‘ฌอง ก็อกโต’ พหุศิลปินผู้ไม่อาจจำกัดนิยาม

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ในตอนนี้ขอพักจากเรื่องนิทรรศการ

มานำเสนอเรื่องราวของศิลปินในอดีตที่ส่งอิทธิพลต่อศิลปินและคนทำงานสร้างสรรค์รุ่นหลังอย่างมากอีกคน

บังเอิญว่าเดือนนี้เป็นเดือนเกิดของเขาด้วย

ศิลปินผู้นั้นมีชื่อว่า ฌอง ก็อกโต (Jean Cocteau) (5 กรกฎาคม 1889 – 11 ตุลาคม 1963)

หากเราจะหาคําจํากัดความคนอย่างฌอง ก็อกโต ว่าเป็นศิลปินแขนงไหน หรือประกอบวิชาชีพอะไร คงเป็นเรื่องยากและเปลืองหน้ากระดาษเป็นอย่างยิ่ง

เพราะเขาทำไปแทบจะทุกสิ่งอย่าง


จิตรกรรมฝาผนังโดย ฌองก็อกโต ใน Our Lady’s chapelโบสถ์ Notre Dame de France ลอนดอน (1959) ภาพจาก https://bit.ly/2KWz7g

ไม่ว่าจะเป็นจิตรกร, นักวาดภาพประกอบ, นักวาดภาพจิตรกรรมฝาผนัง, นักออกแบบโปสเตอร์, นักปั้นเซรามิก, ผู้กํากับฯ, นักเขียนบทภาพยนตร์และละครเวที, คีตกวี, นักเขียนนวนิยาย, เจ้าของสํานักพิมพ์, นักข่าว, นักออกแบบท่าเต้น, นักดนตรี, นักวิจารณ์

และอื่นๆ อีกมากมายบรรยายไม่หมดไม่สิ้น

เขาหลอมรวมรูปแบบการสร้างงานศิลปะอันแตกต่างหลากหลาย เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการสำรวจประเด็นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นชีวิตร่วมสมัย ตำนานปรัมปรา ความฝัน และตัวตนทางเพศ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเป็นรักร่วมเพศของเขา

เขาไม่เคยปกปิดความเป็นรักร่วมเพศของตนเอง และมักทำงานที่มีกลิ่นอายโฮโมอีโรติกอย่างเปี่ยมล้น

เขาเคยกล่าวว่า เขามีความรู้สึกหลงรักเด็กผู้ชายตั้งแต่ยังจำความได้

เขาอยากมีความรักและความสัมพันธ์ทางเพศแบบนี้อย่างเปิดเผย

Self-portrait (1954) ภาพวาดตัวเองของฌอง ก็อกโต ซึ่งเป็นปกหนังสือรวมเล่มบทกวี Clair-Obscur ของเขา ภาพจาก https://bit.ly/2JmpWm

เคราะห์ร้ายที่สังคมสาปส่งความสัมพันธ์เช่นนี้ และมองมันเป็นอาชญากรรม บังคับให้พวกเขาต้องปกปิดความต้องการที่แท้จริงของตัวเอง

เขาหยิบแรงบันดาลใจจากการสำรวจโลกรอบๆ ตัว กลั่นกรองผ่านความรู้สึกส่วนตัวและประสบการณ์ชีวิตของเขา

ผลงานของเขาเปิดพื้นที่ใหม่ๆ ทางความคิดสร้างสรรค์และเชื่อมโยงสไตล์ สื่อ รูปแบบและยุคสมัยในการทำงานศิลปะอันแตกต่างหลากหลายเข้าไว้ด้วยกัน

เขามีความปรารถนาอย่างมากที่จะสร้าง งานศิลปะแบบองค์รวม (Gesamtkunstwerk) แนวคิดเชิงอุดมคติทางศิลปะ ที่ถูกใช้เป็นครั้งแรกโดยนักปรัชญาชาวเยอรมัน คา.เอฟ.อี ธรานดอร์ฟ (K. F. E. Trahndorff) และถูกทำให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างโดยคีตกวีชาวเยอรมัน ริชาร์ด วากเนอร์ (Richard Wagner)

ซึ่งเป็นการสร้างสรรค์ผลงานที่ใช้ประโยชน์จากรูปแบบและวิธีการที่ครอบคลุมสื่อทางศิลปะในทุกแขนงและมิติ ไม่ว่าจะการใช้ภาพ ถ้อยคำ เสียง ดนตรี และการเคลื่อนไหว

