ต่างประเทศ : เทรดวอร์ ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ ผลพวงจากสงครามที่ยังตามหลอน

นอกจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่ต่างตั้งกำแพงภาษีระดับสูงเข้าใส่กันแล้ว

ดูเหมือนว่าเวลานี้จะเกิดสงครามการค้าที่มีสมรภูมิรบอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกล และอาจทำให้เรื่องสงครามการค้าไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป นั่นก็คือการเผชิญหน้ากันระหว่าง “ญี่ปุ่น” และ “เกาหลีใต้”

กระสุนนัดแรกในสมรภูมิดังขึ้นเมื่อ “ญี่ปุ่น” ชาติที่เป็นผู้นำในการสนับสนุน “การค้าเสรี” ผู้ส่งออกและผู้นำเข้าที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลกตัดสินใจตั้งเงื่อนไขในการส่งออกสารเคมีสำคัญ 3 ชนิด ได้แก่ “ฟลูออริเนตเต็ด โพลีอิไมด์ส” สารเคมีสำคัญที่ใช้ในการผลิตจอภาพ “โฟโตรีซิสต์ส” สารสำคัญที่ใช้ในการผลิตรูปแบบแผงวงจร และ “ไฮโดรเจนฟลูออไรด์” สารสำหรับใช้ในก๊าซกัดพื้นผิวในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ให้กับประเทศเกาหลีใต้ โดยมาตรการดังกล่าวเริ่มต้นขึ้นแล้วเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา

การนำมาตรการจำกัดเงื่อนไขการส่งออกสารเคมีทั้ง 3 ชนิดของญี่ปุ่นซึ่งตกเป็นข่าวโด่งดังไปทั่วโลก ส่งผลกระทบโดยตรงและรุนแรงกับบริษัทผู้ผลิตชิพรายใหญ่ของโลกในเกาหลีใต้อย่าง “ซัมซุง” รวมไปถึง “เอสเค ไฮนิกซ์” สองผู้ผลิตชิพหน่วยความจำยักษ์ใหญ่ของโลก ที่มีส่วนแบ่งตลาดชิพที่ใช้ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ยุคใหม่โดยเฉพาะสมาร์ตโฟนมากถึง 61 เปอร์เซ็นต์

โดยญี่ปุ่นในฐานะผู้ครองส่วนแบ่งตลาดโลกในฐานะผู้ผลิตสาร “ไฮโดรเจนฟลูออไรด์” ถึง 70 เปอร์เซ็นต์ และครองตลาดผู้ผลิตสาร “ฟลูออริเนตเต็ด โพลีอิไมด์ส” และ “โฟโตรีซิสต์ส” ที่เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ของโลก กำหนดเงื่อนไขให้ผู้ส่งออกต้องยื่นขออนุมัติการส่งออกสารทั้ง 3 ชนิดในทุกการสั่งซื้อจากประเทศเกาหลีใต้ โดยกระบวนการทั้งหมดใช้เวลาอย่างน้อย 90 วันในการดำเนินการ ซึ่งแน่นอนว่าอำนาจในการอนุมัติคำสั่งซื้อหรือไม่ ย่อมอยู่ในมือของรัฐบาลญี่ปุ่น

นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังเตรียมถอด “เกาหลีใต้” จาก “ไวต์ลิสต์” หรือรายชื่อกลุ่มประเทศที่น่าเชื่อถือในการนำเข้าวัตถุดิบอีกหลายรายการ คาดว่าจะมีการตัดสินใจเสร็จสิ้นกันในสัปดาห์นี้ โดยหากผ่านการพิจารณาจะเริ่มต้นบังคับใช้ช่วงปลายเดือนสิงหาคม

ซึ่งนั่นสะท้อนความจริงจังของญี่ปุ่นในการ “เปิดสงครามการค้า” กับเกาหลีใต้อย่างชัดเจน

 

คําถามที่ตามมาก็คือ ญี่ปุ่นมีเหตุผลอะไรกับการใช้ “ยาแรง” กับเกาหลีใต้ ประเทศที่ญี่ปุ่นส่งออกไปมากเป็นอันดับที่ 3 ของชาติที่ญี่ปุ่นส่งออกสินค้าไปทั่วโลก ซึ่งแน่นอนว่าเป็นการนำภาพลักษณ์ในฐานะประเทศผู้นำสนับสนุน “การค้าเสรี” รวมไปถึงเศรษฐกิจอันรุ่งเรืองของประเทศมาเสี่ยงเช่นนี้

เหตุผลอย่างเป็นทางการที่ญี่ปุ่นบอกไว้ว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับ “ความมั่นคงของชาติ” โดยกล่าวหาว่า “เกาหลีใต้ไม่ควบคุมสารเคมีอันอ่อนไหวเหล่านี้อย่างเหมาะสม” ซึ่งหมายความถึงการที่เกาหลีใต้ยอมให้สารเคมีที่สามารถนำไปใช้ทางการทหารได้เหล่านี้บางส่วนตกไปถึงมือของเกาหลีเหนือได้

เหตุผลดังกล่าวดูไม่สมเหตุสมผลสำหรับนักวิเคราะห์การเมืองระหว่างประเทศทั่วโลก ทว่าจะดูมีเหตุผลมากขึ้น เมื่อพิจารณาถึง “ห้วงเวลา” ของการตั้งเงื่อนไขของญี่ปุ่น

