อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ : หัวใจคนฮ่องกง

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

ขณะที่เขียนบทความเรื่องนี้ ผมไม่ทราบว่าเหตุการณ์การประท้วงที่ฮ่องกงจะบานปลายไปแค่ไหน เพราะมีการใช้กระสุนปืนจริง ฝ่ายประท้วงตามรายงานข่าวสื่อมวลชนรายงานว่า ในวันอาทิตย์ที่ 1 กันยายน พยายามบุกยึดสนามบินเป็นครั้งที่สอง

บางข่าวรายงานว่า ท่านผู้ว่าฯฮ่องกงหญิงเหล็กอยากทำตามข้อเสนอบางข้อของผู้ประท้วง

ไม่แน่ว่าวันที่บทความนี้ออกเผยแพร่ ผู้ประท้วงอาจตายเป็นเบือ ทหารจีนจากเมืองเซินเจิ้นใกล้ๆ นั้น ซึ่งประกาศออกมาเป็นระยะๆ ว่าจะไม่ยอมอยู่นิ่งเฉยใดๆ หากเกิดความรุนแรงขึ้นในฮ่องกง

บทความที่ไร้ความหมายชิ้นนี้ ลองถามกับตัวเองว่า ในช่วงเวลาผ่านมากว่า 3 เดือนแล้วเป็นอย่างไร

ผมอ่านภาษาจีนไม่ได้ เคยไปฮ่องกงบ้างแบบนักท่องเที่ยวทั่วไปคือ ไปกับทัวร์ ไปรับประทานอาหารอันแสนจะอร่อย ดูเหมือนว่าอร่อยทุกร้าน แม้แต่ร้านขายบะหมี่ร้านไหนก็อร่อย ไปช้อปปิ้ง ไปไหว้พระขอพร
ระหว่างทางก็เห็นความเจริญเอาๆ ของฮ่องกง

ในช่วงเดียวกัน ตอนหลังด้วยความบังเอิญ ผมได้ติดตามคณาจารย์ผู้รู้เรื่องจีนศึกษาที่ได้รับเชิญจากมหาวิทยาลัยที่เมืองซัวเถา มณฑลกวางโจวของจีน ให้ไปแลกเปลี่ยนทางวิชาการ

อีกทั้งยังพาพวกเราไปเมืองเซินเจิ้นเมื่อปี ค.ศ. 1986 อีกทั้งยังได้ไปเมืองต่างๆ เช่น เตี้ยอัน ซีอานของจีนอีกหลายครั้ง

ในช่วงนั้นคณะของผมเดินทางไปจีนที่เมืองกวางตุ้ง พวกเราได้ไปทั้งทางสายการบินและโดยการโดยสารเรือซึ่งเป็นอีกประสบการณ์หนึ่ง

สมัยนั้นเมื่อเรือเทียบท่า แม้เรามีเหล่าอาจารย์จีนซึ่งมีเส้นสายดีแต่ก็ต้องรอนาน

พวกเรารอกระเป๋าที่ทางการขนโดยใช้ตาข่ายหอบขึ้นมา สนุกดี

 

ที่น่าสนใจ เมืองเซินเจิ้นสมัยนั้นเพิ่งประกาศเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special economic zone-) ถนนของเมืองกว้างมากๆ แต่มีแค่รถจักรยานวิ่งเป็นส่วนใหญ่ แทบไม่เห็นและไม่ได้ยินเสียงแตรจากรถยนต์เลย
มาภายหลังนี้ ผมได้ไปเมืองจีนอีกหลายเมือง เวลาเพียงสิบปี ทุกอย่างเปลี่ยนไปหมด

กวางโจว เซี่ยงไฮ้ หนิงโป นานหนิง กวางสี คุนหมิง รถติดอย่างหนัก

แม้ว่าจะมีรถไฟฟ้า รถใต้ดิน รถไฟความเร็วสูง สนามบิน รถเมล์ก็ยังแน่นแสนแน่น

ไม่ต้องพูดถึงเซินเจิ้น เซินเจิ้นเป็นช่องทางการค้าขายและแหล่งท่องเที่ยวที่แน่นแสนแน่นติดกับฮ่องกง

ทุกคนรู้ดีว่าที่ด่านศุลกากรเซินเจิ้นแน่นขนาดไหน

 

