‘เบียร์’ ในประวัติศาสตร์ เบียร์ไทย ใช้ “ข้าวหอมมะลิ” เป็นวัตถุดิบในการปรุงเบียร์

ดอกฮอพ

เพียงแค่เสิร์ชข้อมูล จะพบว่าเบียร์เป็นเครื่องดื่มที่มีความเป็นมายาวนานกว่า 6,000 ปี โดยมีการค้นพบบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับแคว้นเมโสโปเตเมีย เมื่อราว 2,800 ปีก่อนคริสต์ศักราช ที่พูดถึงการแบ่งปันเบียร์และขนมปังให้กับผู้ใช้แรงงานในยุคนั้น

แต่ถ้าพูดถึงหลักฐานที่เป็นชิ้นเป็นอัน ต้องสมัยอียิปต์โบราณ พบภาพเขียนและภาพสลักเล่าเรื่องการผลิตเบียร์บนแผ่นหิน ว่ากันว่าครั้งนั้นใช้ขนมปังแห้งที่ทำจากข้าวบาร์เลย์มาป่นหยาบๆ ผสมกับน้ำ ปั้นเป็นก้อนก่อนจะนำไปปิ้งพอประมาณ แล้วเอาไปแช่น้ำหมักทิ้งค้างคืนจนขนมปังเริ่มบูดเกิดแอลกอฮอล์ เมื่อนำไปกรองจะได้น้ำเบียร์สีขาวมีฟอง รสชาติเปรี้ยว

ฟังดูแล้วช่างไม่น่าพิศสมัยเลยสักนิด…

ข้าวหอมมะลิ

อย่างไรก็ตาม ถ้าเป็นในทวีปยุโรป แน่นอนว่าประเทศที่รู้จักการผลิตเบียร์ก่อนที่อื่นคือ เยอรมนี กระทั่งทุกวันนี้ที่นี่ยังเป็นเมืองในฝันของคนรักเครื่องดื่มชนิดนี้ โดยเฉพาะในเทศกาลออคโทเบอร์เฟสต์

สำหรับ “ดอกฮ็อพ” ซึ่งเป็นส่วนผสมสำคัญในการทำเบียร์ เพิ่งเป็นที่รู้จักในศตวรรษที่ 14 หลังจากนั้นก็เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย จนดอกฮอพกลายเป็นของมีค่าราคาสูง

ในปี ค.ศ.1516 จึงมีการตั้งกฎแห่งความบริสุทธิ์ในประเทศเยอรมนี เพื่อกำหนดให้ผู้ผลิตเบียร์ต้องใช้เฉพาะข้าวมอลต์ฮอพและน้ำเท่านั้นสำหรับการผลิตเบียร์ ด้วยเหตุผลที่ว่าผู้บริโภค (น่า) จะได้รับความยุติธรรมในเรื่องของราคาและคุณภาพเมื่อใช้วัตถุดิบที่เหมือนกัน และยังใช้กฎนี้มาจนทุกวันนี้

…ยกเว้นในประเทศอื่นๆ

ดังนั้นจึงมีการนำเอาข้าวเจ้า ข้าวโพด มันหรือน้ำตาลมาใช้เป็นส่วนผสม ปนกับข้าวมอลต์ในการผลิตเบียร์ เพื่อสร้างความแตกต่างหลากหลาย และให้ผลลัพธ์ที่เป็นกลิ่นที่เป็นอัตลักษณ์ของแต่ละแบรนด์แต่ละสูตร

สำหรับประเทศไทยเองมีการนำ “ข้าวหอมมะลิ” มาเป็นส่วนหนึ่งของวัตถุดิบในการปรุงเบียร์ ตั้งแต่เมื่อ 10 กว่าปีก่อน เพียงแต่ไม่มีการประกาศถึงจุดขายอันเป็นเอกลักษณ์ของชาติอย่างเป็นทางการ

ที่มา : จากสกู๊ป http://www.matichon.co.th/news/431067 เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 17 ม.ค. 2560 โดย พนิดา สงวนเสรีวานิช