คนของโลก : ‘ยูจีน แอนดรูว์ เซอร์นัน’ มนุษย์คนสุดท้ายบนดวงจันทร์

“ยูจีน เอ. เซอร์นัน” หรือที่หลายคนรู้จักกันว่าเป็น “มนุษย์คนสุดท้ายบนดวงจันทร์” เป็นนักบินอวกาศที่เดินทางสู่อวกาศ 3 ครั้ง เป็นชาวอเมริกันคนที่สองที่โครจรรอบโลกในสภาวะไร้น้ำหนัก เดินทางไปยังดวงจันทร์สองครั้ง และสร้างหลากหลายสถิติในวงการสำรวจอวกาศ

แม้ “เซอร์นัน” จะเสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 16 มกราคมที่ผ่านมาด้วยวัย 82 ปี แต่เรื่องราวภารกิจบนพื้นผิวดวงจันทร์ “เซอร์นัน” ทำราวกับเป็นการเดินบนสนามหญ้าหน้าบ้านนั้นยังคงเป็นที่จดจำจนถึงทุกวันนี้

“อพอลโล 17” ภารกิจนำมนุษยสู่ดวงจันทร์ นำยานอวกาศลงจอดบนพื้นผิวดาวบริวารของโลกได้อย่างปลอดภัยเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 1972 หรือ 3 ปีครึ่ง หลังจาก “นีล อาร์มสตรอง” ประทับรอยเท้าแรกของมนุษยชาติ ลงบนดวงจันทร์

“เซอร์นัน” นักบินจากกองทัพเรือสหรัฐ พร้อมด้วย “แฮร์ริสัน เอช. ชมิตต์” ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นนักวิทยาศาสตร์คนแรกที่เหยียบดวงจันทร์ ลงจอดสู่พื้นผิวดาวเคราะห์น้อย ด้วยยาน “ชาเลนเจอร์” หลังเดินทางจากโลกเป็นระยะทางกว่า 400,000 กิโลเมตร พร้อมด้วย “โรนัลด์ อี. อีแวนส์” นักบินผู้ควบคุมยานที่โครจรอยู่รอบดวงจันทร์

“เซอร์นัน” และ “ชมิตต์” ใช้เวลา 3 วัน ทั้งเดินเท้าและขับยานสำรวจ เก็บตัวอย่างดินและหินบนดวงจันทร์ รวมถึงตั้งฐานทดลองทางวิทยาศาสตร์ซึ่งส่งข้อมูลกลับสู่โลกต่อเนื่องนาน 1 ปี

ก่อนเดินทางกลับโลก “เซอร์นัน” เป็นนักบินอวกาศคนสุดท้ายที่กลับเข้าสู่ยาน “ชาเลนเจอร์” เป็นที่มาของฉายา “เดอะลาสต์แมนออนเดอะมูน” พร้อมกล่าวทิ้งท้ายสำหรับคนรุ่นหลังท่ามกลางสายตาผู้คนนับล้านทั่วโลกที่ดูการถ่ายทอดสด

“ความท้าทายของอเมริกาในวันนี้ หล่อหลอมชะตาของมนุษยชาติในวันพรุ่งนี้” เซอร์นันระบุก่อนก้าวกลับสู่ยานอวกาศ และว่า “หากเป็นประสงค์ของพระเจ้าเราจะกลับมา พร้อมด้วยสันติสุขและความหวังของมวลมนุษยชาติ”

ทว่า โลกที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งข้อจำกัดด้านงบประมาณ รวมไปถึงความท้าทายจากโลกที่ไกลออกไปอย่างดาวอังคาร ทำให้ความหวังของ “เซอร์นัน” ที่จะได้เห็นมนุษย์ในยุคต่อมาเดินทางกลับไปยังดวงจันทร์อีกครั้งยังไม่เกิดขึ้นจริง

ปัจจุบันดวงจันทร์ไม่มีมนุษย์เดินทางไปเยี่ยมเยียนอีกเลยเป็นเวลา 44 ปีแล้ว

“เซอร์นัน” เกิดในนครชิคาโก ในปี 1934 เรียนจบปริญญาตรีด้านวิศวกรรมไฟฟ้าจากมหาวิทยาลัยเพอร์ดิว ในปี 1956 ก่อนจะจบปริญญาโทด้านวิศวกรรมการบินและอวกาศ จากสถาบันเนวัลโพสแกรดูเอตสคูล ในนครแคลิฟอร์เนีย และสมัครเข้าเป็นนักบินของกองทัพเรือสหรัฐ สั่งสมชั่วโมงบินมากถึง 5,000 ชั่วโมง

