วิกฤติศตวรรษที่21 | ความพยายามสร้างแกนรัสเซีย-อินเดีย-จีน

สงครามการค้าสหรัฐ-จีน : สู่ขั้นใช้ยาแรง (8)

เจตนารมณ์อู่ฮั่นกับความพยายามสร้างแกนรัสเซีย-อินเดีย-จีน

ในกลุ่มบริกส์ 5 ประเทศ มีสามประเทศที่มีพรมแดนติดกัน ได้แก่ รัสเซีย อินเดีย และจีน โดยจีนมีพรมแดนติดกับทั้งรัสเซียและอินเดีย ทั้งสามประเทศเป็นสมาชิกในองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (อินเดียเข้าเป็นสมาชิกปี 2017 จีนและรัสเซียเป็นสมาชิกก่อตั้ง) ซึ่งเป็นความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การทหารและความมั่นคง เป็นเสาหลักของความมั่นคงของภูมิภาคเอเชียตะวันออก เอเชียกลาง เอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ปัจจุบันมีสมาชิก 8 ประเทศ และมีผู้สังเกตการณ์ 4 ประเทศ ได้แก่ อิหร่าน เป็นต้น หุ้นส่วนคู่เจรจา 6 ประเทศ มีตุรกี เป็นต้น

ถือกันว่าเป็น “พันธมิตรแห่งเอเชีย” ขึ้นมาเคียงคู่กับ “พันธมิตรแห่งตะวันตก” คือ องค์การนาโต

เจตนารมณ์อู่ฮั่นเกิดขึ้นจากความเห็นพ้องของผู้นำจีนและอินเดียหลังจากกรณีเผชิญหน้ากันที่บริเวณดอกลัม (ช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคม 2017) ว่าทั้งสองฝ่ายควรจะได้พบปะสนทนาครั้งใหญ่ เพื่อปรับความเข้าใจและขยายความร่วมมือระหว่างกันต่อไป

นายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย ได้เดินทางมาเจรจาสุดยอดอย่างไม่เป็นทางการกับสีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนที่เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ระหว่างวันที่ 27-28 เมษายน 2018 บรรลุความเข้าใจและแนวทางความร่วมมือกันทางยุทธศาสตร์ เรียกกันว่า “เจตนารมรณ์อู่ฮั่น”

หัวใจของเจตนารมณ์อู่ฮั่น คือผู้นำสองประเทศเชื่อว่า การรุ่งขึ้นของอินเดียและจีนจนเป็นเศรษฐกิจใหญ่ของโลก เป็นมหาอำนาจที่มีอิสระทางยุทธศาสตร์และการตัดสินใจด้วยตนเองนั้น มีผลสำคัญต่อภูมิภาคและต่อโลก

ผู้นำทั้งสองมีทัศนะร่วมกันว่า ความสัมพันธ์อย่างสันติ มีเสถียรภาพ และได้สมดุลระหว่างอินเดียและจีน จะเป็นปัจจัยบวกต่อเสถียรภาพในท่ามกลางสถานการณ์โลกที่ไม่แน่นอน และเห็นพ้องว่าการจัดการความสัมพันธ์ทวิภาคีที่เหมาะสมจะนำมาสู่การพัฒนาและความไพบูลย์ของภูมิภาค และสร้างเงื่อนไขของ “ศตวรรษแห่งเอเชีย” ขึ้น เพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ ทั้งสองประเทศตกลงที่จะเสริมความเข้มแข็งแก่การเป็นหุ้นส่วน ใกล้ชิดในการพัฒนาแบบเอื้อประโยชน์แก่กันและยั่งยืน

เพื่อแสวงหาการทำให้ประเทศทันสมัยและความไพบูลย์ยิ่งขึ้นของประชาชนทั้งสองประเทศ

โดยมีหลักการสำคัญสองประการคือ การแก้ไขปัญหาอย่างสันติและความสัมพันธ์แบบเคารพกันและกัน

