ต่างประเทศอินโดจีน : เปลือยกายว่ายน้ำ

เจ้าของวาทกรรม “เปลือยกายว่ายน้ำ” คือ วอร์เรน บัฟเฟตต์ คนที่รวยที่สุดคนหนึ่งในไม่กี่คนของสหรัฐอเมริกาและของโลก

คำกล่าวเต็มๆ ของเขาคือ “เมื่อกระแสน้ำลดหายไปทั้งหมด คุณจะเห็นได้ว่าใครเปลือยกายว่ายน้ำ”

บัฟเฟตต์กล่าวประโยคมีชื่อนี้ในบริบทใด ไม่สำคัญเท่าใดนัก ที่สำคัญคือคำกล่าวนี้ถูกนำมาใช้อุปมาอุปไมยกับสถานการณ์ในเวียดนามในยามนี้…ทำไม?

เงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) หลั่งไหลเข้ามาในเวียดนามมหาศาล ด้วยเหตุผลหลายอย่างผสมผสานกันเข้าจนประจวบเหมาะ หนึ่งนั้นค่าแรงในจีนสูงขึ้น หนึ่งคือปริมาณแรงงานในจีนหดตัวเล็กลง อีกหนึ่งคือ ปัญหาตึงเครียดทางการค้ากับสหรัฐอเมริกา

รวมทั้งสามเข้าด้วยกัน ผลที่ได้ก็คือ ในแต่ละเดือนมีเงินก้อนมหึมา 1,500 ล้านดอลลาร์ไหลเข้าเวียดนาม อัตราจ้างงานสูงยันเพดาน ความยากจนลดฮวบ เศรษฐกิจโตในระดับเร็วที่สุดแห่งหนึ่งของโลกที่ 7 เปอร์เซ็นต์ต่อปี

พร้อมกับปรากฏการณ์เหล่านั้น แรงกดดันให้ปฏิรูปก็เกิดขึ้นตามมาโดยธรรมชาติ เพราะโครงสร้างพื้นฐานหลายประการยังไม่เอื้อต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงนี้

การปฏิรูปที่ต้องทั้งลงลึกและทั่วถึง เพื่อป้องกันวิถีพลังมหาศาลสองทิศทางพุ่งเข้าปะทะกันแบบประสานงา

คำถามคือ จะปฏิรูปอะไร อย่างไร ถึงระดับไหนกัน?

 

ที่เกิดคำถามมากมายปานนั้น เนื่องจากโครงสร้างทางการเมืองในยามนี้กับทิศทางของพัฒนาการทางเศรษฐกิจของประเทศนั้นขัดกันโดยสิ้นเชิงอยู่ในที

ตัวอย่างเช่น “คอร์รัปชั่น” เรื่องที่เป็นปัญหาและเป็นอุปสรรคสูงสุดของการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยึดโยงอยู่กับตลาดโลก

มีการกำราบและปราบปรามคอร์รัปชั่นอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมา เพราะเหวียน ฝู จ่อง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์และประธานาธิบดีเวียดนามรณรงค์เข้มงวดเรื่องนี้

เมื่อคำนึงถึงว่า ผู้นำสูงสุดของเวียดนามในยามนี้มีทั้งปัญหาสุขภาพ มีทั้งปัญหาอายุที่สูงวัยขึ้นเรื่อยๆ ความเข้มแข็งในการปราบปรามคอร์รัปชั่นจะยังคงเข้มแข็งเช่นนี้อยู่ได้อีกนานเท่าใดกัน?

ธรรมชาติของคอร์รัปชั่น ยิ่งเป็นระบบปิดและเบ็ดเสร็จมากเท่าใด ยิ่งเรื้อรังและแพร่หลายมากยิ่งขึ้นเท่านั้น

คอร์รัปชั่นโดยผู้อื่นพอทำเนา คอร์รัปชั่นโดยสมาชิกพรรคระดับสูง กฎหมายกำหนดให้ใช้เพียงกลไกภายในพรรคเท่านั้นจัดการ

นั่นคือช่องโหว่มหาศาลและอุปสรรคสำคัญยิ่งต่อการปฏิรูป ภายใต้ข้ออ้างเพื่อคงบูรณภาพแห่งพรรค

 

หรือตัวอย่างเช่น การขยายตัวเติบใหญ่ของวิสาหกิจเอกชน เบ่งบานเป็นกิจการขนาดเล็กและขนาดกลางมากมาย มีผลผลิตรวมคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 9 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีในปี 2017

แม้จะไม่สูงเท่าสัดส่วนของกิจการภาครัฐวิสาหกิจที่ยังคงคิดเป็น 29 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีรวม แต่เป็นการขยายตัวที่น่าคิดไม่น้อยหากคำนึงถึงว่า เพียงเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ตัวเลขเอสเอ็มอีในเวียดนามเป็นศูนย์

การปฏิรูป ถ้ามี จะเป็นไปเพื่อส่งเสริมเอสเอ็มอี ส่งเสริมวิสาหกิจเอกชน หรือเพื่อรัฐวิสาหกิจแบบ “เดิมๆ” กันแน่? และถ้าเป็นอย่างนั้น นั่นคือการปฏิรูปหรือ?

ถ้าจะรื้อโครงสร้างกันอย่างจริงจัง รัฐวิสาหกิจยังจำเป็นอีกไหม, การปฏิรูปการเมือง หมายถึงการเปลี่ยนระบอบการปกครองหรืออย่างไร? มีกฎ ระเบียบไหนบ้างในธรรมนูญพรรคและรัฐธรรมนูญต้องแก้ไขหรือไม่?

เหวียน ฝู จ่อง เป็นคนตั้งคำถามเหล่านี้เอาไว้ต่อที่ประชุมใหญ่พรรคเมื่อไม่นานมานี้ คำตอบยังล่องลอยอยู่กับสายลม

เอฟดีไอในยามนี้เปรียบเสมือนกระแสน้ำที่ไหลบ่าเข้ามาปกปิด ครอบงำ ข้อบกพร่องและร่องรอยขัดแย้งทั้งหมดเอาไว้

เหือดแห้งไปเมื่อใด เป็นอันได้รู้กันว่า เวียดนามเปลือยกายล่อนจ้อนลงว่ายน้ำจริงหรือเปล่า!!