เซอร์นัน แต่งงานสองครั้ง มีลูกสาวกับภรรยาคนล่าสุด 1 คน มีลูกเลี้ยง 2 คน และมีหลาน 9 คน

เซอร์นัน เข้าร่วมเป็นนักบินอวกาศขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือนาซา ในปี 1963 เพื่อเดินทางสู่อวกาศ “ครั้งแรก” ในภารกิจ “เจมินี 9” ในปี 1966 ภารกิจที่กินเวลา 3 วันเพื่อทดสอบการนัดพบของยานอวกาศและการเชื่อมต่อซึ่งกันและกัน

เวลานั้นด้วยวัยเพียง 32 ปี เซอร์นันกลายเป็น “ชายที่อายุน้อยที่สุดในโลกที่เดินทางสู่อวกาศ”

ทริปสู่อวกาศครั้งที่สองเกิดขึ้นในภารกิจ “อพอลโล 10” ภารกิจทดสอบการเดินทางเพื่อเตรียมพร้อม ก่อน “อาร์มสตรอง” จะเดินทางไปเหยียบดวงจันทร์เป็นคนแรกใน “อพอลโล 11”

เซอร์นัน (คนกลาง) และลูกเรือ ‘อพอลโล 17’

“อพอลโล 17” ภารกิจสุดท้ายของเซอร์นัน ที่แม้จะได้รับความสนใจจากคนบนโลกไม่เท่า “อพอลโล 11” แต่ก็ได้สร้างสถิติในการสำรวจอวกาศอย่างการเดินทางเพื่อลงจอดบนดวงจันทร์ที่ยาวนานที่สุด (301 ชั่วโมง 51 นาที) การเก็บตัวอย่างจากดวงจันทร์กลับโลกมากที่สุด (115 กิโลกรัม) การโคจรรอบดวงจันทร์ที่ยาวนานที่สุด (147 ชั่วโมง 48 นาที) รวมไปถึงสถิติสำรวจดวงจันทร์ด้วยยานพาหนะที่ยาวนานที่สุด (22 ชั่วโมง 6 นาที) ด้วย

เซอร์นัน เกษียณอายุจากกองทัพเรือสหรัฐและองค์การนาซา ในปี 1976 ก่อนจะกลายเป็นผู้บริหารบริษัทน้ำมันในเมืองฮุสตัน

ต่อมาเซอร์นันตั้งบริษัทที่ปรึกษาด้านพลังงานและอวกาศภายใต้ชื่อ “เซอร์นัน คอร์ปอเรชั่น” ในปี 1981 และนั่งเป็นประธานให้กับบริษัทจอห์นสัน เอ็นจิเนียริ่ง คอร์ปอเรชั่น ตั้งแต่ปี 1994 จนถึงปี 2000

เซอร์นัน มีส่วนเป็นที่ปรึกษาในการรายงานข่าวด้านอวกาศของสถานีโทรทัศน์เอบีซี ร่วมบรรยายและเป็นส่วนหนึ่งของสารคดี และร่วมเขียนหนังสืออัตชีวประวัติในชื่อ “เดอะลาสต์แมนออนเดอะมูน” ตีพิมพ์ในปี 1999 ด้วย

AFP PHOTO / ZACH GIBSON

ล่าสุดในปี 2010 เซอร์นัน และ นิว อาร์มสตรอง ผู้ที่เสียชีวิตไปเมื่อปี 2012 วิพากษ์วิจารณ์แผนของ “บารัค โอบามา” ประธานาธิบดีสหรัฐ ที่จะยกเลิกโครงการส่งมนุษย์ไปยังดวงจันทร์และดาวอังคารขององค์การนาซาลง และหันไปลงทุนกับบริษัทเอกชนแทน

เซอร์นัน ระบุถึงแผนการควบคุมงบประมาณดังกล่าวของโอบามาว่าเป็น “การนำไปสู่ความธรรมดาสามัญ” และ “พิมพ์เขียวเพื่อภารกิจสู่ความว่างเปล่า”

แม้ความเห็นดังกล่าวจะไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในปัจจุบันเท่าไรนัก แต่ผลงานของ “เซอร์นัน” ก็สร้างคุณูปการให้กับวงการสำรวจอวกาศแล้วอย่างมหาศาล