จัตวา กลิ่นสุนทร : โอกาสเข้ารับการรักษา แลกกับการรอคอยแสนนาน

ร่างกาย อวัยวะในตัวคนเราก็เหมือนกับเครื่องจักร เครื่องยนต์ ย่อมต้องมีสึกหรอ เสื่อมสลาย จึงต้องมีการดูแลรักษาซ่อมแซม

เมื่อวันเวลาพาเข้าสู่ปัจฉิมวัยเปรียบเหมือนกับเครื่องยนต์เก่าต้องเสื่อมทรุดเป็นธรรมดา เคยเร่งเร้าได้รวดเร็วก็ค่อยๆ ชะลอช้าลง แต่ถ้าหากเป็นโรคภัยไข้เจ็บธรรมดาๆ สามารถเยียวยารักษาได้คงเป็นเรื่องไม่ยาก แต่ถ้าถึงกับต้องเปลี่ยนแปลงอะไหล่ หรืออวัยวะในร่างกายนับว่าเป็นเรื่องใหญ่

เกิดอุบัติเหตุเล็กๆ น้อยๆ ถือว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดาสำหรับผู้สูงวัยที่เติบโตมาจากแดนดินถิ่นไกลยากไร้แต่เก่าก่อน เพราะชีวิตประจำวันต้องดิ้นรนฝ่าฟันอยู่กับผืนดินทราย ห้วยหนองคลองบึงถึงทะเลกว้างใหญ่ เคยเฉียดตายมามากมายหลายครั้ง มีชีวิตรอดมาได้ตามวิถีทางอันธรรมชาติเป็นผู้กำหนดแบบไม่มีใครรู้ได้

เมื่อวัยเด็กดำเนินชีวิตตามบุญตามกรรม เรียนรู้ธรรมชาติเอาเองมิได้มีพ่อแม่ผู้ปกครองจนถึงพี่น้องที่มีประสบการณ์ความรู้เพียงพอจะมาช่วยชี้แนะชี้นำให้ได้มากนัก ความรู้ต่างๆ ต้องพยายามขวนขวายหาเอาเองเรื่อยมา

เพราะฉะนั้น ที่เติบโตมาได้ต้องนับว่าเป็นโชควาสนาชะตาชีวิตด้วยส่วนหนึ่ง

 

โชคดีมิได้เคยประสบอุบัติเหตุรุนแรง ไม่ได้เจ็บป่วยหนักจนต้องเข้าโรงพยาบาลบ่อยๆ เป็นประจำ แต่มีบ้างเพียงโรคไม่ร้ายแรงอย่างอาหารเป็นพิษ เป็นไข้ปวดหัวตัวร้อน กระทั่งเข้าสู่เวลาสูงวัยจึงได้สะสมเอาอะไรๆ ที่มันเป็นพิษเข้าสู่ร่างกายแบบไร้ความรู้ความเข้าใจ หรือทั้งๆ ที่รู้ว่ามันเป็นอันตรายแต่ยังไม่ละเว้น เช่น การกิน การดื่มเหล้า เบียร์ สูบบุหรี่ ฯลฯ

ถึงเวลาสิ่งต่างๆ เหล่านี้ อาหารเหล่านี้สามารถสะสมสร้างโรคร้ายขึ้นในตัวได้ แต่เมื่อเริ่มเจ็บป่วยขึ้นมาก็ถึงเวลาพอจะอยู่ในสภาพที่สามารถดูแลรักษาตัวเองได้ ขณะเดียวกันมีความรู้รอบตัวเพิ่มพูนขึ้นเกี่ยวกับเรื่องอาหารการกิน การสูบ การดื่ม อะไรที่ละเว้นได้จึงข้ามมันไปเสียบ้าง อะไรที่ลดละลงได้จึงลงมือปฏิบัติ จะว่ารีบกลับตัวทันท่วงทีเพื่อรักษาสุขภาพไว้บ้างก็ไม่ผิด

