ส่องชนวนปัญหาชายแดนใต้ ? สู่เหตุบึ้มกลางกรุง

ด้วยพระนามของอัลลอฮ์ ผู้ทรงเมตตากรุณาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญเป็นกรรมสิทธิ์ของพระองค์ผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีแด่ผู้อ่านทุกคน

จากที่มีระเบิดในกรุงเทพมหานครช่วงวันที่ 1-2 สิงหาคม 2562 (ผู้เขียนอยู่ทำภารกิจที่กรุงเทพมหานคร) และมีการจับกุมผู้ต้องสงสัยจากชายแดนใต้ 2 คน จนมีการเชื่อมโยงในโลกโซเชียลว่ามีความเชื่อมโยงกับชายแดนใต้

หลังจากนั้น วันที่ 3 สิงหาคม 2562 กลางดึกก็มีระเบิดที่ชายแดนใต้อีกหลายจุด (ผู้เขียนนอนอยู่โรงแรมซีเอสปัตตานี มาทำภารกิจประชุมประชาสังคมที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี)

มีข้อวิพากษ์วิจารณ์ความเชื่อมโยงระเบิดทั้งสองพื้นที่ได้หลายประเด็น

การจับกุมผู้ต้องสงสัยชายแดนใต้

ตามที่สื่อทั่วประเทศพาดหัวข่าว (เช้า 3 สิงหาคม 2562) ว่า ผู้ต้องหาจากชายแดนใต้ 2 คนสารภาพว่าวางระเบิดที่ กทม.เพื่อแก้แค้นให้คนชายแดนใต้ที่ถูกกระทำจากรัฐช่วงนี้ (ซึ่งตอนหลังค่ำ 3 สิงหาคม 2562 โฆษกรัฐบาลออกมาปฏิเสธแล้วว่าไม่จริง) ทำให้ผู้คนจากชายแดนใต้ตั้งข้อสังเกตหลายประการ เช่น ไม่แน่ใจว่าการพาดหัวข่าวมือบึ้มพาดได้ไหม เพราะที่จับสองคนนั้น เดิมว่าวางแค่กล่องปริศนาไม่ใช่ระเบิดจริง แต่ระเบิดจริงอีก 7 จุดเมื่อ 2/8/2562 และมีผู้บาดเจ็บด้วย

คนในพื้นที่จึงยังไม่ปักใจเชื่อว่าเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ภาคใต้ และทุกกระแสพุ่งเป้าไปที่ความขัดแย้งการเมืองส่วนกลาง แม้จะมี ส.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ พยายามเอารูปคล้ายผู้ต้องสงสัยกับอดีตแกนนำนักศึกษา Permas รายหนึ่ง จับแพะชนแกะกับแกนนำพรรคอนาคตใหม่ที่ไปเยี่ยมผู้ได้รับบาดเจ็บในคดีความมั่นคง ว่าเป็นเครือข่ายเดียวกัน คนชายแดนใต้และทั่วไปก็ยังไม่เชื่อ

จนในที่สุดมีการวางระเบิดหลายจุดที่ชายแดนใต้คืนวันที่ 3 สิงหาคม 2562 และปฏิเสธไม่ได้ว่ากระแสมวลชนนอกพื้นที่เริ่มเห็นสอดคล้องกับข่าวนี้ (หากติดตามข้อมูลการคอมเมนต์โลกโซเซียล)

ทำไมคนในพื้นที่ไม่เชื่อเป็นฝีมือกลุ่มขบวนการ

ข้อสังเกตทุกสำนักข่าวนักวิเคราะห์การเมือง เช่น ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข มองว่า “นี่คือระเบิดการเมือง” (จากวิเคราะห์ข่าวเช้าทาง Voice TV) เพราะเหตุการณ์ดังกล่าวเสมือนยิงนกได้หลายตัว

หนึ่ง รัฐกำลังเพลี่ยงพล้ำกรณีคดีอับดุลเลาะ ที่มีอาการเป็นเจ้าชายนิทราขณะอยู่ในค่ายทหาร ทำให้รัฐถูกโจมตีเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนจนอาจนำไปสู่การยกเลิกกฎหมายพิเศษในพื้นที่ที่ใช้มา 15 ปีไฟใต้

สอง การเมืองส่วนกลางที่ฝ่ายค้านมีคุณภาพขณะที่รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ และประยุทธ์เพลี่ยงพล้ำกรณีการถวายสัตย์ไม่ครบถ้วนหรือไม่

