วรศักดิ์ มหัทธโนบล : ก้าวย่างสู่อาณาจักรสุยยุคปลาย

สุยในช่วงปลาย (ต่อ)

วัฒนธรรมที่สำคัญก็คือ ศาสนาพุทธ ที่หยังกว่างมีพื้นเดิมในฐานะศาสนิกชนในศาสนานี้อยู่แล้ว

และจากการยกทัพเข้าตีเฉินในครั้งนี้ได้ปรากฏว่า เจี้ยนคังอันเป็นเมืองศูนย์กลางของเฉินนั้นเสียหายอย่างหนัก

ความเสียหายนี้ไม่เพียงจะรวมถึงวัดวาอารามของศาสนาพุทธเท่านั้น แต่ยังรวมถึงชีวิตความเป็นอยู่ของภิกษุและคัมภีร์ทางศาสนาอีกด้วย

ความเสียหายที่เกิดขึ้นจึงถือว่าหนักมาก คือหนักมากจนหากจะฟื้นฟูคงใช้เวลาและงบประมาณไปไม่น้อย

จากเหตุนี้ หยังกว่างจึงคิดอ่านที่จะสร้างเมืองใหม่ขึ้นมาแทนเจี้ยนคัง และเมืองที่เขาเลือกก็คือ เจียงตู (ปัจจุบันคือเมืองหยังโจว มณฑลเจียงซู)

ที่เมืองนี้หยังกว่างได้ให้มีการฟื้นฟูและคัดลอกคัมภีร์พุทธที่เสียหายจากสงคราม ทั้งยังให้สร้างวัดวาอารามขึ้นมาใหม่ พร้อมทั้งให้ความอุปถัมภ์เหล่าภิกษุเป็นอย่างดี

และยังประกอบกิจกรรมทางศาสนาในบางโอกาสอีกด้วย

การอุปถัมภ์ศาสนาเช่นนี้ทำให้ครั้งหนึ่งพระราชาคณะได้มอบ “มงกุฎโพธิสัตว์” ที่ทำด้วยดอกไม้ให้แก่หยังกว่าง และเขาก็มีสารตอบขอบพระทัยกลับไป โดยมีใจความตอนหนึ่งที่เขาได้กล่าวเปรียบว่า

“มงกุฎโพธิสัตว์นี้ดุจมงกุฎอันรังสรรค์จากภิกษุโมคคัลลานะที่ย่อมเป็นเกียรติยศแก่ผู้สวมใส่ อันข้าพเจ้าจักน้อมใจคุกเข่ารับมาไว้ยังศีรษะแห่งตนด้วยอาการสงบ” สมกับที่มีปฏิสัมพันธ์กับพุทธศาสนามาตั้งแต่เด็ก

จากภูมิหลังที่กล่าวมานี้จะเห็นได้ว่า หยังกว่างน่าจะเป็นบุคคลที่น่าจะเป็นผู้นำที่ดีได้ไม่ยาก

แต่ประวัติศาสตร์ก็ได้บันทึกพฤติกรรมหลังจากนี้ต่อไปของเขาพิสดารออกไปอีก

ที่ดูไปแล้วออกจะตรงกันข้ามกับที่กล่าวมา โดยเฉพาะเมื่อถึงช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อก่อนที่เขาจะก้าวขึ้นสู่อำนาจในอีกแบบหนึ่ง

นั่นคือการเป็นรัชทายาท

 

จากรัชทายาทสู่จักรพรรดิ

ในบรรดาโอรสห้าองค์ของสุยเหวินตี้นั้น หากจะกล่าวตามจริงแล้ว หยังกว่างคือโอรสที่มีความโดดเด่นมากที่สุด เพราะนอกจากบทบาทจากที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ในแง่ของการครองตน หยังกว่างยังเป็นผู้ที่วางตนประหยัดมัธยัสถ์ และยึดมั่นในการมีภรรยาเพียงผู้เดียว

การครองตนเช่นนี้เมื่อนำมารวมกับบทบาทเชิงสร้างสรรค์ดังกล่าวแล้ว เขาจึงได้รับการยกย่องสรรเสริญจากเสนามาตย์โดยทั่วไป

แต่ด้วยเหตุที่เป็นโอรสองค์รอง ความโดดเด่นที่ว่าจึงมิได้ช่วยให้เขาได้เป็นองค์รัชทายาท อันเป็นตำแหน่งของหยังหย่ง (มรณะ ค.ศ.604) ซึ่งเป็นโอรสองค์โต ประเด็นปัญหาจึงมีว่า หากหยังกว่างครองตนดังเช่นที่ว่าอย่างสม่ำเสมอแล้ว ทุกอย่างย่อมดำเนินไปตามครรลองปกติ ปัญหาข้างหน้าจะมีหรือไม่ อย่างไร