มีโอกาสมากกว่าคนอื่นทีเดียวเมื่อคนใกล้ตัว หุ้นส่วนชีวิตสนใจความเป็นไปเรื่องสุขภาพ

ขณะเดียวกันอาชีพการงานอยู่ไม่ห่างไกลกับแวดวงการศึกษา ซึ่งหมายรวมถึงมหาวิทยาลัยที่ผลิตคุณหมอทั้งหลาย ซึ่งต้องเกี่ยวข้องกับโรงพยาบาล

จึงนับว่ามีโอกาสเข้าถึงการรักษาพยาบาล เข้าถึงเรื่องการสาธารณสุขมากกว่าผู้คนในประเทศนี้โดยเฉพาะคนยากไร้จำนวนมากมายที่แทบจะไม่มีโอกาสเอาเสียเลย

ซึ่งจะว่าไปก็ไม่เป็นเรื่องแปลกอะไรกับสังคมการปกครองของประเทศที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำต่ำสูง ซึ่งนับวันจะถ่างขยายมากขึ้นๆ แทนที่จะค่อยๆ แคบลงๆ

ตราบใดการเมืองยังเป็นอย่างที่เห็นเช่นปัจจุบัน ประชาธิปไตยพัฒนาสู่ความเข้มแข็งไม่ได้ การเมืองล้มเหลวเศรษฐกิจย่อมล้มเหลวไปด้วยกัน ประชาชนส่วนใหญ่คงไม่มีทางได้ลืมตาอ้าปาก ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุน แหล่งเงิน การศึกษา แม้กระทั่งการรักษาพยาบาล

ความเหลื่อมล้ำ ช่องว่างความจนความรวยการศึกษาและอื่นๆ จะติดตามมา

ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ไม่มีทางแก้ได้โดยทหารยกกำลังออกมาการ “ยึดอำนาจ-รัฐบาลทหาร” ไม่มีทางแก้ปัญหาได้

 

สิ่งที่ได้เห็น ได้สัมผัสด้วยตัวเองเมื่อมีความจำเป็นต้องไปโรงพยาบาล เป็นโรงพยาบาลในเมืองหลวง ยังต้องพบกับความแออัด คนไข้ล้นหลามทุกวัน

เท่าที่สัมผัสคิดว่าถึงอย่างไรหมอไม่มีทางเพียงพอ โรงพยาบาลก็คงไม่พอเพียงสามารถนัดหมายตรวจรักษาได้แต่ละวันเพียงจำนวนจำกัด ซึ่งจะต้องตกค้างพอกพูนไปเรื่อยๆ

รวมคนไข้ผู้สูงอายุ และช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ต้องนั่งรถเข็น วีลแชร์ (Wheel Chair) กระทั่งโรงพยาบาลต้องเตรียมไว้บริการเป็นจำนวนมาก

คิดว่าโรงพยาบาลในต่างจังหวัด ในหัวเมืองคงไม่มีอะไรแตกต่าง ยิ่งเครื่องมือในการวินิจฉัยโรค ทำการรักษาพยาบาล จำนวนแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ เวชภัณฑ์ ยารักษาโรคมีจำนวนจำกัด อันสืบเนื่องมาจากงบประมาณก็จะยิ่งไม่พอต่อการดูแลรักษาคนไข้ เรื่องนี้เป็นปัญหาโลกแตกแน่นอนสำหรับประเทศของเรา

ผมต้องไปโรงพยาบาลตามเวลาที่หมอนัด 2-3 เดือนครั้ง เพื่อเจาะเลือดไปตรวจส่วนจะเอามากน้อยแค่ไหนอยู่ที่หมอสั่งในแต่ละครั้ง ส่วนมากสำหรับผู้สูงวัยก็จะมีเบาหวาน ความดันโลหิต หัวใจ ฯลฯ เหล่านี้ ซึ่งนับว่าโชคดีพอสมควร เพราะยังไม่ได้ตรวจพบว่าเป็นอะไรมากกว่านี้