หัวใจคนฮ่องกง

แม้จะได้สัมผัสด้วยการเดินทางไปเยือน ทำงาน ร่วมประชุมกับจีนและฮ่องกงอย่างสม่ำเสมอ ต้องยอมรับว่า ผมไม่มีทางเข้าใจหัวใจและความรู้สึกนึกคิดของคนฮ่องกงได้หรอกครับ เพราะผมใช้ภาษาจีนไม่ได้
อีกทั้งจีนเป็นมหาอาณาจักรที่มีชาติพันธุ์ต่างๆ มากมาย

แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้ผมคิดถึงฮ่องกงในเวลานี้คือ เหตุการณ์เทียนอันเหมินที่เกิดขึ้นเมื่อ 4 มิถุนายน 1989 หรือเมื่อ 30 ปีมาแล้ว

ความจริงคณะของเรายังประชุมกับคณาจารย์ชาวจีนอยู่ที่เมืองซัวเถาอยู่เลย แต่เราแทบไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในจีน

จนกระทั่งเราเดินทางกลับมาที่เซินเจิ้นและฮ่องกง ที่ฮ่องกงเราจึงรู้เหตุการณ์ประท้วงและความรุนแรงในจีนแบบที่ทั่วโลกเห็นและเข้าใจ เพราะคนฮ่องกงในหลายกลุ่ม หลายวัย เดินขบวนประท้วงเหตุการณ์เทียนอันเหมินอย่างหนัก

เพื่อนอาจารย์ไทยจึงนำกล้องถ่ายวิดีโอซึ่งตั้งใจเอาไปบันทึกทางวิชาการในจีนมาบันทึกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์นั้นเอาไว้

วิธีการทำความเข้าใจความรู้สึกคนฮ่องกงครั้งนี้ นอกจากผมจะติดตามรายงานจากสื่อต่างๆ ผมยังสนใจอีก 2 อย่าง ได้แก่ จดหมายของอภิมหาเศรษฐีชาวฮ่องกง ท่านลี กา ชิง

ผมชอบที่ท่านนำคำกลอนสมัยบูเช็คเทียนมาเผยแพร่ ซึ่งผมฟังจากคนอื่นอีกที ช่างลึกซึ้งเหลือเกิน

“…ท่านเปรียบเปรยฮ่องกงเป็นลูกแตงโม ไฉน (จีน) จะบีบลูกแตงโมให้แตก เรามีรากฐานและเป็นพวกเดียวกัน พูดคุยกันได้ในภาษาเรา…”

ท่านร่ำรวยมากๆ ท่านจึงซื้อหนังสือพิมพ์ที่คนจีนอ่านมากที่สุด เข้าใจว่า 3 ฉบับ เพื่อให้คนอ่านและระลึกถึงตรงนี้

อีกท่านหนึ่ง ท่านเป็นอภิมหาเศรษฐกิจคนไทย ท่านทำคล้ายกัน โดยลงข้อความในหนังสือพิมพ์จีนที่มีคนจีนอ่านเป็นจำนวนมาก โดยสื่อให้นึกถึงความปรองดอง อยากให้ฮ่องกงกลับมาสงบอีกครั้งหนึ่ง

ผมคิดว่านี่น่าจะเป็นสิ่งสะท้อนความรู้สึกคนฮ่องกงได้ในแง่ที่ทุกคนต้องการการเจรจาและความสงบกลับคืนมา

 

ฮ่องกงในวันนี้

อย่างไรก็ตาม มีคนที่เข้าใจจีนดีมากอีกท่าน ได้แก่ Martin Jacques ผู้เขียนหนังสือชื่อ When China rules the World : the end of the Western world and the birth of a new global order อันเป็นหนังสือขายดียอดฮิตคือมียอดจำหน่ายมากถึง 250,000 เล่ม

อีกทั้งบังเอิญผมก็มีหนังสือเล่มนี้ ผมจึงกลับไปอ่านอีก รวมทั้งได้อ่านบทสัมภาษณ์ของท่านในหนังสือพิมพ์ทำนองว่า

“…ทำไมคนฮ่องกงต้องประท้วงทางการจีนมากมายขนาดนี้ พวกเขาไม่ได้มองขึ้นไปทางเหนือ (จีน-อ้างโดยผู้เขียน) ซึ่งมีแต่ความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ อีกทั้งนับวันจะเป็นอันดับหนึ่งของโลก แต่กลับไปมองที่ตะวันตก ภูมิภาคที่มีแต่จะตกต่ำลงเรื่อยๆ…”