ซึ่งทำให้เขาเป็นผู้กำกับละครเวที, บัลเล่ต์, ภาพยนตร์, วาดรูป, เขียนหนังสือ และทำภาพประกอบด้วยตัวเอง หรือแม้แต่ทำงานออกแบบภายใน ทั้งหมดทั้งมวลนี้ก็เพื่อสร้างความเป็นไปได้ที่จะโอบอุ้มผู้ชมให้จมดิ่งอยู่ในโลกแห่งการสร้างสรรค์ของเขา

แนวทางและทัศนคติในการทำงานศิลปะเช่นนี้นี่เอง ที่เป็นแนวคิดอันล้ำหน้าและส่งผลอย่างมากต่อกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะแบบหัวก้าวหน้า (avant-garde) ในศตวรรษให้หลัง

ฌอง มัวริซ เออแฌน เคลมองต์ ก็อกโต (Jean Maurice Eugene Clement Cocteau) เกิดในปี 1889 ณ เมือง Maisons-Laffitte ประเทศฝรั่งเศส เขาเกิดในครอบครัวฐานะดี

ฌอร์ฌ ก็อกโต พ่อของเขาเป็นทนายที่เกษียณอายุตั้งแต่ตอนที่เขายังเด็กๆ และออกมาอยู่บ้าน ใช้เวลาไปกับการวาดภาพและเล่นบิลเลียด

เขาสอนลูกชายให้รู้จักศิลปะและหารายได้เล็กๆ น้อยๆ จากการวาดรูปขายคนในครอบครัว

ฌอร์ฌฆ่าตัวตายเมื่อฌองอายุได้ 10 ขวบ เหตุการณ์นี้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสภาพจิตใจและความรู้สึกนึกคิดของเขาตั้งแต่ครั้งวัยเยาว์จวบจนเติบใหญ่

พออายุได้ 15 ปี เขาก็ละทิ้งบ้านและออกแสวงหาชื่อเสียงและความสำเร็จในโลกศิลปะและวรรณกรรมด้วยตัวเอง

ผลงานแรกๆ ที่ทำให้เขาเป็นที่รู้จักคือ การออกแบบโปสเตอร์ให้กับอุปรากรของดยากิเลฟในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1

เขาหาเลี้ยงชีพด้วยการทํางานเป็นเจ้าหน้าที่พยาบาลฉุกเฉิน ควบคู่ไปกับการทํางานศิลปะร่วมกับศิลปินชั้นนําในยุคนั้นหลายต่อหลายคน

หลังจากเผชิญหน้ากับประสบการณ์ตกต่ำจากความเครียดและปัญหาส่วนตัวจนห่างหายจากการทํางานศิลปะอยู่ระยะหนึ่ง

เขาก็หวนกลับมาสร้างผลงานมาสเตอร์พีซขึ้นอีกหลายต่อหลายชิ้น อาทิ Les Enfants Terribles (1950) และผลงานภาพยนตร์ชิ้นเอกของเขาอย่าง La Belle et la bete (1946) และ Orphee (1950)

โปสเตอร์หนัง Les Enfants Terribles (1950) ที่ฌอง ก็อกโต วาดขึ้นมา ภาพจากhttps://bit.ly/3093Ytz

เขาเคยกล่าวไว้ว่า “ภาพยนตร์จะกลายเป็นศิลปะก็ต่อเมื่อวัตถุที่ใช้สร้างสรรค์มันมีราคาถูกไม่ต่างกับดินสอและกระดาษ”

ถึงแม้จะกล่าวเช่นนี้ แต่เขาก็ได้รับการยกย่องว่าเป็นคนทำหนังที่เปี่ยมความเป็นศิลปะที่สุดคนหนึ่งในโลกภาพยนตร์

ความงดงามทั้งในภาษาของภาพและเรื่องราว ทําให้เขาถูกยกย่องให้เป็นกวีเอกแห่งวงการภาพยนตร์ที่สํารวจและเปิดเผยโฉมหน้าอันลึกลับมหัศจรรย์ผ่านกระบวนการสร้างสรรค์งานศิลปะ

นอกจากตัวเขาจะเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงแล้ว เขายังมีสหายสนิทเป็นไอคอนแห่งวงการศิลปะในยุคศตวรรษที่ 20 มากมาย อาทิ ปาโบล ปิกัสโซ่, จอร์จ บราก, ออกุสต์ โรแดง, อองรี มาตีส, แมน เรย์

หรือแม้กระทั่งนักสร้างสรรค์ในแวดวงอื่นๆ อย่าง ชาร์ลี แชปลิน, ดยากิเลฟ, สตราวินสกี้, เกอร์ทรูด สไตน์, อีดิต เพียฟ และ ที เอส เอลเลียต เป็นต้น