ยังสามารถควบคุมดูแลได้ด้วยการกินยา

จะว่าไปเท่ากับเป็นการบำรุงรักษา ซ่อมแซมยังไม่ถึงต้องกับเปลี่ยนอะไหล่ ประเภทต้องเอาของปลอมเข้าร่างกาย แต่ด้วยวัยที่สูงมากขึ้นๆ ทุกปี สภาพร่างกายย่อมต้องเสื่อมถอยเป็นธรรมดาโดยเฉพาะ “ดวงตา” เป็นอันดับแรกมีอันต้องเปลี่ยนแปลงเป็นสายตายาวมาตั้งแต่อายุ 40 ปีเศษ ต้องใส่แว่นสำหรับเวลาอ่าน เขียนหนังสือ

ต้องใส่แว่นสายตายาวมาอย่างต่อเนื่องยาวนานหลายสิบปี

แต่วันดีคืนดีมันมีอะไรคล้ายๆ ตัวแมลงขนาดจิ๋วๆ มาบินวนเวียนแบบผิดปกติเวลากะพริบตา เหลือบตาไปมาตกใจทนไม่ไหวต้องรีบนัดหมายไปพบหมอตา ซึ่งไม่เคยได้ไปพบเลยตั้งแต่เล็กจนเติบโตเข้าสู่วัยสูงอายุ

 

จะว่าไปดวงตาของเรามันสุดยอดจริงๆ ธรรมชาติสร้างมาได้อย่างยอดเยี่ยม ทั้งๆ ที่เราใช้มันอย่าสมบุกสมบัน ไม่ว่าจะต่อสู้กับแสงแดด แสงไฟ ฝุ่นละออง ดำน้ำทั้งในคลอง และทะเลโดยไม่มีอะไรป้องกัน เปิดตาเพื่อล่าหากุ้งปลาก็ทำมาหมดแล้ว

กระทบกระเทือนมากมาย ถูกเพื่อนชกต่อยจนบวมปูดเขียวเปล่งระหว่างเรียนหนังสือชั้นมัธยมต้นๆ ก็มีบ่อยครั้ง แต่สามารถอยู่มาได้ยาวนาน ต้องยอมรับว่าธรรมชาติเป็นผู้สร้างที่สุดยอด

เพื่อดวงตาจึงยอมที่จะเสียทรัพย์เพื่อการรักษาโดยการไปหาแพทย์เฉพาะทางยังโรงพยาบาลเอกชนโดยนัดหมายไว้ล่วงหน้าในเวลาประมาณ บ่ายโมงตรง ซึ่งการเดินทางไปยังสถานพยาบาลเฉพาะทางดังกล่าวนั้นค่อนข้างยากลำบาก

รบกวนสาวน้อยที่บ้านไปส่งทั้งๆ ที่แทบจะหาที่จอดรถไม่ได้เอาเสียเลย

ใครที่ไม่เคยไปหาหมอตา หรือจักษุแพทย์ คงไม่ทราบว่าเมื่อไปถึงก่อนได้พบแพทย์ต้องได้พบกับเจ้าหน้าที่จะเรียกว่าพยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ก่อนตามลำดับ เริ่มต้นตั้งแต่วัดสาย ตาสั้น ตายาว ตาเอียง ทดสอบต่างๆ วัดความดันดวงตา หยอดยาตามวิธีการทางการแพทย์จนครบถ้วนกระบวนความแล้วจึงมาถึงคิวเพื่อพบแพทย์

กระบวนการทั้งหลายทั้งปวงนั้นไม่นานสักเท่าไร แต่เวลานั่งรอพบหมอนั้นยาวนานจริงๆ ตั้งแต่บ่ายจนกว่า 5 โมงเย็นแล้วยังไม่มีทีท่าว่าจะได้พบ