มีความอาทรต่อความรู้สึกและผลประโยชน์ของกัน

ส่วนเจตนารมณ์ข้ออื่นเป็นองค์ประกอบเพื่อบรรลุเนื้อหาใจกลางข้างต้น ได้แก่

ก) การแก้ไขปัญหาชายแดนอินเดีย-จีน ให้กองทหารชายแดนสองประเทศมีการสื่อสารเพิ่มขึ้น เพื่อเสริมสร้างความไว้วางใจและความเข้าใจระหว่างกัน

ข) กระตุ้นการค้าและการลงทุนระหว่างกันแบบได้สมดุลและยั่งยืน ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและผู้คนระหว่างสองชาติ

ค) สร้างการสื่อสารทางยุทธศาสตร์ให้ครอบคลุมทุกมิติที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกัน

ง) ทั้งสองฝ่ายตกลงเรื่องการแสดงบทบาทในการสร้างสันติภาพและความไพบูลย์ของโลก เป็นเครื่องจักรของความเติบโตทางเศรษฐกิจโลกในอนาคต ร่วมกันสร้างระเบียบเศรษฐกิจโลกที่เป็นแบบหลายฝ่าย หลากหลาย และการมีส่วนร่วมที่ทุกประเทศสามารถดำเนินการพัฒนาตามแนวทางของตน

จ) ทั้งสองประเทศจะร่วมกันแสวงหาทางออกเพื่อเผชิญกับการท้าทายของโลก ได้แก่ ภาวะโลกร้อน การพัฒนาอย่างยั่งยืน และความมั่นคงทางอาหาร เป็นต้น รวมทั้งการปฏิรูปสถาบัน เศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศเพื่อให้เป็นตัวแทนและตอบสนองต่อประเทศกำลังพัฒนา

ฉ) ทั้งสองฝ่ายตกลงรวมบทเรียนและทรัพยากรของตนในการต่อสู้กับการท้าทายต่อมนุษยชาติ ได้แก่ การต่อสู้กับโรคภัย การลดทอนผลกระทบต่อภัยพิบัติธรรมชาติ และการเสริมพลังทางดิจิตอล

ช) ทั้งสองฝ่ายตกลงในการต่อต้านการก่อการร้ายทุกรูปแบบ สุดท้ายได้แก่ ทั้งสองฝ่ายตกลงกันที่จะมีการเจรจาแบบนี้ต่อไปอีก

(ดูเอกสารของกระทรวงต่างประเทศอินเดีย ชื่อ India-China Informal Summit at Wuhan ใน mea.gov.in 28/04/2018)

เจตนารมณ์อู่ฮั่นกล่าวอย่างย่อก็เพื่อแก้ปัญหาข้อพิพาทชายแดนอินเดีย-จีน การร่วมมือกันระหว่างสองประเทศ ในการพัฒนาเศรษฐกิจของตน ของภูมิภาคและของโลก เผชิญกับการท้าทายต่อโลกและมนุษยชาติ

ไปจนถึงการสร้าง “ศตวรรษแห่งเอเชีย”

แนวคิดเรื่องศตวรรษแห่งเอเชียก็ไม่ใช่สิ่งเลื่อนลอย ตามการประเมินของธนาคารข้ามชาติสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดของอังกฤษ ระบุว่า ในปี 2030 ขนาดเศรษฐกิจของจีนและอินเดียคิดตามค่าเสมอภาคอำนาจการซื้อ จะขึ้นมาเป็นอันดับ 1 และ 2 ของโลก ที่ 64.2 และ 46.3 ล้านล้านดอลลาร์ตามลำดับ สหรัฐอยู่อันดับ 3 ที่ 31.0 ล้านล้านดอลลาร์

