มุกดา สุวรรณชาติ : เจาะนโยบายรัฐบาล ทำได้จริงหรือราคาคุย?

มุกดา สุวรรณชาติ

รัฐบาลใหม่จะมีโอกาสได้ทำตามนโยบายหรือไม่

เนื่องจากการถวายสัตย์ปฏิญาณของ ครม.และการแถลงนโยบาย ยังมีความไม่เรียบร้อย ไม่ตรงตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 161 และ 162

ดังนั้น ความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลจึงยังไม่อยู่ในระดับที่ไว้วางใจได้

โดยเฉพาะนักการเมืองซึ่งถือว่าอำนาจเคลื่อนไหวได้ ย้ายที่ได้ตลอดเวลา เสียงปริ่มน้ำขนาดนี้ ใครก็เสียว

ในระดับนานาชาติก็ถือว่ามีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของรัฐบาลในแง่ความมั่นคงทางการเมือง และผู้ต้องการมาลงทุน มาเซ็นสัญญางานใหญ่ๆ เพราะไม่แน่ใจว่ารัฐบาลนี้จะอยู่ต่อได้หรือไม่ อยู่ต่อแล้วอยู่ได้นานหรือไม่

ดูจากวันที่นายกฯ พูดว่าขอรับผิดชอบแต่ผู้เดียว ยังมีผู้เอาไปตีความแล้วลือกันว่า จะลาออก แรงกดดันแบบนี้ มาทั้งข้างบนข้างล่าง เนื่องจากขณะนี้คะแนนเสียงของฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายค้านสูสีกันมาก ถ้าพรรคการเมืองจิ๋วขยับตัวออกไม่หนุนรัฐบาลจริงๆ ก็อาจแพ้เสียงฝ่ายค้านได้ทุกเมื่อ

ดังนั้น ในระดับประชาชน จึงคิดกันว่าสิ่งที่รัฐบาลแถลงเป็นนโยบายจะทำได้หรือไม่ เพราะ

1. การถวายสัตย์ และแถลงนโยบายยังไม่รู้ว่าต้องทำอีกรอบให้ถูกต้องหรือไม่ ถ้าไม่ทำเกิดปัญหาขึ้นมา มติ ครม.ต่างๆ จะถือเป็นโมฆะหรือไม่ …อาจจะเกิดการอภิปรายไม่ไว้วางใจหรือมีปัญหาอื่นทำให้รัฐบาลล้มไปก่อนนำนโยบายไปปฏิบัติ

2. การพิจารณางบประมาณประจำปี จะผ่านหรือไม่

ถ้าไม่ผ่าน รัฐบาลก็ล้ม แต่ถ้าจะลุยให้ผ่าน ทั้งๆ ที่แพปริ่มน้ำ ถ้าไม่อยากให้แพแตก ก็ต้องทุ่มงบประมาณให้กับการต่อรองของพรรคต่างๆ แม้เสียงเดียวก็ไม่ปล่อยให้หลุดไป

แถมยังต้องแอบไปเอาใจงูเห่าที่อยู่บนแพอื่น

ดังนั้น งบประมาณจะถูกดึงกระจายไปตามท้องถิ่นของพรรค และ ส.ส.ที่ต่อรอง ทั้งในแพตัวเอง และงูเห่า

การแปรญัตติวาระ 2 คงจะยาวเหยียด และอำพราง เพื่อไม่ให้ขัดรัฐธรรมนูญ กว่างบประมาณจะใช้ได้คงปลายปี หรือปีใหม่

โทษใครไม่ได้ เพราะอยากร่างรัฐธรรมนูญมาแบบนี้ ทำให้เสียงแตก ทฤษฎีแบ่งแยกแล้วปกครอง กลายเป็นปกครองยาก พังง่าย ใช้เวลานานกว่าจะตั้งรัฐบาลได้ เงินที่จะมากระตุ้นเศรษฐกิจก็ออกช้าไปด้วย

3. และถึงแม้ว่ารัฐบาลจะไม่ถูกล้มโดยวิธีทางรัฐสภา ก็มีคำถามตามมาว่านโยบายต่างๆ ที่รัฐบาลแถลงไม่ได้บอกแหล่งที่มาของเงินเลย และโครงการแต่ละอย่างนั้นล้วนแล้วแต่ใช้เงินจำนวนมากทั้งสิ้น จะหาเงินจากไหน