สาม จุดที่ระเบิดหลายจุดภาคใต้เป็นสถานศึกษาศาสนา ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัย (สอนศาสนาอิสลาม) ฟาฏอนี ของอธิการบดี ดร.อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา และหน้าโรงเรียนอาซิซสถาน อำเภอโคกโพธิ์ ของท่านอับดุลวาฮับ อับดุลวาฮับ ซึ่งทั้งสองท่านเป็นผู้นำศาสนาอิสลามที่คนนับแสนคนในพื้นที่นับถือ ยิ่งเป็นไปไม่ได้ว่ากลุ่มขบวนการอุดมการณ์จะทำ

กอปรกับมีการแชร์กล้องวงจรปิดจับภาพชายฉกรรจ์คล้ายคนในเครื่องแบบถืออาวุธครบมือกำลังวางระเบิดตู้เอทีเอ็มหน้ามหาวิทยาลัยฟาฏอนี อย่างชำนาญและไม่เกรงกลัวรถผ่านไปมา (ชาวโลกโซเชียลตั้งคำถามมากมายว่าเหตุการณ์เกิดใกล้ด่านหน่วยความมั่นคง โปรดดูใน https://www.facebook.com/wartanimap/videos/505465776926852/UzpfSTEyNDU2MDQxMTE6MTAyMjAwNjk5NjEwNzk3MzA/)

นายอัคชา พรมสูตร จากพรรคประชาชาติจากสุรินทร์ได้วิเคราะห์ว่า การระเบิดทั้ง กทม. และชายแดนใต้นั้นคือ “การฆาตกรรมต่อเนื่องทางการเมือง” https://www.facebook.com/shukur.dina/videos/pcb.10220066684477817/10220066681117733/?type=3&theater

คนชายแดนใต้ถูกเหมารวม

เหตุการณ์ครั้งนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีการเหมารวมคนชายแดนใต้ว่าเป็นโจร และมีการสร้างความเกลียดชัง

ระหว่างที่ กทม.ยังวุ่นวายกับการหาตัวผู้ก่อเหตุระเบิด นางสาวปารีณา ไกรคุปต์ (ขาประจำ) ส.ส.พลังประชารัฐ แชร์โพสต์กล่าวหาบุคคลที่สาม แถมโยงพรรคอนาคตใหม่ กล่าวคือ หลังข่าว (มั่ว) ว่า ผู้ต้องสงสัยสองคนจากจังหวัดนราธิวาสรับสารภาพแล้ว ทำให้มีผู้ติดตามข่าวทางโลกโซเชียลหลายรายแสดงความเชื่อมั่นว่ามีความเชื่อมโยงอย่างชัดเจนระหว่างจังหวัดชายแดนภาคใต้และการก่อเหตุในกรุงเทพมหานคร

ผู้ใช้โซเชียลมีเดียหลายรายโพสต์ภาพและข้อความที่กลายเป็นการละเมิดส่วนบุคคลด้วยการนำภาพบุคคลที่ถูกจับไปเทียบเคียงกับบุคคลอื่น พร้อมกล่าวหาว่าเป็นบุคคลคนเดียวกัน โดยที่ยังไม่มีหลักฐานข้อยืนยันหรือการสอบสวนใดๆ

หนึ่งในนั้นคือ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ นางสาวปารีณา ไกรคุปต์ ที่โพสต์กล่าวหาเช่นนี้ ส.ส.ปารีณาได้นำโพสต์ที่มีหลายโพสต์มารวมภาพแล้วแชร์ ในนั้นมีทั้งภาพของนายมะยุ เจ๊ะนะ ผู้ประสานงานเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพ (คปส.) หรือคนของ Permas ทำงานภาคประชาสังคมด้านการเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิการจัดการตนเองในจังหวัดชายแดนใต้ ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นบุคคลคนเดียวกันกับผู้ที่ถูกจับ

ผู้โพสต์อ้างว่าเป็นหลักฐานแสดงความเชื่อมโยงระหว่างผู้ก่อเหตุในจังหวัดภาคใต้กับพรรคอนาคตใหม่ เนื่องจากบุคคลในภาพทำงานให้พรรค

นอกจากนั้น ยังแชร์ภาพการไปเยือนครอบครัวของอับดุลเลาะ อีซอมูซอ กรณีอาการสมองบวมจากค่ายทหารที่ปัตตานีของ น.ส.พรรณิการ์ ช่อวานิช พรรคอนาคตใหม่ พร้อมเปรียบเทียบกับการที่นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรมไปเยี่ยมเหยื่อระเบิด ว่าการกระทำของ น.ส.พรรณิการ์เหมาะสมหรือไม่