นอกจากนี้ ขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุด 10 อันดับแรกของโลกในปีนั้น 7 ประเทศ อยู่ในเอเชียหรือเป็นตลาดเกิดใหม่ ได้แก่ อินโดนีเซีย (อับดับสี่) ตุรกี (อันอับห้า) บราซิล (อันดับหก) อียิปต์ (อันดับเจ็ด) รัสเซีย (อันดับแปด) ญี่ปุ่นและเยอรมนี ที่อยู่ในกลุ่มร่ำรวยเก่าอยู่อันดับที่เก้าและสิบตามลำดับ (ดูบทความของ Jeff Desjardins ชื่อ The Biggest Economics in 2030 ใน visualcapitalist.com 27/03/2019)

อุปสรรคใหญ่ของการสร้างแกนรัสเซีย-อินเดีย-จีนเกิดจากปัญหาการพิพาทชายแดนอินเดียซึ่งเป็นทั้งเรื่องเก่าและเรื่องปัจจุบัน ความสัมพันธ์สามเส้าระหว่างจีน-ปากีสถาน-อินเดียที่ยืดเยื้อมานาน และความไม่ไว้วางใจต่อความรุ่งเรืองอย่างรวดเร็วและทีท่าของจีนบนเวทีโลก

ที่สำคัญคือ โครงการแถบและทางของจีน ที่อินเดียมองว่าเหมือนเป็นการปิดล้อมตน ความพยายามในการรักษาอิทธิพลในมหาสมุทรแปซิฟิก-อินเดียของสหรัฐ เปิดช่องให้ผู้นำอินเดียเล่นไพ่สหรัฐ เพื่อถ่วงดุลการขยายตัวของจีน ทั้งหวังผลได้บางอย่างจากการเผชิญหน้าระหว่างสหรัฐ-จีน

ดังนั้น จึงดูเหมือนว่าขณะนี้อินเดียยังไม่ชัดเจนว่าจะก้าวไปอยู่กับตะวันตกหรือตะวันออก

ในโลกที่เปลี่ยนแปลงเร็ว และในอินเดียก็มีการเปลี่ยนแปลงภายในสำคัญ ได้แก่ การรุ่งขึ้นของพรรคภารตียชนตา (พรรคประชาชนอินเดีย) แทนที่พรรคคองเกรสที่ครองอำนาจมาช้านาน

พรรคภารตียชนตาขณะนี้อยู่ใต้การนำของนายโมดี

เขาเกิดในครอบครัววรรณะต่ำ เปิดร้านขายของชำ ต่างกับชวาหะร์ลาล เนห์รู แห่งพรรคคองเกรสที่เกิดในวรรณะสูง โมดีมีแนวคิดแบบชาตินิยมฮินดู และได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลายในการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนเมษายน-พฤษภาคม ปี 2018

จนวิเคราะห์กันว่าอินเดียกำลังจะก้าวสู่ระบบการเมืองพรรคเดียวนำโดยพรรคภารตียชนตา

นายโมดีมีความมุ่งมั่นในการทำให้อินเดียเป็นประเทศทันสมัย เจริญไพบูลย์และมีบทบาทบนเวทีโลก ปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงและการท้าทายอยู่เสมอ

ประกอบกับสถานการ์ณทั่วไปที่ตะวันออกกลางขึ้นมาเคียงคู่ กระทั่งแทนที่ตะวันตก คาดหมายว่าอินเดียน่าจะยึดมั่นในเจตนารมณ์อู่ฮั่นต่อไป โดยรัสเซียแสดงบทบาทดึงดูดอินเดียมาอยู่ฝ่ายตะวันออกอย่างเต็มที่

จับตาการก่อรูปของภูมิภาคเอเชียตะวันออก เอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ภูมิภาคเอเชียตะวันออก เอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น มักมองแยกกันว่าเป็นสามภูมิภาคด้วยกัน