เนื่องจากมีขึ้นหลังจากศาลสูงของเกาหลีใต้มีคำตัดสินให้บริษัทญี่ปุ่นอย่าง “นิปปอนสตีล แอนด์ ซูมิโตโม เมทัล คอร์ป” และ “มิตซูบิชิเฮวี่อินดัสทรี” จ่ายเงินชดเชยให้กับเหยื่อแรงงานบังคับตั้งแต่ยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ชาวเกาหลีใต้ที่ยังมีชีวิตอยู่เป็นเงินหลายร้อยล้านวอน เมื่อเดือนตุลาคม 2018 ที่ผ่านมา

นั่นสร้างความไม่พอใจให้กับญี่ปุ่น ซึ่งยึดถือมาโดยตลอดว่าเรื่องปัญหาแรงงานบังคับนั้นถูกแก้ไขไปแล้วผ่าน “สนธิสัญญาฟื้นความสัมพันธ์ทางการทูตปี 1965” ระหว่างเกาหลีใต้ที่เป็น “อาณานิคม” และ “เจ้าอาณานิคม” อย่างญี่ปุ่น

โดยเวลานั้น ผู้นำเผด็จการเกาหลีใต้อย่าง “ปาร์ก จุง ฮี” ยินดีรับความช่วยเหลือจากญี่ปุ่นเป็นเงินกู้เพื่อนำมากระตุ้นอุตสาหกรรมในเกาหลีใต้ที่กำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว และญี่ปุ่นยึดถือเอาว่าเรื่องการจ่ายค่าชดเชยให้กับบุคคลที่ได้รับผลกระทบนั้นสิ้นสุดลงแล้ว

รัฐบาลอนุรักษนิยม ชินโสะ อาเบะ ของญี่ปุ่นนั้นมองว่า ญี่ปุ่นยอมถอยให้เกาหลีใต้มาโดยตลอดไม่ว่าจะเป็นการไม่แก้ไข “คำขออภัยสตรีบำเรอกาม” ฉบับปี 1993 ที่นับเป็นครั้งแรกของรัฐบาลญี่ปุ่นที่ยอมรับการมีอยู่ของ “หญิงบำเรอกาม” ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

การยอมลงนามในข้อตกลงกรณี “หญิงบำเรอกาม” กับรัฐบาลเกาหลีใต้เมื่อปี 2015 นำโดยปาร์ก อึน เฮ ประธานาธิบดีในเวลานั้น โดยญี่ปุ่นยอมจ่ายชดเชยให้กับหญิงบำเรอกามเกาหลีใต้ที่ยังคงมีชีวิตมูลค่ากว่าพันล้านเยนนั้น

ญี่ปุ่นก็ถือว่าเป็นการยอมถอยจนหลังเกือบติดกำแพงแล้ว

 

แน่นอนว่า “เกาหลีใต้” โดยเฉพาะรัฐบาลฟากเสรีนิยมอย่างประธานาธิบดีมุน แจ อิน ไม่ยอมถูกกระทำง่ายๆ ตัดสินใจยื่นเรื่องร้องเรียนกับองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) โดยมองว่าการกระทำของญี่ปุ่นนั้นไม่ยุติธรรม และขัดกับระเบียบของดับเบิลยูทีโอเอง

ทว่าดับเบิลยูทีโอก็ยืนยันไม่ยุ่งเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าว

ด้านเกาหลีใต้เองก็ยืนยันมาโดยตลอดว่า สิทธิในการเรียกร้องเงินชดเชยและค่าแรงที่ยังไม่ได้จ่ายให้กับแรงงานนั้นยังคงอยู่ และไม่ได้ถูกทำให้สิ้นสุดลงโดยสนธิสัญญา 1965 แต่อย่างใด

ขณะที่ในเกาหลีเอง เกิดกระแส “ชาตินิยม” ต่อต้านสินค้าญี่ปุ่นขึ้นในหมู่ชาวเกาหลีใต้เป็นวงกว้าง ส่งผลกระทบกับยอดขายสินค้านำเข้าจากญี่ปุ่นที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบโดยตรงกับการท่องเที่ยวในญี่ปุ่นด้วย เมื่อนักท่องเที่ยวเกาหลีใต้ที่เยือนญี่ปุ่นเป็นอันดับสองรองจากจีน เริ่มยกเลิกเที่ยวบินและยกเลิกการจองโรงแรมในญี่ปุ่นมากขึ้นเรื่อยๆ

ไม่เพียงแต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสองประเทศเท่านั้น ล่าสุด ราคาชิพในตลาดโลกได้ดีดตัวสูงขึ้นแล้วถึง 23 เปอร์เซ็นต์ แน่นอนว่าจะส่งผลกระทบกับสมาร์ตโฟนที่ใช้ชิพจากเกาหลีใต้ ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ยักษ์ใหญ่อย่าง “แอปเปิ้ล” “ซัมซุง” เอง หรือแม้แต่ “หัวเว่ย” ของจีน

และไม่แน่ว่าหากปัญหาขัดแย้งระหว่างญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ไม่ได้รับการแก้ไขในเร็ววัน ราคาสมาร์ตโฟนอีกหนึ่งปัจจัยที่จำเป็นสำหรับชีวิตมนุษย์ในปัจจุบันก็อาจปรับตัวสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

และเวลานั้น “สงครามการค้า” ก็ไม่ใช่เรื่องไกลตัวต่อไป