วอชเชอร์ : ‘สามัญสำนึก’ อยู่ตรงไหน!

ข่าวในช่วงสัปดาห์นี้ ถ้าให้สรุปหลายเรื่องที่เกิดขึ้นแบบสั้นที่สุด คงเรียกว่าเป็น วิกฤต “สามัญสำนึก” ก็ได้ เมื่อความรับผิดชอบ ความเป็นผู้นำ ความละอายต่อความผิดพลาด ที่ควรถูกใช้ถูกเวลา กลับไม่เห็นแม้แต่น้อย

แต่สิ่งที่เราได้เห็นแทนคือ “ชนะ” เท่านั้น คือผลลัพธ์เดียว ที่ต้องการและต้องรักษาไว้ แม้ต้องละทิ้งสิ่งที่คนทั่วไปไม่ว่ามีอำนาจใหญ่โตจนถึงอยู่อย่างอนาถา ควรมีกัน

ต่อให้เอาวิจารณญาณ ทัศนคติ ความคิด จนถึงหลักฐานเชิงประจักษ์เป็นรูปธรรม เป็นลายลักษณ์อักษรแผ่ออกมาให้สาธารณชนเห็นกันโจ่งแจ้งแค่ไหน

แต่เพื่อ “ชัยชนะ” อันนำมาซึ่งในอำนาจและผลประโยชน์ คือจุดมุ่งหมายเดียวที่ต้องได้และต้องได้ตลอดไป

 

สามัญสำนึกโดยเฉพาะบรรดาผู้มีอำนาจในรัฐบาลชุดปัจจุบัน ได้กระทำในสิ่งที่เกิดข้อถกเถียงกันมากมายและต่างถามไปยังผู้มีอำนาจ ถึงเหตุผลและแรงจูงใจ หรือแม้แต่จะทำยังไงกับเรื่องอันชวนไม่น่าวางใจนี้

ไล่่ตั้งแต่ นายกรัฐมนตรีถึงปมปัญหาเรื่องถวายสัตย์ปฏิญาณตามรัฐธรรมนูญที่เกิดคำถาม ก็ไม่ได้ยินคำชี้แจงจากปากของท่านแบบจริงใจเสียที จนล่าสุดที่เกิดน้ำท่วมเรื้อรังในจังหวัดอุบลราชธานี ในขณะที่ประชาชนที่ประสบภัยและคนที่ติดตามสถานการณ์ อยากเห็นความเป็นผู้นำ ไปปรากฎตัวให้กำลังใจคนเดือดร้อน กลับไปเดินทางลงเกาะสมุยแทน

อีกคนล่าสุดที่ตกเป็นเป้าถล่มจนร้อนแรงไม่แพ้กันคือ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ก็ถูกวิจารณ์เรื่องคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรีต่อปมประวัติต้องคดียาเสพติดที่แบ่งเป็น 2 ฟากคือ ฟากธรรมนัส กับฟากสื่อออสเตรเลียที่ ยิ่งนานวัน ข้อมูลยิ่งแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ถ้าให้เลือกระหว่างคำพูดกับหลักฐานเชิงประจักษ์ สาธารณชนจะเชื่อถืออันไหน และพอมีประเด็นปริญญาที่ออกโดยสถาบันที่ไม่ได้รับการรับรองโดยสหรัฐฯ เข้ามาด้วย งานนี้ทำให้ ร.อ.ธรรมนัส ที่ถูกยกให้เป็นเส้นเลือดใหญ่ของรัฐบาล อยู่ในภาวะเสือลำบากกันอย่างที่เห็น

อีกคนที่ลืมไม่ได้คือ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่แสดงบทบาททางกฎหมายจนทำหลายคนพากันมองบน แต่สำหรับผู้มีอำนาจรู้สึกอุ่นใจเสมอเวลามีอยู่ใกล้ๆ จนเรียกว่า อยากมีเพื่อนที่คอยปกป้องเราตลอดเหมือน วิษณุ เครืองาม

 

ไม่ว่าจะรับมือสังคมที่พากันตั้งคำถามถึงสิ่งที่เกิดขึ้นยังไง คำตอบที่ได้ ล้วนทำเอาทั้งน่าประหลาดใจ จนถึงน่าใจหาย โดยเฉพาะ สามัญสำนึกง่ายๆที่ใครก็คิดได้ หรือความเป็นเหตุเป็นผลที่ควรจะเป็น

มีคำกล่าวที่ว่า การกระทำของคนๆหนึ่ง ส่งผลกับหลายสิ่ง ประดุจหยดน้ำที่ก่อเป็นคลื่นน้ำแผ่ออกมา

เมื่อทำอะไร พูดอะไร คิดอะไรไป โดยเฉพาะสิ่งที่ขัดกับจริยธรรมที่ถูกต้อง หรือหลักกฎหมายที่ตัวเองเขียนขึ้นมาได้หน้าตาเฉย แต่พอกับคนอื่นที่ยิ่งไม่ใช่พวกเดียวกัน ก็จะเข้มงวดและแน่นหนาเป็นพิเศษจนเกินจะพรรณนา ล้วนต่างให้ผลลัพธ์ทั้งนั้น

แม้ที่สุดจะได้ผลลัพธ์อย่างที่ต้องการ แต่นั้นกลับต้องแลกด้วยการทำให้สามัญสำนึกร่วมในสังคม แหลกละเอียดไม่มีชิ้นดี