จริงครับ ผมอ่านอีกครั้งหนึ่ง เข้าใจทั้งตรรกะ ตัวเลข และแนวโน้มของจีนตามนักเขียนท่านนี้ บทสุดท้ายท่านได้ย้ำว่า ไม่เพียงแต่ด้านเศรษฐกิจเท่านั้น

ในด้านการเมือง จีนยิ่งผงาดขึ้น และจะมีความสำคัญต่อไปในระดับโลก

ประเด็นของผมคือ คนฮ่องกงรู้สึกถึงตรงนี้ แต่ไม่อยากได้การพัฒนาแบบจีน อันทันสมัยและสูงส่ง

พวกเขาต้องการเป็นคนฮ่องกง ทำมาหากิน มีสิทธิทางการเมืองบ้าง

คนรุ่นนี้หากประสบกับเหตุการณ์เทียนอันเหมินเมื่อ 30 ปีที่แล้ว เขาจะอยากอยู่แบบรวยนิดหน่อย ที่ดินแพงมาก อยู่ในแฟลตแคบๆ แต่ไม่มีเสรีภาพอะไรเลยหรือครับ ผมว่า เขายอมเป็นเทียนอันเหมินเสียตอนนี้ดีกว่าไม่มีฮ่องกงอีกเลย

บางคนมองว่า ฮ่องกงและจีนพัฒนาไปมาก กล่าวโดยย่อคือ เซินเจิ้นของจีนพัฒนาไปมากกว่าฮ่องกงมาก เขามองว่า

“…ช่วงปีก่อน ทศวรรษ 1980 เศรษฐกิจฮ่องกงเป็น 1 ใน 4 การค้าของจีน เพราะฮ่องกงเป็นท่าเรือและจีนปิดประเทศ ผ่านฮ่องกงร้อยละ 100 แต่ปัจจุบันตัวเลขนี้ลดลงเหลือ 3 เปอร์เซ็นต์ เศรษฐกิจฮ่องกงเหลือแค่ 3 เปอร์เซ็นต์ของเศรษฐกิจจีน การส่งออกของจีนผ่านฮ่องกงเหลือแค่ 15 เปอร์เซ็นต์ ลองมาดูมิติอื่นๆ อีก เช่น เศรษฐกิจพิเศษของจีน ตรงข้ามฮ่องกงคือเซินเจิ้น ตั้งแต่ปี 2017 จีดีพีของเซินเจิ้นเมืองเดียว แซงฮ่องกงไปแล้ว 1 ใน 3 จีดีพีของเซินเจิ้นมาจากบริษัทไฮเทค ทั้งบริษัทโดรน บริษัท DJI บริษัทเทนเซ็นต์ (Tencent) บริษัทยักษ์ใหญ่อย่างหัวเว่ย อยู่เซินเจิ้น ทั้งสิ้น 14 เปอร์เซ็นต์ จีดีพีของเซินเจิ้นมาจากภาคการเงิน อย่างซิตี้แบงก์ สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด มีตลาดหลักทรัพย์ใหญ่เป็นอันดับ 8 ของโลก เมืองท่าของเซินเจิ้นอันดับ 3 ของโลก…”

หากมองในแง่เศรษฐกิจ ใช่ครับ ฮ่องกงด้อยมูลค่า แล้วจีนแผ่นดินใหญ่ต้องการฮ่องกงไปทำไมครับ

หากมองในแง่สิทธิเสรีภาพทางการเมือง ไม่เพียงแต่เซินเจิ้น แต่สิทธิเสรีภาพในจีนแตกต่างจากฮ่องกงลิบลับ คนหนุ่มสาวฮ่องกงจึงไม่ต้องการแบบจีนในอนาคต

หากคิดว่าเศรษฐกิจเป็นปัจจัยหลัก หากคิดว่าตัวแบบการพัฒนาแบบจีนดีและเหมาะสม ทำไมคนที่รู้จักและเข้าใจคนฮ่องกงด้วยกันจึงไม่อยู่อาศัยถาวรในจีนแผ่นดินใหญ่ล่ะครับ

ถามหน่อย?