อเข้าสู่การพัฒนาขับเคลื่อนในโครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ที่มีเป้าหมายสำคัญเพื่อสร้างชุมชนเข้มแข็ง ยกระดับการพัฒนาผลิตภัณฑ์และรายได้ให้แก่ชุมชน ที่เชื่อมโยงผลิตภัณฑ์ OTOP เข้ากับการท่องเที่ยวเมืองหลัก – เมืองรอง และระดับชุมชน

บ้านพุแค ได้รับการคัดเลือกเป็น Best Practice ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ต้นแบบ มีกิจกรรมต่างๆ ที่สร้างรายได้ให้เกิดขึ้นกับคนในชุมชนและชุมชนข้างเคียง เช่น กิจกรรมไหว้พระอุปคุต อนุรักษ์ปูป่า (ปูทูลเกล้า) ตลาดหัวปลี การบริหารจัดการของชุมชน มีการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการชุมชนฯ ตั้งกฎกติกาของชุมชน รวมถึงให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมขับเคลื่อนทุกกิจกรรมที่ดำเนินการในชุมชน

“ตลาดหัวปลี” เป็นกิจกรรมในหมู่บ้านชุมชนท่องเที่ยวOTOP นวัตวิถี ซึ่งได้ทำการเปิดตัว และทำการประชาสัมพันธ์ต่อเนื่องมาตั้งแต่วันที่ 28 กรกฎาคม 2561 เป็นจุดขายของชุมชน และเป็นแหล่งขายสินค้าชุมชนและสินค้าOTOP สร้างรายได้ให้คนในชุมชนโดยการขายสินค้าและผลิตภัณฑ์ฯ ตลอดจนการขายบริการในรูปแบบอื่นๆ ให้แก่นักท่องเที่ยว ผู้มาเยี่ยมชม

ผลการดำเนินงาน มีนักท่องเที่ยวเข้ามายังชุมชน นักท่องเที่ยวไทยเฉลี่ย 2,985 คน/สัปดาห์

นักท่องเที่ยวต่างชาติเฉลี่ย 15 คน/สัปดาห์ และ มีการเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยว แอ่งใหญ่ – แอ่งเล็ก ในจังหวัดสระบุรี เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวและเป็นทางเลือกให้กับนักท่องเที่ยว โดยแต่ละแอ่งใหญ่ –แอ่งเล็กหนุนเสริมกัน แต่ละแอ่งทำหน้าที่ชม/ชิม/ช๊อป/แชร์ ท่านที่สนใจสามารถมาเยี่ยมชมตลาดแห่งนี้ได้ในวันเสาร์ วันอาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์