ในบางช่วงเวลาประเทศในภูมิภาคทั้งสามนี้ไม่ค่อยได้ไปมาหาสู่คบค้ากัน

กระทั่งถือกันเป็นปรปักษ์

แต่นับแต่ทศวรรษ 1980 ที่โลกาภิวัตน์ขึ้นสู่กระแสสูง จึงได้มีการเปิดประเทศคบค้ากันมากขึ้น ซึ่งทำให้ทั้งสามภูมิภาคมีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ และมีอิสระทางนโยบายสูงขึ้น มีการเคลื่อนไหวในการเชื่อมต่อสามภูมิภาคนี้เข้าด้วยกัน เป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ-การค้าและการร่วมมือในด้านต่างๆ มีบางคนตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อพิจารณารวมกันเป็นภูมิภาคเดียว ภูมิภาคนี้จะประกอบด้วยหลายประเทศใหญ่ มีประชากรกว่าครึ่งโลก เป็นพื้นที่ขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของโลก เป็นดินแดนอู่อารยธรรม มีผู้ถือศาสนาฮินดู พุทธ อิสลามและลัทธิขงจื๊อ-เต๋าสูงสุดของโลก มีองค์การสำคัญในภูมิภาคสององค์การ ที่มีบทบาทผลักดันให้เกิดการปรากฏการณ์นี้คือประชาคมอาเซียนและองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้

ประชาคมอาเซียน เป็นองค์การความร่วมมือระหว่าง 10 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ประสบความสำเร็จสูง แสดงบทบาทในการเป็นผู้เชื่อมประสานภูมิภาคนี้ โดยขยายเป็นกลุ่ม “อาเซียน+3” และ “อาเซียน+6” ที่เชื่อมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียตะวันออก เอเชียใต้ (อินเดีย) และโอเชียเนีย (คือออสเตรเลียและนิวซีแลนด์) เข้าด้วยกัน

“อาเซียน+3” เกิดขึ้นจากความพยายามแก้ปัญหาวิกฤติการเงินเอเชียหรือวิกฤติต้มยำกุ้ง ปี 2540 ประกอบกับวิสัยทัศน์ของผู้นำอาเซียนเองที่ต้องการแก้ปัญหานี้อย่างเบ็ดเสร็จป้องกันไม่ให้กลับมาเกิดขึ้นอีก โดยการเพิ่มเงินสำรองระหว่างประเทศและสร้างกลไกคุ้มครองการเงินของภูมิภาคขึ้น ไม่จำต้องพึ่งพากองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ ที่อยู่ในความควบคุมของตะวันตกอย่างเดียวเหมือนแต่ก่อน

ในการสร้างกลไกคุ้มครองการเงินนั้น ก่อให้เกิดการออกมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ (CMI ปี 2000) เป็นเครือข่าย การทำความตกลงแลกเปลี่ยนเงินแบบทวิภาคี นับเป็นความร่วมมือทางการเงินที่เป็นรูปธรรมสำคัญครั้งแรกของ “อาเซียน+3” ซึ่งต่อมาได้มีการพัฒนาขึ้นอีกเป็นความตกลงแลกเปลี่ยนเงินแบบพหุภาคี (CMIM) ทั้งมีการขยายกรอบความร่วมมือออกไปในด้านอื่น เป็นที่สังเกตว่าจีนได้เอางานเอาการและออกหน้าในการช่วยแก้วิกฤติการเงินเอเชียดังกล่าว และสามารถแทรกตัวเข้ามามีบทบาทนำทางการค้าการเงินของภูมิภาคเคียงคู่กับญี่ปุ่นได้

สำหรับ “อาเซียน+6” นั้น เป็นผลต่อเนื่องจากความสำเร็จของอาเซียน+3 ประกอบกับการผลักดันของญี่ปุ่นที่ ต้องการดึงอีกสามประเทศที่เป็นมิตรกับตนได้แก่ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เข้าร่วมกลุ่ม

องค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ เป็นอีกองค์การที่มีบทบาทในการเชื่อมสามภูมิภาคเข้าด้วยกัน ตั้งมั่นในปี 2002 มีจีนและรัสเซียเป็นแกน เติบใหญ่และขยายตัวได้เร็ว เมื่อถึงปี 2017 ได้อินเดียกับปากีสถานเป็นสมาชิก

