24 มกราคม 2543 ย้อนคดีดัง“ก๊อดส์อาร์มี่” พล.อ.สุรยุทธ์ เผยความในใจ “เป็นบาปที่ทหารต้องรับ”

(Photo by PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP)

วันที่ 24 มกราคม 2543 กองกำลังกะเหรี่ยง “กลุ่มก๊อดส์อาร์มี่” ประมาณ 10 คน ก่อเหตุสะเทือนขวัญขึ้นอีกครั้ง ด้วยการปลอมเป็นผู้โดยสารนั่งรถประจำทางสายสวนผึ้ง-ราชบุรี แล้วใช้ปืนเอ็ม-16 และระเบิด จี้คนขับรถให้พาไปยังโรงพยาบาลศูนย์จังหวัดราชบุรี จากนั้น ได้เข้ายึดโรงพยาบาล จับแพทย์ พยาบาล และคนไข้ประมาณ 1,000 คน เป็นตัวประกัน

เหตุการณ์ครั้งนั้น เจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยพยายามเข้าไปช่วยเหลือตัวประกัน แต่ไม่สำเร็จ เนื่องจากลุ่มก๊อดส์อาร์มี่ได้วางระเบิดดักไว้ที่ลานจอดรถทั้งด้านหน้าและด้านหลังโรงพยาบาล เจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยจึงเปลี่ยนเป็นใช้วิธีเจรจาต่อรองจนทราบว่ากลุ่มก๊อดส์อาร์มี่ต้องการนำแพทย์และพยาบาลไปรักษาทหารกะเหรี่ยงที่ได้รับบาดเจ็บจากการถูกทหารพม่าปราบปรามอย่างหนัก

AFP FILES / PORNCHAI KITTIWONGSAKUL

ขณะนั้น พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ผู้บัญชาการเหตุการณ์ในยุคที่มี นายชวน หลีกภัย เป็นนายกฯ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ นั่งเป็น มท.1 พล.อ.มงคล อัมพรพิสิฏฐ์ เป็น ผบ.สส. ในขณะที่ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ทำหน้าที่เป็น ผบ.ตร.

พล.อ.สุรยุทธ์ ย้อนเหตุการณ์นองเลือดในวันนั้นให้ฟังว่า เกือบ 20 ชั่วโมงของการเข้ายึดโรงพยาบาลศูนย์ราชบุรี ทุกฝ่ายพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะเจรจาขอให้ก๊อดส์อาร์มี่ทั้ง 10 คน วางอาวุธและยอมมอบตัวโดยวิธีสันติ แต่เมื่อเวลาผ่านไปนาทีแล้วนาทีเล่า จนล่วงเลยผ่านเข้าไปถึงวันที่ 25 มกราคม กลุ่มคนร้ายทั้งหมดก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะยอมรามือตามคำเรียกร้อง ในขณะที่ชะตากรรมของตัวประกันกว่า 500 ชีวิต ก็ยังลูกผีลูกคนและแขวนอยู่บนเส้นด้าย

สุดท้าย พล.อ.สุรยุทธ์จึงไฟเขียวให้ชุดเฉพาะกิจที่สนธิกำลังระหว่างทหารกับตำรวจ ซึ่งประกอบด้วย พลร่มป่าหวายจากหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ หน่วยนเรศวร 261 ของ ตชด. และหน่วยคอมมานโด จากกองปราบฯ เกือบ 100 คน เข้าปฏิบัติการขั้นเด็ดขาดกับ 10 ก๊อดส์อาร์มี่

พล.อ.สุรยุทธ์เผยนาทีชีวิตที่ร่วมลุ้นระทึกการทำงานของผู้ใต้บังคับบัญชาให้ฟังว่า

“ไม่มีหลักการที่ไหนเลยที่จะบอกว่าให้วางอาวุธแล้วยอมแพ้ เพราะตั้งแต่เกิดสถานการณ์มันมีการต่อรองกันมานานมาก ตั้งแต่ 8 โมงเช้า จนกระทั่งถึงประมาณตี 4 เรียกว่าเกือบตลอด 24 ช.ม. ก็มีการต่อรองกันมาตลอดอยู่แล้ว เมื่อตัดสินใจว่าต้องใช้กำลัง ก็คือต้องใช้ ถือว่าเราได้ตัดสินใจแล้ว ก็เหมือนตอนเราขับรถ เราจะเหยียบเบรก หรือจะเร่งน้ำมันก็ต้องทำอย่างหนึ่ง

หากทำสองอย่างพร้อมกันมันก็ทำไม่ได้ คนที่ตัดสินใจก็คือหน่วยจู่โจมที่อยู่บนกันสาด เขาได้รับการฝึกมาอย่างนั้น เขาไม่ได้นึกอะไรแล้ว นอกจากทำตามที่ได้รับการฝึกมา สิ่งที่จะปลอดภัยกับตัวประกันมากที่สุดก็คือจะต้องกำจัดผู้ที่เข้ามาดำเนินการให้เร็วที่สุด”

พล.อ.สุรยุทธ์ ยืนยันหนักแน่นถึงหนทางในอดีตที่เขาได้ตัดสินใจและเห็นว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องและเหมาะสม ที่สุดในขณะนั้น แม้ภารกิจเด็ดหัวกลุ่มก่อการร้าย จะจบลงด้วยความสำเร็จของชุดปฏิบัติการทหาร-ตำรวจ ที่จัดการเก็บเรียบ 10 นักรบก๊อดส์อาร์มี่แบบไม่เสียเลือดเนื้อ