ดูแล้วไม่มีโครงการเล็ก แต่ละอย่าง 80,000-120,000 ล้าน

 

วิเคราะห์โครงการที่พรรคพลังประชารัฐจะทำทันที

“สิ่งที่ดำเนินการขณะนี้เป็นการเตรียมความพร้อม เมื่อรัฐบาลใหม่มาบริหารประเทศก็จะได้รับการผลักดันทันที ไม่ว่าจะเป็นบทบาทไหนก็ตาม เพราะเวลานี้พวกเราช้าไม่ได้ ประเทศต้องการความเปลี่ยนแปลงในแนวทางที่ดีขึ้นอย่างเร่งด่วน”

1. บัตรประชารัฐ “เพิ่มคน เพิ่มสิทธิ เพิ่มทักษะ เพิ่มโอกาส”… มีคนที่อยู่ในข่ายต้องช่วยเหลือประมาณ 14.5 ล้านคน…

ถ้าดูจากของเดิมจนถึงเดือนกรกฎาคม …บัตรสวัสดิการแห่งรัฐสามารถช่วยค่าซื้อของประมาณเดือนละ 200-300 บาท ค่าโดยสารในการเดินทางเดือนละ 500 บาท เงินผู้พิการ 200 บาท เงินค่าเช่าบ้าน 400 บาท (ต้องอายุ 60) เงินค่าน้ำไม่เกิน 100 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน เงินค่าไฟไม่เกิน 230 ต่อครัวเรือนต่อเดือน

ถ้ารัฐเพียงแต่จ่ายคนละ 1,000 บาทต่อเดือน ผู้ใช้สิทธิ์คนจนประมาณ 14 ล้านคนก็ตกเดือนละ 14,000 ล้าน ปีละ 168,000 ล้าน อันนี้ไม่เกี่ยวกับเบี้ยยังชีพคนชรา การแจกเงินตรงนี้ไม่มีอะไรซับซ้อน ขอเพียงมีเงินก็สามารถแจกได้ งานนี้ได้คะแนนเสียงคนชราที่อยู่อย่างขัดสนไปมาก ผลการสำรวจหลังเลือกตั้งคะแนนของผู้สูงวัย 60 ปีขึ้นไป พลังประชารัฐได้ไป 50% เพื่อไทย 27% อนาคตใหม่ 5%

ในกระแสการเมืองที่ไม่แน่นอน อาจมีเลือกตั้งใหม่เมื่อไรก็ได้ ดังนั้น รัฐบาลใหม่จะเดินนโยบายแจกเงินสวัสดิการต่อแน่นอน แต่จะเพิ่มหรือลดในรายละเอียดเล็กน้อย

2. บ้านล้านหลัง “ผ่อนถูกกว่าเช่า ฟรีเงินดาวน์” โครงการเรื่องบ้านที่อยู่อาศัยก็เป็นสิ่งที่ทำได้โดยการค่อยๆ เริ่มทำในท้องถิ่นต่างๆ แล้วแต่รัฐบาลจะกำหนด ที่สำคัญคือการควบคุมไม่ให้มีการทุจริตเรื่องการซื้อที่การก่อสร้าง แล้วต้องคาดคะเนกำลังซื้อของประชาชนให้ดีว่าจริงๆ แล้วเขามีความสามารถที่จะซื้อและผ่อนชำระได้หรือไม่ จะกลายเป็นหมู่บ้านร้างหรือไม่ โครงการนี้ไม่ได้เสียง แต่จะมีคนได้ประโยชน์

3. พักหนี้กองทุนหมู่บ้าน 3 ปี “พักหนี้ ฟื้นฟู เติมทุน ให้โอกาส”

เรื่องการพักหนี้นั้นก็เป็นเรื่องดีเพราะในสภาพเศรษฐกิจขณะนี้ชาวบ้านมีเงินที่จะมาชำระหนี้น้อยมาก เพียงแต่ว่าถ้าไม่มีเงินเก่าคืนมาหมุนเข้ากองทุน การหาเงินใหม่จ่ายให้กับกองทุนหมู่บ้านก็จะกลายเป็นภาระหนัก ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลนี้จะฟื้นฟูเติมทุนและให้โอกาสกับหมู่บ้านต่างๆ เท่าไร

โครงการนี้ต้องใช้ไม่น้อยกว่า 80,000-100,000 ล้านต่อปี

ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 80,000 กองทุน แต่ส่วนใหญ่ยังมีสภาพดี ที่มีปัญหาตัวเลขเมื่อ 2 ปีก่อนประมาณ 6,000-8,000 แห่ง