ย่อมขึ้นอยู่กับบทบาทของหวังหย่ง

แต่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ ด้วยการครองตนเช่นที่ว่าของหยังกว่างนั้นเป็นเพียงภาพด้านเดียวเท่านั้น

เพราะในอีกด้านหนึ่งหยังกว่างกลับมีบทบาทในการใส่ร้ายป้ายสีหยังหย่งลับหลัง ที่ว่าลับหลังนี้คือ หยังกว่างอาศัยความพอพระทัยของราชมารดากา-ลว๋อที่มีต่อตนที่ยึดมั่นในภรรยาเดียวใส่ความหยังหย่ง ว่ากำลังคิดร้ายกับตนต่อราชมารดา

ส่วนราชมารดาเมื่อฟังแล้วก็คล้อยตาม ด้วยพื้นเดิมก็ทรงไม่พอใจที่หยังหย่งมีสนมหลายองค์อยู่แล้ว อีกทั้งหยังหย่งยังนิยมชมชอบในดนตรีอันเป็นเรื่องร้องรำทำเพลง และการกล่าววาจาตรงไปตรงมาอีกด้วย

ถึงตอนนี้ราชมารดาซึ่งมีอิทธิพลทางความคิดต่อสุยเหวินตี้ก็ทรงแนะนำสุยเหวินตี้ว่า ควรที่จะเปลี่ยนองค์รัชทายาท

ผลคือ สุยเหวินตี้ทรงเชื่อในมเหสีและมีราชโองการให้ถอดหยังหย่งออกจากรัชทายาท แล้วตั้งหยังกว่างเป็นแทนใน ค.ศ.600 ครั้นถึง ค.ศ.604 สุยเหวินตี้ก็ล้มป่วยลงหลังจากที่มเหสีสิ้นพระชนม์ไปแล้วสองปี

ในช่วงนี้หยังกว่างได้กดดันให้สุยเหวินตี้สละราชสมบัติ สุยเหวินตี้จึงรู้ว่าการตัดสินใจเรื่องรัชทายาทของพระองค์เป็นเรื่องที่ผิดพลาด ครั้นจะกลับราชโองการเสียใหม่ก็มิทันการณ์เสียแล้ว ด้วยสุยเหวินตี้ได้สิ้นพระชนม์ในปีนั้นเอง

 

การสิ้นพระชนม์ของสุยเหวินตี้ถือเป็นเรื่องที่ให้ชวนสงสัย เพราะในขณะที่ทรงป่วยหนักอยู่นั้น มีเพียงคนสนิทของหยังกว่างอยู่ในวังเพียงผู้เดียว กระทั่งทำให้มีการสันนิษฐานไปต่างๆ นานา

บ้างก็ว่าคนสนิทของหยังกว่างเป็นผู้วางยาพิษปลงพระชนม์สุยเหวินตี้

บ้างก็ว่าคนสนิทผู้นี้เข้าทำร้ายพระองค์จนสิ้นพระชนม์ในห้องบรรทม เป็นต้น

แต่หากจะกล่าวว่าหยังกว่างมีส่วนทำให้สุยเหวินตี้สิ้นพระชนม์หรือไม่ ในข้อนี้กลับไม่ชวนให้สงสัยเมื่อพบว่า ก่อนหน้านั้นนานนับปีหยังกว่างได้กระทำการหลายอย่างที่ผิดปกติ เช่น เข้าหาเสนามาตย์คนสำคัญให้มาเป็นพวกของตน จัดตั้งกองกำลังที่เป็นหน่วยกล้าตาย

ครั้นสุยเหวินตี้ประชวรหนักก็ยังวางแผนจัดงานศพอย่างลับๆ หรือพยายามขืนใจสนมคนโปรดของสุยเหวินตี้ (ที่สุยเหวินตี้ได้มาหลังจากที่มเหสีสิ้นพระชนม์ไปแล้ว) เป็นต้น

ครั้นสุยเหวินตี้รู้ความจริงทั้งหมดเกี่ยวกับหยังกว่าง และวางแผนให้หยังหย่งกลับมาเป็นรัชทายาทใหม่นั้น หยังกว่างซึ่งรู้ถึงแผนที่ว่าจึงได้สั่งให้จับกุมขุนนางคนสนิทของสุยเหวินตี้ทันที จากนั้นก็ส่งกองกำลังของตนเข้าล้อมวังของพระองค์

