คุยกับทูต ‘ปีเตอร์ เฮย์มอนด์’ ความสัมพันธ์ยาวนาน ‘สหรัฐอเมริกา’ กับภารกิจครั้งที่ 5 ในประเทศไทย

คุยกับทูต ปีเตอร์ เฮย์มอนด์ สิ้นสุดวาระ 3 ปี กับภารกิจครั้งที่ 5 ในประเทศไทย (1)

เป็นที่ทราบกันดีว่า ประเทศไทยกับสหรัฐอเมริกามีความสัมพันธ์มายาวนานและต่อเนื่องหลากหลายมิติ ทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ ความมั่นคงและการทหาร

มีการแลกเปลี่ยน ช่วยเหลือ แบ่งปัน ร่วมคิด ร่วมมือ ร่วมทุกข์ ร่วมสุข ยืนหยัดเคียงคู่กันทั้งในช่วงเวลาที่ดีและช่วงเวลาที่มีปัญหามากว่าสองร้อยปีแล้ว

และเป็นเพื่อนที่ดีต่อกันตราบทุกวันนี้

ตั้งแต่ปี ค.ศ.2003 ไทยยังได้รับสถานะเป็นพันธมิตรหลักนอกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (Major Non-NATO Ally – MNNA) จากการประกาศโดยประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช

ปัจจุบัน สถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย มีนายปีเตอร์ เฮย์มอนด์ (Peter Haymond) อุปทูตรับตำแหน่งรักษาการแทนเอกอัครราชทูต (Chargè d”affaires ad interim) หลังจากนายกลิน ที. เดวีส์ (Glyn T. Davies) อำลาตำแหน่งไปเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา

ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างรอทำเนียบขาวสหรัฐประกาศชื่อผู้ที่จะมาดำรงแหน่งเอกอัครราชทูตคนใหม่ในไทย

ซึ่งจะต้องได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภา ก่อนที่จะเข้ารับตำแหน่งในประเทศไทยอย่างเป็นทางการต่อไป

“ผมมาเมืองไทยครั้งแรกกับครอบครัวตอนอายุ 7 ขวบ เกือบสองปีในเมืองไทยที่ได้สั่งสมทักษะภาษาไทย และได้รับประสบการณ์มากมาย ทำให้ผมอยากกลับมาเมืองไทยอีก แล้วก็ได้กลับมาจริงๆ นับครั้งไม่ถ้วน แต่เมื่อพูดถึงการมาอยู่ประจำจริงๆ ครั้งนี้ก็นับว่าเป็นครั้งที่ 5 แล้ว”

“ตอนอายุ 19 ปี คือการมาเมืองไทยเป็นครั้งที่สองเพื่อสอนภาษาอังกฤษและสอนศาสนาคริสต์แก่คนไทยที่มีความสนใจ ช่วงนี้จึงทำให้ผมเริ่มเรียนภาษาไทยอย่างจริงจัง เมื่อผมสามารถพูดภาษาไทยได้ดี จึงมีส่วนทำให้อยากมีอาชีพทางด้านต่างประเทศด้วย”

มาเมืองไทยเป็นรอบที่สองทำงานเป็นมิชชันนารีและใช้ชีวิตร่วมกับคนท้องถิ่นหลายปี ประสบการณ์ครั้งนั้นได้กลายเป็นพื้นฐานในการเรียนรู้วัฒนธรรมไทยในเวลาต่อมา ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่ทำให้ชีวิตเปลี่ยนแปลง

“จากการที่พูดภาษาไทยได้ ทำให้ผมมองหาเพื่อนคนไทยเมื่อกลับไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยทัฟส์ จึงได้พบคุณดุษฎี (อักษรศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับ 1 หรือ อบ.47 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ซึ่งขณะนั้นเป็นเจ้าหน้าที่การทูตและลาราชการไปศึกษาต่อ”

“ตอนนั้นเราทั้งคู่กำลังศึกษาระดับปริญญาโทด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่โรงเรียนกฎหมายและการทูตเฟลทเชอร์ แห่งมหาวิทยาลัยทัฟส์ (The Fletcher School of Law & Diplomacy, Tufts University)”