แต่จากสภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำต่อเนื่อง คาดว่ากองทุนหมู่บ้านที่มีปัญหาจะเพิ่มมากขึ้น เพราะลูกหนี้ในทุกหมู่บ้าน ซึ่งเป็นหนี้คนละ 20,000-40,000 บาท ไม่สามารถแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนได้ มีแต่เพิ่มขึ้นเป็นดินพอกหางหมู

ลูกหนี้ที่รอดได้คือผู้ที่กู้แล้วนำไปลงทุนทางเกษตร ค้าขาย ฯลฯ แล้วสำเร็จ พวกที่ขาดทุน หรือกู้ไปใช้จ่าย คงหามาคืนยากมาก ถ้าจ่ายกองทุนละ 1 ล้าน ก็จะใช้ประมาณ 80,000 ล้านต่อปี

4. ดูแลราคาสินค้าเกษตร (ข้าว อ้อย ยาง มัน ปาล์ม) นโยบายด้านการเกษตรอย่างไร อย่างที่เคยบอกไว้ว่าระบบการเกษตรสมัยใหม่รัฐบาลประเทศที่ก้าวหน้า บริษัทใหญ่ระดับโลกได้ไปเช่าที่ในพื้นที่ขนาดใหญ่ทำการเกษตรแปลงใหญ่แปลงเป็นหลายหมื่นไร่ ไปจนถึงเป็นแสนเป็นล้านไร่

ดังนั้น สามารถผลิตสินค้าการเกษตรต้นทุนต่ำออกมาแข่งราคาในตลาดโลกได้ ประเทศที่เคยเป็นผู้ซื้อ บัดนี้ได้มีแหล่งการเกษตรของตัวเอง ผลิตตามที่ตัวเองต้องการ การเข้ามาหาซื้อในตลาดไทยจะน้อยลงอย่างมาก แม้แต่ประเทศในตะวันออกกลางก็ไปเช่าที่ทําการเกษตรในเขตพื้นที่อุดมสมบูรณ์ ประเทศเล็กๆ ในยุโรปก็ทำเช่นนี้ ประเทศใหญ่อย่างจีนก็ทำ ประเทศทันสมัยในพื้นที่ไม่สมบูรณ์อย่างเกาหลีใต้ก็ทำเช่นนี้

แม้แต่ประเทศไทยก็มี ปตท. ไปลงทุนที่อินโดนีเซีย เช่าที่ปลูกปาล์มน้ำมัน 78,877 เฮกตาร์ เกือบ 500,000 ไร่ (แต่ของเราดันไปดังเรื่องมีการโกงกัน ป.ป.ช.สอบไปสอบมา ต้องข้ามไปสอบถึงอินโดนีเซีย ตอนนี้ถูกทางอินโดฯ กล่าวหาว่า เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.รับสินบน ตามกฎหมายใหม่ ป.ป.ช.ถูกฟ้องได้ ต้องดูกันต่อไปว่าจะจบอย่างไร)

ดูเป้าหมาย ราคาสินค้าเกษตรที่รัฐตั้งไว้ ถ้าจะให้ได้ตามนั้น รัฐก็ต้องยอมขาดทุน (แต่ไม่เรียกว่าขาดทุนเดี๋ยวจะโดนข้อหาทำให้ประเทศชาติเสียหาย) โดยหาเงินอุดหนุนพืชทุกชนิดที่สัญญาไว้ ตั้งชื่อต่างๆ แล้วจ่ายต่อไร่ หรือต่อตัน ตรงนี้ยังกำหนดวงเงินไม่ได้ แต่มหาศาลแน่นอน เพราะรัฐไปหาเสียงกับสินค้าเกษตรไว้หลายชนิด เมื่อวานมีคนจากชุมพรแจ้งว่าขายยางพาราได้กิโลละ 38 บาทเท่านั้น ยังห่าง 60 อีกไกล

5. เสริมแกร่ง SMEs ไทย “คนตัวเล็ก ล้มแล้วลุก” …นโยบายนี้คงทำได้แค่หาเงินกู้เพิ่มให้ แต่ช้าไปแล้ว SMEs ที่มีปัญหามีจำนวนมหาศาล ยอดขายปี 2557 ลดลง 30% 2558 ลด 50% 2559-2562 ลด 70% แม้ธนาคารพยายามปรับโครงสร้างหนี้ให้เกิดหนี้เสียน้อย แต่ส่วนใหญ่ไปไม่รอด ต้องถูกยึดทรัพย์สิน หรือเลิกกิจการขายทิ้ง ตั้งแต่ 2559 มาจนปัจจุบัน