สาวน้อยที่บ้านผู้ไปส่งต้องยกเลิกนัดที่คิดว่าจะไปทันหลังเสร็จภารกิจแล้ว แปลกใจมากกับสถานรักษาพยาบาลระดับโรงพยาบาลของเอกชน แต่กลับหนาแน่นไปด้วยคนไข้เรื่องเกี่ยวกับดวงตา

ซึ่งไม่ได้เฉพาะแต่คนไทยเท่านั้น เป็นคนไข้จากประเทศเพื่อนบ้านทั้งตะวันตก ตะวันออก และอื่นๆ จำนวนมาก

ทนไม่ไหวกับการรอคอยได้เข้าไปสอบถามเจ้าหน้าที่หน้าห้องหมอ จึงได้พบหมอเสียที แต่นั่นก็เป็นเวลาเฉียด 6 โมงเย็น?

 

นอกจากแพทย์ ยังมีเจ้าหน้าที่อื่นอีกหลายคน ไม่ชัดเจนว่าจะเป็นนักศึกษาด้วยหรือไม่ เพราะเคยเห็นแต่ตามโรงพยาบาลของรัฐ ซึ่งจะมีนิสิตแพทย์ติดตามอาจารย์หมอมาด้วย คุณหมอพยายามอธิบายว่า ไอ้สิ่งที่รบกวนดวงตาอยู่ขณะนี้เดี๋ยวมันจะหายไปเอง ดวงตาของคุณยังดีอยู่ไม่เป็นต้อเป็นอะไร ซึ่งคิดว่าในวัยเดียวกันน่าจะต้องผ่าตัดสลาย “ต้อกระจก-เปลี่ยนเลนส์ตา” กันไปหมดแล้วทุกคน เป็นอันว่ากลับบ้านได้ แต่ขอนัดใหม่อีก 1 ปี

เดือนรองสุดท้ายของปีถัดมาเดินทางไปพบจักษุแพทย์ตามเวลานัดหมาย คือ บ่ายโมงตรง เป็นเวลาเดียวกับเมื่อปีก่อน ได้รับการตรวจเช็กตามขั้นตอนหมดทุกห้องตามระเบียบของสถานรักษาพยาบาล จึงมารอพบหมอ ปรากฏว่าครั้งนี้หนักหนาสาหัสมากกว่าเมื่อปีก่อน คือเหลือเวลาอีกไม่กี่นาทีจะหกโมงเย็นยังไม่มีทีท่าว่าจะมีโอกาสได้พบ

สอบถามหน้าห้องเธอบอกว่าเหลือคิวอีกมาก จึงตัดสินใจเดินทางกลับ

เมื่อมาสอบถามเจ้าหน้าที่ว่าไอ้ที่ตรวจและหยอดตาไปนั้นต้องเสียค่าใช้จ่ายเท่าไร? ไม่ได้พบหมอแต่ต้องจ่ายไปเกือบ 3 พันบาท

ถามซื่อๆ ตามประสาคนไม่รู้เรื่องว่า กับ “โรงพยาบาลเอกชน, สถานพยาบาลเอกชน” ที่คิดราคาค่ายา ค่าบริการทางการแพทย์แบบมหาโหดผิดปกติเหล่านี้ รัฐบาลมีมาตรการในการกำหนดดูแล “ควบคุม” บ้างหรือไม่?

รัฐบาลมีนโยบายอะไร? สำหรับการเข้าถึงการสาธารณสุข การรักษาพยาบาลของ “ประชาชนผู้ยากไร้” ชั้นล่าง รวมทั้ง “ผู้สูงวัย” บ้าง?

มีประสบการณ์เรื่องการ “รักษาดวงตา” กับโรงพยาบาลของรัฐมาบอกเล่าต่ออีก

ขอผลัดเป็นครั้งต่อไป