ผลงานของฌอง ก็อกโต มักจะเป็นการผสมผสานเรื่องราวส่วนตัวจากมุมมองของตัวเองเข้ากับความคิดอันเป็นสากล และตีความเทวตำนานและนิยายปรัมปราออกมาในรูปแบบของวิถีชีวิตร่วมสมัย ทำให้เกิดมุมมองใหม่ๆ ในสถานการณ์อันคุ้นเคย

รายละเอียดของจิตรกรรมฝาผนังโดย ฌอง ก็อกโต ในวิหาร Chapelle de Saint-Pierre des Pecheurs (Chapelle de Cocteau)

เขามักหลีกเลี่ยงที่จะใส่ประเด็นทางการเมืองอย่างโจ่งแจ้งในผลงาน และมักจะหลีกหนีจากความเป็นจริงในชีวิตด้วยการสำรวจความฝันและจิตไร้สำนึก ซึ่งแนวคิดในการทำงานเช่นนี้ไปคล้องจองกับแนวคิดของลัทธิเซอร์เรียลลิสต์อย่างมาก

และเขาเองก็เป็นเพื่อนกับศิลปินในกลุ่มนี้อย่างหลุยส์ อารากง, หลุยส์ บุนเยล หรือแม้แต่เจ้าลัทธิอย่างอองเดร เบรอตง

แต่เขาก็ไม่เคยได้รับการยอมรับให้เป็นสมาชิกของกลุ่ม เนื่องด้วยมุมมองในการทำงานที่ใช้สุนทรียะแบบโรแมนติก ซึ่งเป็นแนวทางแบบอนุรักษนิยมที่ชาวเซอร์เรียลลิสต์สาปส่ง

หรือแม้แต่ความขัดแย้งส่วนตัวระหว่างเขากับเบรอตง ที่เป็นโฮโมโฟเบีย หรือคนที่เกลียดกลัวเกย์และรักร่วมเพศ ทำให้กลุ่มเซอร์เรียลลิสต์ปฏิเสธความเชื่อมโยงและความคล้ายคลึงระหว่างลัทธิกับงานและตัวตนของก็อกโตอย่างสิ้นเชิง

ด้วยความตึงเครียดกดดันจากสังคม ผนวกกับประสบการณ์อันเลวร้ายในวัยเยาว์ ทำให้เขาไม่เพียงใช้ศิลปะในการบำบัดจิตใจ หากแต่ยังใช้ยาเสพติดอย่างฝิ่นเพื่อรับมือกับความทุกข์เศร้าจนติดมันงอมแงม สิ่งเหล่านี้สะท้อนลงในผลงานของเขาที่บ่งบอกถึงความดิ้นรนและการสำรวจความเป็นไปได้ในการใช้ความคิดสร้างสรรค์ต่อสู้กับความสิ้นหวังในใจ

ในช่วงท้ายของชีวิต เขาหันเหมาสร้างสรรค์ศิลปวัตถุในรูปแบบประติมากรรมต่างๆ ที่เขาให้นิยามว่าเป็นกวีวัตถุ (Poem Objects) และเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังตามศาสนสถานต่างๆ อาทิ Villa Santo Sospir หรือ Saint John Cap Ferrat และ Chapelle de Saint-Pierre des Pecheurs (Chapelle de Cocteau) เป็นต้น

ประติมากรรม Vase faune (1958) ภาพจากhttps://bit.ly/2LfRWL

ด้วยวิธีคิดและรูปแบบการทำงานอันแตกต่างและยากจะระบุหมวดหมู่หรือรวมเข้ากับกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะแขนงไหน ผนวกกับการที่สังคมในยุคนั้นไม่ยอมรับคนรักร่วมเพศ กับความชืดชาต่อชื่อเสียง และความไม่แยแสแคร์โลกของเขา

ทำให้เขาไม่ค่อยได้รับความนิยมเท่าไหร่นักในช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่

ประติมากรรมGrand chevre-cou (1958) ภาพจาก https://bit.ly/32n8S8

และถึงแม้ว่านักวิจารณ์หลายคนจะเย้ยหยันว่าเขาล้มเหลว และไปไม่ถึงความเป็นสุดยอดของงานศิลปะทุกแขนงที่ทำสักอย่าง

แต่มรดกจากการทำงานที่หลอมรวมและก้าวข้ามพรมแดนของศิลปะหลายหลากแขนงของเขา ก็กลายเป็นแรงบันดาลใจอันล้ำค่า ที่ส่งต่อสู่คนทำงานสร้างสรรค์รุ่นหลังอย่างมากมายในเวลาต่อมา