แต่หลังเหตุการณ์สงบลง หลายคำถามก็พุ่งเป้าถึงชุดปฏิบัติและผู้รับผิดชอบ ในลักษณะใช้ความรุนแรงเกินความจำเป็นหรือไม่ ในขณะที่สื่อมวลชนหลายแขนงก็ตั้งข้อสังเกตในเรื่องที่กลุ่มก่อการร้ายทั้ง 10 คนยอมแพ้แล้ว แต่ก็ยังไม่พ้นชะตากรรมถูกสังหารเรียบวุธ พล.อ.สุรยุทธ์ชี้แจงข้อกังขาเรื่องนี้ให้ฟังว่า

ลูเธอร์-จอห์นนี่ แฝดลิ้นดำ อดีตผู้นำกองกำลังก็อดอาร์มี่ AFP PHOTO / PORNCHAI KITTIWONGSAKUL

“ยืนยันว่าไม่มีการจำนน ไม่มีใครบอกว่ายอมจำนนในตอนนั้น ช่วงนั้นก็ถือว่าได้ทำดีที่สุดแล้วในฐานะผู้บัญชาการเหตุการณ์ ช่วงที่ตัดสินใจว่าให้ใช้กำลังก็ประมาณตี 1-ตี 2 ที่คิดว่าต้องใช้กำลังเพราะว่า หนึ่ง เราต่อรองกันมานานแล้ว และทั้งหมดก็ไม่ได้มีท่าทีที่จะอ่อนข้อลงมาเลย ประการที่สอง ถ้าหากรอให้ถึงเช้าวันรุ่งขึ้นการใช้กำลังเข้าไปจู่โจมก็จะทำไม่ได้ นอกจากนี้ ผู้คนที่บาดเจ็บ หมอ พยาบาล ก็ผ่านเหตุการณ์มา 24 ช.ม.แล้ว เขาจะเป็นยังไง ผอ.ร.พ. ที่อยู่ด้วยกันในตอนนั้น ก็ยังบอกว่า ช่วยเถอะ…ช่วยทำเถอะ เพราะคนที่ตกเป็นตัวประกันนั้น แย่หมดแล้ว”

“ส่วนหนึ่งหากจะถามว่าบาปไม่บาป ก็ต้องยอมรับบาป แต่นั่นก็คือบาปที่ทหารต้องยอมรับ เราในฐานะที่เป็นผู้บังคับการเหตุการณ์ก็ต้องทำใจว่านั่นคือบาปที่เราต้องยอมรับ แต่ก็เป็นการทำเพื่อบ้านเมือง เราไม่ได้ทำเพื่อคนหนึ่งคนใด แต่ทำเพื่อคนส่วนใหญ่ที่เขาไม่รู้อีโหน่อีเหน่ แต่ถูกจับไปเป็นตัวประกัน เพราะฉะนั้น เราก็ต้องยอมบาป ด้วยการใช้กำลังเข้าดำเนินการ”

“มันง่ายที่จะพูดว่า…น่าจะดูว่ามีใครยอมแพ้บ้าง ไม่ยอมแพ้บ้าง ทำไมต้องใช้วิธีรุนแรงขนาดนี้ วิธีอื่นไม่มีหรือ การพูดแบบนี้มันง่าย แต่อยากจะบอกว่าเวลาเจอสถานการณ์จริงๆ มันไม่เหมือนในหนัง เพราะเสี้ยวเวลาของการตัดสินใจเรื่องคอขาดบาดตายแบบนี้มันมีเวลานิดเดียว” 

“หากเรามาวิจารณ์ทีหลังมันก็ดูง่าย ฟังง่าย เพราะมันไม่มีแรงกดดันอะไร แต่คนที่ขึ้นไปเขามีความกดดันมหาศาล ไหนจะต้องไม่ให้ฝ่ายตรงข้ามเห็น แถมยังต้องเข้าไปให้ใกล้ที่สุดเพื่อให้ทุกคนเห็นเป้าของตัวเอง กว่าจะถึงจุดนี้ได้ก็เกือบตี 5 จากที่เข้าไปตั้งแต่ตี 2”

“ตอนลงมือในช่วงนั้นหัวหน้าชุดเขาก็ควบคุมกันเอง เขาก็จะถามกันเองว่าข้างบนพร้อมแล้วหรือยัง ข้างล่างพร้อมหรือยัง เราก็ฟังเขาอยู่ ได้ยินเสียงการทำงานตลอด ก็เป็นธรรมดาที่ต้องลุ้น เพราะมีความกังวลว่าจะมีความสูญเสียเกิดขึ้น ทั้งผู้ปฏิบัติงานและตัวประกัน ตอนนั้นก็นึกว่าทำให้ดีที่สุดและพยายามไม่ทำให้ใครบาดเจ็บ”

พล.อ.สุรยุทธ์ เผยความรู้สึกในใจถึงทางเลือกที่เขาเห็นว่าดีที่สุดในขณะนั้น…

AFP PHOTO / PORNCHAI KITTIWONGSAKUL

หมายเหตุ: บทสัมภาษณ์เผยแพร่ครั้งแรกในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 13-19 ก.พ. 2547 ชื่อบทความ “กุดหัว 10 นักรบ ก๊อดส์อาร์มี่ บาปในใจ”สุรยุทธ์” …เรื่องจริงที่ยากจะลืม”