“พอถึงครั้งที่สาม นับเป็นครั้งสำคัญที่สุดในชีวิตของการมาเมืองไทยของผม เพราะเป็นการกลับมาแต่งงานกับคุณดุษฎี”

“ส่วนการมาเมืองไทยครั้งที่สี่นั้น เป็นการมาทำงานที่สถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เมื่อราว 20 ปีที่แล้ว และการกลับมาครั้งที่ห้า ก็คือปัจจุบันนี้”

“ภารกิจทางการทูตระหว่างประเทศที่ผมได้รับมอบหมายนั้น ขึ้นอยู่กับการผสมผสานระหว่างความสนใจส่วนตัวและความพร้อมของตำแหน่งหน้าที่ อันรวมถึงข้อเท็จจริงที่ว่า ทั้งภรรยาและตัวผมเองต่างก็มีความสุขกับการทำงานในเอเชียตะวันออก โดยเริ่มต้นครั้งแรกที่กรุงโซล ประเทศเกาหลี หลังจากนั้นคือ ประเทศไทย ลาว และจีน ตามลำดับ”

นายปีเตอร์ เฮย์มอนด์ มาปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งอัครราชทูตที่ปรึกษาในประเทศไทย ซึ่งมีอาวุโสลำดับสองรองจากเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ค.ศ.2016 และต่อมา เข้ารับตำแหน่งอุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยเมื่อเดือนตุลาคม ปีที่ผ่านมาคือ ค.ศ.2018

ก่อนเข้ารับตำแหน่งอัครราชทูตที่ปรึกษาครั้งนี้ ได้ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการจีนและมองโกเลียประจำกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. (ค.ศ.2014-2016) ดำรงตำแหน่งกงสุลใหญ่สหรัฐที่นครเฉิงตู ประเทศจีน (ค.ศ.2011-2014) และปฏิบัติงานที่สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศต่างๆ ได้แก่ จีน (ค.ศ.2003-2005) ลาว (ค.ศ.2008-2011, 1997-2000) ไทย (ค.ศ.1994-1996) และเกาหลี (ค.ศ.1992-1994)

ขณะประจำที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. มีตำแหน่งเป็นหัวหน้าฝ่ายใน Office of International Energy and Commodities Policy ของ Economic, Energy and Business Bureau และรองผู้อำนวยการฝ่ายใน Office of Economic and Development Affairs ของ International Organizations Bureau

อุปทูตเฮย์มอนด์สำร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาเศรษฐศาสตร์และการต่างประเทศที่มหาวิทยาลัยบริคแฮม ยัง (Brigham Young University) ซอล์ทเลค ซิตี้ รัฐยูทาร์ และปริญญาเอกสาขาเศรษฐศาสตร์จาก The Fletcher School of Law & Diplomacy มหาวิทยาลัยทัฟส์ (Tufts University) เมืองเมดฟอร์ด บริเวณชานเมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา ส่วนการทำวิทยานิพนธ์มาจากการลงพื้นที่วิจัยเกี่ยวกับตลาดเกษตรขนาดเล็กในโมร็อกโก

ความรู้ทางด้านภาษาไม่ได้เป็นอุปสรรคแต่อย่างใด เพราะอุปทูตเฮย์มอนด์สามารถพูดได้ดีทั้งภาษาไทย ลาว และจีนกลาง รวมทั้งภาษาฝรั่งเศสในระดับหนึ่งด้วย

ทั้งนี้ อุปทูตเฮย์มอนด์ยังเป็นหนึ่งใน 15 คนซึ่งได้รับรางวัลผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ในงาน “วันภาษาไทยแห่งชาติ 29 กรกฎาคม ประจำปี ค.ศ.2017” เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม ค.ศ.2017 ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย และยังได้ไปบรรยายภาษาไทยให้ความรู้แก่สถาบันการศึกษาต่างๆ ด้วย