และส่งคนสนิทของตนเข้าไปถวายการดูแลสุยเหวินตี้แต่เพียงผู้เดียว จนกระทั่งสุยเหวินตี้สิ้นพระชนม์

ส่วนหยังหย่งต่อมาได้ถูกหยังกว่างปลอมราชโองการของสุยเหวินตี้สั่งให้ประหารชีวิต

 

จากเรื่องราวเช่นนี้จึงไม่แปลกที่ว่า เหตุใดข้อสันนิษฐานต่างๆ นานาเกี่ยวกับการสิ้นพระชนม์ของสุยเหวินตี้จึงมาจบลงที่คนสนิทของหยังกว่าง และเหตุใดจึงเชื่อกันว่าหยังกว่างรู้เห็นกับการสิ้นพระชนม์ของสุยเหวินตี้

เมื่ออำนาจอยู่ในมืออย่างเบ็ดเสร็จแล้ว หยังกว่างก็ก้าวขึ้นเป็นจักรพรรดิองค์ที่สองของราชวงศ์สุยคือ สุยหยังตี้ (ค.ศ.604-618)

การก้าวขึ้นเป็นจักรพรรดิที่ชี้ชวนให้เชื่อว่าเป็นการยึดอำนาจนั้น จะว่าไปแล้วก็ไม่ต่างไปจากการก้าวขึ้นเป็นจักรพรรดิของจักรพรรดิบางองค์ก่อนหน้านี้ ที่บางกรณีถึงขั้นกระทำปิตุฆาต การก้าวขึ้นเป็นจักรพรรดิของสุยหยังตี้จึงเป็นปรากฏการณ์ปกติที่เกิดขึ้นได้ในจีน

แต่ด้วยเหตุที่สุยหยังตี้เป็นรัชกาลที่สองซึ่งเป็นรัชกาลสุดท้ายของราชวงศ์สุย ผลงานที่เกิดขึ้นในยุคของพระองค์จึงเป็นประเด็นที่พึงพิจารณา ว่าได้เป็นเหตุอย่างไรจึงทำให้สุยล่มสลายลง

 

หลังจากขึ้นเถลิงอำนาจแล้ว สิ่งที่สุยหยังตี้ทรงทำให้เห็นดูเหมือนจะไม่ต่างกับที่ราชบิดาเคยทำมาก่อน ซึ่งหากกล่าวโดยรวมก็คือ นโยบายฟื้นฟูและสร้างจักรวรรดิให้แข็งแกร่งขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง เช่น ระบบการสอบคัดเลือกขุนนาง การขยายเส้นทางคมนาคมทางน้ำ และการสร้างเมืองหลวงขึ้นใหม่ตามคติความเชื่อในเรื่องโอรสแห่งสวรรค์ เป็นต้น

ถ้าเป็นเช่นนี้แล้วก็มีคำถามว่า เหตุใดการสานต่อนโยบายเช่นนี้จึงนำไปสู่การล่มสลายได้

แน่นอนว่า คำตอบที่ได้มาย่อมเป็นคำตอบหลังเหตุการณ์ ที่ไม่ว่าจะอย่างไรก็มักจะรวมศูนย์ความผิดพลาดไปยังสุยหยังตี้เป็นหลัก แต่ขณะเดียวกันบนความผิดพลาดนั้นก็มักจะเห็นพ้องต้องกันว่า นโยบายที่สำคัญที่สุดแต่ดูเลวร้ายที่สุดกลับเป็นนโยบายที่ดีและมีประโยชน์ในกาลต่อมา

ข้อสรุปที่ขัดแย้งกันเองเช่นนี้จึงมีปัญหาในตัวของมันเอง และเป็นปัญหาที่ต้องการคำอธิบายที่ดีพอ คำอธิบายนี้ในด้านหนึ่งจึงหลีกเลี่ยงประเด็นบุคลิกภาพบางประการของสุยหยังตี้ไปไม่ได้

นอกจากการครองตนและพฤติกรรมของสุยหยังตี้ตั้งแต่วัยเยาว์จนถึงเมื่อเถลิงอำนาจดังได้กล่าวไปแล้วนั้น อีกบุคลิกหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ การเป็นบุคคลที่มีอารมณ์สุนทรีย์ บุคลิกนี้มีมาตั้งแต่วัยเยาว์เช่นกัน

คือเป็นผู้มีความสามารถในทางกวีและดนตรี