ลองไปสำรวจตัวเลขหนี้เสียกับธนาคารดูก่อน จะรู้ว่า SMEs ตัวจริงจำนวนมากล้มแล้วลุกไม่ขึ้น ถ้ามีเงินกู้มาช่วย ให้สำรวจให้ดี ว่าช่วยใคร มิฉะนั้น จะมีคนเอาเงินรัฐไปทำฟูก ก่อนจะล้มแบบนิ่มๆ

6. ส.ป.ก. 4-01 “ใช้ประโยชน์ โอนสิทธิ เพิ่มมูลค่า” เรื่องนี้มีกฎหมายควบคุม ไม่แน่ว่าจะทำได้ ถ้าขายที่ดินได้วุ่นแน่ ถ้าเอาไปทำรีสอร์ตได้ ก็ยังวุ่น ควรถามพรรค ปชป. เพราะนายกฯ ชวนเคยยุบสภา เนื่องจากเรื่องที่ดิน ส.ป.ก.มาแล้ว ระวังให้ดีที่ดิน ส.ป.ก.สวยๆ จะถูกโอนสิทธิไปอยู่ในมือผู้มีอำนาจ มีเงิน

7. มารดาประชารัฐ ดูแลตั้งแต่อยู่ในท้องถึง 6 ขวบ

อันนี้เป็นเรื่องใหญ่ของชาวบ้าน ความหวังเหล่านี้ชาวบ้านไม่ได้คิดเอง แต่พรรคการเมืองมาสัญญาไว้…ต้นกับก้อยเป็นสามีภรรยากัน ทั้งคู่ยังไม่ยอมมีลูก เพราะกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย แต่ตอนนี้ ต้นมีความหวังวาบขึ้นมาในใจ ก่อนการเลือกตั้ง แต่ละพรรคมีนโยบาย มีการหาเสียงกันครึกโครม เขาเปิดโซเชียลดูข่าวการเมืองแล้วโดนใจพรรคพลังประชารัฐที่สุด

“เราเลือกพรรคนี้แหละก้อย” ต้นบอกเมีย “เรามีลูกได้แล้ว รัฐบาลจะช่วยเลี้ยง”

“พอตั้งท้องก็ได้เดือนละสามพันเลยนะเว้ย” ต้นหัวเราะ

“พอคลอดได้หมื่นหนึ่ง มีเงินช่วยเลี้ยงลูกอีกเดือนละสองพันจนหกขวบแน่ะ” ต้นจำรายละเอียดได้แม่นยำไม่ตกหล่น “บ๊ะ อะไรจะดีขนาดนี้ ถ้ามีลูกสองคนก็ได้เดือนละสี่พัน”

“จะเอาเงินจากไหนมาจ่าย เด็กมีกี่ล้านคน” ก้อยส่ายหน้า

“มันต้องมีสิ ไม่งั้นเขาจะเขียนนโยบายออกมาได้ไง”

“แล้วพอเด็กหกขวบก็ไม่มีรัฐบาลช่วยเลี้ยงแล้ว พวกมึงมิแย่รึ” แม่ยายได้ยินเลยถามเสียงดังออกมาจากในครัว “ไม่ต้องห่วงหรอกแม่ ประชาธิปัตย์เขาจะให้ค่าอาหารเช้ากับกลางวันที่โรงเรียนด้วยจ้ะ แถมเรียนฟรีถึง ปวส.” ต้นตอบสีหน้ายิ้มแย้ม

 

ถ้าหากจะมองการเปลี่ยนนโยบายให้เป็นการปฏิบัติที่เป็นจริงก็จะพบว่ายังมีปัญหาอีกมากมาย ยกตัวอย่างนโยบายมารดาประชารัฐ นโยบายเด็ก 1 คนต้องใช้เงินตามโครงการจนถึงอายุ 6 ขวบเป็นเงิน 181,000 บาท ปัจจุบันมีประชากรอยู่ประมาณ 67 ล้านคน มีเด็กเกิดใหม่ปีละประมาณ 7 แสนคน ดังนั้น จึงต้องเตรียมงบประมาณให้กับเด็กแต่ละรุ่น 126,700 ล้าน ปีต่อมาก็จะมีเด็กเกิดใหม่และเข้าโครงการอีกจำนวนใกล้เคียงกันจะต้องเตรียมเงินอีก 126,700 ล้าน นี่จะเป็นงบฯ ผูกพันไปหกปี