“ในเรื่องของการเรียนภาษาต่างประเทศก็นับว่ายากทั้งนั้น ซึ่งผมคิดว่า ถ้าเป็นไปได้ควรเริ่มเรียนเมื่ออายุยังไม่มากนัก แล้วก็ต้องพูดเป็นประจำ หากไม่สามารถเดินทางไปเรียนยังประเทศเจ้าของภาษาได้ ก็ควรหาคนที่พูดภาษานั้นในประเทศที่เราอยู่ เพื่อจะได้มีโอกาสฝึกพูดบ่อยๆ เป็นประจำ เป็นเรื่องที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้”

“เหตุที่ผมพูดภาษาไทย ลาว จีนกลาง ได้ก่อนเป็นอันดับต้นๆ เกี่ยวข้องกับการได้รับมอบหมายให้ไปปฏิบัติหน้าที่ในประเทศดังกล่าว อันที่จริง ผมสามารถพูดภาษาไทยได้ก่อนเข้าทำงานกระทรวงต่างประเทศ ส่วนภาษาลาวนั้นคล้ายคลึงกับภาษาไทยมาก และผมยังได้รับมอบหมายให้ไปประจำที่ประเทศลาวถึงสองวาระ”

“ผมมีความสนใจในประเทศจีนตลอดมา และยังได้เรียนภาษาจีนกลางถึงสองปีระหว่างเป็นนักการทูตที่นั่น นอกจากนี้ ยังพูดภาษาเกาหลีได้บ้าง ตอนที่ได้รับแต่งตั้งให้ไปประจำยังต่างประเทศครั้งแรกที่กรุงโซล”

นายปีเตอร์ เฮย์มอนด์ ชี้แจงถึงหน้าที่หลักในปัจจุบันคือ อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูต (Charg? d”affaires ad interim) ว่า

“ปัจจุบัน ผมทำหน้าที่แทนเอกอัครราชทูต เพื่อเป็นผู้นำสถานทูตซึ่งมีขนาดใหญ่ของเรา และทำงานร่วมกับรัฐบาลไทยเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับสหรัฐ”

สถาบันการต่างประเทศเทวะวงศ์วโรปการ ระบุว่า ในกรณีที่ตำแหน่งของหัวหน้าคณะผู้แทนว่างลง หรือหัวหน้าคณะผู้แทนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ของตนได้ อุปทูตชั่วคราวจะปฏิบัติหน้าที่ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนเป็นการชั่วคราวได้ โดยหัวหน้าคณะผู้แทนจะแจ้งนามอุปทูตชั่วคราวให้กระทรวงต่างประเทศของรัฐผู้รับทราบ หรือหากหัวหน้าคณะผู้แทนไม่สามารถแจ้งได้ กระทรวงต่างประเทศของรัฐผู้ส่งจะแจ้งนามอุปทูตชั่วคราวไปยังกระทรวงต่างประเทศของรัฐผู้รับ

“การได้ไปประจำทำงานในต่างประเทศ ย่อมก่อให้เกิดประสบการณ์พิเศษที่แตกต่างหลากหลายกันในแต่ละประเทศ แต่ด้วยเหตุที่ผมอยู่ในประเทศไทยนานมากกว่าประเทศอื่นๆ นอกสหรัฐอเมริกา ผมจึงรู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มาประจำประเทศไทยตลอดระยะเวลาสามปีที่ผ่านมา”

ในฐานะนักการทูตซึ่งเห็นคุณค่าของความสัมพันธ์ที่ยาวนานกับประเทศไทยและหวงแหนมิตรภาพที่มีกับคนไทย อุปทูตปีเตอร์ เฮย์มอนด์ กล่าวถึงความทรงจำที่สุดประทับใจ

“แน่นอนที่สุด ที่ผมจะต้องมีเหตุการณ์ที่ประทับใจ และไม่มีวันลืมเลือนอย่างมากมาย แต่ที่เป็นเหตุการณ์อันดับหนึ่งสำหรับผม คือตอนที่ผมได้รับโทรศัพท์ในช่วงเย็นวันหนึ่งของเดือนกรกฎาคม ปีที่ผ่านมา ค.ศ.2018 แจ้งว่า ได้พบเด็กชายทั้งสิบสองคนและโค้ชของพวกเขาในถ้ำหลวงแล้ว!”