วิเคราะห์ : เศรษฐกิจไทยในจุดเสถียรภาพและสงบราบคาบมาก

ดูเหมือนว่า ผู้กุมอำนาจการบริหารรัฐไทยอยู่ ณ เวลานี้จะมีเป้าหมายทางเศรษฐกิจและการเมืองสังคมที่สอดคล้องกันโดยไม่ได้นัดหมาย

โดยฝ่ายคุมนโยบายเศรษฐกิจการเงินภาพรวมคือธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีแนวนโยบายออกมาเห็นได้ชัดเจนว่ามุ่งเน้นไปที่การควบคุมให้มีเสถียรภาพเป็นสำคัญ ขณะที่ฝ่ายที่คุมอำนาจบริหารการเมืองก็มุ่งเน้นให้เกิดความสงบ ไม่ให้มีความคิดเห็นที่ขัดแย้ง ไม่ให้เห็นที่แตกต่าง

ขณะที่ภาคธุรกิจเห็นว่า ทุกวันนี้ปัญหาใหญ่ของเศรษฐกิจคือปัญหากำลังซื้อตกต่ำ ด้วยปัจจัยต่างๆ จากภายในประเทศและต่างประเทศเข้ามากระทบ เห็นได้ชัดเจนจากยอดขายสินค้าต่างๆ ในตลาดขณะนี้ตกต่ำลงเรื่อยๆ อย่างรวดเร็ว และมีแนวโน้มจะลดต่ำลงไปอีก

ภาคเอกชนจึงมีความเห็นว่าควรที่รัฐจะมีมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ให้ชะลอลงไปมากกว่านี้

 

แต่นโยบายจากภาครัฐ โดยเฉพาะจาก ธปท.กลับให้ความสำคัญกับปัญหาเสถียรภาพ

ตัวอย่างที่ถกเถียงกันอยู่เวลานี้ คือมาตรการ LTV หรือ Loan to Value ซึ่งเป็นการควบคุมหลักทรัพย์ค้ำประเมินสินเชื่อกับยอดสินเชื่อปล่อยกู้ หรือการกำหนดวงเงินดาวน์

หลังจากบังคับใช้ 1 เมษายน 2561 มีผลกระทบไม่เพียงการซื้อเพื่อลงทุนหรือเก็งกำไร แต่มีผลถึงการซื้ออยู่อาศัย การซื้อที่อยู่อาศัยแนวราบที่ไม่ใช่ตลาดลงทุนเก็งกำไร เมื่อแบงก์ชาติส่งคนไปสำรวจผลกระทบและรับฟังความเห็นนักพัฒนาอสังหาฯ หลายฝ่ายแอบดีใจว่า แบงก์ชาติจะทบทวนมาตรการ LTV

แต่ถึงเวลานี้ ซึ่งแบงก์ชาติน่าจะสำรวจมาครบทุกด้านแล้ว กลับมีน้ำเสียงจากผู้บริหารแบงก์ชาติออกมายืนยันว่าจะเดินหน้ามาตรการ LTV ต่อไป

เพราะเป็นมาตรการระยะยาวในการรักษาเสถียรภาพตลาดอสังหาฯ

และยังมีรายงานข่าวไม่เป็นทางการมาอีกว่า เพื่อป้องกันปัญหาหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้อสังหาฯ แบงก์ชาติจะพิจารณาออกมาตรการเข้มงวดการปล่อยกู้สินเชื่อที่อยู่อาศัยโดยให้พิจารณาภาระหนี้เดิมผู้กู้ให้ละเอียดขึ้น

พิจารณาความเสี่ยงจากอาชีพ อายุผู้กู้ ให้มากขึ้นด้วย

 

ฟังแล้วเข้าใจได้ว่า แบงก์ชาติมุ่งขจัดอะไรที่เป็นความเสี่ยงกับเสถียรภาพอย่างเต็มกำลัง เหมือนกับไม่ยอมให้วัชพืชขึ้นในนาข้าวแม้แต่นิดเดียว

ยอมให้ยาฆ่าหญ้าฤทธิ์แรงเพื่อขจัดวัชพืช แม้จะมีต้นข้าวในนาเสียหายก็ยอม

ส่วนเรื่องการให้ปุ๋ยบำรุงต้นข้าวให้ออกรวงดกงามนั้น ดูเหมือนไม่มีใน “ลิ้นชัก” มาตรการของแบงก์ชาติ

ดูไปแล้วคล้ายกับแนวการดำเนินนโยบายการบริหารประเทศของรัฐบาล ที่มุ่งเน้นความสงบเรียบร้อย ด้วยการขจัดความคิดเห็นที่แตกต่างด้วยรูปแบบต่างๆ

เพราะเชื่อว่า ความเห็นพ้องต้องกันของคนส่วนใหญ่ เป็นความสงบ ความคิดเห็นที่แตกต่างเป็นฝ่ายตรงกันข้าม เป็นความขัดแย้ง เป็นความไม่สงบ จนมีคนล้อเลียนว่า อย่างนี้ไม่ใช่สงบเรียบร้อย แต่เป็นสงบราบคาบ

ในความเป็นจริงของสังคมส่วนใหญ่ในโลกนี้ เขาเป็นความสงบจากการอยู่ร่วมกันของความหลากหลายชาติพันธุ์ ความแตกต่างทางความเชื่อ ที่อยู่ร่วมกันได้ด้วยการยอมรับกันและกัน และภายใต้กฎหมายเดียวกัน

ต้องรอติดตามกันต่อไปว่า

การมีเสถียรภาพระบบการเงินแบบสุดๆ การมีความสงบแบบสุดๆ ที่รัฐกำลังมุ่งหน้าไปทุกวันนี้ จะนำพาสังคมและเศรษฐกิจไทยไปทางไหน