ในปี 2018 เปิดประชุมสุดยอดสร้างเจตนารมณ์อู่ฮั่นดังกล่าวแล้วเป็นการเชื่อมประเทศใหญ่ในเอเชียตะวันออกและเอเชียใต้เข้าด้วยกัน แต่ผู้นำจีนและรัสเซียยังมีแผนการใหญ่กว่านั้น คือการเชื่อมแผ่นดินของทวีปเอเชียและยุโรปเข้าด้วยกัน รวมไปถึงทวีปแอฟริกาด้วย เฉพาะการเชื่อมเอเชียตะวันออก เอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าเป็นภูมิภาคเดียวกัน หากทำได้สำเร็จ ก็จะเป็นการพลิกโฉมของภูมิรัฐศาสตร์โลก สามารถสร้าง “ศตวรรษแห่งเอเชีย” ที่สามาถเป็นผู้จัดระเบียบใน มหาสมุทรแปซิฟิก-อินเดียขึ้น

สหรัฐที่ถือตนเองเป็นจ้าวสมุทร ย่อมไม่ทนนิ่งดูดายและได้กระทำการบางอย่างที่ขยายความบาดหมางกับจีน เช่น อ้างสิทธิ์ในเสรีภาพของการเดินเรือ นำเรือรบแล่นลาดตระเวนในน่านน้ำที่จีนถือว่าเป็นเขตของตน และประกาศขายขีปนาวุธและรถถังแก่ไต้หวัน ทำให้สงครามการค้าบานปลาย

โดยจีนประกาศว่าจะแซงก์ชั่นบริษัทสหรัฐที่ขายอาวุธให้แก่ไต้หวัน ในอีกด้านหนึ่งสหรัฐที่ต้องการให้อินเดียปฏิบัติเสมือนเป็นรัฐบริวารตามรอยนโยบายสหรัฐ ซึ่งอินเดียย่อมไม่ยอม ได้ก่อให้เกิดกรณีพิพาททางการค้าขึ้น เมื่อสหรัฐได้ตัดสิทธิพิเศษทางการค้าของอินเดียในเดือนมิถุนายน 2019 อินเดียตอบโต้ด้วยการประกาศขึ้นพิกัดอัตราภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐรวม 28 รายการ

สงครามการค้าสหรัฐ-จีน จึงได้ลามสู่อินเดีย ทั้งยังเกิดกรณีพิพาททางการค้าระหว่างญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้ขึ้นมาอีกอย่างไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย

เมื่อญี่ปุ่นเปิดฉากควบคุมการส่งออกไมโครโปรเซสเซอร์และเคมีภัณฑ์ไฮเทคไปยังเกาหลีใต้ โดยอ้างว่าเกาหลีใต้นำสินค้าเหล่านี้ไปขายต่อแบบผิดสัญญา

ที่สำคัญหลุดไปถึงมือเกาหลีเหนือ ซึ่งสามารถนำมาใช้ในการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์และขีปนาวุธ

แต่เบื้องลึกเห็นกันว่าเกิดจากความบาดหมางเก่าตั้งแต่ครั้งสงครามโลกครั้งที่สอง

โดยศาลเกาหลีใต้ตัดสินให้อายัดทรัพย์ของบริษัทญี่ปุ่น เพื่อนำมาใช้เป็นค่าทดแทนแก่ชาวเกาหลีที่ถูกบังคับให้ทำงานแก่ญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

(ดูบทความของ Misuru Obe ชื่อ Japanese”s curbs on South Korea : 5 things to know ใน asia.nikei.com 09/07/2019)

การเจรจารอบแรกระหว่างเกาหลี-ญี่ปุ่นเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวล้มเหลว เกิดการปลุกเร้าความคิดชาตินิยมในเกาหลีใต้รณรงค์ไม่ใช้สินค้าญี่ปุ่นขึ้น สงครามการค้าจึงมีเค้าว่าจะกลายเป็นเหมือนโรคระบาดไปเสียแล้ว

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงระเบียงเศรษฐกิจบังกลาเทศ-จีน-อินเดีย-เมียนมา และกรณีอิหร่านกับสงครามการค้า