ทำให้นายมะยุ เจ๊ะนะ ผู้ประสานงานเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพ (คปส.) วันที่ 4 สิงหาคม 2562 ได้ไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจภูธรเมืองปัตตานี กรณีที่มีเพจที่ชื่อ Aruj panachinbonehorn Ronnachai saibunna และบุคคลอื่นๆ ที่คอมเมนต์ ได้เอาภาพไปเปรียบเทียบกับผู้ต้องสงสัยเหตุการณ์ระเบิดที่กรุงเทพฯ ว่าเป็นคนเดียวกัน ซึ่งการโพสต์รูปภาพลักษณะดังกล่าวทำให้เสียหาย เกิดความเสื่อมเสียชื่อเสียง แต่ก็เป็นที่น่ายินดีว่า วันดังกล่าว นายมะยุ เจ๊ะนะ อยู่ในเวทีกับผู้เขียนและกับวิทยากรอย่างนายยิ่งชีพ อัชชานนท์ จาก iLaw ศ.ดร.มารค ตามไท ซึ่งยืนยันความบริสุทธิ์ของนายมะยุ เจ๊ะนะ และการกล่าวหาของนางสาวปารีณา จึงโป๊ะแตกอีกครั้ง https://www.matichon.co.th/politics/news_1611260

ไม่เพียงเท่านั้น หลายคน หลายเพจ IO รัฐก็พยายามกล่าวหานักเคลื่อนไหวอดีตแกนนำนักศึกษาอีกหลายคนว่าเชื่อมโยงกับผู้ต้องหาสองคนนี้เช่นกัน และคาดว่าท้ายสุดจะมีการเล่นงานคนของพรรคประชาชาติในที่สุด

ดังนั้น อาจมีการฟ้องร้องขึ้นโรงขึ้นศาลมากกว่านี้แน่หลังจากนี้เพราะจะมีโดมิโนการปล่อยข่าวเท็จทำลายคู่แข่งทางการเมืองและเห็นต่างจากรัฐ

ท้ายที่สุดทุกท่านต้องมีสติ ไม่เหมารวมคนชายแดนใต้ในการสร้างความเกลียดชัง

ข้อควรระวัง

รัฐต้องไม่ละเมิดสิทธิผู้ต้องหาไม่ว่าเขาจะทำหรือไม่ และการตรวจค้น การจับกุมญาติ เพื่อนๆ ผู้ต้องหา หรือเครือข่ายนักศึกษาชายแดนใต้ที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นสูตรสำเร็จในคดีความมั่นคงที่ชายแดนใต้ต้องไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชนเหมือนที่ผ่านมา เพราะจะยิ่งสุมไฟกองใหม่ในพื้นที่ที่มีมากพออยู่แล้ว

ขอให้รัฐยึดมั่นในกฎหมาย

1. ต้องมีหมายค้น เมื่อมีการตรวจค้นหอพัก บ้าน ตำรวจต้องแสดงหมายค้นต่อผู้ที่ขอทำการค้น เนื่องจากพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลไม่มีการประกาศใช้กฎอัยการศึก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือคำสั่ง คสช.ใดที่สามารถตรวจค้นได้ และการค้นนั้นต้องค้นในเวลาพระอาทิตย์ขึ้นจนถึงพระอาทิตย์ตก (กลางวัน)

2. ระวังการควบคุมตัวไปสอบสวน ในการควบคุมตัวบุคคล เช่นเดียวกัน พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ไม่มีการประกาศใช้กฎอัยการศึก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือคำสั่ง คสช.ใดๆ ที่สามารถควบคุม จับกุมบุคคลใดได้ เว้นแต่จะมีหมายจับ ดังนั้น เพื่อการตรวจสอบเบื้องต้น เมื่อมีบุคคลที่ถูกจับ ควบคุมตัว ขอให้ญาติๆ เพื่อนๆ หรือบุคคลที่รู้จักกันนั้นช่วยติดตามทันทีว่านำตัวบุคคลดังกล่าวไปที่ใด (ซึ่งตอนนี้รัฐเองก็ไม่เปิดเผยตามที่ญาติหรือหน่วยงานสิทธิมนุษยชนร้องขอ)

3. การยึดสิ่งของในที่พัก หรือที่อยู่อาศัย จะต้องทำการบันทึกสิ่งของเหล่านั้นและตามสภาพการใช้งานด้วย เช่น หากเป็นโทรศัพท์มือถือ โทรศัพท์นั้นสามารถใช้งานได้หรือไม่อย่างไร เป็นต้น

ในขณะผู้ที่ถูกสงสัยขอให้ท่านมีสติและความมั่นใจในตนเอง จะเป็นสิ่งที่ยับยั้งไม่ให้สิ่งที่เลวร้ายเกิดขึ้น

ที่สำคัญฝากถึงรัฐว่า คดีนี้มิใช่คนไทย ฝ่ายค้าน คนเห็นต่างจากรัฐเท่านั้นจับตามอง แต่องค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศก็เฝ้ามองอย่างเป็นห่วงเพราะภาพลักษณ์อดีตรัฐบาล คสช.