อีกปัญหาที่ตามมาก็คือในเชิงยุทธศาสตร์ของชาติ เราคิดว่าต้องการเพิ่มประชากรให้มากขึ้นหรือไม่ เพราะโครงการแบบนี้อาจทำให้คนคิดว่าการมีลูกมากไม่เป็นไรเพราะรัฐช่วยเลี้ยงดู ถ้าเขาเชื่อตามนโยบายที่หาเสียงเอาไว้ก็คิดว่า…ตั้งแต่เริ่มท้องจนคลอดได้รับเงิน และยังได้ค่าดูแลเด็กจนถึง 6 ขวบ มีโรงเรียนที่เลี้ยงอาหารฟรีถึงมัธยม มีการเรียนฟรีจนถึงชั้น ปวส. จบแล้วมีเงินเดือน 18,000 บาท คิดแบบนี้แล้วก็น่าจะมีลูกเยอะๆ

ยังมีคำถามจากชาวบ้านว่า เด็กๆ ที่เกิดก่อนหน้านั้น แต่ยังไม่ถึง 6 ขวบจะได้สิทธิอะไรบ้าง ทันทีที่ใช้นโยบาย เด็กที่คลอดมาก่อนจนถึง 5 ขวบกว่าจะรอคอยอยู่อีกไม่น้อยกว่า 3 ล้านคน จะจ่ายคนละ 2,000 ต่อเดือนหรือไม่

ตอนนี้บางบ้านคิดว่า…มีลูกมากไม่กลัวยากจน… มี 3 คนได้เดือนละ 6,000

และอย่าคิดว่าคนชั้นกลาง คนรวยจะไม่ใช้สิทธิ รับเงินช่วยปีละ 24,000 ทุกคนที่มีลูกรับทั้งนั้น อย่างน้อยก็เพื่อสำรองยามมีปัญหา

 

แต่ในสภาพความเป็นจริงของสังคม เศรษฐกิจ การแข่งขันทั้งภายในและนอกประเทศ พวกเขาจะสามารถฝ่าไปได้จนเรียนจบหรือไม่ อาจจะมีบางครอบครัวที่คิดแบบ

ต้นกับก้อย…ถ้ามีลูก 2 คนจะได้เงิน 4,000 บาททุกเดือน สามารถประคองชีวิตต่อไปในรอบ 6 ปี จากนั้นค่อยไปตายเอาดาบหน้า ความสามารถของรัฐไทยและสภาพสังคมของเราจะเลี้ยงดูสวัสดิการแบบนี้ไปได้จริงหรือ จบแล้วมีงานทำจริงหรือ

เมื่อใดที่รัฐไม่มีเงินจ่ายขึ้นมา หมายความว่าเด็กเล็กทั้งหลายจะต้องเผชิญกับชะตากรรมในวังวนความยากจนข้นแค้นร่วมกับพ่อแม่

ในกลุ่มผู้วิเคราะห์มองเห็นด้านดีของนโยบาย อยากให้ประชาชนได้รับผลประโยชน์จากนโยบายเหล่านี้ แต่แผนการนำนโยบายไปปฏิบัติต้องคิดให้ละเอียดรอบคอบ จะได้ไม่เกิดปัญหาในภายหลัง ที่ยกมานี้เป็นเฉพาะที่เร่งด่วน ยังมีของเก่า เช่น 30 บาทรักษาทุกโรคก็ใช้เป็นแสนล้าน แต่ดูแลคนเกือบ 47 ล้านคน และอีกสารพัดโครงการ

สิ่งที่รัฐบาลต้องคำนึงถึงคือ การใช้งบประมาณครั้งนี้ จะมีสภาผู้แทนฯ มาตรวจสอบอย่างละเอียด ไม่ใช่สภาที่ตั้งกันเอง แบบขอให้ผ่านๆ ไปก็ได้ ทั้งยังมีชาวบ้านจับตาดูอยู่ที่ปลายทาง นี่ล้วนแล้วแต่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญที่พวกท่านร่างขึ้นมาเองทั้งสิ้น